ไลฟ์สไตล์
จอมพล
คติในการเวียนเทียน

วันสำคัญที่สุดทางพุทธศาสนาคือวันวิสาขบูชา สำหรับในปี ๒๕๕๘ นี้นั้นวันวิสาขบูชาตรงกับวันที่ ๑ มิถุนายน ซึ่งเลื่อนช้าออกไปจากที่เคยปกติจะตรงกับวันขึ้นสิบห้าค่ำเดือนหก ซึ่งก็คือเดือนพฤษภาคม เหตุที่ปีนี้วันวิสาขบูชามาตกเอาเดือนมิถุนายนก็เพราะปีนี้เป็นปีอธิกมาส คือ มีเดือน ๘ สองหน วันวิสาขบูชาจึงเลื่อนเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ นั่นเอง

ผู้เขียนเองปีนี้ก็นับผิด เมื่อถึงเดือนพฤษภาคม แลเห็นพระจันทร์กลมโตเต็มเดือน ก็คิดว่าต้องเป็นวันวิสาขบูชาอย่างแน่นอน จึงรีบทำทักษิณาวัตรแล้วเข้าสวดมนต์ ปรากฏว่าเข้าใจผิด เพราะปีนี้เป็นปีพิเศษคือเป็นปีที่มีเดือน ๘ สองหน วันวิสาขบูชาจึงเลื่อนไปอีกหนึ่งเดือน

ตั้งแต่เด็กมาแล้ว เรามักจะท่องจำกันว่าทุกๆ ๓ ปี จะเป็นปีอธิกมาส คือเป็นปีพิเศษ ที่มีเดือนแปดสองหน แต่เราก็ไม่เข้าใจจริงๆว่าเดือนแปดสองหนนี้แปลว่าอะไร ทำไมจึงต้องแตกต่างจากปีอื่น

หากจะให้อธิบายแล้วก็ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ปฏิทินไทยนั้นเป็นปฏิทินทางจันทรคติ นั่นคือนับจากดวงจันทร์ หนึ่งรอบของดวงจันทร์นับเป็น ๑ เดือน ซึ่งมีทั้งหมด ๒๙.๕ วัน ไม่ตรงกับสุริยคติ ฉะนั้นท่านจึงกำหนดให้ทุกๆสามปี วันจะเหลื่อมไปประมาณ ๓๓ วัน และเพื่อให้ทุกเดือนนั้นหรือทุกราศีนั้นมีพระจันทร์เต็มดวงจึงต้องกำหนดให้มีปีที่มีวันเพ็ญ ๑๓ ครั้ง ซึ่งเป็นการชดเชยวันที่ขาดไป ปีที่ ๓ ที่ชดเชยวันที่ขาดหายไปนั้นจึงเรียกว่าปีอธิกมาสคือปีที่มีเดือน ๘ สองหน สาเหตุที่เลือกเดือนแปดก็เพราะต้องการให้ตรงกับฤดูฝน พระท่านจะได้เข้าพรรษาตรงกับฤดูฝนอย่างถูกต้อง วิธีจำง่ายๆก็คือถ้าปีไหนเป็นปีอธิกมาสวันสำคัญทางศาสนาของไทยเรานั้นจะเลื่อนไปอีกหนึ่งเดือน ซึ่งต่างชาติอย่างศรีลังกาหรืออินเดียนั้นไม่ได้นับเหมือนเรา วันสำคัญทางพุทธศาสนาของไทยในปีอธิกมาสจึงต่างจากประเทศอื่นๆในโลก

เมื่อพูดถึงวันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นวันที่สำคัญที่สุดวันหนึ่งของโลกไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น วันวิสาขบูชาถือเป็นวันหยุดสำคัญของสหประชาชาติ เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๒ เมื่อองค์การสหประชาชาติได้ยอมรับญัตติที่ประชุมกำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก โดยเรียกวันนี้ว่า Vesak Day ตามคำร้องขอของประเทศศรีลังกา เพราะเป็นวันที่พระบรมศาสดา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประสูติตรัสรู้และปรินิพพาน

ในวันวิสาขบูชา นอกจากการทำบุญตักบาตร บำเพ็ญกุศล ถือศีลห้าอย่างเคร่งครัดแล้ว ประชาชนยังไปวัดและร่วมกันเวียนเทียน การเวียนเทียนนี้ผู้เขียนเคยสงสัยมานาน ว่าทำเพื่ออะไร ทำไมต้องเดือนวนพระอุโบสถ แล้วในระหว่างที่เดินต้องทำอย่างไร บางทีเห็นคนเดินไปคุยไป บางคนเดินไปสวดมนต์ไป แล้วทำไมต้องถือเทียนในระหว่างที่เดินด้วย

