ไลฟ์สไตล์
จอมพล
หัวเลี้ยวการเมือง เราควรจะไปทางไหนดี

ในขณะที่บ้านเมืองเราขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมือง และมีความเห็นของมวลมหาประชาชนแตกต่างกันออกไปหลากหลายแขนงอันมีต่อการปฏิรูปทางการเมืองหลังจากที่รัฐบาลเพื่อไทยยุบสภา โดยขณะนี้ผู้ต่อต้านระบอบทักษิณกำลังต้องการให้มีการตั้งรัฐบาลรักษาการชั่วคราวเพื่ออุดช่องโหว่ในระบอบการเมืองและต้องการล้างระบบนักการเมืองแบบเก่า

ลองมาฟังทัศนคติของคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งนับว่าน่าสนใจและมีเหตุผลที่น่ารับฟัง ผู้เขียนได้คัดมาจากหนังสือพิมพ์ข่าวสดออนไลน์ดังต่อไปนี้

อนึ่ง บทความที่คัดมานี้มีบางตอนที่ใช้ภาษาไม่สุภาพ เช่นใช้คำว่ามึง แต่ผู้เขียนก็นำลงตามต้นฉบับเพราะเป็นการให้เกียรติผู้เขียน ต้องขออภัยหากรู้สึกขัดตาและไม่สุภาพ

นายสราวุธ เฮ้งสวัสดิ์

"นิ้วกลม" หรือ นายสราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ นักเขียนชื่อดังระดับประเทศ ขวัญใจคนรุ่นใหม่ เขียนผ่านเฟซบุ๊ก http://www.facebook.com/Roundfinger แสดงทัศนะต่อวิกฤตการเมืองที่กำลังเกิดขึ้น เรื่อง "ถึง พี่ๆ เพื่อนๆ มวลมหาประชาชน (ไม่เฉพาะที่เป่านกหวีด)" มีเนื้อหาดังนี้


*****************

วันนี้เพื่อนสนิทและพี่ๆ ที่เคารพหลายคนออกไปเป่านกหวีด นับเป็นเรื่องโชคดีที่สองสัปดาห์ที่ผ่านมาได้นั่งสนทนาแลกเปลี่ยนทรรศนะกับเพื่อนสนิทมิตรสหายหลากหลายกลุ่ม เราเลยได้เข้าใจ “รายละเอียด” ของความคิดและพฤติกรรมของกันและกันมากกว่าการมานั่งเดาจากการอ่านสเตตัส แล้วเตรียมป้ายมาแปะให้กันและกันว่าไอ้นี่สีไหน อยู่ข้างไหน แม่งไม่เลือกข้าง มึงมันไทยเฉย มึงทำมาเป็นไทยอดทน บลา บลา บลา ทันทีที่ได้นั่งคุยกันเราจะเข้าใจได้ทันทีว่า คนเราไม่สามารถแบ่งฝั่งแบ่งฝ่ายได้ง่ายๆ หยาบๆ แบบนั้น นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกว่า ช่วงนี้ไม่เขียนสเตตัสดีกว่า ถ้าอยากแลกเปลี่ยนก็นัดกันมานั่งคุย

ในสมัยที่คุณทักษิณยังเป็นนายกรัฐมนตรี ผมเป็นคนหนึ่งที่ไปสวนลุมฯ ทุกเย็นวันศุกร์กับเพื่อนครีเอทีฟในออฟฟิศ ตอนนั้นเราตะโกนคำว่า “ทักษิณออกไป ทักษิณออกไป” กันดังลั่น บรรยากาศตอนนั้นก็คล้ายๆ ม็อบนกหวีดในวันนี้แหละครับ เราไปเจอเพื่อนๆ พี่ๆ โดยมิได้นัดหมายกันมากมาย กระทั่งคุณสนธิเริ่มเรียกร้องนายกฯ ม.7 ผมก็ค่อยๆ ถอยห่างจากม็อบ เพราะไม่เห็นด้วย ผมอยากเห็นประชาชนไล่ทักษิณได้ด้วยพลังของพวกเราเอง และก็อยากให้ทุกอย่างเป็นไปตามหลักการและระบบที่มีอยู่ คือยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ ก็ใช่ครับ พรรคเดิมที่พวกเราไล่ไปอาจจะกลับมาเป็นรัฐบาลอีก แต่อย่างน้อยเราก็ยังรักษาหลักการเอาไว้ได้ แต่แล้วสิ่งที่ผมกับเพื่อนอีกหลายคนไม่อยากให้เกิดก็เกิดขึ้นจนได้ เมื่อเกิดการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยา ปี 49

