ไลฟ์สไตล์
จอมพล
มรณานุสติ

ฝรั่งนั้นไม่ชอบพูดถึงความตาย มักมองหน้าผู้เขียนแปลกๆเวลาที่ได้ยินผู้เขียนพูดถึงความตาย เขาถามว่า เวลาเธอนั่งสมาธิเธอคิดถึงอะไร ผู้เขียนก็ตอบว่าเวลานั่งสมาธิต้องไม่คิดถึงอะไร เมื่อจิตเป็นสมาธิดีแล้วจึงจะคิด แต่คิดในสิ่งที่ต้องการให้ตนมองเห็น ฝรั่งก็ถามต่อไปว่า ต้องการให้ตนมองเห็นอะไร ผู้เขียนตอบว่า ก็มองเห็นว่าชีวิตเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้ ทุกสิ่งเป็นอนิจจัง ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน ทุกสรรพสิ่งมีเกิดขึ้นตั้งอยู่และก็ดับไป มนุษย์เราเกิดมาก็ต้องตายกันทุกคน จะช้าจะเร็วก็ต้องตาย ฝรั่งก็เอามือลูบอกและบอกว่า ทำไมศาสนาของเธอสอนให้เธอมองแต่ในแง่ลบ ชีวิตจะมีความสุขได้ต้องคิดแต่ในสิ่งที่ดีๆ คิดแล้วแช่มชื่นหัวใจ นี่กระไรสอนให้คนคิดถึงแต่ความตาย เป็นความคิดที่มองโลกในแง่ร้าย แล้วอย่างนี้จะปฏิบัติพุทธไปทำไมในเมื่อไม่ได้สอนให้คนมีความสุข แต่สอนให้คนมีความทุกข์เช่นนี้

แนวคิดทางศาสนาพุทธนั้นกลับด้านกันกลับศาสนาอื่น จึงเป็นการยากที่คนที่ไม่คุ้นเคยกับการสอนอย่างพุทธจะเข้าใจได้ การเจริญภาวนามรณานุสตินี้เป็นหลักการวิปัสสนาให้มองเห็นชีวิตเป็นอนิจจัง ความจริงนั้นคนเราเกิดมามีชีวิตอยู่ เวลาที่สำคัญที่สุดก็คือนาทีที่จะละกายเนื้อนี้ไปนั่นเอง บุญกุศลที่สร้างมาตลอดชีวิตก็จะมาส่งผลเอาเมื่อลมหายใจสุดท้ายนี่เอง คนที่ดีสร้างกุศลผลบุญก็ย่อมรู้ตัวอยู่ว่าตนเป็นคนดีและเมื่อจะไปก็จะไปที่ดี จิตก็สงบ จากโลกไปด้วยความชื่นบานไร้ซึ่งห่วงอาลัย ตรงกันข้ามคนร้ายจิตใจสกปรกสร้างแต่บาปกรรมทำชั่ว สุดท้ายก็จะจากโลกนี้ไปอย่างทุรนทุรายและเต็มไปด้วยความหวาดกลัว

ถ้าคิดเช่นนี้ก็คงแค่นี้เองความหมายของชีวิต ผลลัพธ์ของกรรมที่ตนได้กระทำไว้จะดีหรือชั่วจะบันทึกไว้ในสมองและส่งผลให้ตนเองนั้นแหละจากโลกนี้ไปอย่างสงบหรืออย่างรุมร้อนหวาดหวั่น เมื่อเราเจริญมรณานุสติอยู่บ่อยครั้ง ก็จะทำให้เห็นว่าในเมื่อความตายเป็นเรื่องใกล้ตัวเช่นนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องแสวงหาความสุขทางโลกอีกต่อไป เงินในธนาคารจะมากมายล้นฟ้าหรือติดลบก็ไม่ใช่สิ่งที่มีความหมายอีกต่อไป เพราะสมบัตินอกกายเหล่านั้นไม่สามารถเอาติดตัวไปได้แม้แต่สลึงแดงเดียว

