ไลฟ์สไตล์
จอมพล
วิถีธรรมชาติ ขจัด ๖โรคร้ายภายใน ๔ เดือน

ในที่สุดฤดูใบไม้ผลิก็มาถึง สมัยที่อยู่เมืองไทยไม่เข้าใจว่าฝรั่งนั้นทำไมถึงตื่นเต้นดีใจเวลาหมดฤดูหนาวเข้าฤดูใบไม้ผลิกันจัง เมื่อมาอยู่เมืองนอกจึงได้เข้าใจความรู้สึก เพราะหน้าหนาวนั้นหนาวจับใจ ท้องฟ้าหม่นมัว ที่ไหนที่มีหิมะก็เย็นเยือกไปไหนมาไหนก็ลำบาก ต้นไม้ก็ทิ้งใบ มองไปทางไหนก็ขาวโพลน คนจึงพากันใส่เสื้อผ้าสีมืดพันห่มกันเห็นแต่ตา ตกเย็นก็มืดเร็ว กลางวันมีน้อย กลางคืนยาวนาน อาหารการกินก็จำกัด ครั้นพอหมดหนาวดอกไม้เริ่มบาน หิมะละลาย อากาศอุ่นสบาย ฟ้าใสปิ๊งไม่มีเมฆ กลางวันยาว ค่ำแล้วก็ยังไม่มืดมีเวลาให้รื่นรมย์ยาวขึ้น ผู้คนพากันใส่เสื้อผ้าสีสดใส ออกมาเดินเล่นปาร์ตี้หรือเล่นกีฬานอกบ้านกัน จึงเสมือนเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของคนเมืองหนาว

The Spring has Sprung จึงเป็นคำพูดที่ได้ยินกันบ่อยๆเวลาย่างเข้าฤดูใบไม้ผลิเช่นนี้ ด้วยความที่ฤดูใบไม้ผลิเป็นสัญญลักษณ์ของการเกิดใหม่ เรียกกันว่า rebirth, rejuvenation, renewal, resurrection, and regrowth, หมายถึงการเกิดใหม่ การกลับเป็นเด็กอีกครั้ง การกลับไปสู่สิ่งที่ดีเหมือนเดิม การฟื้นคืนและการเกิดอีกครั้ง ฤดูใบไม้ผลิจึงเป็นเหมือนการเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

ผู้ที่ถือศาสนาคริสต์จึงใช้ช่วงเวลาสปริงนี้เฉลิมฉลองการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ในวันอีสเตอร์ซึ่งกำหนดหลังวันเริ่มแรกของฤดูใบไม้ผลิหนึ่งอาทิตย์ อีสเตอร์เป็นวันสำคัญที่สุดในศาสนาคริสต์ ซึ่งน่าประหลาดใจที่ตรงกันหรือใกล้เคียงกันกับการเฉลิมฉลองที่สำคัญๆทั่วโลก เช่นอีสเตอร์จะอยู่หลังตรุษจีน และอยู่ก่อนปีใหม่ไทย หรือที่เราเรียกว่าสงกรานต์ เมื่อก่อนนี้ผู้เขียนก็เคยสงสัยว่าปีใหม่ไทยทำไมจึงล่าช้าหลังปีใหม่สากลเขาตั้งสี่เดือน ทำให้คิดไปว่าคนไทยนี่ประหลาดไม่เหมือนประชาโลกเขา อันที่จริงสงกรานต์หรือปีใหม่ไทยนี้ ไม่ใช่มีที่ประเทศไทยที่เดียว แต่รวมอาณาไปถึงอินเดีย บังคลาเทศ ประเทศในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด ที่มีวันปีใหม่อยู่ในระหว่างวันที่ ๑๓ ถึง ๑๕ เมษายน และเมื่อได้ศึกษาลึกลงไปก็ได้เห็นว่าอารยธรรมที่ไทยเรารับมาจากอินเดียในเรื่องของปฏิทินนั้น ชาญฉลาดและ Make Sense มากไปกว่าปีใหม่ของฝรั่ง ที่ตามปฏิทินแบบเกรเกอเรียน ที่จู่ๆก็มากำหนดเอาวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันปีใหม่โดยไม่มีที่มาที่ไป

