ไลฟ์สไตล์
จอมพล
หอมกลิ่นเครื่องเทศ

ย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง อากาศเริ่มเย็นลง เห็นใบไม้ต้นไม้เปลี่ยนเป็นสีทองสีแดง บนถนนเกลื่อนกลาดไปด้วยใบไม้ร่วง ตามร้านรวงตกแต่งต้อนรับเทศกาลฮัลโลวีน ตุ๊กตาผี ใยแมงมุม เด็กๆพากันเตรียมตัวหาชุดไว้แต่งตัววันฮัลโลวีนเพื่อจะเตรียมไป ทรีคออร์ทรีด ในวันที่ ๓๑ ตุลาคม

อากาศสบายๆยามเย็นๆเดินโฉบเข้าร้านสตาร์บัค ในหนึ่งปีก็จะมีช่วงนี้ล่ะที่มีกาแฟใส่นมรส pumpkins spice Latte หอมกลิ่นเครื่องเทศละมุนละไม ชวนให้นึกถึงเทศกาล Thanks Giving และ Christmas ไม่ว่าจะไปที่ไหนในช่วงนี้ เราก็จะได้เห็นแต่ Pumpkins Spice เต็มไปหมด ตั้งแต่เทียนหอมกลิ่นฤดูใบไม้ร่วง ขนมพายฟักทองสัญลักษณ์ของฤดูใบไม้ร่วง กลิ่นหอมเครื่องเทศอบอวลชวนให้หลงใหล เป็นเช่นนี้ทุกปี

ขนมพายฟักทองนั้นดูเหมือนจะเป็นสัญญลักษณ์ของฤดูใบไม้ร่วงย่างเข้าฤดูหนาวโดยเฉพาะในทวีปอเมริกาเหนือคือสหรัฐอเมริกาและแคนาดา แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของฤดูเก็บเกี่ยวก่อนจะถึงหน้าหนาวอันยาวนาน ลักษณะพิเศษของขนมพายนี้จะมีขอบเป็นแป้งกรอบ และมีใส้ที่ทำจากคัสตาร์ดฟักทองสีเหลืองอร่าม สิ่งที่สำคัญที่ขาดเสียไม่ได้คือ เครื่องเทศ เครื่องเทศที่ว่านี้ประกอบไปด้วย อบเชย (Cinnamom) กระวาน (Cadamom) กานพลู (Clove) จันทน์เทศ (Nutmeg) และขิง (Ginger)

ดอกยี่หร่า (พืชจำพวกเดียวกับผักชี)

สิ่งที่น่าประหลาดใจสำหรับคนไทยเรานั้นคือ เครื่องเทศที่ว่านี้เป็นเครื่องเทศของแขก เรานำมาใส่เฉพาะแกงกะหรี่ หรือพะโล้ แกงเขียวหวานและแพนงนั้นไม่ใช้ จะใช้ก็แต่ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด หอม กระเทียม และจำพวกเครื่องเทศมักจะใช้แต่ยี่หร่าเท่านั้น ยี่หร่านี้ส่วนมากใช้กับเม็ดผักชี เรียกควบกันว่าเม็ดผักชี ยี่หร่า ฝรั่งเรียกยี่หร่าว่า Cumin Seeds ต้นคิวมินนี้เป็นหญ้ามีดอกสีขาวสวย ใช้เป็นเครื่องปรุงพริกแกงเขียวหวานที่สำคัญ ส่วนเครื่องเทศที่ฝรั่งเอามาทำพายฟักทองนั้นจะเข้าเครื่องของแขกเสียมากกว่า อีกสิ่งหนึ่งที่แปลกออกไปคือ ฝรั่งนั้นจะไม่ใช้เครื่องเทศตัวหนึ่งที่สำคัญของอาหารอินเดียเลย นั่นก็คือ ขมิ้น (Tumeric) คนไทยเราก็ใช้ไม่ค่อยมาก จะใส่ในแกงกะหรี่ ไส้กะหรี่ปั๊บ หมูสะเต๊ะ หรือ ปูผัดผงกะหรี่เท่านั้น ขมิ้นนี้เป็นยาดี วันหลังผู้เขียนจะเขียนเรื่องขมิ้นโดยละเอียด

คนไทยเรานั้นทำขนมไม่ใส่เครื่องเทศ ถ้าผิดพลาดท่านผู้อ่านทักท้วงด้วย แต่เท่าที่นึกดูนั้นเครื่องเทศแขกที่ว่านี้จะใช้ในอาหารมุสลิมหรือ อาหารอินเดีย ถ้าเป็นแกงไทยก็ต้องเข้าแขกเช่น กะหรี่หรือมัสมั่น ฉะนั้นเครื่องเทศในอาหารไทยนั้นไม่ใช้มากเหมือนอาหารอินเดีย ส่วนของฝรั่งมักไม่ใส่เครื่องเทศในอาหาร แต่กลับมาใส่ในขนมแทน อย่างเช่นพายฟักทอง ประจำเทศกาลฤดูใบไม้ร่วงนี้