ในตอนนั้นผมรู้สึกเซ็งและเสียดายที่ประชาชนกำลังจะไล่รัฐบาลได้สำเร็จอยู่แล้วเชียว ก็ดันมีอำนาจนอกระบบมาจัดการไปเสียก่อน แน่นอนว่าตอนนั้นก็มีรายละเอียดของสถานการณ์ ม็อบสองสีอาจจะยกพวกตีกันตอนไหนก็ไม่มีใครรู้ เมื่อมีคนอ้างว่า การรัฐประหารที่นิ่มนวลที่สุดครั้งนั้นช่วยหลีกเลี่ยงการเสียเลือดเสียเนื้อ ผมก็รับฟัง แม้ไม่เห็นด้วยเลยกับการรัฐประหาร แต่ผมก็เผื่อใจไว้เช่นกันว่า มันอาจเป็นทางออกที่จะป้องกันความรุนแรงก็เป็นได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป รัฐประหารครั้งนั้นกลับกลายเป็นเชื้อฟืนให้ความขัดแย้งลุกลาม กระทั่งนำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรงหลายครั้ง ซึ่งผู้สูญเสียก็มีทั้งฝั่งเหลืองและฝั่งแดง

แถมการรัฐประหารยังทำให้คุณทักษิณกลับกลายเป็นตัวแทนของฝ่ายประชาธิปไตยไปเสียฉิบ! จากนายกฯ ที่ไม่เคยฟังคำทักท้วงตักเตือน ปิดช่องทางการตรวจสอบ ปิดปากสื่อ รวมถึงกรณีตากใบ กลายมาเป็นตัวแทนของประชาธิปไตยไปได้อย่างไร ที่เป็นไปได้ก็เพราะเราเอาเขาออกไปด้วยวิธีนอกระบบ นั่นทำให้การปลดนายกฯ อย่างคุณสมัครด้วยความผิดฐานทำกับข้าวออกทีวี และยุบพรรคพลังประชาชนถูกตั้งคำถามจากฝ่ายเสื้อแดง เหตุการณ์พลิกผันกลายเป็นคุณทักษิณกลายเป็นฝ่าย “ชอบธรรม” ในสายตาคนเสื้อแดง เหตุการณ์เดินทางมาไกลโพ้นจากตอนที่เราเกือบจะไล่คุณทักษิณได้ด้วยพลังของประชาชน กลับกลายเป็นการรัฐประหารกลับไปเพิ่มความชอบธรรมให้คนที่ถูกประชาชนไล่

จากบทเรียนครั้งนั้น ผมจึงไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร และวิถีทางนอกระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ผมเห็นด้วยครับ ว่าเราต้องจัดการกับนักการเมืองที่โกงกิน นักการเมืองที่ไม่รับผิด แต่เราก็ต้องจัดการด้วยวิถีทางที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตย มิฉะนั้น การจัดการนั้นก็จะไม่ได้รับความชอบธรรม เพราะมันไม่ได้เกิดขึ้นจาก “เสียงส่วนใหญ่” ในประเทศ หากเกิดขึ้นจาก “เสียงส่วนหนึ่ง” เท่านั้น ซึ่งมันจะนำไปสู่ปัญหางูกินหาง เมื่อ “เสียงส่วนใหญ่” ไม่ยอมรับอำนาจนั้น

...

