ไลฟ์สไตล์
จอมพล
อาชีวะ

“นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จะเร่งดำเนินการเรื่องต่างๆ ตามนโยบายของ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา โดย พล.ร.อ.ณรงค์ ได้มอบให้ทบทวนวิธีการเสริมสร้างค่านิยมในการเรียนต่อสายอาชีพ เพราะที่ผ่านมาเด็กเรียนต่อสายอาชีวะน้อยมาก ทั้งที่ตลาดแรงงานต้องการสูง สอศ. จึงต้องสร้างความคิดให้เด็กเกิดความภูมิใจเมื่อมาเรียนสายอาชีพ และต้องทำให้เห็นว่าเรียนอาชีวะแล้วดูดี มีรายได้สูง ได้รับการยอมรับจากสังคม รวมทั้งต้องดึงคนเก่งเข้ามาเรียนให้มากขึ้นด้วย นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้ขยายโครงการทวิภาคีร่วมกับสถานประกอบการให้มากขึ้น เพราะเชื่อว่าจะช่วยจูงใจให้เด็กเรียนอาชีวะมากขึ้น”

ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์ 2 มิถุนายน 2557

จากข่าวดังกล่าวที่โปรยหัวมาเบื้องต้น ก่อให้เกิดกระแสทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมากมาย เพื่อนคนหนึ่งของผู้เขียน ดร.สุวรรณ จันทิวาสารกิจ เป็นอาจารย์อยู่ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง อาจารย์สุวรรณได้เขียนให้ข้อคิดต่อการที่ คสช.จะเร่งรัดให้มีการสนับสนุนให้นักเรียนเลือกเรียนสายอาชีวะศึกษากันมากขึ้นแทนที่จะมุ่งหน้าไปเรียนต่อขั้นอุดมศึกษากันอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ดังต่อไปนี้


มุ่งเน้นชักชวนเด็กเรียนศึกษาอาชีวะ สังคมได้หรือเสีย?

“สดๆ ร้อนๆ วันนี้ได้ทราบข่าวว่ากำลังมีก่อร่างสร้างตัวของนโยบาย "อาชีวะ กำลังสำคัญที่ชาติต้องการ, สั่งเร่งชวนเด็กเรียนอาชีวะ" ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นนักการศึกษา นักวิชาการ และนักคิดคนหนึ่ง จึงอดไม่ได้ที่จะสร้างความกระจ่างว่า ผลที่ตามมา (consequences) จาก การนำเอาแนวคิดนี้มาดำเนินการ จะเป็นเช่นใด สิ่งที่จะนำเสนอต่อไปนี้ ไม่ได้เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ แต่เป็นการให้วิเคราะห์เพื่อให้ความรู้เพื่อให้สังคมเตรียมตัวรับสิ่งที่จะ เกิดขึ้น

***โปรดสังเกตที่ใช้คำว่า "ผลที่ตามมา" ซึ่งเป็นผลในระยะยาว ไม่ใช่ ผลลัพธ์ (result) ซึ่งเป็นผลลัพธ์ระยะสั้น***

ประการ แรกเลย คำกล่าวที่ว่าอาชีวะขาดแคลน เมื่อเอาเข้าจริง ยังไม่มีผลการศึกษา หรือข้ออ้างอิงใด ที่ยืนยันแน่ชัดว่าขาดแคลน ยิ่งไปกว่า นั้นพบว่าอาชีวะศึกษาบางแห่งเริ่มมีแนวร่วมเป็นสถานศึกษากลุ่มอุดมศึกษาแล้ว ด้วย เนื่องมหาวิทยาลัยบางแห่ง ได้เริ่มเปลี่ยนตัวเองเป็นอาชีวะ (ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว) ตัดวิชาพื้นฐานที่จำเป็นต่อการเข้าใจสังคม มนุษศาสตร์ วิทยาศาสตร์ออก ปรัชญาและสุนทรียศาสตร์ ถามสิว่า นักศึกษาในปัจจุบันนี้ เรียนวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ ปรัชญา และสุนทรียศาสตร์พื้นฐานกันกี่ตัว? การลดทอนองค์ความรู้ที่ส่งผ่านสู่ชนรุ่นหลังนี้เอง ที่เป็นการทำให้โลกทัศน์ของพวกเขาแคบลง แต่ ว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังบ้านเมืองจำเป็นจะต้องใช้องค์ความรู้แนวคิด ปรัชญาเศรษฐกิจการเมืองสหสาขา และคนรุ่นหลังบางคนนี่แหละที่จะเติบโตไปส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม...เราได้เตรียมตัวอะไรให้กับพวกเขาเหล่านี้บ้าง?

