ไลฟ์สไตล์
จอมพล
Prop 37

ใกล้ถึงฤดูกาลเลือกตั้งเข้ามาทุกที การต่อสู้บนเวทีการเมืองก็ยิ่งเข้มข้นมากขึ้น มาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งก็คงจะตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกใครมาเป็นประธานาธิบดี อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งครั้งนี้หามิได้สำคัญเฉพาะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเท่านั้น แต่ยังคงมีกฏหมายถึง ๑๐ ฉบับที่เราจะต้องเลือกว่าจะให้กฏหมายผ่านหรือไม่อีกด้วย

เมื่อครั้งที่ผู้เขียนได้บุ๊คเล็ทคู่มือการเลือกตั้งที่ส่งมา ก็หนักใจอยู่ว่าหากเป็นภาษาอังกฤษเสียอย่างนี้ ผู้ที่ไม่ชำนาญภาษาอังกฤษจะสามารถเข้าใจได้อย่างไร เพราะภาษาทางกฏหมายเป็นภาษาที่เข้าใจยาก ยิ่งถ้าไม่ได้สนใจติดตามการเมืองมาโดยตลอดจะยิ่งทำให้ไม่เข้าใจยิ่งขึ้น ผู้เขียนเองก็ไม่ใช่คนเก่งแต่ยังพออ่านรู้เรื่องบ้าง ก็กำลังคิดอยู่ว่า ไลฟ์สไตล์ฉบับนี้อาจจะต้องมานั่งแปลกฏหมายแล้วเขียนออกมาให้อ่านได้ง่าย กำลังหยิบขึ้นมาแปลก็ปรากฏว่าไปรษณีย์เพิ่งมาส่งฉบับที่แปลแล้วเป็นภาษาไทยมาที่บ้าน

ก็เลยเป็นอันว่าหมดกังวลไป อย่างไรนั้นเมื่อลองพลิกอ่านดูแล้วก็เห็นว่ายังเข้าใจยากอยู่นั่นเอง ทั้งๆที่เป็นภาษาไทยแล้วก็ตาม ผู้เขียนคงต้องเน้นย้ำกับท่านผู้อ่านว่า การออกเสียงลงคะแนนผ่านหรือไม่ผ่านกฏหมายนี้นั้นเป็นหน้าที่ที่สำคัญมากของพลเมืองสหรัฐอเมริกา และกฏหมายเหล่านี้มีผลกระทบโดยตรงกับชีวิตความเป็นอยู่ของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงควรต้องให้ความสนใจและเลือกลงคะแนนให้ถูกต้อง ไม่ใช่สักแต่กาไปตามที่เขาให้มาอย่างเสียไม่ได้ หรือเว้นว่างไว้ในฐานที่ไม่เข้าใจ แต่ต้องศึกษาให้ถ่องแท้และตัดสินใจว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย

กฏหมายฉบับที่ผู้เขียนปรารถนาจะหยิบยกขึ้นมาในฉบับนี้คือ Prop 37 ซึ่งว่าด้วยเรื่องของอาหารดัดแปลงพันธุกรรม หรือที่ฝรั่งเรียกว่า GMO ซึ่งย่อมาจาก Genetically-modified organisms ซึ่งหมายถึงพืชหรือสัตว์ที่ถูกดัดแปลงทางพันธุกรรมเพื่อนำมาใช้เป็นอาหาร เรียกง่ายๆว่าไม่ได้เป็นธรรมชาติ เพราะได้ถูกนักวิทยาศาสตร์เปลี่ยนแปลงยีนส์ของมันให้ทนทานต่อโรค แมลง และศัตรูทางธรรมชาติ หรือเพื่อให้เติบโตเร็ว มีขนาดใหญ่ตามที่ตลาดต้องการ หรือตลาดนิยม อาหารเหล่านี้แอบแฝงมาในรูปของอาหารธรรมดาทั่วไป โดยเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเป็นอาหารที่ทำมาจากพืชพันธุ์หรือสัตว์ที่ถูกเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมมา เนื่องจากป้ายปิดฉลากบนถุงหรือขวดหรือภาชนะที่นำมาขายไม่มีกฏหมายบังคับให้ระบุให้ผู้บริโภครู้ว่าเป็นอาหารที่ดัดแปลงพันธุกรรมมา ฉะนั้นหากเราไม่ปรารถนาจะบริโภคหรือไม่ต้องการให้ลูกหลานได้รับสารเคมีแอบแฝงที่ปนมากับอาหารเราก็จะไม่มีทางรู้เลย และอันนี้ไม่เกี่ยวกับ Organic เพราะพืชผักออแกนิคบางอย่างนั้นถึงแม้จะปลูกมาโดยไร้สารพิษ แต่ตัวเมล็ดบ่มเพาะนั้นถูกเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมมาเสียแล้วเราจึงบริโภค GMO เข้าไปอย่างจัง

