บันทึกจากเบย์แอเรีย
เพ็ญวิภา โสภาภันฑ์



เที่ยวเมืองไทยปี พ.ศ. 2555
ตอนตะลอนโรงพยาบาล (2)

บันทึกฉบับนี้กลับมารายงานที่เบย์แอเรีย แคลิฟอร์เนีย แล้วค่ะ หลังจากโบยบินไปใช้ชีวิตอยู่ประเทศไทยห้าเดือนกว่า ซึ่งเป็นห้าเดือนที่มีทั้งความสุขจากการได้ไปท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและความไม่สุขจากการได้เห็นคุณแม่ผู้เป็นที่รักชราภาพและเจ็บป่วย

โดยที่ทุกครั้งที่ไปในที่ที่เห็นว่าน่าสนใจก็ได้พยายามนำมาเขียนเล่าสู่กันฟัง ซึ่งงานเขียนที่นำมาลงในหนังสือพิมพ์ไทยแอลเอได้รับความสนใจจากเพื่อนฝูงในอเมริกาและในประเทศไทย เป็นความภูมิใจที่เรื่องบางเรื่องได้รับไปเผยแพร่ต่อ

เรื่องที่ได้รับเผยแพร่ต่อก็คือเรื่อง ไปชมโขนตอนศึกสุริยภพ ที่อาจารย์คมสัณฐ หัวเมืองลาด ศิลปินชำนาญการกองการสังคีตปริ้นต์ออกแจกจ่ายให้คนอ่าน เรื่องไปชมดนตรีหนึ่งร้อยปีชาตะกาลครูทองดี สุจริตกุล โดย อาจารย์ชัยรัตน์ วีระชัย อาจารย์ดนตรี จากวิทยาลัยนาฏศิลป์ นำไปลงในวารสารวังหน้าของกรมศิลป์ และเรื่องที่เคยเขียนเกี่ยวกับ เอเซี่ยนอาร์ตมิวเซียม ทางสำนักศิลปะวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยานำไปพิมพ์ในวารสาร “ทีทัศน์” วัฒนธรรมเมื่อเร็วๆ นี้

และในยังมีอีกหลายเรื่องที่ยังอยู่ในคลัง (สมอง) ของดิฉันจากการไปใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ ในครั้งนี้ ที่ยังไม่มีเวลาจะดึงออกจากเมมโมรี่มาเขียน ก็คงจะขอเวลาสักหน่อยที่จะทยอยนำมาเล่าสู่กันฟัง

ฉบับนี้ขอเขียนต่อเรื่องเกี่ยวกับประสบการณ์ในการพาคุณแม่ไปโรงพยาบาล (รัฐ) ต่อจากคราวที่แล้ว เพื่อให้ต่อเนื่องกัน และขอบคุณเพื่อนๆ และแฟนคลับที่ได้พบเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาที่แจ้งว่าสนใจจะอ่านต่อด้วยเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่เคยทราบและสัมผัสถึงระบบการทำงานในโรงพยาบาลของรัฐมาก่อน ขอบคุณกำลังใจท่วมท้นจากผู้อ่าน และจากคุณแม่ผู้เขียนที่น้องสาวเปิดเว็บไซต์ไทยแอลเอให้อ่าน ท่านบอกว่าดีใจที่นำเรื่องมาเขียนเป็นความรู้ให้กับผู้อ่าน

เรื่องข้างล่างนี้เป็นตอนที่คุณแม่เข้าร.พ.ครั้งที่สองในเดือนพฤศจิกายน เป็นช่วงที่ดิฉันไปอยู่เมืองไทยได้สามเดือน


วันที่ต้องเรียกรถพยาบาล

ดังที่ได้เคยเรียนแล้วว่าคุณแม่เป็นโรคหัวใจโต เคยเข้าร.พ.ด้วยอาการน้ำท่วมปอดมาสองครั้งแล้ว คราวนี้เราได้รับคำสั่งให้คอยดูมิให้ท่านต้องกลับไปด้วยอาการเดิมอีก ด้วยการระวังมิให้ท่านดื่มน้ำมาก จำกัดน้ำวันละหนึ่งกระบอก (ประมาณแปดอออนซ์) แต่ด้วยความที่เราไปไว้ใจคนดูแลที่ไม่มีประสบการณ์จากศูนย์ฯ คุณแม่อยากกินก๋วยเตี๋ยวน้ำก็ให้กิน อยากกินน้ำมะพร้าวของโปรดก็ให้ โดยที่ไม่ได้ตวงน้ำจากอาหารและเครื่องดื่มทิ้งให้เท่ากับที่กินเข้าไป ดังนั้นเหตุการณ์เก่าๆ ที่เคยเข้าร.พ.ก็เกิดขึ้นอีกเมื่อคุณแม่เริ่มเท้าบวม หายใจหอบและนอนกระสับกระส่าย นอนราบไม่ได้ผุดลุกผุดนั่ง อาการดังกล่าวนี้แพทย์สั่งไว้ว่าต้องนำส่งโรงพยาบาล ด่วน !