ปีใหม่ของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดียและบังคลาเทศจึงตรงกับฤดูสปริง อันเป็นสัญญลักษณ์ของการเกิดใหม่ เฉกเช่นเดียวกับสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศ คนอเมริกันนั้นเมื่อหลังอีสเตอร์แล้ว สิ่งหนึ่งที่เหมือนกับคนในเอเซียก็คือ “Spring Clean Up” ฝรั่งนั้นนิยมทำความสะอาดบ้านเอาเสื้อผ้าที่ไม่ใช้เอามาบริจาค กวาดถูบ้านให้สะอาดหมดจด ในช่วงเข้าฤดูสปริง อันนี้ดูทีจะตรงกับคนเอเชียน เช่นชาวจีนนั้นจะทำความสะอาดบ้านอย่างมโหฬารก่อนปีใหม่คือตรุษจีน คนไทยเรานั้นเมื่อเข้าสงกรานต์ ก็จะต้องกวาดถูทำความสะอาดบ้าน โดยเฉพาะหิ้งพระ ต้องนำโต๊ะหมู่บูชามาปัดเป่าทำความสะอาด นำพระพุทธรูปมาทำความสะอาดเพื่อจะได้เชิญมาสรงน้ำในวันสงกรานต์

สงกรานต์ของไทยนั้นเหมือนคริสต์มาสของฝรั่ง คือคนที่ไปอยู่ต่างถิ่นต่างก็จะกลับมาเยี่ยมครอบครัวของตน พาลทำให้วันก่อนสงกรานต์รดติดอย่างมหาศาล และในช่วงสงกรานต์ซึ่งเป็นวันหยุดยาว กรุงเทพฯจะกลายเป็นเมืองร้าง รถราไม่ขวักไขว่ นับเป็นสวรรค์ของคนกรุงเทพฯเลยทีเดียว

คนที่อยู่ไกลบ้านอย่างคนแอลเอ เวลาสงกรานต์ก็มักจะเศร้าหงอยเหงา นึกถึงบรรยากาศสนุกสนานในช่วงสงกรานต์ที่ได้อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัว ได้อ่านเฟสบุ๊คของน้องคนหนึ่งที่ตอนนี้อยู่ที่ชิคาโก เธอเขียนว่า “อยากรดนํ้าดําหัวคุณพ่อคุณแม่คุณย่าคุณยายญาติผู้ใหญ่” เป็นวลีโพสท์ขึ้นมาเปรยๆทำนองจะบ่นๆตามประสาเฟสบุ๊ค ผู้เขียนนั้นสะดุดตรงคำว่า อยากรดน้ำดำหัวคุณพ่อ เพราะปรกติเรามักจะไม่พูดว่าดำหัว ด้วยความที่เป็นคนไทย ดำหัวคุณพ่อคุณแม่ นั้นฟังดูแปลกๆ อย่างมากเราก็จะใช้คำพูดว่า “รดน้ำ” เฉยๆไม่ใช้คำว่าดำหัว

อย่างไรก็ตามคำว่า “รดน้ำดำหัว” นี้ได้ยินกันบ่อย และสงสัยมานานแล้วว่าทำไมต้อง “ดำหัว” และที่มาของคำว่า “ดำหัว” นี้มาจากไหน จึงทำให้ต้องไปค้นคว้าตามประสาคนขี้สงสัย เมื่อค้นแล้วก็เข้าใจและรู้ว่าตัวเองนั่นเองที่ผิด เพราะคำว่ารดน้ำดำหัวที่น้องเขาใช้นั้นถูกต้องแล้ว ตามที่คัดมาดังนี้

“คำว่ารดน้ำดำหัวเป็นคำพูดของชาวเหนือที่จะไปรดน้ำขอขมา(ขอโทษ) ผู้ใหญ่และขอพร จากผู้ใหญ่ที่ตนเคารพนับถือ ซึ่งจะมีการอาบน้ำจริง ๆ คืออาบทั้งตัวและดำหัวคือสระผมด้วย สื่งที่ใช้สระผมก็จะเป็นน้ำส้มป่อยหรือน้ำมะกรูด