ผู้เขียนได้อ่านบทความดีๆส่งมาจากคุณเค ไวส์เบิร์กถึงสองบทความที่พูดเกี่ยวกับความตายไว้น่าฟัง และน่าประทับใจ จึงนำมาลงเป็นมรณานุสติให้อ่านกันดังต่อไปนี้


มายาแห่งหลอดด้าย....โดยท่าน ว . วชิรเมธี

สองสัปดาห์ก่อน ผู้เขียนจาริกปฏิบัติศาสนกิจในฐานะพระธรรมทูต ที่มหานครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา วันหนึ่งหลังจบการเสวนาธรรม สตรีสูงอายุคนหนึ่งขอโอกาสเข้ามานั่งคุยกับผู้เขียน ระหว่างการสนทนา ผู้เขียนสังเกตเห็นว่า น้ำตาเธอคลอหน่วย

เมื่อสอบถามถึงสาเหตุ เธอ จึงตอบว่า ที่น้ำตาคลอหน่วย เพราะรู้สึกดีใจที่ได้มาฟังธรรม แต่พร้อมกันนั้นก็เสียใจจนสะเทือนใจ ที่สะเทือนใจก็เพราะเธอรู้สึกว่า ตนเองได้พบกับ ธรรมะเมื่ออายุมากแล้ว จึงรู้สึกเสียดายวันเวลาที่ผ่านมา เธอเล่าว่า

"ชีวิตคนเรา ก็ เหมือนกับเส้นด้ายที่ถูกดึงออกมาจากหลอดด้ายทีละนิดๆ ขณะที่ดึงด้ายออกมาจากหลอดด้ายนั้น บางทีเราก็รู้สึกกระหยิ่มว่า ยังมีด้ายเหลืออยู่อีกมากมาย จึงชะล่าใจที่จะดึงด้ายออกมาใช้อย่างฟุ่มเฟือย แต่พบ ว่าแท้จริงแล้ว มีด้ายอยู่เพียงนิดเดียว เย็บผ้าได้เพียงนิดหน่อยก็หมด หากแต่ที่เราเห็นว่า ยังคงมีด้ายเหลืออยู่เยอะแยะนั่นเป็นเพราะว่า แกนด้ายมันใหญ่ต่างหาก...แกนด้ายมันหลอกตาให้ เราพลอยชะล่าใจ... "

พลันที่เธอเล่าจบ ผู้เขียนก็รู้สึกสว่างโพลงขึ้นมาในใจ ผู้หญิงคนนี้ เธอไม่ได้มาฟังเทศน์เสียแล้ว แต่เธอมาเทศน์ต่างหาก

เธอกำลังเทศน์เรื่อง "ความสำคัญของเวลา" และ " คุณค่าของชีวิต" เคยได้ยินคำพูดในทำนองนี้บ่อยๆ ว่า เรามีเวลา ๒๔ ชั่วโมงต่อหนึ่งวันเท่ากัน ทว่า เราได้ประโยชน์จากเวลาไม่เคยเท่ากัน

สำหรับบางคนเวลา ๒๔ ชั่วโมงช่างแสนสั้น แต่สำหรับบางคน ๒๔ ชั่วโมง ช่าง เป็นเวลายาวนานเหลือแสน

ผู้หญิงคนนี้เธอบอกว่า เธอเสียดายที่มีเวลาเหลืออีกไม่มาก อยากจะปฏิบัติธรรม ให้ถึงที่สุดก็เกรงว่าเวลาจะมีไม่พอ

ผู้เขียนจึงบอกว่า การปฏิบัติธรรมนั้นไม่สำคัญที่เวลา แต่สำคัญที่ "ปัญญา" สำหรับคนมีปัญญากล้าแข็ง อย่าว่าเป็นวันเลย บางที นาทีเดียวก็บรรลุธรรมได้ สำหรับคนเขลา ต่อให้ภาวนาทั้งชีวิต บางทีก็ยังไม่เห็นผล คนที่อยู่ในวัยสนธยา จึงไม่ควรน้อยใจว่า เรามีเวลาไม่พอ แต่ควรจะบอกตัวเองว่า เรายัง " พอมีเวลา" ต่างหาก

