ไลฟ์สไตล์
จอมพล
โอลิมปิก ๒๐๑๒

ตอนนี้ไม่ว่าใครๆก็คงตื่นเต้นอดตาหลับขับตานอนดูการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนกันจนตาเป็นหมีแพนด้าไปตามๆกัน ผู้เขียนนั้นพลาดพิธีเปิดไปเพราะต้องทำงานจึงไม่ได้ดูพิธีเปิดอันอลังการงานสร้างของอังกฤษ แต่ถึงกระนั้นพิธีเปิดความยาวถึงสี่ชั่วโมงที่ใครหลายคนเฝ้าถ่างตาดูนั้น ได้ยินเสียงบ่นมาว่าอลังการสู้ของจีนเมื่อสี่ปีที่แล้วไม่ได้ ผู้เขียนนั้นก็พอจะเข้าใจอยู่ว่าทำไม ประเทศจีนนั้นในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมานี้ ได้พยายามแสดงศักยภาพให้เป็นมหาอำนาจของโลก ไม่ว่าทางด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว หรือแม้แต่การกีฬา ที่เป็นเจ้าเหรียญทองติดต่อมาเป็นหลายสมัย ประเทศจีนนั้นไม่ใช่ประเทศเสรี การเป็นเผด็จการเด็ดขาดนั้นสามารถสร้างทิศทางของประเทศได้ง่ายกว่าประเทศเสรี มนุษย์นั้นหากมีเสรีภาพมากก็จะมีปัญหามาก เพราะมนุษย์คือตัวปัญหา คนมากเรื่องก็มากความ หากเป็นเผด็จการเสียแล้วการตัดสินใจก็ง่ายขึ้น ภัยจากการเป็นเผด็จการก็คือ หากการนำพาประเทศไปสู่ทางที่ผิด ก็ไม่มีระบบการตรวจสอบหรือป้องกัน ประเทศก็พาลจะพาย่อยยับไปได้ง่าย แต่หากผู้นำเข้มแข็งและนำประเทศไปสู่ความเจริญ โอกาสที่จะเจริญก้าวหน้าจะมีมากกว่า ประเทศที่มีเสรีภาพ และรังแต่ทะเลาะเบาะแว้ง ประชาชนเห็นแก่อามิสสินจ้าง ลืมบุญคุณแผ่นดิน และลืมเจ้าลืมนาย ถูกล้างสมองเป็นพวกปัญญากลวงสมองหด อย่างประเทศบางประเทศที่เดินไปหยุดไป ทะเลาะกันเผาบ้านเผาเมืองกัน คอยแต่มือไม่พายเอาตีนราน้ำ จนประเทศถอยหลังเข้าคลอง หาความเจริญเทียบเทียมประเทศเพื่อนบ้านที่เขาไปไหนต่อไหนกันแล้วไม่ได้

บ่นไปก็รังแต่เศร้าใจ กลับมาเรื่องของโอลิมปิกกันต่อ คนจีนแผ่นดินใหญ่นั้น ผู้เขียนมีความรู้สึกว่าตั้งแต่ประเทศจีนเปลี่ยนการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ ทุกสิ่งทุกอย่างก็เปลี่ยนไป คนจีนแผ่นดินใหญ่นั้นมีความทะเยอทะยาน ต้องการเป็นหนึ่ง และเป็น Materialism คือเป็นพวกวัตถุนิยมกันมาก พวกวัตถุนิยมนี้มักจะเป็นผู้ที่ไม่นับถือศาสนา ทั้งนี้ก็ด้วยเป็นเพราะศาสนาคือเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ เมื่อขาดศาสนาเสียแล้วมนุษย์ก็จะไปยึดเหนี่ยวสิ่งอื่น ซึ่งส่วนมากก็คือความสุข และความสุขที่ปราศจากจุดยืนของความสงบในศาสนาเสียแล้วนั้นก็จะไปยึดเหนี่ยวกับวัตถุ เพื่อสนองกิเลสและตัณหาของตน ชาติที่ไร้ศาสนาจึงกลายเป็นชาติวัตถุนิยมไป การเป็นวัตถุนิยมไม่ใช่เรื่องที่จะมาโต้เถียงกันว่าดีหรือไม่ดี แต่ที่แน่ๆมันผลักดันให้คนในชาติและแนวทางของประเทศนำไปสู่ความเป็นหนึ่งในโลก คนจีนนั้นหน้าใหญ่โดยนิสัยอยู่แล้ว งานโอลิมปิกเมื่อสี่ปีที่แล้วจึงอลังการงานสร้าง เจ๊งไม่กลัวกลัวเสียชื่อ ไฉนเลยประเทศอย่างอังกฤษจะทุ่มทุนสร้างได้เท่า