ประการที่สอง ประเทศเรากำลังก้าวข้าวยุคอุตสาหกรรม (Post-industrial economy) ไปสู่ยุคของเศรษฐกิจแห่งความรู้ (Knowledge economy) แต่นี้คือเรากำลังจะดึงประเทศกลับไปอยู่จุดเริ่มต้นของยุคอุตสาหกรรม การ ที่ประเทศไทยเน้นแต่อาชีวะเพียงอย่างเดียวเพื่อป้อนคนเข้าสู่ภาคอุตสห กรรมการผลิต ผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุดคือกลุ่มชนชั้นผู้ครองอำนาจทางอุตสาหกรรม มองดูรอบตัวว่าตอนนี้มีกลุ่มอุตสาหกรรมอยู่ไม่กี่กลุ่มที่กำลัง take over เศรษฐกิจของประเทศไทย (ซึ่ง กลุ่มนี้มีเครือข่ายกับชนชั้นนำ) ต่อไปนี้ เราก็คงจะเห็น สถานศึกษาอาชีวะ ที่มีรูปแบบคล้ายกับ "สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์" ผุดขึ้นจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีจุดประสงค์ของการตั้งสถานศึกษาที่ชัดเจนมาก (แคบมาก)

การที่สร้างคนเพื่อมุ่งเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตให้มากขึ้นจะส่งผลอย่างไรต่อโครงสร้างสังคม?

ผู้เขียนขออ้างอิงปิรามิดของทุนนิยมด้านบน (the Pyramid of Capitalist System) นั่นก็คือ ประชาชนจะมากองอยู่ล่างซึ่งเป็นฐานของปิรามิดเป็นจำนวนมาก แล้วเป็นอย่างไง? สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือจะทำให้ฐานของปิรามิดแข็งแรงและเสถียรขึ้น อันเนื่องจากผู้คนมุ่งทำงานที่ได้รับมอบหมายเฉพาะที่ใช้ความรู้จำกัด ทำ ให้ชนชั้นนายทุน และชนชั้นปกครองเสถียรมากขึ้น มีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งพลักคนไปอยู่ในชั้นฐานได้มากเท่าไหร่ โครงสร้างของปิรามิก็จะมั่นคงขึ้นเท่านั้น

และสิ่ง ที่น่ากลัวที่สุดก็คือ ถ้าเราปล่อยให้เหตุการณ์แบบนี้ดำเนินไปเรื่อยๆ จะทำให้ไม่มีการก้าวข้ามหรือเปลี่ยนระหว่างชนชั้นในสังคม นักเศรษฐศาสตร์กลัวปรากฎการณ์นี้มาก เพราะว่า จะทำให้ มนุษย์ที่ เกิดขึ้นในโครงสร้างสังคมนี้จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงชนชั้นของตัวเองได้ กล่าวคือ ชนชั้นที่ติดตัวเด็กที่เกิดมาในปิรามิด จะติดตัวเด็กคนนั้นไปจนวันตาย

การมุ่งสนับสนุนสถาน ศึกษาอาชีวะเพื่อป้อนคนภาคอุตสาหกรรม ก็จะทำให้คนหมกมุ่นแต่เรื่องทำงานที่ใช้กระบวนทัศน์จำกัด จมอยู่กับวังวนสายพานการผลิต และเมื่อเรามุ่งแต่ภาคการผลิต ก็จะทำภาคการจัดการ วิทยาศาสตร์ มนุษศาสตร์ ปรัชญาและสุนทรียศาสตร์เป็นเรื่องไกลตัว (เหมือนยุคหนึ่งที่ปุถุชนห้ามไม่กินช็อคโกแลต เพราะว่าช็อคโกแลตไม่ใช่สิ่งจำเป็นในอาหาร 5 หมู่) จะมีนักคิดน้อยลง และที่มีอยู่ก็กำลังจะสูญพันธ์ สาเหตุก็เพราะยังติดกรอบ นโนบายและการเมือง เป็น ที่ย้อนแย้งแต่จริงที่ว่า ในขณะสังคมกลับเรียกร้อง โหยหา ให้เยาวชนผลิต นวัตกรรม ความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ ความคิดนอกกรอบ แต่นโยบายดังกล่าวกลับไปสร้าง "กรอบอุตสาหกรรม" ครอบให้จิตวิญญาณคนรุ่นหลัง

คำถามที่ฝากให้ทุกคนไปหาคิดหาคำตอบคือ

1. ในข้อความ "เร่งชวนเด็กเรียนอาชีวะ" นี้ ก็มี มีวาระซ่อนเร้นหรือไม่?

