ไลฟ์สไตล์
จอมพล
ผู้ชนะ

ผู้เขียนได้อ่านข้อความคติสอนใจนี้จากในเฟสบุ๊ค เมื่ออ่านจบแล้วก็เห็นว่าน่าสนใจ ทำให้มานั่งคิดต่อได้ว่าเห็นด้วยหรือไม่ประการใด

และคงจะมีคนที่เห็นข้อความนี้และคิดเช่นเดียวกันกับผู้เขียนฉะนั้น “คอมเม้นท์” ที่คนแสดงความคิดเห็นต่อจากข้อความนี้จึงยาวประมาณ ๒๐๐ กว่าคอมเม้นท์

สิ่งที่น่าสนใจไม่ใช่การใคร่ครวญคิดถึงความหมายและปรัชญาที่ซ่อนอยู่ในคตินี้เท่านั้น แต่อยู่ที่คนแต่ละคนที่แสดงความคิดเห็นแตกต่างกันออกไป

ยกตัวอย่างเช่นคนแรกให้ความเห็นว่า

“ก็ยอมมันไปตลอดละกันครับถัางั้น เขาพูดอะไรมาก็ยอมๆ ไป ใส่ร้ายไรมาก็ยอมๆ ไปอย่าไปเถียง เพราะเถียงแล้วจะหาย”

ลักษณะเหมือนเป็นการประชดประชัน เนื้อความคือไม่เห็นด้วย บ่งบอกให้เห็นว่าเป็นคนไม่ยอมคน และไม่เห็นว่าการยอมๆให้เรื่องมันจบไปเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

ลองมาดูความเห็นของคนต่อไป

“ไม่ เห็นด้วยซะทั้้งหมด ถ้าสิ่งที่เราเถียงคือความถูกต้อง ต่อให้เป็นใครผมก็ยืนยันว่าผมไม่ยอมให้เด็ดขาด.. เพราะผมไม่ใช่พวก ได้ครับพี่ ดีครับท่าน ทันครับผม เหมาะสมครับเจ้านาย”

นี่ก็เป็นอีกหนึ่งที่ยืนยันหัวชนฝาหากตัวเองไม่ผิด และมั่นใจว่าการยืนยันในความเห็นของตนนั้นคือสิ่งที่ถูกต้องและไม่ใช่คนประจบประแจง

อย่างไรก็ตามมีผู้ที่ให้ความเห็นในแง่ที่น่าสนใจอย่างเช่น

“ความหมาย ของคำว่าเถียง กับคำว่าแสดงความคิดเห็นไม่เหมือนกันครับคุณ”

หรือ

“สิ่งที่ไม่ถูกก็ต้องพูดด้วยเหตุและผลและมีความประนีประนอม ไม่ใช่เถียงเพื่อเอาชนะค่ะ การพูดเพื่อเอาชนะก็เท่ากับเผด็จการนะคะ”

คุณสุภาพสตรีท่านหลังนี้ให้ความเห็นที่ตรงกับใจผู้เขียน เพราะผู้เขียนนั้นเดิมทีแล้วเป็นพวกหัวรั้น หัวชนฝาเห็นอะไรไม่ถูกไม่ควรเป็นไม่ยอม จะแตกหักอย่างไรก็ไม่สน ด้วยความที่เป็นพวกอัตตาสูง ยึดความเห็นของตนเป็นใหญ่ และไม่ค่อยฟังความเห็นของคนอื่น ชอบคิดเสมอว่าผู้อื่นโง่กว่าตน หรือรู้ไม่เท่า หรือไม่ได้มองการณ์ไกลเช่นตน นี่เป็นนิสัยที่เสียของผู้เขียน

ถึงกระนั้นการพูดกันด้วยเหตุผลโดยไม่มีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด การให้เหตุผลไม่ใช่การเถียง เพราะการเถียงเป็นการใช้อารมณ์และอัตตาล้วนๆ ไม่ยึดเหตุและผลเลย

มนุษย์เรานั้นเกิดขึ้นมาพร้อมด้วยอัตตา มีความคิดว่าตัวกูของกู งานของกู บ้านของกู ตัวของกู เมื่อมีคำว่า “ของกู” เข้ามาเกี่ยวข้องเสียแล้ว สิ่งนั้นก็กลายเป็นอัตตา มีความลำเอียงว่าตนดีกว่า เหนือกว่าหรือถูกต้องกว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ

ผู้ที่รู้เท่าทันจิตของตนว่าบัดนี้ เมื่อมีผู้ไม่เห็นด้วยกับความคิดของเรา และตัวโมหะกำลังกระทบกับตัวอัตตา ก็รู้ระลึกได้ จึงไม่หลงเพลิดไปกับอารมณ์ขุ่นมัวที่เกิดขึ้นจากการกระทบของจิตกับอัตตาของตน เช่นนี้คือผู้ฝึกวิปัสสนามาดี จึงหลุดพ้นจากอัตตา ตัวกูของกูได้ ที่เหลือคือเหตุและผลล้วนๆ ไม่มีอัตตาเข้ามาเกี่ยวข้อง

