ไลฟ์สไตล์
จอมพล
เมื่อคุณสูญเสีย

เมื่อไม่นานมานี้ผู้เขียนได้ทราบข่าวการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักยิ่งนั่นคือ คุณรัฐ จำเดิมเผด็จศึก ซึ่งเป็นเพื่อนและเป็นเจ้านายของน้องชาย ด้วยความเสียใจและอาลัยเป็นอย่างยิ่ง การจากไปอย่างกระทันหันโดยไม่มีเวลาให้รู้ตัวก่อน ทำให้เกิดความตกใจ เสียใจ ใจหาย และไม่อยากจะเชื่อว่าเป็นความจริง คุณรัฐยังอายุน้อย สุขภาพแข็งแรง เป็นคนน่ารักจนมีคนรักไปทั่ว เป็นเจ้านายที่ลูกน้องนับถือ เป็นคนสนุกสนาน จริงใจ มีความรู้ ชาติตระกูล ฐานะหน้าที่การงาน สมบูรณ์แบบทุกอย่างแต่ต้องมาจากไปอย่างกระทันหันเสียอย่างนี้ มีฤาคนใกล้ชิดจะทำใจได้

เราเป็นเพียงเพื่อนยังทำใจไม่ได้ แล้วคุณพ่อคุณแม่และครอบครัวของคุณรัฐจะทำใจได้อย่างไร ผู้เขียนได้บทความซึ่งคุณแม่ของคุณรัฐท่านเขียนไว้และปรารถนาจะนำมาเผยแพร่เพื่อให้ผู้ที่เผชิญกับความสูญเสียได้อ่าน จึงขออนุญาตนำมาลงในไลฟ์สไตล์ฉบับนี้ดังนี้


ปฏิกิริยาทางจิตและกายต่อความสูญเสีย
พญ. เสาวนีย์ จำเดิมเผด็จศึก

เมื่อ 40 ปีเศษก่อน ดิฉันเคยเขียนเรื่องปฏิกิริยาของคนต่อความตาย ในหนังสือที่ระลึกงานฌาปนกิจของคุณพ่อด้วยน้ำตานองหน้า วันนี้ต้องมาเขียนเรื่องทำนองเดียวกัน ให้ลูกชายคนสุดท้องผู้เป็นที่รักยิ่ง ด้วยความทุกข์ท้นและน้ำตานองหน้าเช่นเดียวกัน


วันที่ 7 เดือนกันยายน พ.ศ. 2555

ดิฉันได้รับข่าวทางไกลว่า รัฐเสียชีวิตแล้วที่โคราช ซึ่งเป็นเมืองที่รัฐไปปฏิบัติราชการชั่วคราวอยู่ สิ่งแรกที่ทำคือโทรศัพท์เข้ามือถือของรัฐ ผู้ตอบรับคือนายตำรวจที่อยู่ในห้องพักของรัฐ ยืนยันข่าวร้ายนี้ เนื่องจากอาชีพของดิฉัน ที่ต้องควบคุมสติอยู่เสมอ จึงสอบถามสภาพของรัฐ ได้ความว่าเรียบร้อยดี ไม่มีร่องรอยของการถูกทำร้าย เข้าใจว่า เสียชีวิตก่อนหน้านี้ประมาณ 4 ชั่วโมง ดิฉันทราบว่าเหตุการณ์นี้ต้องเกี่ยวข้องกับนิติเวชวิทยา จึงอนุญาตให้แพทย์ตรวจพิสูจน์ โดยให้ข้อมูลว่ารัฐมีโรคลิ้นหัวใจข้างซ้ายหย่อน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุการตายกระทันหันได้ ขอให้แพทย์ผู้ชัณสูตรดูแลเรื่องนี้เป็นพิเศษ หลังจากนั้นจึงโทรหาอาจารย์ นพ. วศิน พุทธารี แพทย์โรคหัวใจประจำตัวของรัฐ เพื่อปรึกษาว่าสาเหตุการตายเกิดจากเอ็นที่ยึดลิ้นหัวใจขาดกระทันหันหรือไม่

เพื่อนอีกคนที่โทรหาคือ พญ. พยอม บูรณสิน อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา ให้ช่วยติดต่อขอความช่วยเหลือจากแพทย์นิติเวชประจำโรงพยาบาล ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกในการเคลื่อนย้ายศพจากต่างจังหวัดกลับมากรุงเทพฯ ในวันเดียวกัน ในเวลาที่ไม่ค่ำเกินไป