เมื่อมาถึงม็อบนกหวีด จากวันแรกถึงวันนี้ สิ่งที่ผมเห็นด้วยมาตลอดคือการแสดงออกทางการเมืองให้รัฐบาลที่มองข้ามหัวประชาชน ออกกฎหมายยกโทษความผิดให้ตัวเอง กู้เงิน 2 ล้านล้านโดยไม่แจกแจงรายละเอียด การดันนโยบายจำนำข้าวโดยไม่ฟังเถียงทักท้วง แถมยังมีข้อมูลเรื่องทุจริตคอรัปชั่นอีกเต็มไปหมด ได้สำนึกบ้างว่า ยังมีประชาชนที่ตื่นตัวทางการเมือง ไม่ยอมรับการกระทำสามานย์ของนักการเมือง และพร้อมจะออกมาส่งเสียงอีกมากมาย จะว่าไป ม็อบนกหวีดเป็นม็อบที่เห็นแล้วมีความหวัง ว่าในอนาคตนักการเมือง (ไม่ว่าจากพรรคใด) คงจะทำตัวแย่ๆ หรือโกงกินกันได้ยากขึ้น เมื่อประชาชนตื่นตัวและตรวจสอบกันขนาดนี้

แต่สิ่งที่ผมไม่เห็นด้วยมาตลอดเช่นกันคือ ข้อเรียกร้องจากคุณสุเทพ ที่บอกว่ายุบสภาก็ไม่เอา ลาออกก็ไม่เอา และเสนอจะตั้งสภาประชาชน และล่าสุดคือนายกฯ ม.7 (อีกแล้ว) นั่นแปลว่าคุณสุเทพกำลังเสนอให้ “เสียงส่วนหนึ่ง” ซึ่งไม่ใช่ “เสียงส่วนใหญ่” มีอำนาจในการแต่งตั้ง “สภาประชาชน” ขึ้นมา เพราะกระทั่งถึงทุกวันนี้แล้วผมรวมถึงเพื่อนๆ บางคนที่ออกไปเป่านกหวีดก็ยังข้องใจว่า สภาประชาชนจะมาด้วยวิธีไหน ใครเป็นคนแต่งตั้ง “ประชาชน” ที่ว่านั้นเป็นประชาชนกลุ่มไหน ใช่เสียงส่วนใหญ่ของประเทศหรือเปล่า

อย่างที่บอกครับ ว่าโชคดีที่ได้นั่งคุยกับเพื่อนๆ แบบตามองตา จึงได้เข้าใจว่า เพื่อนบางคนออกไปร่วมชุมนุมโดยไม่ได้เห็นด้วยกับคุณสุเทพทั้งหมด หลายคนบอกผมว่า “กูก็ขอแค่ยุบสภานั่นแหละ แต่ถ้ามึงไม่ออกไปเลย ยุบสภามึงก็อาจจะไม่ได้” ผมจึงเข้าใจเพื่อนที่ออกไปเป่านกหวีดมากขึ้น แต่เพื่อนบางคนก็อยากได้สภาประชาชนจริงๆ แม้ยังไม่รู้วิธีการก็ตาม เพื่อนกลุ่มนี้จะให้เหตุผลว่า “มึงเอาพวกมันออกไปก่อน ด้วยวิธีอะไรก็ได้ แล้วค่อยว่ากัน” นี่แหละครับ รายละเอียดที่หลากหลาย ซึ่งเราไม่สามารถแปะป้ายได้ว่า “ไอ้นี่นกหวีด” หรือ “ไอ้นี่ไทยเฉย” เพราะบางที “ไอ้นกหวีด” กับ “ไอ้ไทยเฉย” บางคนนี่คิดแทบจะไม่ต่างกันเลย ต่างแค่คนหนึ่งเลือกออกไปร่วมชุมนุม ขณะที่อีกคนเลือกที่จะนั่งดูบลูสกายอยู่ที่บ้าน แล้วส่ายหัวกับข้อเสนอของลุงกำนัน ส่วนไอ้คนแรกไปส่ายหัวอยู่ในม็อบ