เมื่อคราวที่แล้วพวกเรามิได้เตรียมการและมีประสบการณ์มาก หลานๆ ที่มีรถก็ไม่อยู่บ้านในบ่ายวันนั้น เราจึงเรียกรถฉุกเฉินตามที่เคยจดไว้จากข่าวสารและหนังสือพิมพ์ นั่นคือเรียกหน่วยแพทย์ฉุกเฉินของกระทรวงสาธารณสุข เบอร์ 1669 ซึ่งเมื่อทางหน่วยเขาซักถามรายละเอียดอาการผู้ป่วยและสถานที่ที่จะต้องมารับ เขาก็ส่งรถฉุกเฉินที่อยู่ใกล้ที่สุดกับบ้านเรา ส่งมาช่วยเหลือโดยใช้เวลาประมาณยี่สิบนาที (เขาก็คงเล็งเห็นว่าไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายก็เลยไม่ไวเท่าที่ควร แต่สำหรับกรณีคุณแม่ก็โอเคนะคะ ท่านยังไม่ถึงขั้นต้องมาปั๊มหัวใจอะไรขนาดนั้น)

รถพยาบาลฉุกเฉินที่มาวันนั้นคือจาก ศูนย์นเรนทร มีคนขับและบุรุษพยาบาลสองคน มาถึงเขาก็นำเตียงมารับคนไข้ ตรวจหัวใจตรวจความดันและให้ออกซิเจน พาขึ้นรถพยาบาลด้วยความเรียบร้อย ขอชื่นชมทั้งสามท่านที่ปฏิบัติหน้าที่ในวันนั้น มีมารยาทดี พูดจากับคนไข้ด้วยความสุภาพเรียบร้อย ข้อเสียของการเรียกรถพยาบาลฉุกเฉินจากหน่วยงานก็คือ เขาจะนำคนไข้ส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลเอกชนหรือรัฐ โรงพยาบาลที่คุณแม่เป็นคนไข้ประจำอยู่ฝั่งธนฯ (ไม่ขอเอ่ยชื่อโรงพยาบาลนะคะ) ส่วนบ้านที่ท่านอยู่กับน้องสาวอยู่บางนา เจ้าหน้าที่แจ้งเราว่าไม่สามารถนำเราไปไกลเกินพื้นที่ของเขาได้ โชคดีที่ว่าโรงพยาบาลดังกล่าวมีคลินิกฉุกเฉินอยู่แถวๆ บางนา และโชคดีอีกขั้นที่ว่าเป็นช่วงกลางวันคลินิกเปิด รถพยาบาลจึงนำเราไปที่นั่น เขาพาคนไข้ไปส่งให้ยังห้องฉุกเฉินจนเจ้าหน้าที่มารับคนไข้ต่อ และสิ่งที่ประทับใจมากๆ คือ

เรายื่นเงินทิปให้เขาเนื่องจากเป็นบริการฟรี เจ้าหน้าที่ทั้งสามปฏิเสธขึงขังพร้อมขอบคุณบอกว่าเราทำงานกุศลครับเราไม่รับทิป สุดยอดของงานบริการจากศูนย์นเรนทรค่ะ


น้ำท่วมปอด

แพทย์จากห้องฉุกเฉินตรวจอาการคุณแม่ก็ส่งต่อให้โรงพยาบาลใหญ่ เนื่องจากต้องการให้ตรวจทุกอย่างโดยละเอียดเพราะทางคลินิกไม่มีห้องแล็บครบครันอย่างที่โรงพยาบาล โดยคราวนี้เราได้รถพยาบาลจากคลินิกนำไปส่งโรงพยาบาลที่ฝั่งธนฯ เลยค่ะ เพราะเป็นศูนย์ฯ ของโรงพยาบาลที่นั่น