แต่ คนที่คิดว่าเรายัง "พอมีเวลา" ก็ต้องระวังด้วยเหมือนกัน เพราะบางทีการคิดด้วย ท่าทีที่เป็นบวกอย่างนี้ ก็ทำให้ประมาท และเป็นเหตุให้พลาดโอกาสที่จะเร่งรัดทำสิ่งดีๆ

ดังนั้น นอกจากจะคิดว่ายังพอมีเวลาแล้ว ก็ควรจะคิดเพิ่มอีกอย่างหนึ่งว่า " วันนี้เป็น วันสุดท้ายของชีวิต" ด้วย เพราะหากเราคิดว่า วันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิต เราจะเริ่มคิดถึงสิ่งที่ต้องทำแข่งกับเวลา และนั่นจะทำให้ เวลา กลายเป็นสิ่งที่มีค่าสูงสุด ของชีวิตได้ในทุกๆ วัน

เรา เคยได้ยินพระท่านสอนอยู่บ่อยๆ ว่า การฆ่าสัตว์เป็นบาป แต่ผู้เขียนอยากบอกว่า การฆ่าเวลาต่างหากที่เป็นบาปมหันต์ยิ่งกว่า เพราะเมื่อคุณฆ่าสัตว์ หากสำนึกได้ คุณ ก็อาจจะไปหาสัตว์มาปล่อยเอาบุญ แต่หากคุณฆ่าเวลาด้วยวิธีใดก็ตาม ถึงแม้คุณจะ สำนึกผิด กลับมาเห็นคุณค่าของเวลา ทว่าก็ไม่สามารถย้อนเวลาที่ผ่านไปแล้วให้ หวนคืนกลับมาได้อีก เราทุกคนต่างก็มีเวลาที่ไม่อาจรีไซเคิล ไม่ว่าคุณจะมีเงิน มหาศาลสักกี่ล้านล้านดอลล่าร์ก็ตามที สำหรับเวลานั้น ผ่านแล้ว ผ่านเลยนิรันดร์


ครั้งหนึ่งลีโอ ตอลสตอย เคยเขียนปริศนาธรรมไว้ว่า

" ใคร คือ คนสำคัญที่สุด
งานใด คือ งานที่สำคัญที่สุด
เวลาใด คือ เวลาที่ดีที่สุด"

ตอลสตอยตั้งคำถามนี้ผ่านเรื่องสั้นเรื่องหนึ่ง และในที่สุดก็เฉลยว่า

" คนสำคัญที่สุด ก็คือ คนที่อยู่เบื้องหน้าเรา
งานสำคัญที่สุด ก็คือ งานที่เรากำลังทำอยู่ในขณะนี ้
เวลาที่ดีที่สุด ก็คือ เวลาปัจจุบันขณะ"

ทำไม คนที่อยู่เบื้องหน้าเราจึงสำคัญที่สุด คำตอบก็คือ อาจเป็นไปได้ว่า ในชั่วชีวิต อันแสนสั้นนี้ เรากับเขาอาจมีโอกาสพบกันได้เพียงครั้งเดียว ดังนั้น เรา จึงควรทำให้ การพบกันทุก ครั้ง เป็นเหมือนการเฉลิมฉลองอันแสนวิเศษที่ต่างฝ่ายต่างควร สร้างความทรงจำแสนงามไว้ให้แก่กันและกันตลอดไป

เราต้องไม่ลืมว่า มนุษย์นั้น รู้เกลียดยาวนานกว่ารู้รัก หากการพบกันครั้งแรกนำมา ซึ่งความรัก และหากเป็นการพบกันเพียงครั้งเดียวของ ชีวิตในอนันตจักรวาล นั่นก็นับว่า เป็นสิ่งที่คุ้มค่าที่สุดแล้วสำหรับการปฏิสัมพันธ์ ระหว่างคนสองคน