ขณะที่บางคนก็จะบอกว่า “มึงอย่าเพิ่งมาสนใจรายละเอียดตอนนี้ได้มั้ย คิดต่างกันนิดหน่อยก็ร่วมๆ ขบวนกันไปก่อน เอามันออกไปก่อน” ซึ่งไอ้ระดับของการ “เอามันออกไป” ก็แตกต่างกันอีก บางคนหมายถึง “เอามันออกไปจากการเป็นรัฐบาล” บางคนหมายถึง “เอามันออกไปจากการเมืองไทย” บางคนหมายถึง “เอามันออกไปจากประเทศไทย” นี่ก็เป็นรายละเอียดที่ยากจะแปะป้ายเช่นกัน

...

จากการเคลื่อนไหวของเพื่อนๆ พี่ๆ ในไลน์ ในเฟซบุ๊ค ผมคิดว่าวันนี้จะเป็นวันที่จะได้เห็น “มวลมหาประชาชน” จำนวนมหาศาลออกไปแสดงพลังกัน และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ใน “มวลมหา” นั้น ย่อมมีที่แตกต่างกันในรายละเอียดตามที่ได้บอกไป ตามที่ได้นั่งคุยมา ผมดีใจที่การไม่ออกไปร่วมเป่านกหวีดของผมนั้นไม่ถูกค่อนขอดจากเพื่อนสนิทว่า “มึงไม่รักชาติ” หรือ “มึงทำตัวเป็นไทยเฉย” เพราะเราคุยกันจนเข้าใจแล้ว แต่ใช่ว่าเราจะสามารถนั่งคุยแบบนี้ได้กับทุกคน ผมเคารพทางที่เพื่อนเลือกเดิน เพื่อนก็เคารพการแสดงออกของผมเช่นกัน เราคิดไม่ต่างกันหรอก อยากเห็นสังคมไทยดีขึ้น อยากให้เมืองไทยไร้คอรัปชั่น อยากเห็นคนผิดถูกลงโทษ เพียงแค่วิธีการในการแสดงออกต่างกันเท่านั้น

หากข้อเรียกร้องของลุงกำนันคือการยุบสภา ผมไปร่วมเป่านกหวีดด้วยอย่างแน่นอน เพราะมันถูกต้องตามระบบและหลักการที่ผมเชื่อ แต่เมื่อไปไกลกว่านั้นและยังอธิบายได้ไม่ชัดเจน ผมจึงเลือกที่จะนั่งติดตามสถานการณ์อยู่ที่บ้าน ภาวนาให้ไม่มีเหตุรุนแรง เครียด เซ็ง เวลาเกิดเหตุปะทะกัน คิดใคร่ครวญตลอดว่า ในทักษะและวิชาชีพที่เราทำอยู่ เราจะทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับสังคมในโมงยามเช่นนี้ได้บ้าง ซึ่งสำหรับผมแล้วนี่ไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่า “เฉย”

อย่างที่บอกครับ ว่าเมื่อได้รับบทเรียนจากการใช้อำนาจนอกระบบมา “ประหาร” รัฐบาลที่มาจากเสียงข้างมาก ในมุมมองของผม วิธีนั้นนำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรงที่มากขึ้น หากเลือกได้ ผมจะไม่อยู่ข้างที่เลือกใช้วิธีการนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าผมจะอยู่ข้างคนเลว คนโกง ผมจะส่งเสียงของผมแบบนี้ และจัดการลงโทษกับพรรคเพื่อไทยด้วยวิธีเดินเข้าคูหาแล้วกาเบอร์อื่น และผมจะยอมรับ หากเสียงส่วนใหญ่ยังเลือกพรรคนี้มาเป็นรัฐบาล กระนั้น ผมก็จะทำหน้าที่จับตา ตรวจสอบ ส่งเสียงเมื่อพรรคนี้กระทำผิด ซึ่งผมคิดว่า พวกเขาจะต้อง “ยำเกรง” ประชาชนมากขึ้น ประพฤติผิดน้อยลง ไม่ใช่เพราะพวกเขาบรรลุธรรม แต่เพราะพลังตรวจสอบจากภาคประชาชนเข้มแข็งขึ้นต่างหาก เรารวมพลเป่านกหวีดกันได้ขนาดนี้ หากมีเหตุการณ์ทุเรศๆ อีก ทำไมเราจะรวมพลังกันอีกไม่ได้เล่า