อย่างไรก็ตามประเทศอังกฤษเป็นประเทศมหาอำนาจหนึ่งในหลายประเทศของโลก โอลิมปิกฤดูร้อนปีนี้จึงยิ่งใหญ่ในแนวคลาสสิคและดูเป็น Casual แต่แฝงไว้ด้วยความยิ่งใหญ่แบบผู้ดี ที่ดูแล้วเจ๋งและเก๋ากว่าโอลิมปิกปักกิ่งหลายเท่านัก ผู้เขียนได้ข้อมูลของโอลิมปิกมาจากกระปุกดอทคอมดังต่อไปนี้ อังกฤษ ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก มาแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งแรกคือ กีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 13 ในปี 1944 แม้จะถูกยกเลิกไปในภายหลังเนื่องด้วยความวุ่นวายจากเหตุสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยเหตุนี้ทำให้ อังกฤษ ได้รับช่วงต่อในการเป็นเจ้าภาพอีกครั้งในอีก 4 ปีต่อมาโดยไม่ต้องผ่านการคัดเลือกใหม่จากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล กล่าวได้ว่า อังกฤษ ได้รับบทเจ้าภาพเต็มตัวจริง ๆ ในโอลิมปิกครั้งที่ 14 เมื่อปี 1948 นั่นเอง และในปี 2012 ที่กำลังจะมาถึงนี้ อังกฤษ ก็ได้รับเกียรติให้กลับมาเป็นเจ้าภาพอีกครั้ง กับครั้งที่ 30 ของกีฬาระดับโลก ทำให้อังกฤษ เป็นประเทศแรกในโลกที่ได้เป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกถึง 3 ครั้งด้วยกัน โดยทั้ง 3 ครั้งนั้นต่างก็มีกรุงลอนดอนเป็นศูนย์กลางในการจัดการแข่งขันทั้งสิ้น

มาสคอต โอลิมปิก 2012

มาสคอต โอลิมปิก 2012

ตัวมาสคอตสัญลักษณ์อย่างเป็นทางการของการแข่งขันในครั้งนี้ คือเจ้า "เว็นล็อค" (Wenlock) ที่ควงคู่มากับ "แมนเดวิล" (Mandevil) เพื่อนอีกหนึ่งตัว ซึ่งจะเป็นสัญลักษณ์ของ พาราลิมปิก เกมส์ ที่จะจัดขึ้นหลังจากกีฬาโอลิมปิก และมีอังกฤษเป็นเจ้าภาพเช่นเดียวกัน โดยทั้งสองตัวจะจับคู่กันเพื่อโปรโมทกีฬาระดับโลกทั้งสองงาน