เวลาไปซื้อเครื่องเทศนี้มาทำขนม หรือนำมาโรยใส่ในชาหรือกาแฟ ให้มีกลิ่นแบบคริสต์มาสต์นี้ เขาจะเรียกรวมว่า All Spices หรือเรียกว่า Mixed Spice ก็มี เครื่องเทศฝรั่งที่ว่านี้จะมีอบเชย กับจันท์เทศ ยืนพื้น จากนั้นก็จะผสมเครื่องเทศรวมอันประกอบไปด้วย กานพลู ขิง เม็ดผักชี พริกคเยนและ คาราเวย์ อันหลังนี้ไม่มีชื่อเป็นไทย คาดว่าคนไทยคงไม่ใช้ มีลักษณะคล้ายยี่หร่า ผู้เขียนคาดว่าคนไทยคงเรียกรวมไปว่า ยี่หร่า อาจจะเติม ยี่หร่าแขก หรือยี่หร่าฝรั่งก็เป็นได้ อันนี้คิดเอาเอง

ประเด็นสำคัญที่ร่ายยาวยกแม่น้ำทั้งห้ามาเล่าสู่กันฟังนี้คือ จะเล่าถึงประโยชน์มหาศาลในทางยาสมุนไพรของเจ้าบรรดาเครื่องเทศฝรั่งเหล่านี้

กานพลู (Clove)

กานพลูนั้นใช้เป็นยาแก้ปวดฟันดีอันดับหนึ่ง วิธีใช้กานพลูแก้ปวดฟันคือใช้น้ำมันกานพลูหยดลงในสำลีแล้วนำไปอุดตรงฟันที่ปวด เขาว่าหายชะงัดนัก กานพลูใช้ชงในน้ำดื่มแก้อาการไอ และเจ็บหน้าอก หรือเจ็บคอได้ นอกจากนี้น้ำมันกานพลูยังเอามาถูนวดแก้อาการปวดเมื่อย อักเสบ แผลถลอกหรือรอยฟกช้ำดำเขียวได้ดี นอกจากนี้ยังช่วยแก้คลื่นเหียนอาเจียน ท้องร่วง มีแก้สในกระเพาะอาหารมากได้ด้วย สุดท้ายกานพลูยังเป็นยาเพิ่มความต้องการทางเพศอีกด้วย

ลูกกระวาน (Cadamom)

ลูกกระวานนั้นเวลานำมาเคี้ยวก็จะไม่รู้สึกถึงกลิ่นของมัน แต่เวลานำมาแกงแล้วจะหอมมากที่เดียว ลูกกระวานมีคุณประโยชน์หลายประการเช่น แก้คลื่นเหียนอาเจียน มีแก้สมาก ขับพิษในไต ในอินเดียพวกแขกจะเคี้ยวลูกกระวานแทนหมากฝรั่งเพื่อให้ดับกลิ่นอาหาร สามารถใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้โรคซึมเศร้า ไข้หวัด แก้มะเร็ง แก้ความดันโลหิตสูง มีฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระ แก้อักเสบ และเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ

อบเชย (Cinnamon)

อบเชยเป็นพระเอกของเครื่องเทศทั้งหลาย หากบริโภคอบเชยวันละครึ่งช้อนชาทุกวัน จะลดไขมันอุดตันในเส้นเลือด ลดปริมาณน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา แก้มะเร็งในเม็ดเลือด แก้เส้นเลือดอุดตัน รักษาอาการปวดข้อ ข้อเสื่อม ช่วยฆ่าเชื้อในอาหารทำให้อาหารไม่บูดเน่า ทำลายเชื้อโรคเช่นเชื้อแบคทีเรียโคลีที่อยู่ในนมที่ปราศจากการพาสเจอร์ไรซ์ นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ช่วยแก้อาการปวดหัวไมเกรนอีกด้วย

จันทน์เทศ (nutmeg)

จันทน์เทศช่วยทำให้หลับสบาย ฝรั่งแก่ๆเวลาลูกหลานนอนไม่หลับก็จะให้ดื่มนมอุ่นโรยผงจันทน์เทศสักหน่อยเดี๋ยวก็หลับปุ๋ย จันทน์เทศทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายดีขึ้น มีแร่ธาตุโปแตสเซียม แคลเซียม เหล็ก แมงกานีส อยู่มาก จันทน์เทศผสมน้ำและน้ำผึ้งนำมาทาหน้าจะช่วยทำให้ผิวพรรณสดใสไร้สิวฝ้า หรือใช้เป็นสครับขัดผิวก็ได้ จันทน์เทศก็เป็นเช่นเดียวกับเครื่องเทศอื่นๆคือช่วยรักษาระบบย่อยอาหาร อาหารเป็นพิษ หรือถ่ายท้อง น้ำมันจันทน์เทศผสมกับอบเชยมีฤทธิ์เป็นยาปฏิชีวนะระงับการติดเชื้อ ในจันทน์เทศมีสารที่เรียกว่า Myristicin ช่วยรักษาผู้สูงอายุที่มีความจำเสื่อมหรือเป็นอัลไซเมอร์ได้ผลดี สุดท้ายน้ำมันจันทน์เทศนี้ยังใช้นวดผ่อนคลายความเมื่อยล้าได้ดีอีกด้วย

ผู้เขียนนำเครื่องเทศเหล่านี้มาผสมกับน้ำตาลทรายแดง เติมน้ำมันขิงแล้วคนให้เข้ากัน ใส่เครื่องเทศตามชอบนำมาขัดผิว ได้ผิวที่สวยละเอียด แล้วกลิ่นหอมชวนรับประทานอย่างยิ่ง

สำหรับวันนี้ขอพักไว้ก่อนสำหรับรายละเอียดของเครื่องเทศอื่นๆ เช่น ขิง ขมิ้น หรือไพล ติดตามต่อนะครับ