เช่นกันกับพรรคประชาธิปัตย์ หากยังคงเล่นเกมการเมืองแบบนี้โดยไม่มีความคิดจะปฏิรูปพรรคให้ดีขึ้นก็คงทำใจยากที่จะลงคะแนนให้ กระนั้น ก็ยังหวังว่าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งพูดเสมอว่าเชื่อมั่นในระบบรัฐสภาก็จะลงเลือกตั้งและต่อสู้กันในระบบ ยิ่งในสถานการณ์เช่นนี้ ทุกพรรคมีโอกาสเสนอทางเลือก เสนอนโยบาย เพื่อให้ประชาชนพิจารณา และ “เลือก” กันผ่านการเลือกตั้ง มาสู้กันในระบบเถอะครับ ซึ่งจะว่าไป ในนาทีนี้ หากมี “พรรคทางเลือก” ที่มีข้อเสนอใหม่ๆ และทางออกใหม่ๆ มาลงเลือกตั้งก็อาจจะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับประชาชนที่ระอาใจกับสองพรรคใหญ่ที่มีอยู่

ผมยังเชื่อในระบบตรวจสอบที่มาจากประชาชน และยังเคารพเสียงส่วนใหญ่ของพี่น้องร่วมชาติ ซึ่งหนึ่งคนหนึ่งเสียงเท่ากัน ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร จบการศึกษาชั้นไหนก็ตาม ใช่ครับ การงานของทุกคนยังมีอีกมาก ในการช่วยเรียกร้องนโยบายที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆ ทั้งเรื่องการเข้าถึงทรัพยากร อำนาจต่อรองของคนตัวเล็กตัวน้อย ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ (นโยบายภาษีมรดก ภาษีที่ดิน) การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น (ซึ่งลุงกำนันก็พูด แต่ไม่ยักทำตอนเป็นรัฐบาล) ความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา ให้คนในชนบทมีการศึกษาที่ใกล้เคียงกับคนในเมือง มิใช่แตกต่างกันราวฟ้ากับดินอย่างที่เป็นอยู่ ทุกสิ่งทุกอย่างนี้ยังเป็นภาระหน้าที่ของคนในสังคมไทยทุกคน มิใช่แค่ต่อต้านการทุจริต แต่เรายังต้องกระจายความเท่าเทียมไปสู่ท้องถิ่นและคนในชนบท เพื่อความเข้มแข็งทางปัญญา ความเข้มแข็งทางอำนาจเพื่อต่อรองกับผู้มีอำนาจที่เอาแต่ใจ และเพื่อให้ประชาชนไม่ต้องพึ่งพานโยบายประชานิยม และเชื่อมั่นในพลังของตนเอง