ผู้ที่โทรติดต่อด้วยอันดับต่อมาคือ พี่ชายรัฐ 2 คน ทั้งสองทราบเรื่องราวอยู่ก่อนแล้ว กำลังเตรียมการประสานงานกับเพื่อนรัฐอีก 4 คน คือ ปอง, แก้ว, อ๊อด, อุ๊ โดยมี ศ. พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ช่วยสั่งอำนวยความสะดวกทุกอย่าง ส่วนแพทย์หญิงคุณวรรณา สมบูรณ์-วิบูลย์ พร้อมพยาบาล คุณสุพจรีย์ ลิ้มอุทัยทิพย์ ช่วยเตรียมเครื่องมือพิเศษสำหรับตรวจสภาพหัวใจและปอด ออกซิเจน และยากู้ชีวิต นำติดตัวมาต่างจังหวัดเพื่อช่วยพ่อแม่ ในกรณีที่อาจเกิดภาวะฉุกเฉิน เช่น หัวใจวาย หรือช็อค เป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ แต่เคราะห์ดีที่เราไม่ต้องใช้ยาและออกซิเจน แต่ต้องตรวจหัวใจและวัดออกซิเจนในเลือดเพื่อประเมินสภาพร่างกาย พบว่าหัวใจของดิฉันเต้นผิดจังหวะ เล็กน้อย เป็นจากหัวใจส่วนบน ไม่ใช่ส่วนล่างที่สำคัญที่เป็นสาเหตุ แสดงว่า ถึงสติจะดี การควบคุมใจไม่ให้หวั่นไหวดี แต่ประสาทอัตโนมัติยังแสดงอาการให้ปรากฏได้

การเล่าสาเหตุนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้อ่านทราบว่า เราแต่ละคนเป็นปัจเจกบุคคล มีอายุ ประสบการณ์ สภาพจิตใจ สภาพร่างกาย อารมณ์ ความเชื่อทางศาสนาครองอยู่ ทั้งหลับและตื่น ข่าวร้ายรุนแรงที่มากระทบ จะทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบรับต่อการสูญเสีย ในระยะแรก และต่อ ๆ มาต่างกันไป บทความนี้ เป็นเพียงข้อแนะแนวทางให้ท่านเลือก เอาไปใช้ตามความเหมาะสมกับบุคลิกของท่าน


เมื่อเราสูญเสียคนที่เรารักยิ่ง เรามีปฏิกิริยาอย่างไรบ้าง
1. ด้านอารมณ์
- ไม่เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง ช็อค มึนชา ปฏิเสธไม่ยอมรับข่าวร้าย พยายามต่อรองปลอบใจตัวเอง ว่าข่าวผิดพลาดไม่เป็นความจริง
- มีความทุกข์ท่วมท้น รู้สึกว่าหัวใจหยุดเต้นและโลกหยุดหมุน
- เกิดความโกรธ คับแค้นใจต่อคนและเหตุการณ์ทั่วโลก ไม่เว้นแต่ผู้ตายไปแล้ว - ความรู้สึกผิดต่อผู้ตาย ว่าไม่ได้ให้ความเอาใจใสพอ แสดงความรัก และความเป็นห่วงไม่เ
พียงพอ
- หมกมุ่นอยู่กับความตาย อยากตายตามไปด้วย
- กระวนกระวาย หาความสงบไม่ได้ทั้งในยามตื่นและหลับ
- รู้สึกเดียวดายถูกทอดทิ้ง โดดเดี่ยว อ้างว้าง
- อ่อนล้าในจิตใจ
- หมดอาลัยตายอยาก
- เฝ้าคอยให้กลับมา
- มึนชา งง มีความเศร้าเป็นพื้นฐานอารามณ์
- รู้สึกโล่งใจ ถ้าผู้ตายทนทุกข์ทรมาน และป่วยมานาน
- รู้สึกว่าได้รับการปลดปล่อย หมดภาระ ถ้าสัมพันธภาพกับผู้ตายมีปัญหามาก่อน หรือต้องการการดูแลเป็นพิเศษอย่างมาก เช่น เป็นอัมพาตมานานปี
- ยอมรับความจริงเรื่องการสูญเสียเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่ต้องไปถึงให้ได้

