ไลฟ์สไตล์
จอมพล
ตรุษจีนจับแพะชนแกะ

จากการที่อยู่อเมริกามาเป็นเวลานาน ผู้เขียนเริ่มจะเห็นความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของคนอเมริกันมากขึ้น การยอมรับในวัฒนธรรมอันหลากหลายของประชาชนพลเมืองอเมริกันเริ่มมีมากขึ้นตามลำดับ ยกตัวอย่างเรื่องของเทศกาลตรุษจีนหรือที่ฝรั่งเรียกว่า Lunar New Year คำว่า “ลูน่า” หมายถึงพระจันทร์ “ลูน่านิวเยียร์” ก็คือปีใหม่ตามปฏิทินจันทรคติ ซึ่งมีวันปีใหม่ต่างออกไปจากปฏิทินฝรั่งเกรเกอเรียน

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ตรุษจีนที่อเมริกาก็จะมีฉลองกันแต่ในกลุ่มของชาวจีนที่รวมกันอยู่ในไชน่าทาวน์บ้าง ตามหัวเมืองต่างๆบ้าง มาในปีนี้ดูจะเริ่มคึกคักมากขึ้น ดูได้จากการที่ชาวอเมริกันได้นำตรุษจีนเข้าไปอยู่ในเรื่องของธุรกิจมากขึ้น มีการยิงกลุ่มเป้าหมายชาวเอเชียน อย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ภาพที่ผู้เขียนถ่ายมานี้คือเทพเจ้าแห่งโชคลาภ ไฉ่ซิงเอี้ย ซึ่งสร้างเป็นตุ๊กตาสูงใหญ่เท่ากับตึก ๒ ชั้นยืนเด่นเป็นสง่าที่ล็อบบี้ของห้างอเมริกาน่า

เมืองเกลนเดล อีกฟากหนึ่งก็เป็นรูปโคมแดงใหญ่มโหฬารแขวนตระหง่านต้อนรับเทศกาลตรุษจีน ห้างแห่งนี้เดิมทีเป็นฝรั่งจ๋า และเป็นห้างไฮโซ เพราะตกแต่งหรูหรา แต่คนเดินไม่ค่อยจะไฮโซเหมือนสถานที่ เพราะแถวเกลนเดลนี้ มีแต่ชาวอาเมเนี่ยนและคนฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ตามห้างนี้ก็เห็นความสำคัญของกลุ่มลูกค้าเอเชี่ยนจึงได้ตกแต่งเฉลิมฉลองตรุษจีนไปกับเขาด้วย

ผู้เขียนได้สังเกตเห็นคนอเมริกันเองพูดถึงปีใหม่จีนนี้บ่อยๆ เมื่อเช้านี้ไปที่ทำงาน ก็พบเรื่องราวของเทศกาลตรุษจีนอยู่ในหนังสือเวียนของที่ทำงาน ที่บอกเล่าเก้าสิบความเป็นมาของตรุษจีน แถมยังมีข้อห้ามทั้งหลายทั้งแหล่ ที่พวกเรารู้ๆกันอยู่ พิมพ์บนหนังสือเวียนด้วย อย่างเช่น ตรุษจีนห้ามตัดผม ห้ามสระผม ห้ามยืมเงิน ห้ามพูดหยาบคาย ห้ามไปงานศพ และอีกอื่นๆต่างๆนานา นำมาลงให้ฝรั่งได้ปฏิบัติตามกันอย่างคึกคัก

อย่างไรก็ตามสิ่งที่สะดุดตาของผู้เขียนก็คือคำว่า Chinese New Year, A Year of Sheep เห็นแล้วก็อดแปลกใจไม่ได้ ว่าปีนักษัตรของจีนนี้หาใช่ปีแพะ เหมือนอย่างของเราชาวไทยไม่ อันแพะกับแกะถึงจะมีสี่ขามีขนตัวเท่าๆกัน แต่ก็เป็นสัตว์คนละประเภท ไม่เหมือนกันเลย ฝรั่งนั้นบางทีก็เรียกว่า Year of Sheep บ้าง Year of Goat บ้าง

ผู้เขียนเห็นว่าแปลกดี สำหรับในเมืองไทยนั้นเป็นปีแพะ ไม่มีใครเรียกว่าเป็นปีแกะ ด้วยความสงสัยว่าอะไรผิดหรือถูกกันแน่ จึงไปค้นคว้ามาเล่าให้ฟังดังนี้