ใช่ครับ ที่พูดมาทั้งหมดนั้นช้า ใช้เวลา แต่ผมเลือกที่จะรอ ผมเชื่อว่า สังคมจะเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน ไม่มีใครฉลาดกว่าใคร คนเมืองเองก็ยังมองไม่เห็นปัญหาอีกหลายส่วน คนต่างจังหวัดเองก็ยังต้องการการแก้ปัญหาอีกหลายอย่าง หากเราเคารพหลักการสำคัญของประชาธิปไตยที่ว่า “หนึ่งคนหนึ่งเสียงเท่ากัน” เราคงจะยินดีให้เวลาและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันทั้งสังคม ระหว่างนั้นอาจจะเหน็ดเหนื่อยกับการต่อสู้กับรัฐบาลต่างๆ ที่พยายามจะเอาเปรียบประชาชนอย่างเรา แต่เราก็จะต้องสู้ไปด้วยกัน สู้ด้วยมือของประชาชนด้วยกันเองนี่แหละ โดยไม่ต้องมีอำนาจนอกระบบมาช่วยเหลือ เพราะถ้าเราต่อสู้แบบนี้ไปเรื่อยๆ สุดท้ายแล้ว “ประชาชน” ก็จะเป็นฝั่งเดียวกัน คือฝั่งที่คอยช่วยกันดูแลผลประโยชน์ของประชาชนจริงๆ ไม่ใช่การต่อสู้เพื่ออำนาจของผู้มีอำนาจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ย่อหน้าเมื่อกี๊ตอบคำถามของเพื่อนที่ว่า “มึงจะทนให้มันโกงไปถึงเมื่อไหร่ ต้องรอให้ชาติล่มจมก่อนหรือไง” ก็ตอบแบบนั้นแหละครับ “มึงต้องเชื่อมั่นในประชาชนสิวะ เราจะไม่ยอมให้มันทำตัวเลวๆ ได้อีกต่อไปแล้ว แต่เราต้องจัดการกับมันด้วยตัวเอง อย่าไปพึ่งรถถังหรืออำนาจอื่น”

...

เมื่อนายกฯ ประกาศยุบสภาในวันนี้ สำหรับผมแล้ว “มวลมหาประชาชน” ชนะศึกครั้งนี้แล้วนะครับ หากเรายังเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย เราก็เตรียมตัวไปสั่งสอนพรรคเพื่อไทยกันในวันเลือกตั้ง หากลุงกำนันยังดันข้อเสนอไปสุดซอยว่า ต้องลาออกจากการรักษาการและให้เกิดสูญญากาศขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ตั้ง “สภาประชาชน” ที่มาจากไหนยังไม่มีใครรู้ ผมก็คงไม่เชียร์ลุงกำนันอีกต่อไป แม้ว่าที่ผ่านมายังเชียร์อยู่บ้าง (แต่เป้าหมายผมอยู่แค่ยุบสภาเท่านั้น) เพราะต้องการเห็นรัฐบาลแสดงความรับผิดชอบต่อความผิดที่ได้ก่อ

ถามว่าอยู่ข้างไหน ผมอยู่ข้างระบบและหลักการครับ ถามว่าเฉยไหม ผมคิดว่าผมไม่เฉย ถามว่าอยู่ข้างคนโกงไหม ผมไม่อยู่แน่ๆ แต่ถ้าถามว่าอยู่ข้างลุงกำนันไหม ถ้าลุงจะผลักไปสุดซอยแบบนั้น ผมก็ไม่อยู่ด้วย

ข้อเสนอตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และปฏิรูปประเทศก็เป็นข้อเสนอที่น่าสนใจครับ แต่ก็ต้องมาจากกระบวนการที่คนทุกกลุ่มยอมรับได้ด้วย มิใช่แต่งตั้งขึ้นจากคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะก็ต้องยอมรับกันว่า “มวลมหาประชาชน” ที่เดินเคียงข้างลุงกำนันนั้น แม้จะเยอะเพียงใด แต่ก็เป็นเพียง “ประชาชนส่วนหนึ่ง” ในประเทศนี้เท่านั้น เราจำเป็นต้องฟังเสียงจากทุกคนที่เป็นเจ้าของประเทศไม่ใช่หรือครับ

...