อารมณ์หลากหลายเหล่านี้ ไม่อยู่นิ่ง กลับไปกลับมาแล้วแต่สิ่งที่มากระทบใจ และสภาพร่างกาย ไม่ได้เกิดเรียงกันอย่างตัวหนังสือที่เขียน


2. ด้านทางกาย
ความเศร้าอันใหญ่หลวง ส่งผลต่อร่างกายทุกระบบดังนี้

ระบบหลอดเลือดและหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นลม ช็อค เส้นเลือดของหัวใจตีบตัน เจ็บหน้าอก ความดันเลือดสูงขึ้น หัวใจวายเฉียบพลัน

ระบบประสาท มือเท้าชา มึนงง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับหรือนอนทั้งวัน ประสาทหลอน หรือประสาทไวกว่าปกติ ได้ยิน ได้เห็น ได้กลิ่นธูปเทียน น้ำหอม ของผู้เสียชีวิต เจ็บปวดตามที่ต่างๆ ของร่างกาย กล้ามเนื้อเกร็งเป็นตะคริว หรือไม่มีแรง อ่อนเปลี้ย เงอะงะ ซุ่มซ่าม เกิดอุบัติเหตุบ่อยขึ้น

ระบบทั่วไป ไม่กิน ไม่ดื่ม อ่อนเพลีย ปล่อยตัวให้สกปรก เก็บตัว ไม่ออกจากบ้าน ไม่สังคม คันตามมือตามเท้า คันตัว น้ำหนักลดหรือเพิ่ม เนื่องจาการรับประทานอาหารและน้ำผิดปกติ น้ำหนักลดเกิน 5 กิโลกรัม ภายในเวลาไม่นาน ผมหงอกรวดเร็ว หรือ ผมร่วงผิดปกติ

ระบบทางเดินอาหาร ปากเป็นแผลเพราะความเครียดหรือขาดวิตามิน เบื่ออาหาร อาหารไม่ย่อย รับประทานมากเกินไป ท้องร่วง ท้องผูก คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องไม่มีสาเหตุ

ระบบขับถ่ายปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะขัด ปัสสาวะน้อยเพราะดื่มน้ำน้อย

ระบบหายใจ เจ็บอึดอัดขัดข้องในหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจติดขัด ถอนหายใจบ่อย ๆ ไอ หลอดลมเกร็งตัว อาการเหมือนจะเป็นหอบหืด

ระบบสืบพันธุ์ มีประจำเดือนผิดปกติ ปวดประจำเดือน หมดสมรรถภาพทางเพศ


3. การเกิดภาวะซึมเศร้ามากกว่าปกติ

ความเศร้าเสียใจ การมีประสาทหลอน และอาการต่าง ๆ ทางร่างกายดังกล่าว เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ทุกรูปทุกนาม แต่เราควรจะรู้ว่าความเศร้าเสียใจที่ผิดปกติ เป็นอย่างไร ถ้าเกิดขึ้นกับเราหรือญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง จะได้สำนึกว่า เรากำลังเดินทางผิด จมลึกลงในความทุกข์ทนเกินไปแล้ว ต้องรีบดึงตัวเองออกจากจุดนั้น ถ้าทำไม่ได้ก็มีสำนึกว่าควรขอความช่วยเหลือดูแลจากคนใกล้เคียง ญาติ หรือผู้ที่ เหมาะสม คนที่มีแนวโน้มจะผิดปกติ คือคนที่เคยเป็นโรคซึมเศร้า คนที่ไม่มีประสบการณ์เรื่องการสูญเสีย คนไร้ญาติขาดมิตรสนิท คนอัตคัดขัดสนและลำบากอยู่แล้ว คนพิการ คนที่ต้องพึ่งพาผู้เสียชีวิต

อาการซึมเศร้ามากกว่าปกติ คืออารมณ์ที่กล่าวไว้ตั้งแต่ต้น แต่มีความรุนแรง กว่าคนทั่วไป เช่น รู้สึกผิดจนเกินเหตุ สิ้นหวัง หมกมุ่นแต่เรื่องความตาย ตกใจง่าย วิตกจริต กลัวอุบัติเหตุ อุบัติภัย รู้สึกไร้คุณค่า พูดช้า เดินช้า นอนทั้งวัน ไม่ยอม ทำอะไร ทำงานไม่ได้ ออกสังคมไม่ได้ ไม่ยินดีไปเที่ยวพักผ่อน ไม่ทำงานอดิเรกที่เคยชอบ ประสาทหลอน เป็นระยะเวลานานเกินไปหลายปี หรือตลอดชีวิต มีปัญหากับครอบครัว ไร้เหตุผล พยายามฆ่าตัวตาย หรือฆ่าตัวตาย การฆ่าตัวตายนี้เป็นภาวะเร่งด่วน และไม่มีใครปลอดภัยจากเรื่องนี้ รวมทั้งจิตแพทย์ และแพทย์ผู้คุ้นเคยกับความตาย


