บันทึกจากเบย์แอเรีย
เพ็ญวิภา โสภาภันฑ์



เที่ยวเมืองไทย ๒๕๕๖ วันดีๆ ที่ศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร ตอน จบ

เมื่อออกมาจากหมู่บ้านศิลปาชีพ พวกเราทั้งห้าคนก็ตรงไปยังโรงฝึกอบรมช่างฝีมือ ซึ่งทางศูนย์ฯ ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินงานตามโครงการในพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่มีพระราชประสงค์ที่จะจัดฝึกอบรมงานศิลปาชีพให้แก่บุตรหลานเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ตลอดจนผู้ยากไร้ ผู้พิการทุพลภาพ ให้มีโอกาสได้มีทักษะฝีมือการช่าง และการผลิตภัณฑ์ศิลปะหัตกรรมพื้นบ้านอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติที่ทรงคุณค่ายิ่งสืบต่อไป

โรงฝึกแรกที่ได้เข้าไปชมกับเพื่อนๆ คือแผนกทอผ้า ในช่วงนั้นเป็นช่วงพักรับประทานอาหารแต่ก็ยังมีช่างนั่งทำงานกันอยู่หลายคน ได้มีโอกาสคุยกับพวกเขา ต่างก็ยินดีสาธิตการทอผ้าให้ได้ชม และในโรงฝึกนั้นดูจะเป็นระเบียบเรียบร้อยต่างทำงานกันด้วยสมาธิที่ดีรวมทั้งครูผู้ฝึกก็มีอัธยาศัยดีต่อนักท่องเที่ยวทุกคน ค่ะ.. นับเป็นความรู้สึกดีๆ ในการมาเยี่ยมชมครั้งนี้มากๆ

ต่อไปเราก็ไปถึงเรือนฝึกของแผนกช่างจักสานไม้ไผ่ลายขิด ซึ่งสิ่งที่โดดเด่นที่สุดสำหรับพวกเราที่ต่างก็อดไม่ได้ที่จะบันทึกภาพไว้นั่นก็คือ แท่นจักสานหวายที่มีกรอบภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เป็นภาพที่ทรงพระสิริโฉมงดงามเกินบรรยาย ดูแล้วให้คิดถึงพระองค์เสียจริงๆ ตอนที่เราไปเรือนนี้นั้นไม่ได้พบช่างสักคน อาจจะออกไปรับเบี้ยเลี้ยงอยู่ มีคนบอกว่าวันนี้เป็นวันรับเงินเดือน ซึ่งเจ้าหน้าที่จากทางวังจะมาจ่ายเงินเดือนในวันอังคาร แต่ดิฉันจำไม่ได้ว่าทุกวันอังคารหรือเดือนละครั้ง จึงไม่ขอยืนยันในเรื่องนี้ ช่างที่เรือนทอผ้าคนหนึ่งเล่าว่าการจ่ายเงินนั้นจะดูงานว่าชิ้นที่เราทำนั้นไปถึงไหนแล้ว ดิฉันก็เลยเข้าใจ (เอาเอง) ว่า เป็นการให้ค่าแรงที่ถูกต้องเพราะไม่ใช่ว่าเธอไม่ทำงานเธอจะมานั่งรับเป็นเงินเดือน ทุกคนต้องมีผลงาน ซึ่งทำให้ดิฉันยิ่งประทับใจเพราะเท่ากับเป็นการช่วยคนที่ทำงานจริงๆ

ชมฝีมือช่างสานช่างทอเพียงพอแก่เวลาอันน้อยนิดที่พรรคพวกมีให้ จากนั้นเราก็ตรงไปยังตึกใหญ่ ศาลาพระมิ่งขวัญ เป็นอาคารใหญ่ทรงไทยประยุกต์ สวยงามและหน้าตึกมีทิวทัศน์ที่สวยงามด้วยไม้ประดับที่ดัดเป็นรูปทรงต่างๆ พวกเราถ่ายภาพมุมสวยๆ กันได้หลายมุมก่อนที่จะเข้าไปในตัวอาคาร คราวนี้ต่างคนต่างก็แยกย้ายไปจับจ่ายสิ่งละอันพันละน้อยติดไม้ติดมือไปตามใจชอบ ซึ่งพรรคพวกก็ใช้เวลาช็อปกันพอสมควรแก่เวลา ซึ่งเราได้รับการต้อนรับอย่างดียิ่งจากเจ้าพนักงาน และที่นี่เราสามารถใช้เครดิตคาร์ดได้ทำให้เงินสดในกระเป๋ายังแน่นหนาอยู่พร้อมจะต่อไปยังอยุธยา