ปีนักษัตรของจีนนั้นในแต่ละปีจะตกสลับกันไประหว่าง หยิน กับ หยาง หยินคือพลังความเย็น ความอ่อนนุ่ม ต่างกับหยาง ที่เป็นพลังร้อนและเข้มแข็ง อย่างในปีแพะปีนี้ตกอยู่ที่หยาง คือเป็นปีร้อนและเข้มแข็ง ว่ากันว่าความสับสนในเรื่องว่าปีนี้จะเป็นปีแกะหรือปีแพะกันแน่นั้น ผู้เชี่ยวชาญในด้านศิลปะวัฒนธรรมจีนโบราณ ได้ออกมายืนยันว่าความสับสนนี้เกิดจาก การตีความและการออกเสียงภาษาจีนค่อนข้างคล้ายคลึงกัน คำว่าแพะ อ่านออกเสียงเป็น “shanyang” ซึ่งมาจากคำว่า ชานที่แปลว่าขุนเขา มาสมาสกับหยาง เป็นชันหยาง ซึ่งแปลได้ว่าแพะ ในขณะที่ “Mianyang” ที่แปลว่าแกะมาสมาสกับคำว่าปุยนุ่น

ฉะนั้นการเลือกปีนักกษัตรของจีนนั้นจะขึ้นอยู่กับว่า ผู้เขียนจะเลือกสัตว์ชนิดใด หากต้องการความเข้มแข็งก็เลือกแพะ หากต้องการความนุ่มนวลก็เลือกแกะ

ในอีกตำราหนึ่งกล่าวว่าทางตอนเหนือของจีนประชาชนเลี้ยงแกะมากจึงมักเรียกว่าปีแกะ ส่วนทางใต้มีแพะมากกว่าก็เรียกเป็นปีแพะ คนไทยเชื้อสายจีนนั้นส่วนมากบรรพบุรุษจากอพยพมาจากจีนใต้ เช่นไหหลำ ซัวเถา ตรุษจีนในเมืองไทยจึงเด่นชัดว่าเป็นปีแพะ ไม่ใช่ปีแกะ

ปัจจุบันนี้จีนเป็นชาติหนึ่งที่เลี้ยงแพะมากเป็นอันดับหนึ่งในโลก คือมีแพะถึง ๑๙๕ ล้านตัว นับเป็นหนึ่งในสี่ของประชากรชาวแพะทั้งโลก ส่วนแกะนั้นมี ๑๘๗ ล้านตัวนับเป็น ๑๕ เปอร์เซ็นของพลเมืองแกะ๑๕ เปอร์เซ็นต์

สรุปแล้วจะเรียกว่าเป็นปีแพะหรือปีแกะก็แล้วแต่ความเห็นชอบส่วนตัวนั่นเอง

จับแพะชนแกะเสร็จผู้เขียนก็ขอฝากสุภาษิตจีนที่เขียนโดยนักปราชญ์จีนที่มีชื่อเสียง ไว้ให้อ่านต้อนรับปีแพะหฤหรรษ์ดังนี้


๑ "ซุนวู"
" ชมคนด้วยวาจา... มีค่ายิ่งกว่ามอบไข่มุกให้เป็นของขวัญ
ทำร้ายคนด้วยวาจา... สาหัสยิ่งกว่าทิ่มแทงด้วยหอกดาบ.."


๒ "ฮั่วหลัวเกิง"
" คนอื่นช่วยเรา... เราจะจำไว้ชั่วชีวิต
เราช่วยคนอื่น... จงอย่าจำใส่ใจ "


๓ "หวังติ้งเป่า"
" มีชีวิตอย่างไร้คุณธรรม... มิสู้ตายอย่างมีคุณธรรม
ได้มาด้วยความคดโกง... มิสู้ยอมเสียอย่างซื่อตรง..."


๔ "ปันกู้"
" น้ำใสสะอาดเกินไป... ย่อมไร้ซึ่งมัจฉา
คนที่เข้มงวดเกินไป... ย่อมไร้ซึ่งบริวาร "


๕ "หลี่ต้าเจา"
" ความไม่พอใจ... ความกลัดกลุ้มหงุดหงิด ควรจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราฮึดสู้มากยิ่งขึ้น ไม่ควรเป็นสิ่งที่ทำให้เราท้อแท้... ห่อเหี่ยวยอมจำนนต่ออุปสรรค์..."