ทำไมงานที่เรากำลังทำอยู่ขณะนี้ จึงเป็นงานสำคัญที่สุด คำตอบก็คือ เพราะทันทีที่คุณ ปล่อยให้งานหลุดจากมือคุณไป งานก็จะกลายเป็นของสาธารณ์ หากคุณทำงานดี มัน ก็คือ อนุสาวรีย์แห่งชีวิต และหากคุณทำงานไม่ดี มันก็คือ ความอัปรีย์แห่งชีวิต

ตอนแรกคุณเป็นผู้สร้างงาน แต่เมื่อปล่อยงานหลุดจากมือไปแล้ว งานมันจะเป็น ผู้ย้อนกลับมาสร้างคุณ

ทำไมเวลาที่ดีที่สุด จึงควรเป็นปัจจุบันขณะ คำตอบก็คือ เพราะเวลาทุกวินาทีจะไหล ผ่านชีวิตเราเพียงครั้งเดียว ไม่ว่าคุณจะหวงแหนเวลาขนาดไหน มีเงินมากเพียงไร ก็ไม่มีใครสามารถรื้อฟื้นเวลาที่ล่วงไปแล้วให้คืนกลับมาได้

ทุก ครั้งที่เวลาไหลผ่านเราไป หากเราไม่ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุด ชีวิตของคุณ ก็พร่องไปแล้วจากปวงประโยชน์มากมายที่คุณควรได้จากห้วงเวลา

เวลาไม่มีตัวตน แต่หากเรามีปัญญา ก็สามารถสร้างคุณค่าที่เป็นรูปธรรมจากเวลาได้อเนกอนันต์ คน...แม้มีตัวตนเห็นกันอยู่ชัดๆ แต่หากปฏิบัติไม่ถูกต่อเวลา ถึงมีตัวตนเป็นคนอยู่แท้ๆ แต่ชีวิตก็อาจว่างเปล่ายิ่งกว่าเวลา

ทุก วันนี้ เราทุกคนกำลังสาวด้ายแห่งเวลาในชีวิตออกมาใช้กันอยู่ทุกขณะจิต เคยคิด กันบ้างหรือไม่ว่า เส้นด้ายแห่งเวลาในชีวิตของเรา เหลือกันอยู่สักกี่มากน้อย เราถนัด แต่สาวด้ายออกมาใช้ หรือว่าเราใช้เส้นดายแห่งเวลาอย่างมีคุณค่าที่สุดแล้ว ?

ครั้นแล้วเมื่อสาวด้ายแห่งเวลาออกมาใช้จนหมดและถึงวินาทีสุดท้ายที่จะจากโลกนี้ไป ลองมาอ่านบทความต่อไปนี้ดู


บทความโดย นพ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล

ปฏิเสธเครื่องช่วยหายใจ เพื่อการตายที่งดงาม หลวงพ่อสถิตย์ (นามสมมติ) เป็นพระชราที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก ลูกหลานญาติพี่น้องก็ไม่มี จึงอาศัยบวชอยู่ในชายผ้าเหลืองจนกว่าชีวิตจะหาไม่

แต่หลวงพ่อใช้ชีวิตของความเป็นพระอย่างค่อนข้างหมดเปลือง ไม่ถึงกับเข้มงวดในการปฏิบัติเพื่อการหลุดพ้นแต่ประการใด เพียงดำเนินตนว่าอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยของพระสงฆ์ทั่วๆ ไป

สุดท้ายเมื่อความชราเข้ามาเยือน โรคเก่าเมื่อสมัยหนุ่มก็ติดตามทัน ได้แก่ ภาวะถุงลมโป่งพองเพราะการสูบบุหรี่ตั้งแต่สมัยหนุ่ม เบาหวานแล้วก็ตามมาด้วยไตวาย