2. คำนามที่ว่า "เด็ก" นี้หมายถึงใคร ประชาชนในชนชั้นเศรษฐกิจแบบใด?

3. เด็กจากครอบครัวประเภทใด?

4. และ message ลักษณะนี้เข้าข่าย propaganda หรือไม่?

5. ใครได้ผลประโยชน์จากนโนบายนี้?

ถ้าจะส่งเสริม ก็ต้องส่งเสริมให้หมดทั้งทั้งอาชีวะ และ อุดมศึกษา สิ่งแรกที่ควรทำคือ แยก "ปรสิตทางการศึกษา" ออกมา ให้พวกเขาได้อยู่ในที่ที่ควรอยู่ ฟื้นฟูขวัญและกำลังให้คนบุคลากรที่ตั้งใจ ประเด็นเรื่องอาชีวะ vs อุดมศึกษา มี "มิติ" ที่เกี่ยวข้องพัวพันกับบริบท การเมือง และการปกครองสูงมาก เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องการศึกษา มองให้ดี ใช้เลนส์หลายๆ แบบ จะได้เข้าใจหลายๆ มุมมอง

อ่านเสร็จแล้วไม่ต้องเชื่อ แต่ให้อ่านให้มากขึ้น ฟังให้มากขึ้น คิดมากให้ขึ้น เชื่อให้น้อยขึ้น ตั้งคำถาม ออกค้นคว้าแสวงหาความจริงและคำตอบด้วยตัวเอง”

นั่นคือข้อเขียนของอาจารย์สุวรรณ ซึ่งในส่วนตัวนั้นผู้เขียนก็ไม่เห็นด้วย ทั้งนี้เพราะผู้เขียนเองนั้นจบการศึกษาจากโรงเรียนอาชีวะศึกษา คือวิทยาเขตบพิตรพิมุข จักรวรรดิ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่เป็นสายอาชีวะคือเป็นสายอาชีพโดยตรง แต่วุฒิบัตรก็เป็นประโยควิชาชีพเช่นเดียวกับสายอาชีวะศึกษา ในสมัยที่ผู้เขียนเรียนที่บพิตรนั้น วิทยาเขตแบ่งเป็นสองสายใหญ่ๆคือ สายภาษา และสายเลขา สายภาษานั้นจะแตกแยกแขนงไปเรียนสาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน และภาษาจีน หากนักศึกษาเลือกเรียนสายภาษานั้นก็จะต่อยอดเพื่อเรียนขึ้นอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยได้ โดยมีศักดิ์และสิทธิ์เทียบเคียงกับการจบการศึกษาขั้นมัธยมปลายเช่นเดียวกัน

นั่นเป็นการแสดงให้เห็นว่า การศึกษาสายอาชีวะนั้นไม่ได้จำกัดสิทธิที่จะไม่ให้ผู้ที่แสวงหาความรู้ วิชาพื้นฐานที่จำเป็นต่อการเข้าใจสังคม มนุษศาสตร์ วิทยาศาสตร์ออก ปรัชญาและสุนทรียศาสตร์ออกไป นักศึกษาเมื่อจบการศึกษาสายอาชีวะแล้วก็สามารถใช้วุฒิ ปวช.เพื่อเข้าสมัครเรียนต่อในชั้นการศึกษาขั้นอุดมศึกษาต่อไปได้เช่นกัน นอกจากนี้วิทยาเขตอาชีวะศึกษาบางแห่งยังยกระดับการศึกษาขึ้นเป็นระดับปริญญาตรีและโทต่อไปแล้วด้วยซ้ำ การศึกษาในวิชาที่จำเป็นต่อสายการศึกษาจึงได้รับการเรียนที่ครบถ้วนและมีคุณภาพไม่ต่างจากมหาวิทยาลัยใหญ่ๆเลยแม้แต่น้อย ที่กล้าพูดเช่นนี้เพราะผู้เขียนอยู่ในแวดวงการศึกษาสายอาชีวะศึกษา ทุกคนในครอบครัวจบการศึกษาจากวิทยาเขตบพิตรพิมุข น้องสาวทั้งสองคนของผู้เขียนเมื่อเรียนจบปวช. ก็ต่อ ปวส. และปริญญาตรีที่บพิตรพิมุข จากนั้นก็เรียนจนจบปริญญาโทจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ทั้งคู่ ส่วนผู้เขียนเองนั้นจบแค่ ปวช. แต่เรียนต่อในระหว่างที่ทำงานไปด้วยที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง จากนั้นก็มาเรียนต่อที่อเมริกาซึ่งเป็นสายอาชีพเช่นเดียวกันคือจบการศึกษาจาก The Fashion Institute of Designer and Merchandise และมาเรียนต่อทางด้านวิชาชีพคือ Physical Therapist Assistance ต่ออีกแขนงหนึ่ง ที่กล่าวอ้างมานี้ก็เพียงเพื่อต้องการจะเรียนให้ทราบว่าการศึกษาสายอาชีวะนั้นไม่ได้ปิดกั้นการศึกษาขั้นสูงขึ้นไปของนักศึกษาที่เลือกเดินทางสายนี้อย่างที่อาจารย์สุวรรณท่านให้ข้อสังเกตไว้