หากสังเกตดูจะพบว่าทั้งคู่มีดวงตากลมแป๋วเพียงดวงเดียว ซึ่งสื่อถึงดวงตาที่เป็นกล้องคอยบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ นั่นเอง เจ้า "เว็นล็อค" เป็นมาสคอตตัวสีเงินลายสีส้มมีหัวเป็นแท็กซี่ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกรุง ลอนดอน และที่ข้อมือก็มีสายรัดข้อมือสัญลักษณ์ของโอลิมปิก ส่วนเจ้า "แมนเดวิล" เป็นมาสคอตสีเงินลายสีฟ้า มีหัวคล้ายตัวการ์ตูนโซนิค เม่นสายฟ้า (Sonic the Hedgehog) ถึงจะหน้าตาประหลาดไปนิด แต่ก็มีคาแรกเตอร์น่ารักน่าเอ็นดูทั้งคู่ โดยทั้งสองตัวถูกสร้างขึ้นมาจากคอนเซ็ปท์ที่เน้นไปที่กีฬาของเด็ก ๆ และเยาวชน นั่นเอง


โลโก้

โลโก้ของกีฬา โอลิมปิก 2012 นี้ ออกแบบโดย "วอล์ฟฟ์ โอลินส์" โดยรูปทรงหยึกหยักนั้นสามารถอ่านได้ว่า "2012" ซึ่งเป็นปีของการแข่งขันกีฬานั่นเอง และมีตัวหนังสือ "london" และสัญลักษณ์ห้าห่วงของกีฬาโอลิมปิกอยู่ด้วย โดยโลโก้นี้ จะใช้เป็นสัญลักษณ์ของทั้งกีฬา โอลิมปิก 2012 และ พาราลิมปิก 2012

เหรียญรางวัล

เหรียญรางวัล

สำหรับเหรียญรางวัลในงานโอลิมปิกครั้งนี้ ได้ ""เดวิด ว็อทกินส์ นักออกแบบเครื่องประดับชาวอังกฤษเป็นผู้ดีไซน์ โดยด้านหนึ่งของเหรียญเป็นรูปเทพเจ้าไนกี้ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ส่วนอีกด้านหนึ่งของเหรียญ ผู้ออกแบบเปรียบรูปร่างกลมของเหรียญเป็นดั่งโลก จะมีสัญลักษณ์ห้าห่วงของกีฬาโอลิมปิกอันสื่อถึง 5 ทวีปบนโลกที่ได้เข้าร่วมแข่งขัน และอักษร "london" สลักอยู่บนรูปทรงเหลี่ยมนูนแปลกตา อันแสดงออกถึงความเป็นเมืองแห่งสถาปัตยกรรมของกรุงลอนดอน และยังอ่านได้ว่า "2012" อันเป็นปีที่จัดการแข่งขันด้วย โดยริ้วบาง ๆ ที่พาดผ่านด้านหลัง หมายถึงแม่น้ำเทมส์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของเมือง ส่วนกรอบสี่เหลี่ยมตรงกลางให้ความรู้สึกถึงขอบเขตและความเป็นเมืองของลอนดอน และเส้นสายที่พุ่งกระจายออกจากศูนย์กลางสื่อความรู้สึกถึงพลังงานที่พุ่งพล่านนั่นเอง


สถานที่แข่งขัน

สำหรับสนามแข่งขันนั้น มีทั้งสเตเดียมที่สร้างขึ้นมาใหม่เพื่องานกีฬาระดับโลกนี้โดยเฉพาะ ซึ่งอยู่ในกรุงลอนดอน ทั้งยังมีการปรับปรุงสนามกีฬาเดิมที่ตั้งอยู่ในและนอกกรุงลอนดอน เพื่อให้พร้อมเป็นสถานที่สำหรับการแข่งขันด้วย โดยสถานที่แข่งขันจะแบ่งออกเป็น 3 โซนใหญ่ ๆ คือ โอลิมปิกโซน, ริเวอร์ โซน และ เซ็นทรัล โซน ทั้งสามโซนนั้นล้วนอยู่ในกรุงลอนดอนและเขตปริมณฑลโดยรอบ นอกจากนั้นอาจมีกีฬาบางประเภทที่แยกไปแข่งขันในสนามแห่งอื่นบ้าง