ถึงโรงพยาบาลประจำ (ที่เคยเล่าให้ฟังฉบับก่อนน่ะค่ะ) คราวนี้ไม่ได้ต้องรอนานนักเพราะคงเห็นมาด้วยรถพยาบาล เข้าห้องฉุกเฉินเลย รออยู่ยี่สิบนาทีกว่าๆ เจ้าหน้าที่เรียกไปพบแพทย์ เพียงเพื่อบอกให้เรารอสักพักขอดูรายงานผลเอกซเรย์และผลปัสสาวะก่อน ครึ่งชั่วโมงต่อมาก็เรียกเราไปพบ และแจ้งว่าจะแอตมิตคุณแม่เข้าอยู่โรงพยาบาลเพราะน้ำท่วมปอด (คอนเฟิร์มโดยการตรวจเลือดและเอกซเรย์)

“ให้เข้ารักษาตัวสักสามสี่วันนะ” คุณหมอบอกเราแบบเป็นเรื่องปกติทั้งๆ ที่เราวิตกกังวลมาก คนอายุเก้าสิบสาม (ในตอนนั้น) เข้าร.พ.ด้วยน้ำท่วมปอดหลายๆ ครั้ง จะไหวไหม คราวที่แล้วก็สาเหตุเดียวกันอยู่ร.พ.อาทิตย์เขาก็ให้กลับ โดยบอกว่าให้เข้ามารักษาเฉพาะน้ำท่วมปอด พอน้ำลดจากปอดพ้นอันตรายก็ให้กลับไปรักษาตัวด้วยยาที่บ้าน ส่วนเรื่องหัวใจเดี๋ยวขอปรึกษาหมอหัวใจก่อนว่าจะให้ใส่แม่เหล็กกระตุ้นหรือไม่ แต่เขาก็ไม่ได้ให้ทำเกรงว่าอายุมากจะไม่ดี

“จะอยู่ห้องพิเศษหรือสามัญ อยู่ห้องพิเศษต้องมีคนอยู่ด้วยยี่สิบสี่ชั่วโมง” คุณหมอถามเรา

“ห้องพิเศษค่ะ” เราตอบโดยมิลังเลเพราะในตอนนั้นเรามีคนดูคุณแม่ที่จ้างมาจากศูนย์ฯ เราจึงให้คุณแม่อยู่ห้องพิเศษ คุณแม่เป็นข้าราชการบำนาญ สามารถเบิกเงินได้จำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่ได้หมด เราจ่ายเพิ่มวันละเก้าร้อยบาท

และนั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่เราให้คุณแม่อยู่ห้องพิเศษ เพราะเมื่อเข้าร.พ.ในสองคราวต่อมา เราไม่มีคนดูแลคุณแม่แล้วเด็กจากศูนย์ฯ ลาออก แถมประสบการณ์จากการใช้บริการห้องพิเศษนั้นมิได้พิเศษอย่างใดเล๊ย..เป็นความจริงที่จะเล่าให้ฟังอย่างหมดเปลือก ...ความพิเศษก็มีอยู่แค่เป็นห้องอยู่ส่วนตัว มีที.วี. มีอ่างล้างจาน (ที่เด็กจากศูนย์ฯ) ใช้ซักเสื้อผ้าส่วนตัวไปด้วย มีห้องน้ำ มีแอร์ มีถ้วยโถโอชาม ช้อนส้อมที่ทางโรงพยาบาลนำมาให้ใช้และเซ็นรับมอบ หายไปชิ้นใดต้องจ่ายเงิน

เอาล่ะค่ะ ฉบับหน้ามาฟังเรื่องพิเศษที่ไม่พิเศษกับห้องในโรงพยาบาลและเหตุการณ์ชวนระทึก และจะแนะนำบริการรถฉุกเฉินไปรเวทที่เราค้นพบ เพื่อความสะดวกรวดเร็วไปส่งโรงพยาบาลไหนก็ได้ที่เราต้องการ

หากสนใจอ่านเรื่องตะลอนโรงพยาบาลกับดิฉันต่อ พบกันใหม่กลางเดือนนะคะ ฉบับหน้าเป็นหน้าที่ของ ผู้เฒ่าหัวใจสะออน ที่จะมาผลัดกันทำหน้าที่รายงานหลากเรื่องน่าสนใจให้อ่านกันค่ะ


สวัสดีค่ะ