๖ "ปาจิน"
" ในชีวิตของเรา... มิตรภาพเปรียบเสมือนโคมส่องสว่างดวงหนึ่ง... ซึ่งสาดส่องจิตวิญญาณของเราให้สว่างไสว ทำให้ชีวิตของเรามีแสงสีอันงดงาม.."


๗ "หยางว่านหลี่"
" ตัวสกปรกก็คิดจะอาบน้ำ เท้าสกปรกก็คิดจะล้างเท้า แต่ใจสกปรก กลับไม่คิดที่จะชำระใจ..."


๘ "หูหลินอี้"
" สุขสบายเกินไป... เส้นสายก็พลอยหย่อนยาน จิตใจก็พลอยขลาดกลัว"


๙ "ซุนซือเหมี่ยว"
" พูดน้อย กลุ้มน้อย ตัณหาน้อย นอนน้อย... ถ้าสี่อย่างนี้น้อย ก็ใกล้จะเป็นเซียนแล้ว"


๑๐ "ลู่ซู"
" คนที่เชื่อมั่นในตนเองมากเกินไป... เป็นคนที่โดดเดี่ยวอ้างว้างที่สุด!"


๑๑ "ฟังเสี้ยวหยู"
" ไม่มีอะไรแย่เท่ากับความเย่อหยิ่งอวดดี... ผู้ที่คิดว่าตัวเองไม่ดีพอ คือ คนที่ดีพอ... ผู้ที่คิดว่าตัวเองดีแล้ว คือ ผู้ที่ดีไม่พอ...!"


๑๒ "จางจื้อซิน"
" ต้องกล้าที่จะมองความจริง... แม้ว่าความจริงอาจจะทำให้เราเจ็บปวดมากๆ"


๑๓ "ซุนยาง"
" ความอิจฉา... เป็นอุปสรรคต่อมิตรภาพ ความระแวงสงสัย... เป็นศัตรูตัวร้ายกาจของความรัก ความรัก... ถ้าปราศจากความซื่อสัตย์จริงใจต่อกันเสียแล้ว ก็ไม่อาจเชื่อถือซึ่งกันและกันได้"


๑๔ "เจิงก่วงเสียนเหวิน"
" ยามมีควรคิดถึงความจน... ยามจนไม่ควรคิดถึงยามมี..!"


๑๕ "เผยสงจือ"
" อย่าทำความชั่ว เพราะคิดว่าผิดนิดเดียว... อย่าละเว้นการทำความดี... เพราะคิดว่าได้บุญกุศลแค่นิดเดียว..."


๑๖ "ซูลิน"
" รู้เหตุผลไม่อับจน รู้กาละไม่ถูกด่า รู้ประหยัดไม่ขัดสน "


๑๗ "เจิงจิ้นเสียนเหวิน"
" ใช้จิตใจที่ชอบตำหนิผู้อื่น... มาตำหนิตัวเอง...
ใช้จิตใจที่ชอบให้อภัยตัวเอง...ให้อภัยผู้อื่น.."


๑๘ "ก่วนจ้ง"
" ขี้เกียจแล้วยังฟุ่มเฟือย... ย่อมยากจน
ขยันและประหยัด... ย่อมร่ำรวย.."


๑๙ "ขงเบ้ง"
"…สูงส่งแต่ไม่เย่อหยิ่ง ชนะแต่ไม่ลำพอง ปราดเปรื่องแต่รู้จักลงเวที เข้มแข็งแต่มีความอดกลั้น.."


๒๐ "หลี่ปุ๊เหว่ย"
"...ก่อนที่จะเอาชนะคนอื่น... จักต้องเอาชนะตัวเองให้ได้เสียก่อน
ก่อนที่จะว่าคนอื่น... ควรพิจารณาดูตัวเองเสียก่อน
ก่อนหน้าที่จะรู้จักคนอื่น... ควรจะรู้จักตัวเองเสียก่อน.."


๒๑ "เล่าจื้อ"
" ผู้ที่รู้จักคนอื่นเป็นคนฉลาด... ผู้ที่รู้จักตัวเองเป็นคนมีสติ.."


๒๒ "เหลียงฉี่เชา"
" การตกระกำลำบากเป็นมหาวิทยาลัยชั้นสูงในการฝึกฝนยอดคน..!!"


๒๓ "ขงจื้อ"
" สิ่งที่ตัวเราไม่ชอบ... จงอย่าทำกับคนอื่น.."


๒๔ "ซือหม่าเชียน"
" คนที่ทำได้อาจพูดไม่ได้... คนที่พูดได้อาจทำไม่ได้.!!"