Aquatics Centre Basketball Arena London Velodrome

โอลิมปิก โซน (Olympic Zone)

ในส่วนของโอลิมปิกโซน จะอยู่ในพื้นที่ของ "ควีน อลิซาเบธ โอลิมปิก ปาร์ค" (Queen Elizabeth Olympic Park) บนพื้นที่ 500 เอเคอร์ (2 ตารางกิโลเมตร) ซึ่งเป็นศูนย์รวมสนามกีฬานานาชนิด รวมทั้งหมู่บ้านนักกีฬา และศูนย์ส่งสัญญาณการถ่ายทอดกีฬาอันเป็นที่ทำงานของสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นมาใหม่เพื่อรองรับการแข่งกีฬา โอลิมปิก 2012 โดยเฉพาะ โดย โอลิมปิก โซน ประกอบด้วย สนามกีฬาสำคัญ 8 สนาม คือ อควาติก เซ็นเตอร์ (Aquatics Centre), บาสเก็ตบอล อารีน่า (Basketball Arena), บีเอ็มเอ็กซ์ เซอร์กิต (BMX Circuit), แฮนด์บอล อารีน่า (Handball Arena), ลอนดอน เวโลโดรม (London Velodrome), โอลิมปิก ฮ็อคกี้ เซ็นเตอร์ (Olympic Hockey Centre), โปโล อารีน่า (Water Polo Arena) และ โอลิมปิก สเตเดียม (Olympic Stadium) ทั้งนี้ โอลิมปิก สเตเดียม ยังเป็นสถานที่ที่จะใช้ในการจัดพิธีเปิดและปิดกีฬาระดับโลกนี้ด้วย

Exhibition Centre London North Greenwich Arena

ริเวอร์ โซน (River Zone)

เป็นโซนที่อยู่ใกล้กับแม่น้ำเทมส์ และมีสนามกีฬาสำคัญ 4 สนาม ได้แก่ เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ (Exhibition Centre London), กรีนวิช ปาร์ค (Greenwich Park), นอร์ธ กรีนวิช อารีน่า (North Greenwich Arena) และ รอยัล อาร์ทิลเลอรี่ บารัคส์ (Royal Artillery Barracks)

Hadleigh Farm Lee Valley White Water Centre

เซ็นทรัล โซน (Central Zone)

ในส่วนของ เซ็นทรัล โซน และเป็นส่วนของสนามกีฬาที่ไม่ได้กระจุกอยู่ในสองโซนข้างต้น แต่กระจายตัวอยู่ที่ตามที่ต่าง ๆ ในกรุงลอนดอนและทางตะวันตกของกรุงลอนดอน

ส่วนสนามกีฬาที่อยู่นอกกรุงลอนดอนแต่ถูกกำหนดให้ใช้เป็นสนามแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ได้แก่ ทะเลสาป ดอร์นี่ (Dorney Lake), แฮดลีห์ ฟาร์ม (Hadleigh Farm), ลี วัลเลย์ ไวท์ วอเตอร์ เซ็นเตอร์ (Lee Valley White Water Centre) และ ศูนย์ล่องเรือใบ วีเมาธ์ แอนด์ พอร์ทแลนด์ (Weymouth and Portland National Sailing Academy)

Hampden Park Old Trafford

สนามแข่งขันฟุตบอล

เมื่อพูดถึงการแข่งกีฬาโอลิมปิก หนึ่งกีฬาที่ใคร ๆ ก็เฝ้าดูหนีไม่พ้นการแข่งขันฟุตบอล สำหรับการแข่งขันฟุตบอลในกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ จะกระจายกันแข่งตาม 5 สนาม ได้แก่ ซิตี้ ออฟ โคเวนทรี สเตเดียม (City of Coventry Stadium), แฮมป์เด็น ปาร์ค (Hampden Park), มิลเลเนียม สเตเดียม (Millennium Stadium), โอลด์ แทรฟฟอร์ด (Old Trafford) และ เซนต์ เจมส์ ปาร์ค (St James' Park) ส่วนนัดพิเศษในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศนั้น จะแข่งที่ เว็มบลี สเตเดียม (Wembley Stadium) ซึ่งจุคนได้ 90,000 ที่นั่ง