กฏหมายฉบับที่ 37 นี้เองจะบังคับให้ผู้จำหน่ายต้องติดฉลากให้ผู้บริโภครู้ว่าเป็นอาหารGMO ดังได้คัดมาจากคู่มือการเลือกตั้งดังต่อไปนี้

“อาหารดัดแปลงพันธุกรรม การติดฉลาก แนวคิดริเริ่มออกกฏหมาย กำหนดให้ติดฉลากสำหรับอาหารดิบหรืออาหารแปรรูปที่เสนอขายให้แก่ผู้บริโภคหากทำจากพืชหรือสัว์ที่มีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมในรูปแบบที่กำหนด ห้ามทำการตลาดโฆษณาอาหารดังกล่าวหรืออาหารแปรรูปอื่นว่า “ธรรมชาติ” มีข้อยกเว้นสำหรับอาหารบางประเภท ผลกระทบต่องบประมาณ ค่าใช้จ่ายประจำปีของรัฐเพิ่มขึ้นจากสองหรือสามแสนดอลลาร์สหรัฐ เป็นมากกว่า ๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อควบคุมการติดฉลากอาหารที่มีการดัดแปลงพันธุกรรม ส่วนที่เพิ่มมากขึ้นแต่ไม่มากนักคือ ค่าใช้จ่ายรัฐในการดำเนินการกับผู้ละเมิดกฏเกณฑ์”

ในเวลานี้บรรดาบริษัทต่างๆที่ทำการดัดแปลงพันธุกรรมก็ต่างหวาดกลัวว่ากฏหมายฉบับนี้จะถูกผลักดันให้ผ่าน ซึ่งทำให้พวกเขาเสียผลประโยชน์ ประชาชนก็จะเลิกบริโภคอาหารเหล่านี้ไปเพราะหวาดกลัวว่าจะบริโภคอาหารที่ไม่ธรรมชาติเข้าใจแล้วร่างกายก็จะเสื่อมโทรมและเป็นโรคได้ จึงไม่น่าแปลกใจว่าในหัวเลี้ยวหัวต่อที่กฏหมายนี้จะร่างเข้าพิจารณาจากรัฐสภาและการลงคะแนนเสียงของประชาชน บริษัทเหล่านี้จึงทุ่มทุนโฆษณาให้คนเห็นว่า Prop 37 นี้ไม่ดี และไม่มีประโยชน์ ซ้ำยังจะทำให้ต้องเสียภาษีเพิ่มถึงคนละ ๔๐๐ เหรียญสหรัฐต่อปี ทำให้คนเรรวนไม่แน่ใจว่าควรจะลงคะแนนเสียงอย่างไรดี

เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและต้องอาศัยความเข้าใจว่า GMO นี้ไม่ใช่ไม่ดีไปเสียหมด ต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมในบางอย่างก็สร้างประโยชน์ให้กับการเกษตรอยู่ อย่างไรก็ตามนั้นในภาวะชีวิตสมัยใหม่ในประเทศเศรษฐกิจทุนนิยมนี้ มาตรฐานทางศีลธรรมของนักธุรกิจนั้นมีน้อยและมุ่งหวังแต่ผลกำไร จึงทำให้การดัดแปลงทางพันธุกรรมมีมากและเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมวลมนุษยชาติ

เคยนึกสงสัยกันบ้างหรือไม่ว่าสมัยปู่ย่าตายายของเรานั้น ไม่เห็นมีใครเป็นโรคแปลกๆกันมากเหมือนคนสมัยนี้ ลองนึกดูว่าไม่ใครก็ใครที่นึกถึงเพื่อนพี่น้องญาติสนิทนับรายชื่อมา หนึ่งในสิบคนจะต้องมีใครเป็นมะเร็งสักคน โดยเฉพาะมะเร็งทรวงอกยอดนิยม ทำไมสมัยก่อนเขาไม่เป็นกันมากอย่างนี้ นั่นก็เป็นเพราะอาหารที่เขารับประทานเป็นอาหารธรรมชาติ ไม่มีการดัดแปลงเสริมแต่ง ผักผลไม้ไม่สวยไม่ใหญ่อย่างในปัจจุบันแต่รสชาติอร่อยและมีประโยชน์ทางธรรมชาติมากกว่าสมัยนี้

นี่ว่ากันอย่างผิวเผิน และถ้าหากผู้อ่านจะได้อ่านต่อไปถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ครองตลาด GMO นามว่า MONSANTO แล้วจะรู้สึกสยดสยองและต้องมานั่งใคร่ครวญให้หนักว่าควรจะช่วยโหวตให้กฏหมายนี้ผ่านหรือไม่อย่างไร

บริษัทมอนซานโตมีประวัติความเป็นมาเป็นร้อยปี คือตั้งแต่ปี ๑๙๐๑ ถึง ๒๐๑๒ บริษัทนี้เป็นบริษัทยาที่หันมาผลิตเมล็ดพันธุ์พืชของอเมริกาที่ใหญ่ที่สุด เรียกได้ว่าเมล็ดพันธุ์พืชกว่าเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ของสหรัฐผลิตมาจากบริษัทนี้ทั้งสิ้น บริษัทนี้ร่ำรวยมหาศาลและทำกำไรกว่าพันล้านเหรียญต่อปี ตลอดระยะเวลาร้อยกว่าปีที่บริษัทนี้ได้ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยการแพร่กระจายพิษจากสารเคมีไปสู่สิ่งแวดล้อม เปลี่ยนแปลงพันธุกรรมอาหารของโลกและผู้บริโภคทั้งโลกให้บริโภคอาหารวิทยาศาสตร์ที่ถูกดัดแปลงจนไม่เหลือความเป็นธรรมชาติอีกต่อไป

ประวัติของมอนซานโตเริ่มมาจากประธานบริษัทผู้ก่อตั้งคือ นายจอห์น ฟรานซิส ควีนนี ผู้เริ่มบริษัทด้วยการขายสารเคมีชื่อว่า ซัคคาริน ซึ่งเป็นน้ำตาลเทียมแก่บริษัทโคคาโคลาในปี ๑๙๐๑

ในปี ๑๙๐๖ รัฐบาลสหรัฐเริ่มที่จะออกกฏหมายควบคุมและตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเนื้อสัตว์แต่บริษัทใหญ่อย่าง คอน อะกร้า หรือ มอนซานโต กลับได้รับการยกเว้นเพราะได้บริจาคเงินจำนวนมากแก่กองทุนรีเสิร์ช มหาวิทยาลัย โรงเรียน และ USDA (U.S. Department of Agriculture) ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ บริษัทนี้ไม่สามารถนำเข้าสารเคมีจากยุโรปได้ ก็เลยผลิตเองเสียเลย ในปี ๑๙๒๙ มอนซานโตกลายมาเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ผลิตสารเคมีที่มีชื่อว่า Polychlorinated biphenyls หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ PCBs สารเคมีนี้ใช้อย่างแพร่หลายในสารหล่อลื่น น้ำมัน และของเหลวไฮโดรลิค จนกระทั่งมีการตรวจสอบพบว่าเป็นสารพิษที่ทำลายระบบภูมิคุ้มกันในตัวมนุษย์ ทำให้เกิดมะเร็ง ความพิการในทารกตลอดจนการเสียชีวิตของทารก สารเคมีนี้ผสมอยู่ในพลาสติก สีทาบ้าน ซึ่งจนปัจจุบันนี้เราจะยังได้เห็นอาคารที่มีการเขียนเตือนว่าการอาศัยอยู่ในอาคารนี้อาจจะทำให้เกิดเป็นมะเร็งได้ โรงงานที่ผลิต PCBs โรงงานใหญ่นั้นอยู่ที่รัฐอิลินอย ที่ซึ่งมีอัตราการคลอดก่อนกำหนดและการแท้งลูกมากที่สุด และถึงแม้ว่าบริษัทอย่างมอนซานโตจะรู้แต่แรกว่าสารเคมีที่ตนผลิตนั้นเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์ แต่ก็ยังทำขายเพราะได้กำไรมาก