ท่านผู้อ่านอาจจะรู้คำตอบอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามผู้เขียนเชื่อว่ามีอีกหลายท่านที่ยังไม่รู้ และเดินเวียนเทียนไม่ถูกต้อง

การเวียนเทียนนั้นภาษาที่ถูกต้องจะเรียกว่าการทำ ประทักษิณา มีที่มาจากในอดีตที่ชาวอินเดียใช้ทำความเคารพต่อผู้ที่มี ฐานะที่สูงกว่า แต่กล่าวในศาสนานี้ครั้งแรกเกิดการประทักษิณาครั้งแรกเมื่อ พระพุทธเจ้าประสูติเพียง๔วันได้มีพราหมณ์ซึ่งเป็นอาจารย์ที่พระเจ้าสุทโธทนะ เลื่อมใสได้มาตรวจลักษณะ แล้วตรงตามคัมภีร์ของสัตตบุรุษแล้วรู้ว่าภายภาคหน้าจะได้ตรัสรู้จึงทำการประ ทักษิณาแล้วอภิวาท(กราบ)อีก๓ครั้งแต่ที่ชัดเจนที่สุดก็หลังจากที่ปรินิพพาน แล้ว๘วัน(วันอัฐมีบูชา)พระหมากัสสปะได้รีบเดินทางมาทำประทักษิณาแล้วพระบาท ของพระพุทธเจ้าจึงเลื่อนออกจากผ้าที่คลุมพระสรีระเพื่อให้พระมหากัสสปะได้ อภิวาทครั่งสุดท้ายก่อนถวายพระเพลิงสรีระจึงเกิดประเพณีเวียนเทียนกันในวัน สำคัญทางพระพุทธศาสนา

ผู้เขียนได้คัดลอกคติของการเวียนเทียนมาจากเวปเพจของนิทรรศการพลังแผ่นดิน อัศจรรย์งานศิลป์แผ่นดินสยาม ซึ่งไม่ทราบว่าเจ้าของเพจคัดลอกมาจากผู้ประพันธ์ท่านใดเพราะไม่ได้ลงให้เครดิตไว้ ผู้เขียนเห็นว่าเขียนได้ละเอียดดีและให้ความรู้ จึงคัดมาลงต่อดังนี้

เวียนเทียนแล้วได้อะไร ?

การเวียนเทียน คือการเดินเวียนรอบปูชนียสถานสำคัญ เช่น อุโบสถวิหาร หรือพระพุทธรูปเพื่อระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยในวันสำคัญ โดยใช้เทียนธูปและดอกไม้เป็นเครื่องสักการบูชา ถือไว้ในมือแล้วเดินเวียน ๓ รอบ ขณะที่เดินรอบนั้นพึงตั้งจิตให้สงบ พร้อมสวดระลึกถึงพระพุทธคุณ ด้วยการสวดบท "อิติปิโส" ระลึกถึงพระธรรมคุณ ด้วยการสวดสวากขาโต และระลึกถึงพระสังฆคุณ ด้วยการสวดสุปะฏิปันโน จนกว่าจะเวียนจบ ๓ รอบ

พิธีการเวียนรอบปูชนียวัตถุหรือปูชนียสถานเพื่อเป็นการแสดงความเคารพนั้น ไทยได้รับคตินี้มาจากอินเดียพร้อมกับพระพุทธศาสนา โดยปรากฏหลักฐานการแสดงความเคารพโดยการเวียนเทียนในพระไตรปิฎก ซึ่งใช้คำว่าเวียนประทักษิณาวัตร คือเวียนขวา ๓ รอบ เป็นเครื่องหมายถึงการแสดงออกซึ่งการเคารพบูชาต่อสิ่งนั้นๆ อย่างสูงสุด

ไทยได้รับคตินิยมนี้มาและปรับประยุกต์ให้เข้ากับพื้นฐานทางวัฒนธรรมของไทย โดยนำมาใช้เป็นการแสดงความบูชาต่อพระรัตนตรัย]าตั้งแต่โบราณ มีหลักฐานปรากฏเป็น "ฐานประทักษิณ" สำหรับการกระทำพิธีเวียนเทียน ในโบราณสถานทางศาสนา มาตั้งแต่สมัยทวารวดี รวมทั้งปรากฏข้อความในพงศาวดารว่ามีการกระทำพิธีเวียนเทียนในวันสำคัญทาง ศาสนาสืบมาจนถึงปัจจุบัน

ทำไมต้องเวียนขวา ?