หมู่บ้านนักกีฬา

หมู่บ้านนักกีฬาจะอยู่ใน โอลิมปิก โซน โดยในตัวหมู่บ้านมีอาคารที่พักทั้งหมด 3,300 หลัง ห้องพักแต่ละห้องมีพื้นที่ 16 ตารางเมตร และจำนวนเตียงสำหรับนักกีฬารวม 17,320 เตียง พร้อมทั้งทีวีและอินเทอร์เน็ต รวมทั้งศูนย์อาหารภายในหมู่บ้านที่รองรับคนได้คราวละ 5,500 คน


ระบบการขนส่ง

ทางลอนดอนได้มีการปรับปรุงระบบการขนส่ง ทั้งการเดินรถไฟสายเหนือและสายตะวันออก อันจะพาผู้เข้าร่วมชมกีฬาไปยังสนามแข่งขันได้อย่างสะดวกสบาย รวมทั้งยังได้สร้างทางเดินรถไฟขึ้นใหม่ 1 สาย คือ เจฟลิน ไลน์ (Javelin Line) โดยที่ฝ่ายผู้จัดการแข่งขันได้วางโครงสร้างการเดินทางให้ผู้เข้าร่วมงานสามารถไปถึงที่หมายต่าง ๆ ได้ภายในเวลา 20-30 นาที

ขอเพิ่มเติมข้อมูลตรงนี้ที่ว่าจะมีคนทั้งหมด ๘๐๐,๐๐๐ คนที่ใช้ระบบการขนส่งมวลชนนี้เข้าออกสนามการแข่งขัน ผู้เขียนยังได้ข้อมูลแปลกๆมาเพิ่มเกี่ยวกับโอลิมปิกครั้งนี้ดังต่อไปนี้


- ตั๋วการแข่งขันทั้งหมดจะมี ๗.๗ ล้านใบ
- มีกิ้งก่าถึง ๒,๐๐๐ ตัวที่ถูกจับไปไว้ที่อื่นไม่ให้มาเพ่นพ่านในงานโอลิมปิก
- สายเคเบิลที่ใช้ในระบบไฟของโอลิมปิกครั้งนี้มีความยาวรวมกัน ๒๐๐ กิโลเมตร
- ทางส่งน้ำที่ใช้ในโอลิมปิกมีความยาว ๘.๓๕ กิโลกเมตร
- มีประเทศที่เข้าร่วมแข่งขันในโอลิมปิกครั้งนี้ถึง๒๐๕ ประเทศ
- มีการปลูกต้นไม้ ๔,๐๐๐ ต้น ในสวนสาธารณะโอลิมปิก และหมู่บ้านโอลิมปิก
- ควีนอลิซาเบททรงปลูกต้นไม้ต้นแรกเมื่อเดือนตุลาคม ปี ๒๐๐๙ ที่สนามกีฬาโอลิมปิก
- สิ่งของที่ถูกรื้อถอนเพื่อสร้างสิ่งก่อสร้างของโอลิมปิก ๙๐ เปอร์เซ็นต์ถูกนำกลับมาใช้ใหม่
- ขนมปัง ๒๖๐,๐๐๐ ก้อนใช้เลี้ยงคนในงานโอลิมปิกครั้งนี้

พิธีปิดจะมีในวันที่ ๑๒ สิงหาคมที่จะถึงนี้ ยังมีเวลาให้ตื่นเต้นกันต่อไป คนไทยจะได้เหรียญกับเขาบ้างหรือเปล่าก็ช่วยกันลุ้นด้วยนะครับ