ในปี ๑๙๓๕ มอนซานโตได้ทำการผลิตผงซักฟอก และสบู่ อีกสามปีให้หลังกลายเป็นบริษัทใหญ่ที่สุดที่ผลิตพลาสติก ตั้งแต่ปี ๑๙๓๙ ถึง ๑๙๔๕ มอนซานโตได้ทุ่มเทการค้นคว้าทดลองเกี่ยวกับยูเรเนียมเพื่อใช้ในโครงการแมนฮัตตัน ซึ่งผลิตระเบิดนิวเคลียร์ ตลอดจนผลิต DDT เพื่อใช้ในสงครามเคมีที่ใช้สเปรย์ในเวียดนามระหว่างสงครามเวียดนาม

ในปี ๑๙๔๕ มอนแซนโตใช้จำหน่ายสารเคมี ยาฆ่าแมลง ยากำจัดวัชชพืช ตลอดระยะเวลาสิบปีนั้น บริษัทได้เพิ่มผลกำไรเป็น ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ในระหว่างปี ๑๙๗๕ ถึง ๑๙๖๗ ได้เข้าไปมีส่วนสร้างดีสนีย์แลนด์ด้วยการใช้พลาสติกสังเคราะห์ Non Biodegradable Plastic ที่มีความเหนียวและแข็งมากจนกระทั่งไม่สามารถเลื่อยหรือทุบให้แตกได้ เมื่อดีสนีย์ต้องการรื้อสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ทิ้ง พวกเขาไม่สามารถทำลายมันได้ ต้องบีบเข้ามาเป็นก้อนใหญ่ๆแล้วเอาไปฝัง

ระหว่างปี ๑๙๖๑ ถึง ๑๙๗๑ บริษัทมอนซานโตมีส่วนร่วมในการผลิต Agent Orange ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้ในสงครามเพื่อโปรยให้พืชผักตายและศัตรูจะได้ไม่มีอะไรกิน อเมริกันใช้สงครามสารเคมีนี้ในสงครามเวียดนามและทำให้คนกว่าสี่แสนคนต้องเสียชีวิต รวมไปทั้งทหารอเมริกันอีกด้วย คนกว่าครึ่งล้านต้องพิการและตายตั้งแต่ยังเป็นทารก

ในปี ๑๙๗๒ การใช้ DDT ถูกห้ามโดยสภาคองเกรส มอนซานโตจึงผลิตยาฆ่าแมลงชนิดใหม่ที่ใช้สาร Glyphosate molecule มาใช้เพื่อฆ่าหญ้าและรากของหญ้า โดยพยายามบอกว่าสารเคมีนี้ไม่เป็นอันตรายเหมือนดีดีที แต่ในความเป็นจริงนั้นเป็นพิษต่อสัตว์และมนุษย์ มอนซานโตเรียกผลิตภัณฑ์ใหม่นี้ว่า Roundup ซึ่งขายไปใน ๑๑๕ ประเทศทั่วโลก Roundup นี้สร้างผลกำไรให้แก่มอนซานโตกว่า ๒๐ เปอร์เซ็นต์ในปี ๘๐ ถึง ๙๐ จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังจำหน่ายอยู่

ในปี ๑๙๘๕ มอนซานโตซื้อบริษัท Searle ซึ่งผลิตน้ำตาลเทียมที่เรียกว่า Aspartame ซึ่งใช้ในน้ำอัดลมเพราะมีราคาถูกกว่าน้ำตาล Aspartame นี้อันตรายและเป็นพิษต่อร่างกาย

