ไลฟ์สไตล์
จอมพล
ถั่วถุงเดียว

เมื่อเร็วๆนี้ผู้เขียนได้อ่านเรื่องที่น่าสนใจที่เป็นที่โจษจันกันเป็นวงกว้างทางโซเชียลเน็ตเวิร์คเรื่องหนึ่ง นั่ นก็คือเรื่องถั่วถุงเดียว โดยมีที่มาที่ไปจาก Dailymailดังนี้

“นี่คือประเด็นร้อนที่สื่อเกาหลีกำลังรุมโจมตีหนักมาก หลังจากที่ผู้บริหารหญิงแห่ง Korean Air ได้ไปก่อเรื่องสุดอับอายซึ่งมีชนวนมาจาก “ถั่วเพียง 1 ถุง” !!!

Cho Hyun-ah คือหนึ่งในผู้บริหารระดับสูงของสายการบิน Korean Air และใครๆก็ชื่นชมว่าเธอนั้นเก่ง ฉลาด อีกทั้งยังเป็นถึงลูกสาวของท่าน Cho Yang-ho ผู้เป็นประธานบริษัท

แต่แล้วเธอก็ได้ก่อเรื่องงามหน้าขึ้นในเที่ยวบินหนึ่งที่กำลังจะบินตรงจาก นิวยอร์กสู่เกาหลีใต้ โดยสจ๊วตบนเครื่องบินเฟิร์สคลาสรายหนึ่งได้นำถั่วที่เป็นของโปรดของเธอมา เสิร์ฟ ทว่าท่านผู้บริหารหญิงรายนี้ปกติแล้วมักจะกิน ‘ถั่วที่แกะแล้ว และวางอยู่ในถ้วยอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย’ และนี่ถือเป็นมารยาทที่ลูกน้องทุกคนต้องคอยเอาใจ แต่สจ๊วตหน้าใหม่รายนี้กลับเอาถุงถั่วที่ไม่ได้แกะมาให้ ซึ่งจริงๆนี่เป็นเรื่องที่เล็กน้อยมาก แต่แล้วความดราม่าก็เกิดขึ้น!!!

โดย Cho Hyun-ah ได้ใช้อำนาจสั่งการให้กัปตันนำเครื่องลงจอดทันที เพื่อไล่สจ๊วตคนนี้ออกจากเครื่องบิน เนื่องจากเขาช่างไม่รู้จักที่ต่ำที่สูงและขาดมารยาทในเรื่องการเสิร์ฟถั่ว ให้ผู้โดยสารอย่างเธอ…ซึ่งกัปตันก็ต้องยอมทำตามเพราะเจ้เป็นลูกเจ้าของ บริษัท แต่แน่นอนว่าการกระทำในครั้งนี้ได้ทำให้ผู้โดยสารรายอื่นบนเที่ยวบินต้องดี เลย์จากจุดหมายไปนานถึง 20 นาที แล้วงานนี้สื่อเกาหลีใต้ก็รุมจวกยับ สับเละ จนพรุนว่าหญิงคนนี้ไม่คู่ควรกับตำแหน่งบริหาร

โดย สื่อเกาหลีใต้เผยว่า ความจริง Cho Hyun-ah น่าจะทำแค่ตักเตือนสจ๊วตรายนั้น แล้วอบรมเขาให้ทำงานได้ดีขึ้นแต่เธอกลับตัดสินใจจัดการปัญหา ด้วยวิธีการที่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น ด้านนาย Cho Yang-ho ก็ออกมาโจมตีว่า “การกระทำของลูกสาวคือสิ่งงี่เง่าที่ผมรับไม่ได้ และผมเสียใจที่เลี้ยงเธอมาเป็นคนแบบนี้” ซึ่งทันทีที่พ่อออกมากดดัน ลูกสาวผู้เคยผงาดก็แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกทันที และนี่ถือเป็นจุดจบ ในอาชีพผู้บริหารของเธอเลยทีเดียว ซึ่งทุกอย่างเริ่มต้นมาจาก “ถั่วเพียงถุงเดียว”

ในชีวิตของผู้เขียนได้เคยพบเจอคนลักษณะแบบนี้มาหลายคน โดยเฉพาะคนที่มีเงินมีอำนาจมาก คนพวกนี้มักจะมองไม่เห็นหัวผู้อื่น ทำอะไรตามใจตนเองเป็นหลัก

คนบางคนเวลายังไม่มีอำนาจวาสนา ก็เป็นคนดีน่าคบหา แต่ครั้นมีอำนาจขึ้นมา อำนาจนั้นเองที่ทำให้เปลี่ยนไป เริ่มมองเห็นแต่ตนเองเป็นหลัก หลงตัวเองและเชื่อมั่นแต่ตนเอง ยิ่งเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ยิ่งหลงระเริงคิดว่าตนเองนั้นเก่งและคนอื่นๆโง่ไปเสียหมด

ความจริงนั้นการได้มาซึ่งอำนาจนั้น ก็คือการขึ้นเป็นผู้บริหาร ตำแหน่งการเป็นผู้บริหารนี้เป็นได้ยาก เพราะนอกจากจะต้องมีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง ลูกน้องจึงจะเคารพนับถือแล้ว ยังต้องคอยระวังควบคุมสติอารมณ์ให้มาก จะโกรธง่ายและเอะอังปึงปังไม่ได้ เพราะตนมีอำนาจคนก็ยำเกรง ถ้าแสดงอาการหัวเสียหรือด่าทอ ผู้ใต้บังคับบัญชาก็จะเสียขวัญเพราะชีวิตการงานของตนขึ้นอยู่กับอำนาจของผู้บริหารนั้น ฉะนั้นจะพูดจะจาจะทำสิ่งใดต้องคิดให้รอบคอบ จะตบหัวแล้วมาลูบหลังทีหลัง ลูกน้องก็จะไม่รัก ถึงแม้จะไม่แสดงออกแต่เขาก็เกลียดกันลับหลัง