การดำหัว ในความหมายทั่วไปของชาวล้านนาไทยนั้นหมายถึงการ "สระผม" แต่ในพิธีกรรม โดยเฉพาะในเทศกาลสงกรานต์ของทุก ๆ ปี หมายถึง การชำระสะสาง สิ่งอันเป็นอัปมงคลในชีวิตให้วิปลาสปราดไป ด้วยการใช้น้ำส้มป่อยเป็นเครื่องชำระ

จึงใช้คำว่า ดำหัว มาต่อท้ายคำว่า รดน้ำ ซึ่งมีความหมายคล้ายกัน กลายเป็นคำซ้อน คำว่า "รดน้ำดำหัว"

ประเพณีรดน้ำดำหัวถือว่าเป็นประเพณีที่ดีงามอีกประเพณีหนึ่ง ที่ประชาชนชาวไทย ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นระยะเวลา ที่ยาวนาน ซึ่งการรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ หรือญาติผู้ใหญ่ บุคคลผู้ที่ตนให้ความเคารพนับถือ การรดน้ำดำหัวนั้นจะเป็นการ ขอโทษขออภัย ซึ่งกันและกัน ที่เคยล่วงเกินกันในปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการล่วงเกิน ทางกาย ล่วงเกินทางวาจาหรือว่าการล่วงเกินทางใจ ทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ ต่อหน้าหรือว่าลับหลังก็ตาม ประเพณีรดนำดำหัว หรือบางครั้งก็เรียกว่า ประเพณีปีใหม่เมืองจะมี ในระหว่าง วันที่ ๑๓ – ๑๕ เดือนเมษายนของทุกปี หรือ วันสงกรานต์นั่นเอง

ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่จะกระทำกันในวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ เพียงวันเดียวหรือวันเถลิงศกนั่นเอง แต่การรดน้ำดำหัวพระสงฆ์นั้นจะ มีลักษณะคล้ายๆ กัน แต่พิธีการรดน้ำดำหัวพระสงฆ์จะมีพิธีการมากกว่า คือก่อนที่จะรดน้ำพระสงฆ์จะต้องรดน้ำ พระพุทธรูปก่อน แล้วจึงค่อยรดน้ำดำหัวพระภิกษุสงฆ์ จากนั้น ก็รับพรจากพระภิกษุสงฆ์ พอเสร็จพิธีก็จะมีการเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน และการรดน้ำดำหัวพระภิกษุนั้นจะทำทุกวัน ตั้งแต่วันแรกของการเริ่มประ เพณีสงกรานต์ จนถึงวันสุดท้ายของสงกรานต์”

สรุปแล้วถ้าคิดตามที่อ่านมานี้ ชาวบ้านก็จะไม่ได้รดน้ำพระสงฆ์อย่างเดียว แต่จะ “ดำหัว” คือรดหัวพระด้วย เมื่อคิดมาถึงตรงนี้ ชักไม่ค่อยแน่ใจว่าข้อมูลที่ได้มาตาม http://www.kroobannok.com/blog/7929 นี้จะถูกต้องหรือไม่ เพราะไม่เคยเห็นใครรดน้ำพระสงฆ์หรือพ่อแม่แล้วเอาน้ำไปรดหัวพระหรือพ่อแม่ด้วย สำหรับผู้เขียนนั้น ถ้าอยู่เมืองไทย สงกรานต์ก็จะนำพวงมาลัยสวยๆไปไหว้คุณพ่อคุณแม่ แล้วก็ตักน้ำใส่อ่างมาล้างเท้าให้พ่อแม่ แล้วพ่อแม่ก็จะเอาน้ำอบประพรมให้เราพร้อมกับให้ศีลให้พร ไม่เคยเห็นว่ามีใครเอาน้ำมารดหัวพ่อแม่จริงๆสักที

เขียนเรื่องสปริงสปรังแล้วกลายมาเป็นสงกรานต์ได้อย่างไร นี่เป็นเรื่องธรรมดาตามประสาไลฟ์สไตล์ ใครที่ไม่ได้กลับเมืองไทยสงกรานต์ก็ไม่ต้องเสียใจไป เพราะได้ข่าวว่าเมืองไทยร้อนมาก เราจึงควรดีใจที่ได้อยู่เมืองที่อากาศแสนจะสบายอย่างแอลเอ แถมไปไหนมาไหนก็ไม่ต้องกลัวเปียกวันสงกรานต์อีกด้วย