หลวงพ่อออดแอดกับอาการตัวบวม หอบเหนื่อย หมุนเวียนเข้าออกโรงพยาบาลประจำอำเภอหลายครั้ง

หลวงพ่อเกิดอาการตัวบวมอยู่กว่าสามเดือน พร้อมกับอาการกล้ามเนื้อฝ่อลีบ นั่นแปลว่าความตายกำลังเข้ามาเยือนแล้ว

ความตายทางกายบางทีมาเยือนผู้ป่วยอยู่เป็นเวลาหลายเดือนก่อนการตายแท้ๆ จะเกิดขึ้น นั่นก็คือ การฝ่อลีบของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ แปลว่าธาตุดินเริ่มแตกสลายแล้ว อย่างคนที่ล้างไตมานานปี กล้ามเนื้อจะฝ่อเหี่ยวไปเรื่อยๆ

หรือผู้ป่วยมะเร็งที่เริ่มเสียน้ำหนัก เพราะมะเร็งเบียดเบียน เหล่านี้คือปรากฏการณ์ของความตายธาตุดินเริ่มปรากฏ

และแล้วก็เกิดการบวม เกิดขึ้นในผู้ป่วยที่ไตวายจนเอาไม่อยู่แล้ว หรือในผู้ป่วยมะเร็งที่รุกรานเข้าตับ จนตับสร้างโปรตีนไม่เพียงพอ ก็เกิดบวมน้ำได้

นั้นแปลว่าธาตุน้ำก็แตกสลายแล้ว ความตายของกายมาเยือนแล้วถึงสองธาตุ อาการของหลวงพ่อสถิตย์ก็เป็นเช่นนั้น สุดท้ายทั้งไตก็แย่ ปอดก็ไม่ดี การควบคุมความเป็นกรดด่างของร่างกายก็เลวลงเหลือขนาด หลวงพ่อจึงหอบเหนื่อยอยู่ที่โรงพยาบาล

แม้หลวงพ่อจะไร้ญาติขาดลูกหลาน แต่หลวงพ่อก็นับว่าโชคดีที่หลวงพ่อได้อยู่ที่วัดเดียวกับแม่ชีอูฐ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นผู้มีเมตตากับทุกผู้คน ชอบช่วยเหลือผู้อื่นอย่างสุดจิตสุดใจ แม้กระทั่งกับพระชราที่ไม่ได้ดีเด่นในการปฏิบัติอะไรนัก และบางครั้งก็ทำตัวเป็นที่เอือมระอาของญาติโยมแต่อื่นๆ แต่สำหรับแม่ชีอูฐแล้ว แม่ชีกลับเอื้อเฟื้อความเมตตาให้หลวงพ่อสถิตย์เสมือนเครือญาติ

แม่ชีอูฐเป็นผู้เทียวมาเทียวไปส่งหลวงพ่อเข้าออกโรงพยาบาลหลายครั้ง จนครั้งสุดท้ายตอนในจังหวะที่สายออกซิเจนและที่ครอบจมูกช่วยการหายใจของหลวงพ่อไม่ไหวแล้ว ถ้าโดยครรลองของแพทย์ก็ต้องเจาะคอต่อเข้าเครื่องช่วยหายใจ อันเป็นกระบวนการยื้อชีวิตที่หมอถูกภาวะจำยอมตามตำรามักจะเดินไปตามกระบวนการดังกล่าว

หมอหันไปขออนุญาตจากแม่ชีตามธรรมเนียมปฏิบัติ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วญาติๆ ก็มักจะเออออกับคุณหมอไปอย่างว่าง่าย แต่ตรงกันข้าม แม่ชีกลับถามย้อนกลับไปที่คุณหมอว่า

"ถ้าเจาะคอใส่เครื่องช่วยหายใจ จะยืดชีวิตของหลวงพ่อใช่มั้ยคะ"