ในทางตรงกันข้าม เราต้องเข้าใจว่าไม่ใช่คนทุกคนที่ชอบและรักการเรียน คนบางคนเรียนได้ดีกว่าในมหาวิทยาลัยแห่งชีวิต คนบางคนต้องการทำงานเพื่อช่วยเหลือครอบครัวตั้งแต่ยังเยาว์วัย ความจำเป็นของคนเรานั้นต่างกัน การศึกษาสายอาชีวะศึกษานั้นสามารถออกมาทำงานเลี้ยงครอบครัวได้เร็ว ผู้เขียนนั้นเรียนจบ ปวช.เมื่ออายุ ๑๘ ปี เทียบเท่ากับมัธยม ๖ ซึ่งถ้าจบโรงเรียนชั้นม.๖ ก็คงหางานทำไม่ได้ แต่ผู้เขียนใช้วุฒิ ปวช.สอบเข้างานได้ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ และหลังจากนั้นก็อาศัยทำงานและเก็บเงินส่งตัวเองเรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหงไปด้วย จึงไม่เห็นว่าการศึกษาสายอาชีวะที่จบมาจะปิดกั้นการก้าวข้ามสถานะทางสังคมแต่อย่างใด

ผู้เขียนจึงขออนุญาตเห็นต่างจากอาจารย์สุวรรณ และสนับสนุนให้มีการส่งเสริมการศึกษาสายอาชีวะให้เด็กรุ่นใหม่เบนเข็มมาเรียนสายอาชีวะศึกษา โดยเฉพาะวิชาชีพที่ตนเองรัก ไม่จำเป็นต้องเรียนสายอุดมศึกษาเพื่อจบมาให้ได้ปริญญา ถ้าใฝ่เรียนจริงก็สามารถเรียนได้ไม่มีปัญหา ซ้ำยังเป็นการต่อยอดองค์ความรู้ของตนให้กว้างกว่าเด็กที่จบโดยเรียนแต่สายปริญญาโดยตรงเสียอีก

ผู้เขียนเองยังขอบคุณวิทยาเขตบพิตรพิมุขที่ผู้เขียนจบมา ผู้เขียนพิมพ์ดีดได้ดีทั้งไทยและอังกฤษก็เพราะบพิตรพิมุขนี้ในขณะที่คนที่จบมหาวิทยาลัยต้องใช้นิ้วจิ้มแป้นอยู่จนทุกวันนี้ นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆขององค์ความรู้ที่กว้างกว่าสายอุดมศึกษา รวมไปถึงสุนทรียศาสตร์ ปรัชญา สังคมและมนุษยศาสตร์ ผู้เขียนก็มีองค์ความรู้อย่างที่ใช้ชีวิตอยู่ได้ด้วยความเข้าใจชีวิต และเสพงานสุนทรียภาพได้โดยที่ไม่ต้องเรียนจากมหาวิทยาลัย ไม่อย่างนั้นผู้เขียนคงเขียนคอลัมน์นี้ไม่ได้มาร่วมเกือบสิบปี ถ้าเป็นหนังสือก็พิมพ์ได้กว่าสิบเล่มแล้ว

อย่างไรก็ตาม การเคารพความคิดที่คิดต่างกัน เพื่อรวมความคิดให้ประเทศชาติดำเนินไปในทางที่ถูกต้องสำคัญที่สุด การเปิดกว้างยอมรับฟังความคิดของผู้ที่คิดต่างเป็นความจำเป็นของประเทศที่เจริญแล้ว จริงหรือไม่ครับ