การณ์นี้เห็นทีจักลำบากเพราะเราส่วนมาก ก็ไม่เคยฝึกฝนหรือฝึกแล้วทำไม่ได้ อัตตาจึงเกิด เมื่อมีผู้เห็นแย้งกับความคิดของเราก็เกิดโทสะ และกลายเป็นการทุ่มเถียงโดยใช้อารมณ์ และมีจุดจบคือการชนะหรือแพ้ ซึ่งไม่ว่าจะชนะหรือแพ้ ก็เหมือนแพ้ด้วยกันทั้งคู่ เพราะความสัมพันธ์มันมัวหมองไปเสียแล้ว จะกลับไปเป็นเหมือนเดิมก็คงไม่ได้ เช่นเดียวกับที่สุภาษิตที่ยกมากล่าวไว้

อย่างไรก็ตามผู้เขียนอ่านความเห็นไปจนจบ แต่ต้องสะดุดกับความเห็นหนึ่ง ซึ่งชาญฉลาดและถูกต้องที่สุดดังนี้

“อายุ 20 จะไม่เห็นด้วยทั้งหมด
อายุ 40 จะเห็นด้วยครึ่งหนึ่ง
อายุ 60 จะเห็นด้วยทั้งหมด”

อ่านแล้วผู้เขียนก็ให้นึกถึงตัวเองเมื่อสมัยอายุ ๒๐ ปี ที่อะไรๆก็คิดว่าตัวเองถูกไปเสียหมด คนสูงอายุ บิดามารดา ก็ดูทีหรือจะไม่ทันความคิดของเรา ความโอหังมันมีมาก คิดว่าตัวเองรู้ดีเรียนสูงกว่าผู้ใหญ่ หารู้ไม่ว่าความรู้เท่าหางอึ่งในวัย ๒๐ ปีนั้นเทียบไม่ได้กับประสบการณ์ชีวิตของผู้ใหญ่ ไม่ว่าท่านจะเรียนสูงหรือต่ำกว่าก็ตาม เมื่ออายุน้อยนั้นจึงปรามาสและดูแคลนความคิดของผู้ใหญ่ มักจะเถียงคำไม่ตกฟากและถือดีไปเสียหมด ฉะนั้นมองภาพตัวเองในวัย ๒๐ กับคติพจน์ของจีนอันนี้ คงจะคิดว่าไร้สาระ และให้ความเห็นเช่นเดียวกับท่านหลายๆคนที่ให้ความเห็นข้างบน

ครั้นอายุมากขึ้น แม้ไม่ถึง ๖๐ ปี แต่ก็เริ่มรู้ว่า การเอาชนะคะคานนั้น หาได้มีประโยชน์อะไรไม่ รังแต่จะสร้างให้เสียความรู้สึกไปเสียเปล่า แท้จริงแล้วเมื่อมีการเข้าใจผิดเกิดขึ้น ผู้ฉลาดก็จะอธิบายด้วยเหตุผล เมื่ออีกฝ่ายไม่รับและเถียงโต้กลับมา ก็ให้นิ่งเสีย ถือว่าได้แสดงความคิดที่เห็นว่าถูกต้องแล้ว นิ่งอมยิ้มเฉยๆไม่ออกความคิดเห็นอีกต่อไป อีกฝ่ายจะโกรธเคืองก็ทำไม่ได้เพราะเราไม่โต้ตอบ ครั้นผลลัพท์ออกมาปรากฏว่าเราเป็นฝ่ายถูก ก็ไม่ต้องไปย้ำซ้ำเติมให้เขาอับอายว่า “เห็นไหมบอกแล้วไม่ฟัง” ได้แต่เงียบไป ให้ความรู้สึกผิดที่เกิดขึ้นในตัวเขาเอง เพราะเขาต้องรู้อยู่แล้วว่าแท้จริงเราเป็นฝ่ายถูก นอกจากนี้หากผลลัพท์ออกมาแล้วเราเป็นฝ่ายผิด เราก็ไม่หน้าแตกเพราะเพียงแต่เสนอความคิดเฉยๆ ไม่ได้เถียงเอาเป็นเอาตายจนชนะแล้วปรากฏว่าตัวเป็นคนผิดจะอายแทบแทรกแผ่นดิน

การเอาชนะคะคานไม่มีประโยชน์แต่อย่างไร หากต้องการแข่ง ให้แข่งกับใจตัวเอง ที่เริ่มรู้สึกขุ่นมัว ก็ให้ทำใจเป็นน้ำดับไฟนั้น การพูดโต้เถียงเหมือนการเติมเชื้อฟืนเข้าในกองไฟ มีแต่จะร้อนและเผาให้วอดวายทั้งสองฝ่าย อย่างที่คำโบราณท่านว่าไว้ว่า “พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง”

เป็นสุภาษิตที่ไม่เคยล้าสมัย และเป็นจริงเสมอ ไม่ต้องรอให้ถึง ๖๐ จึงจะเห็นด้วยกับผู้เขียน พิจารณาดูท่านจะเห็นจริงตามนั้น