หมอพยักหน้า

"แล้วจะจบลงยังไง" แม่ชีถาม

"..." หมอไม่ตอบ

"แล้วหลวงพ่อมีโอกาสหายป่วยกลับวัดได้หรือไม่คะ"

"..." หมอไม่ตอบอีก

"ถ้าอย่างนั้นก็แปลว่าหลวงพ่อต้องติดอยู่กับเครื่องช่วยหายใจไปเรื่อยๆ ไม่รู้นานเท่าไหร่ หายก็ไม่มีสิทธิหาย แต่ก็ต้องอยู่ไปเรื่อยๆ..."

หมอพยักหน้า

"แล้วถ้าสุดท้าย ถ้าเห็นหลวงพ่อมีชีวิตกับเครื่องช่วยหายใจอีกยาว ต้องทรมานไปเรื่อยๆ สุดท้ายใครจะเอาเครื่องช่วยหายใจออกค่ะ" แม่ชีถามเข้าประเด็น เพราะใครๆก็รู้ว่าถ้าเอาเครื่องช่วยหายใจออกก็แปลว่าเป็นคนทำให้ผู้ป่วยคนนั้นถึงแก่ความตาย ซึ่งไม่มีใครอยากทำ

"..." หมอก็ไม่ตอบอีก

"ถ้าอย่างนั้น แม่ชีคิดว่าคุณหมออย่าเจาะคอหรือต่อหลวงพ่อเข้าเครื่องช่วยหายใจต่อไปเลยค่ะ เป็นกระบวนการยื้อชีวิตให้หลวงพ่ออยู่กับความทรมานไปอีกยาวนาน ปล่อยหลวงพ่อไปตามธรรมชาติดีกว่า" แม่ชีพูดอย่างตัดสินใจเด็ดขาด ซึ่งนำความแปลกใจมาให้กับคุณหมอเพราะไม่เคยพบใครที่จะตัดสินใจแบบนี้

จากนั้นคุณหมอก็ปล่อยให้หลวงพ่อมีเพียงสายออกซิเจนผ่านที่ครอบจมูกเท่านั้น

แม่ชีอูฐอยู่ข้างๆ หลวงพ่อไปอีกครู่ใหญ่ เห็นหลวงพ่อหอบเหนื่อยมากแล้ว ลองถามหลวงพ่อว่า "หลวงพ่อ อยากกลับวัดของเรามั้ยคะ" หลวงพ่อก็ส่ายหน้า ซึ่งแสดงว่าหลวงพ่อรู้อยู่เหมือนกันว่าถ้ากลับวัด ไม่มีอุปกรณ์เครื่องมือช่วยการหายใจเหล่านี้ก็เท่ากับตาย แม้จะทรมานอยู่อย่างนั้น แต่อารมณ์ของความรักชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งสุดท้ายของคนเราก็เป็นสิ่งที่หลวงพ่อยังอยากจะเหนี่ยวรั้งมันไว้

ซึ่งแม่ชีก็ไม่ว่าอะไร ได้แต่บอกกับหลวงพ่อว่า "งั้นหลวงพ่อก็หลับตาสงบใจไว้นะ ตอนนี้ให้อยู่กับลมหายใจ เฝ้าดูลมหายใจไป แม่ชีจะอยู่ข้างๆ ตรงนี้ อยู่เป็นเพื่อนหลวงพ่อนะคะ"

แม่ชีอูฐเล่าว่า ภาวะของคนใกล้ตาย นอกจากความกลัวตายแล้ว ก็คือกลัวความว้าเหว่ กลัวที่จะต้องเผชิญกับความตายตามลำพัง เพราะฉะนั้น ขอเพียงได้ใครสักคนบอกว่าจะอยู่เป็นเพื่อนข้างๆ ตรงนี้แหละนะ ก็มักจะทำให้คนใกล้ตายนั้นสงบจิตใจลง