ประเด็นสุดท้ายที่อยากบอกไว้กับพี่ๆ เพื่อนๆ (ซึ่งเหมือนกับเวลาที่ผมคุยกับเพื่อนในวงสนทนา) ทั้งหมดที่พูดมานั้นเป็นเพียง “จุดยืน” ณ วันนี้ และเป็นความคิดจากประชาชนไทยคนหนึ่ง ซึ่งยังคงสับสน งุนงง กับสถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นมาตลอดสิบปีที่ผ่านมา แต่ละปีล้วนมีเรื่องที่ทำให้ต้องเปลี่ยนความคิด ตั้งสมมุติฐานใหม่ แล้วลองถูกลองผิด อยู่ตลอดเวลา ที่แน่ๆ ผมไม่คิดว่าความคิดของผมนั้นถูกต้องที่สุด ผมไม่มีทางคิดว่า ความคิดของผมเป็น “ทางออก” หรือ “คำตอบ” ของปัญหา ผมเพียงแต่คิดจากข้อมูลและประสบการณ์ที่มี (ซึ่งแน่นอนว่าพวกเราล้วนแตกต่างกัน) ซึ่งต้องยอมรับว่า ยังไม่รู้จริง มีสิทธิ์ผิด และมีสิทธิ์โง่ แต่ยังคงเรียนรู้ และยังคงมีเจตนาดีต่อประเทศชาติเหมือนกับทุกๆ คน

การเป่านกหวีดอาจจะถูกก็ได้ สภาประชาชนอาจจะดีก็ได้ แต่เราก็ต้องดูกันต่อไป เพราะตอนรัฐประหารปี 49 หลายคนก็คิดว่านั่นคือทางออกที่ดี อันที่จริงทุกคนก็ล้วนแล้วแต่กำลังทำการทดลองด้วยกันทั้งนั้น

คำถามก็คือ แล้วมีใครบ้างไหมที่มีคำตอบที่ถูกต้องที่สุด มีทางออกหนึ่งเดียวที่ควรจะเป็นสำหรับประเทศชาติ ผมคิดว่า ถ้ามีคน “รู้จริง” คนนั้น ป่านนี้เราคงไม่ต้องมาวนเวียนอยู่กับปัญหาและความขัดแย้งไม่รู้จบเหมือนในวันนี้

เราทุกคนล้วนแล้วแต่กำลัง “ทดลอง” ลงมือทำในสิ่งที่คิดว่าจะนำพาไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า สังคมที่ดีกว่า ด้วยกันทั้งนั้น ไม่แน่หรอก หลักการประชาธิปไตยที่ผมยึดถือเป็นหลักอยู่ในตอนนี้อาจจะไม่ใช่ “ทาง” ที่ดีที่สุดก็เป็นได้ แต่จากประสบการณ์และข้อมูลที่มีอยู่ ณ ตอนนี้ ผมเลือกที่จะยึดสิ่งนี้ และกระทำตามความเชื่อที่ผมเชื่อว่าดีนี้

แน่นอนครับ พี่ๆ เพื่อนๆ ย่อมมีข้อมูล ประสบการณ์ และความคิดที่แตกต่างออกไป ผมเชื่อว่า พี่ๆ เพื่อนๆ ก็เลือกทำในสิ่งที่เชื่อว่าดีที่สุดสำหรับตอนนี้เช่นกัน บางคนออกไปเป่านกหวีด บางคนออกไปเผชิญแก๊สน้ำตา บางคนออกไปที่ราชมังคลา บางคนไปราชประสงค์ ผมไม่เคยคิดเลยว่า สิ่งที่พี่ๆ เพื่อนๆ ทำเป็นสิ่งที่ผิด เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ผมเชื่อว่า เราควรทำในสิ่งที่เราเชื่อว่าดี และผมเคารพกับความคิดและทุกการแสดงออก และคาดหวังว่า พี่ๆ เพื่อนๆ จะให้โอกาสผมได้แสดงออกในแบบที่ผมเชื่อเช่นกัน