ความจริงการเวียนเทียนนั้นมีทั้งการเวียนขวาซึ่งเรียกว่า "ทักษิณาวรรต" หรือ "ประทักษิณ" และการเวียนซ้ายซึ่งเรียกว่า "อุตราวรรต" แต่เป็นคติความเชื่อแต่โบราณว่าขวาเป็นมงคล ซ้ายเป็นอวมงคล ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวกันกับเรื่องทิศด้วย โดยสมัยโบราณแบ่งทิศเป็นเพศ และจำแนกเป็นขวาและซ้าย คือทิศตะวันออกกับทิศใต้เป็นทิศฝ่ายขวาเป็นเพศชาย ส่วนทิศตะวันตกและทิศเหนือเป็นทิศฝ่ายซ้ายเป็นเพศหญิง

คนโบราณจึงนิยมนอนหันศีรษะไปทางทิศใต้อันเป็นทิศฝ่ายขวาซึ่งในศิลาจารึกสมัย สุโขทัยและในหนังสือไตรภูมิพระร่วงได้กล่าวถึงหัวนอนคือทิศใต้ ส่วนทิศปลายตีนคือทิศเหนือ เมื่อคนเป็นๆนอนหันหัวไปทางทิศใต้ จึงจำเป็นอยู่เองที่คนตายจะต้องหันหัวสู่ทิศเหนือเวลาฝังศพจึงต้องเอาหัวคน ตายไปทางทิศเหนือ

เมื่อทิศใต้เป็นทิศมงคลและเป็นทิศหัวนอนของคนโบราณมีชื่อว่า "ทักษิณ" ซึ่งแปลว่าขวาหรือความเจริญ ทานอันเป็นผลบุญอุทิศให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้วจึงเรียกว่า "ทักษิณานุประทาน" การแสดงความเคารพองค์สถูปเจดีย์จึงนิยมการเดินเวียนขวารอบองค์เจดีย์ หรือการเวียนเทียนสมโภชก็เวียนขวาเรียกว่า "ทักษิณาวรรต" พระระเบียงที่มีอยู่รอบพระสถูปเจดีย์หรือพระอุโบสถ พระวิหาร จึงมีไว้เพื่อพุทธศาสนิกชนเดินทักษิณาวรรตบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นๆ ส่วนบนฐานชั้นล่างขององค์พระเจดีย์หรือพระปรางค์ที่มีทางเดินโดยรอบเรียกว่า ฐานประทักษิณ คือ ฐานที่มีไว้สำหรับผู้ไปบูชาเดินเวียนขวาโดยรอบ

การเวียนซ้าย หรืออุตราวรรต นิยมใช้ในงานอวมงคล เช่นการนำโลงศพเวียนซ้ายรอบจิตกาธานอันเป็นการลาลับโลกนี้ไป หรือใช้ในพิธีถอนในวิชาไสยศาสตร์ เช่น การถอนฝี ผู้ทำการรักษาจะเอานิ้วมือชี้ลากวนซ้ายไปรอบๆ ฝีจึงจะหาย

สิ่งที่ได้จากการเวียนเทียน

เป็นการให้พุทธศาสนิกชนตระหนักถึงสังสารวัฏ การไม่มีที่สิ้นสุด ทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เหมือนอย่างที่เราเดินเป็นวงกลม ที่สุดท้ายแล้วเราจะต้องวนกลับมาที่เดิม

สำหรับอานิสงค์ของการเวียนเทียน อย่างแรกที่จะเห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ กายจะสำรวมขึ้น และใจจะบังเกิดความสงบเนื่องจากสมาธิในระหว่างการเดิน อีกทั้งยังช่วยให้ไม่ลืมตัว ลดทิฐิ จะได้เป็นที่รักของมนุษย์ พรหม และเทวดา เมื่อกายและใจสงบเย็น จะสามารถสลัดออกจากภูมิเปรต เดรัจฉาน อีกทั้งบันดาลให้จิตพ้นอบายภูมิได้ ดวงจิตจะเกิดรังสีเป็นสีทองดูผ่องใสอย่างอัศจรรย์ และเมื่อปฏิบัติบ่อยเข้า จะเป็นการสะสมบุญบารมี สะสมสมาธิจนไปสู่พระนิพพานในภายภาคหน้า

การทำบุญ ไม่ได้ทำเพียงวันสำคัญทางศาสนาแล้วจบ ไม่ว่าจะวันไหนๆขอเพียงรักษาศีล สำรวมกายใจ มีสติในการใช้ชีวิต ก็เหมือนกับได้ทำบุญใหญ่โดยไม่ต้องรอทำแต่วันสำคัญทางศาสนา

หวังว่าคงจะได้ความรู้กันกระจ่างขึ้นสำหรับคติพจน์ในการเวียนเทียนนะครับ