ระหว่างที่อยู่เป็นเพื่อนนั้น แม่ชีก็คอยพูดให้หลวงพ่อฟังถึงเรื่องชีวิตเป็นของไม่เที่ยง ชีวิตเป็นความทุกข์ และชีวิตเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ ไม่เป็นไปตามเจตจำนงของคนเรา คุยไปเรื่อยๆ ดูเหมือนหลวงพ่อก็พอใจ และสังเกตว่าหลวงพ่อมีท่าทีผ่อนคลาย แม้จะหอบ แต่ไม่กระวนกระวาย สังเกตจากม่านตาก็ไม่เบิกโพลงเหลือกลานแบบคนกำลังตกใจกลัวอย่างตอนต้น

หลวงพ่อทำท่าสะลึมสะลือเหมือนอยากหลับ แม่ชีอูฐจึงพูดกับหลวงพ่ออีกครั้งหนึ่งว่า "หลวงพ่อกลับบ้านของเรากันเถอะ ไปสุคะโตนะคะ หลวงพ่อคำเขียนก็กำลังรอหลวงพ่ออยู่ ที่นั่นเป็นบ้านของเรา"

คราวนี้หลวงพ่อสถิตย์พยักหน้า ใบหน้าสงบ เห็นสภาพเช่นนั้นแล้วแม่ชีอูฐจึงติดต่อขออนุญาตคุณหมอพาหลวงพ่อกลับวัด ซึ่งคุณหมอก็ใจดีช่วยจัดท่อออกซิเจนให้หลวงพ่อยืมไปใช้ที่วัดก่อน

ไปถึงที่วัด ปรากฏว่าทุกคนกำลังรออยู่ ทั้งพระอาจารย์คำเขียน พระสงฆ์รูปอื่นๆ รวมทั้งแม่ชีและอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย หลวงพ่อได้รับการจัดเข้ากุฏิที่พัก พระอาจารย์คำเขียนเอ่ยขึ้นกับหลวงพ่อว่า "กลับมาแล้วเนาะ ดีแล้ว กลับมาบ้านเรา" นั่นเป็นบรรยากาศที่อบอุ่นอย่างยิ่ง

แล้วพระสงฆ์หลายรูปก็ร่วมกันสวดพระพุทธมนต์ เป็นเวลาอันยาวนานที่หลวงพ่อได้อยู่ในความรัก ความอบอุ่น ทั้งจากครูบาอาจารย์และคณะสงฆ์ รวมทั้งอุบาสกอุบาสิกา ในบรรยากาศเช่นนั้นหลวงพ่อสถิตย์ก็ค่อยๆ จากไปอย่างสงบด้วยลมหายใจสุดท้าย

แน่ใจได้ว่าหลวงพ่อได้ไปสู่สุคติ ด้วยบรรยากาศของการเตรียมรับความตายอันงดงาม

สำหรับผู้เขียนนั้นสิ่งที่ปรารถนาก็คือ การจากโลกนี้ไปอย่างสงบไม่ต้องทุรนทุรายเจ็บปวดทรมาน สิ่งอื่นใดในชีวิตนั้นก็ไม่เห็นว่าจะสำคัญไปกว่าความตายเลย

ความจริงที่วัดน่าจะมี หลักสูตรการฝึกอบรม “ทำอย่างไรจึงจะเผชิญหน้ากับความตายอย่างสงบ” ผู้เขียนจะได้ไปลงเรียน

มรณานุสติ จะกำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลงและตัณหากิเลสทั้งปวงได้ เพราะเมื่อหาชีวิตไม่ได้เสียแล้ว ความรู้สึกเหล่านั้นก็ไม่มีความหมายอีกต่อไป ยิ่งเจริญมรณานุสติมากเท่าไรก็ยิ่งทำให้ไม่ประมาทในชีวิตและเลิกสะสม เลิกคิดเจ้าข้าจ้าแค้น ชีวิตก็จะมีความสุขขึ้นไปนั่นเอง