เพราะเรายังไม่มีคำตอบ เรายังช่วยกันค้นหา เรายังคงทดลองกันต่อไป ว่าอะไรคือคำตอบที่ดีที่สุดของประเทศชาติอันเป็นที่รักของเรา หากเป็นไปได้ เก็บความโกรธเกลียดเอาไว้ก่อนได้ไหม ให้ทุกคนได้มีเสรีภาพในการแสดงออกตามวิถีทางของแต่ละคน เคารพกัน แลกเปลี่ยนกัน ไม่เห็นคนที่เห็นต่างเป็นศัตรู แต่ต่อสู้กันด้วยข้อมูลและเหตุผล โน้มน้าวใจกันและกันด้วยสติปัญญา มิใช่เอาเปลวเพลิงแห่งถ้อยคำมาเผาผลาญจิตใจกัน มิใช่แปะป้ายแบ่งกลุ่มกันให้แตกละเอียดมากขึ้นเรื่อยๆ

เรายังต้องช่วยกันอีกมาก เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าวันนี้ ในกลุ่มคนที่ใส่เสื้อสีเดียวกัน กลุ่มคนที่ห้อยนกหวีด กลุ่มคนที่ไม่ออกไปร่วมชุมนุม ยังมีรายละเอียดของความคิดที่แตกต่าง ในกลุ่มของคนที่เราคิดว่าไม่เหมือนเรา ยังมีความดีๆ ที่น่ารับฟัง และบางความคิดอาจตรงกันกับเรามากกว่าที่คิด เหมือนกับที่คนเสื้อเหลืองจำนวนมากก็เชื่อในประชาธิปไตย และคนเสื้อแดงจำนวนมหาศาลก็ไม่เอาคอรัปชั่น เราต่างกำลังทดลองตามทางที่เชื่อ ผิดบ้าง ถูกบ้าง หลงทางบ้าง คงต้องอาศัยคนทั้งสังคมช่วยกันตักเตือน ประคับประคอง ส่งต่อข้อมูลที่จำเป็น และคุยกัน คุยกัน คุยกัน

ถ้าเป็นไปได้ หากเราไม่ทำให้ความโกรธเกลียดฝังลึกลงไปในใจ เพียงเพราะเขาแสดงออกไม่เหมือนเรา หรือเพียงเพราะเขาอาจจะสนับสนุนอีกฝ่าย หากเราไม่รับแปะป้ายให้กันและกันจนยากที่จะพูดคุยกันได้อีก เราคงจะพอมีหวัง ที่จะได้แลกเปลี่ยนความคิดกัน สรุปบทเรียนที่แต่ละฝ่ายผิดพลาด แล้วสุดท้ายเราอาจจะได้ “ประชาชน” ที่มีสำนึก “พลเมือง” ประชาชนที่ตื่นตัว ประชาชนที่ร่วมกันตรวจสอบผู้มีอำนาจ ประชาชนที่คิดถึงความเดือดร้อนและสิทธิของประชาชนด้วยกัน แม้ว่าเขาจะแตกต่างจากเรา เช่น คนรักเพศเดียวกัน คนพิการ คนจน ฯลฯ และถึงที่สุด หากเราค่อยๆ เรียนรู้ร่วมกันไป โดยไม่คิดกำจัดคนคิดไม่เหมือนเราให้ออกไปจากสังคมหรือในวงเพื่อน เราจะได้ประชาชนที่สามารถอดทนต่อความแตกต่างได้ ประชาชนที่ยอมรับความหลากหลายทางความคิด เคารพในการตัดสินใจของคนอื่น ว่าเขาก็มีสิทธิและเสรีภาพไม่ต่างจากเรา

เมื่อเรามองเห็น “เสรีภาพ” ของผู้อื่น
เมื่อเราเรียกร้องความ “เสมอภาค” ให้กับคนที่แตกต่าง
เมื่อนั้นสังคมจะมี “ภราดรภาพ” คือความเป็นพี่เป็นน้องกัน

และนั่นคือสังคมประชาธิปไตย