ผู้เขียนได้ไปพบเรื่องของการเป็นผู้บริหารที่ดีตามหลักธรรมทางศาสนาพุทธ เขียนโดยคุณสมชาย พุกผล เห็นว่าน่าสนใจดี ถ้าหากโชจุนฮา ปฏิบัติตามนี้ ก็คงไม่ต้องลาออกและเสียอนาคตไปตลอดชีวิตเพราะถั่วถุงเดียวก็เป็นได้


ผู้บริหาร ที่ดีนั้นควรจะมี หลักธรรมที่เรียกว่า พรหมวิหาร 4 (Holy Abiding) ได้แก่

1. เมตตา (Living Kindness) แปลว่า ความรัก หมายถึง รักที่มุ่งเพื่อปรารถนาดี โดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ

2. กรุณา (Compassion) แปลว่า ความสงสาร หมายถึง ความปรานี ปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ สงเคราะห์สรรพสัตว์ที่มีความทุกข์ให้หมดทุกข์ตามกำลังกาย กำลังปัญญา กำลังทรัพย์

3. มุฑิตา (Sympathetic Joy) แปลว่า มีจิตอ่อนโยน หมายถึง จิตที่ไม่มีความอิจฉาริษยาเจือปน มีอารมณ์สดชื่นแจ่มใสตลอดเวลา

4. อุเบกขา (Neutrality)แปลว่า ความวางเฉย นั่นคือ มีการวางเฉยต่ออารมณ์ที่มากระทบ และทรงความยุติธรรมไม่ลำเอียงต่อผู้ใดผู้หนึ่ง

ผู้บริหารอย่าหลงไปยึดถือเอา พรมวินาศ 4 เป็นที่ตั้ง ซึ่งได้แก่ “บ้าอำนาจ ฉ้อราษฎร์บังหลวง หลอกลวงลูกน้อง ยกย่องคนชั่ว”

ผู้บริหาร ที่ดีนั้นควรจะมี ธรรมะที่เรียกว่า สังคหวัตถุ 4 (Base of Sympathy) ซึ่งเป็นธรรมอันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจผู้อื่น หรือธรรมเพื่อให้คน เป็นที่รักของคนทั่วไป อันได้แก่

1. ทาน (Giving Offering) คือการให้ เสียสละ แบ่งปันแก่ผู้อื่น

2. ปิยวาจา (Kindly Speech) คือ พูดจาด้วยถ้อยคำสุภาพ นุ่มนวล เหมาะแก่ บุคคล เวลา สถานที่ พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ พูดในทางสร้างสรรค์ พูดให้เกิดเกิดพลังใจ

3. อัตถจริยา (Useful Conduct) ทำตนให้เป็นประโยชน์ ตามกำลังสติปัญญา ความรู้ ความ สามารถ กำลังทรัพย์ และเวลาที่มี อย่างไม่เป็นที่เดือนแก่ตน หรือผู้อื่น

4. สมานัตตตา (Even and Equal Treatment) คือวางตนให้เสมอต้น เสมอปลาย วางตนเหมาะสมกับฐานะ ตำแหน่งหน้าที่การงาน ไม่เอาเปรียบผู้อื่น ร่วมทุกข์ร่วมสุข สม่ำเสมอ คือ เราควร จะเป็นคนที่ “โอบอ้อมอารี วจีไพเราะ สงเคราะห์ปวงชน วางตนได้เหมาะ“

ผู้บริหาร ที่ดีนั้นควรจะมี จริยธรรม (Ethics) มีมาตรฐานของการกระทำ และพฤติกรรม อันเป็นเครื่องบ่งบอกให้เห็นถึงการเป็นผู้ทรงเกียรติ ที่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรคือสิ่งที่ถูก หรืออะไร ที่ผิด โดยใช้ดุลยพินิจพิจารณาในเชิงศีลธรรม คือ มีบุคลิกภาพการเป็นผู้มีจริยาที่ดี ทั้งการแต่งกาย การพูดจา การแสดงออกทั้งทาง กายจริยา (กาย) วจีจริยา (วาจา) และมโนจริยา (ใจ) ให้เหมาะสมกับกาลเทศะ โดยต้องอยู่ในพื้นฐานของการให้เกียรติ (Honorific) ผู้อื่นเสมอ

1. กายจริยา หมายความว่า การปฏิบัติการงานซึ่งต้องใช้กายเป็นสำคัญ โดยต้องรักษาระเบียบแบบแผน ถือเอาเหตุผลเป็นสำคัญขณะเดียวกันต้องไม่ถ่วงเวลาผู้อื่น ไม่ละเลยงานในหน้าที่ และต้องทำงานให้ลุล่วงทั้ง "ต่อหน้าและลับหลัง"

2. วจีจริยา หมายความว่า การปฏิบัติการงานด้วยคำพูดเป็นสำคัญ ต้องน่าเชื่อถือได้ ต้องถือหลักว่า "เสียชีพอย่าเสียสัตย์"

3. มโนจริยา หมายความว่า ตั้งจิตใจมั่นในการปฏิบัติงานทุกอย่างซึ่งเป็นหน้าที่ของตน

อ่านดูแล้วเห็นว่าไม่ง่ายเลย ฉะนั้นสมัครใจเป็นลูกน้องเขาตลอดไปน่าจะสบายใจกว่าเป็นไหนๆจริงไหมครับ