แต่ดิฉันก็ยังถ่วงเวลาขออยู่ต่อ เพราะตั้งใจว่าจะไปดูสิ่งน่าสนใจอีกสองแห่ง นั่นก็คือวังปลา และ สวนนก ซึ่งพรรคพวกก็น่ารักยอมพาไปทั้งสองแห่งที่เหลือแต่มีข้อแม้ว่าขอนั่งรอในรถ โอเค..ไม่ว่ากัน ดังนั้นคนรถจึงขับไปจอดให้ฉันเดินลงไปที่อาคารใหญ่ที่แสดงพันธุ์สัตว์น้ำ หรือที่เรียกว่า วังปลา ดิฉันเดินถือกล้องเข้าไปคนเดียวโดดเดี่ยว วันนั้นไม่มีเจ้าหน้าที่สักคน นอกจากคนทำความสะอาดที่ถูพื้นอยู่ แต่ไหนๆ มาแล้วคนเดียวก็คนเดียว ดิฉันลิ่วละล่องเข้าไปในตัวอาคาร ซึ่งมีตู้กระจกขนาดใหญ่ ผนังโดยรอบบุด้วยกระจกใส ทำทางลาดเอียงจากผิวน้ำสู่ก้นถัง ทำให้ผู้เข้าชมเห็นทศนียภาพจากผิวน้ำถึงก้นถังได้ แสดงพันธุ์ปลาหลากหลายใหญ่มาก เดินชมไปถ่ายภาพไป (โดยไม่ได้ใช้แฟลช) ต้องยอมรับว่าเป็นตู้โชว์ที่ทันสมัยมากๆ ตามผนังโดยรอบอาคารประดับด้วยตู้ปลาขนาดเล็กตลอดแนว มีปลาหาดูยากและมีคำบรรยายอย่างละเอียดอยู่ข้างๆ ชมภาพได้ค่ะ รับรองว่าทันสมัยพอๆ กับ Aquarium หลายๆ แห่งในอเมริกาทีเดียว

ประวัติความเป็นมาของสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำจืดวังปลานั้น เกิดมาจากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมประมง สร้างถวายเพื่อเป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสอันเป็นมหามงคลเจริญพระชนมายุครบหกสิบพรรษา เป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงสนพระทัยในด้านการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำจืด

ออกจากวังปลาก็ต่อไปที่ สวนนก ซึ่งเป็นแหล่งสุดท้ายของการเยี่ยมชมศูนย์ในวันนี้ ตรงนี้พรรคพวกไม่ยอมลงไปเดินด้วย โดยบอกไม่ต้องรีบเพราะพวกคุณเธอมีถุงขนมกร๊อบแกร๊บที่นำมาขบเคี้ยวระหว่างรอคอยดิฉัน ดังนั้นทัวร์สวนนกท่ามกลางบรรยากาศสดชื่นกลางแปลงนี้จึงมีดิฉันฉายเดี่ยวอีกเช่นเคย สวนนกอันรื่นรมย์นี้ มีค่าเข้าชมเพียงสิบบาทเท่านั้น พอดีมีเด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่งเข้ามาชมก็เลยรู้สึกสบายใจเพราะมีเพื่อนเดิน มิฉะนั้นสวนจะเงียบเชียบมาก

ภายในสวนมีนกที่หาชมได้ยากหลากหลาย เห็นในแผ่นพับเขียนว่ามีกว่าร้อยชนิด เช่น นกชาปีไหน นกกาฮัง นกเงือกกรามช้าง นกสาลิกาเขียว นกยูงไทย เป็นต้น ภายในกรงนกต่างก็ตกแต่งสภาพแวดล้อมให้คล้ายคลึงธรรมชาติที่สุด เช่น มีน้ำตก มีธารน้ำ ล้อมด้วยสภาพป่า ต้นไม้นานาพรรณ เป็นต้น ดำเนินการโดยมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ดิฉันเก็บภาพมาให้ชมพอเป็นสังเขป

จบลงตรงที่กรงนกกระจอกเทศ ซึ่งเขารี่เข้ามาหาดิฉันด้วยอากัปกริยาดีอกดีใจ ทำให้ใจดิฉันแป้วไปเป็นกองนึกสงสารว่าเขาคงเหงา เขาโดนขังให้คนมาดู แม้จะรันทดใจแต่ก็คิดว่าหากปล่อยคืนเขาสู่สภาพป่า เขาคงจะอยู่ไม่รอดด้วยเหตุว่าเชื่องมาก

ดิฉันร่ำลาเจ้านกกระจอกเทศหน้าเศร้าด้วยใจเศร้าไปด้วย ที่เศร้าก็คือคิด (แบบเพ้อๆ เอาเองเช่นเคย) ว่าเขาคงจะอยากให้เราอยู่เป็นเพื่อน เพราะว่าเมื่อเดินจากมาเจ้านกกระจอกเทศทำหน้าเศร้า เราก็เลยโศกไปด้วยคิด (แบบเพ้อๆเอาเองเช่นเคย) ว่าเขาคงจะอยากให้เราอยู่เป็นเพื่อน เพราะว่าเมื่อเดินจากมาที่ตรงนั้นก็ดูเวิ้งว้าง ทุกอย่างอยู่ในความเงียบ หันหลังไปดูเห็นเขาก้มคอลงบนพื้นเสมือนไม่อยากดูเราอีก

เจ้านกกระจอกเทศเอย ขอเจ้าจงอยู่สบายในสถานที่อันเป็นเกียรติ ใต้ร่มพระบารมีของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ พระองค์ไม่ทรงทอดทิ้งเจ้าแน่นอน เหมือนเช่นทุกชีวิตที่อยู่ในศูนย์ศิลปาชีพบางไทรแห่งนี้ ที่ได้รับพระเมตตา ทรงให้ความรู้ ให้อาชีพ ให้ข้าว น้ำ และเบี้ยเลี้ยง

ขอองค์สมเด็จพระราชินี ทรงพระเจริญ ยิ่งยืนนาน