ในปี ๑๙๘๗ มอนซานโตเริ่มความชั่วร้ายหนักขึ้นด้วยการเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของพันธุ์พืชไร่ หลังจากที่บริษัทถูกฟ้องจากทหารผ่านศึกเวียดนามที่โดนผลพิษของสารเคมีไปกว่า ๑๘๐ ล้านเหรียญสหรัฐ บริษัทมอนซานโตก็มาผลิตพืชดัดแปลงพันธุกรรมในปี ๑๙๙๔ สินค้าตัวใหม่ของมอนซานโตนามว่า rBGH และ rBST ก็ออกสู่ตลาดด้วยการฉีดฮอร์โมนเข้าไปในสัตว์ในฟาร์มปศุสัตว์ โดยในเวลานั้นได้รับการอนุญาตจาก FDA ซึ่งได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากมอนซานโต ๑๙๙๕ ต้นคาโนลาที่ใช้ผลิตน้ำมันที่ใช้ประกอบอาหารที่ถูกดัดแปลงทางพันธุกรรมได้ถูกส่งเข้าไปขายในแคนาดา และแปดสิบเปอร์เซ็นต์ของฟาร์มคาโนลาในปัจจุบันปลูกมาจากต้นคาโนลาที่ถูกดัดแปลงทางพันธุกรรมทั้งสิ้น ในปี ๑๙๙๕ มอนซานโตเป็นบริษัทอันดับที่ ๕ ของอเมริกันที่ปล่อยสารพิษ ๓๗ ล้านปอนด์ไปในสิ่งแวดล้อม (EPA Report)

สิ่งที่น่าตลกก็คือ ยาฆ่าหญ้าRoundup นั้นไม่ได้ฆ่าหญ้าอย่างเดียวแต่ฆ่าพืชไร่ด้วย มอนซานโตจึงตัดต่อพันธุกรรมให้เมล็ดพืชของตนนั้นทนทานต่อสาร Roundup ได้ พืชอื่นจึงตายหมดถ้าไม่ใช่ยี่ห้อ มอนซานโตยิ่งทำให้บริษัทได้กำไรมากยิ่งขึ้นไป จนกระทั่งในปี ๑๙๙๗ ทนายความของรัฐนิวยอร์คได้ฟ้องสารให้มอนแซนโตหยุดพร่ามโฆษณาว่า Roundup เป็นยาฆ่าหญ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในเวลาเดียวกันหนังสือพิมพ์ Seattle times ก็ได้รายงานว่ามอนซานโตขาย ปุ๋ย Idaho หกพันตันที่ปนเปื้อน carcinogens และโลหะหนักที่เป็นเหตุให้เกิดไตวาย มะเร็ง และระบบประสาททำงานไม่ปกติ

จากปี ๑๙๗๒ ถึง ๒๐๐๑ มอนซานโตกลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ทาง Biotechnology และใช้เงินกว่าหมื่นล้านซื้อบริษัทเมล็ดพืชทั่วโลก ในปี ๒๐๐๑ มอนซานโนเป็นเจ้าของ ๙๑ เปอร์เซ็นต์ของ เมล็ดพันธุ์พืชตัดต่อพันธุกรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ปัจจุบันนี้ผลิตภัณฑ์ทั้งหลายที่เรากินกันอยู่ ทั้งเนื้อสัตว์ นม และพืชต่างถูกสร้างมาจากฮอร์โมนและการตัดต่อทางพันธุกรรม บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างมอนซานโตเป็นสปอนเซอร์รายใหญ่ให้กับนักการเมืองและสถาบันวิจัย จนไม่มีใครกล้าต่อกรกับมัน

นี่จึงเป็นการลุกขึ้นมาต่อสู้กับมอนซานโตครั้งสำคัญที่จะผ่านกฏหมายการติดฉลากผลิตภัณฑ์ที่มาจากสารตัดต่อทางพันธุกรรม เพื่อผู้บริโภคจะได้รู้ว่าตนกำลังบริโภคอะไร

เมื่อท่านได้อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว จะโหวดให้กฏหมาย Prop 37 นี้ผ่านเพื่อให้เราได้ลุกขึ้นมาสู้กับบริษัทที่กำลังฆ่าคนทั้งโลกทางอ้อมอย่างนี้หรือไม่ ก็สุดแต่ใจท่านก็แล้วกัน