4. การเยียวยาผู้สูญเสีย

1. การประเมินผู้สูญเสีย ผู้ประเมินคือคนรอบข้าง แพทย์ประจำตัว ครอบครัว และหรือจิตแพทย์ เพื่อให้ความเห็นว่า ความเศร้าโศกนั้นเป็นเรื่องปกติตามครรลองของธรรมชาติ หายเองได้เมื่อเวลาผ่านไป หรือเป็นภาวะเร่งด่วน เช่นอาจมีแนวโน้ม จะฆ่าตัวตาย มีพฤติกรรมทำลายตัวเองรุนแรง นอกจากบุคลิกภาพของผู้สูญเสีย ดังกล่าวไว้แล้ว ยังมีอีกเรื่องคือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเกิดการตาย เช่น จากการถูก ทำร้าย อุบัติเหตุ หรือการตายหมู่ทั้งครอบครัว เหลืออยู่แต่ผู้สูญเสียคนเดียว จะทำให้การปรับใจลำบากมาก

มีแบบฟอร์มมากหลายที่ใช้ประเมิน แต่แบบฟอร์มที่จะนำเสนอเป็นแบบฟอร์มสั้น ๆ กรอกข้อความง่าย อ่านง่าย ใช้เป็นเครื่องมือเปิดประเด็นสาเหตุแห่งการโศกเศร้าไม่รู้จบ สำหรับให้แพทย์หรือนักจิตวิทยาเจาะลึกลงในหัวข้อเหล่านั้น ทำให้รู้ว่าอะไรเป็นตัวถ่วงทำให้เศร้ายืนยาวรุนแรง

หัวข้อการประเมินมี 4 ด้านคือ การดำเนินชีวิต ปัญหาในครอบครัว ปัญหาทางอารมณ์ และความเชื่อในศาสนา ดังนี้


มีปัญหา ไม่มีปัญหา
1) การดำเนินชีวิต
- บ้านพัก ที่อยู่อาศัย o o
- การประกันภัยและประกันชีวิต o o
- บ้าน/โรงเรียน o o
- การดูแลลูก o o
2) ปัญหาครอบครัว
- จากสามี/ภรรยา/อื่น ๆ o o
- ลูก o o
3) ปัญหาทางด้านอารมณ์
- ความวิตกกังวล o o
- ความกลัวต่าง ๆ o o
- ความเศร้าโศก o o
- ภาวะจิตตก o o
- ประสาทหลอน o o
4) ศาสนา
- ศาสนาที่นับถือ o o
- ขาดศรัทธาในศาสนา o o
- เคร่งศาสนา o o


2. วัตถุประสงค์ของการเยียวยา กล่าวสั้น ๆ คือ ต้องการให้ผู้สูญเสียยอมรับความจริง สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาวะใหม่ และดำเนินชีวิตต่อไปด้วยดี พฤติกรรมที่ต้องการให้เกิดขึ้นเพื่อให้ผู้สูญเสียต้องพัฒนาตนเองจนสามารถ

- แยกแยะอารมณ์ของตนเองได้ ว่าอยู่ตรงไหน ระมัดระวังความคิด ไม่ให้เตลิดเปิดเปิง นำตัวเข้าสู่ภาวะเศร้าสุดทน แล้วดึงตัวเองออกมาให้ได้
- ยอมรับว่าความตายเป็นเรื่องธรรมดาของปุถุชน
- ปรับทุกข์กับคนที่เหมาะสมได้
- มองทุกข์จากมุมมองของศาสนาตน ด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง
- ใช้ชีวิตใหม่โดยปราศจากผู้ตายได้ดีพอควร
- เลิกพฤติกรรมทำร้ายตนเอง หยุดดื่มเหล้าและใช้สารเสพติด ไม่คิดฆ่าตัวตาย
- มีสังคมปกติ คบหาเพื่อนเก่าและเพื่อนใหม่
- ยอมรับความสูญเสียว่าเป็นจริงทั้งหมดในเวลาอันควร ไม่ปล่อยตัว ปล่อยใจจมทุกข์อยู่เนิ่นนานเกินไปจนติดนิสัย เหมือนมีแผลที่ไม่ยอมหาย

3. บุคคลผู้ร่วมเยียวยา ได้แก่ ตัวผู้สูญเสียเองเป็นอันดับหนึ่ง ที่สามารถเยียวยาตัวเองได้ นอกจากนั้นมี พ่อแม่ พี่น้อง ญาติ มิตรสหาย ผู้บังคับบัญชา ผู้ร่วมงาน ถ้าเป็นผู้ฝักใฝ่ในศาสนา อาจพึ่งบารมีของพระที่ตนนับถือให้ชี้ทางสว่าง แพทย์ประจำ ครอบครัว และหรือจิตแพทย์อาจมีบทบาทสำคัญ ถ้าปฏิกิริยาต่อการสูญเสียรุนแรง ขาดการควบคุม คุกคามสุขภาพ โดยเฉพาะถ้ามีแนวโน้มจะฆ่าตัวตาย ซึ่งถือว่าเป็นสภาวะรีบด่วนที่ต้องแก้ไขทันที

การช่วยเหลือโดยแพทย์ คือการเปิดโอกาสให้ผู้สูญเสียระบายความทุกข์ ความเสียใจกับบุคคลที่เป็นมืออาชีพ ผู้เป็นกลาง ไม่มีการประณามเอนเอียงเข้าข้างผู้ใด สามารถให้คำแนะนำได้ถูกจุด เหมาะกับสภาพทางสังคม เศรษฐกิจ บุคลิกภาพ และสุขภาพร่างกาย โดยมีหลักเกณฑ์ว่าจะจัดการกับสิ่งแวดล้อมผู้สูญเสียอย่างไร ในสภาพจิตใจขณะนั้น เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทำลายตัวเอง ให้กลายเป็นการประจักษ์ถึงปัญหา เริ่มขบวนการเข้าสู่การเยียวยาที่ได้ผลในที่สุด

บางครั้ง ยาลดความเครียด (หรือคลายเครียด) ยานอนหลับ ยาต้านความซึมเศร้า อาจมีบทบาทในการรักษาตอนแรก ๆ และค่อย ๆ ลดลงเมื่ออาการดีขึ้น

ผู้นำทางศาสนาของผู้สูญเสีย มีผลกระทบให้มีการมีวิฤตศรัทธาค่อย ๆ กลับมามีศรัทธาดังเดิม สามารถชี้ช่องทางสู่ความสงบแห่งจิต เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้น ร่างกายก็จะดีตาม ชีวิตก็จะเข้าสู่สภาพดีเหมือนเดิมหรือดีกว่าเดิม เพราะได้รับการเคี่ยวกรำ จากทุกข์หนักแล้วสามารถตระหนักถึงความจริงแห่งชีวิตว่ามีเกิดก็ต้องมีดับ

4. สังคมและสิ่งแวดล้อม ในแต่ละขั้นตอนของการสูญเสียอาจไม่เหมือนกัน เช่น ตอนแรกๆ ที่มีพิธีงานบำเพ็ญบุญของผู้วายชนม์ จะมีเพื่อนฝูงมากมาย เมื่อเวลาผ่านไป การเลือกคบคนที่จริงใจ รื่นเริง ไม่เศร้าหมอง มีชีวิตชีวา หรือการบำบัดโดยกลุ่มบำบัด อย่างเป็นเรื่องเป็นราว การไปวัดพบอุบาสก อุบาสิกา หรือเพื่อนร่วมศาสนาเดียวกันอาจช่วยได้


บทสรุป

การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก เป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่มากอย่างหนึ่งในชีวิตคน ความโศกเศร้าส่งผลกระทบต่อกายและใจ ทุกคนที่มีประสบการณ์นี้ต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่น เพื่อให้เกิดกำลังใจพอที่จะดำรงชีวิตต่อไปโดยปราศจากบุคคลสำคัญของผู้นั้น กาลเวลาควรช่วยละลายความทุกข์ได้ทีละน้อย ๆ ให้จางลง แต่มักไม่มีวันหายหมด ความรู้ทางจิตวิทยา และเรื่องสุขภาพกาย อาจช่วยนำทางไปให้ใกล้จุดหมายได้