บันทึกจากเบย์แอเรีย
เพ็ญวิภา โสภาภันฑ์



ว่าด้วยเรื่องของผู้สูงอายุ ตอนที่ 2

รู้จักกับการแพทย์แบบบูรณาการ


ฉบับที่แล้วได้บันทึกถึงเรื่องราวที่ได้คุยกันในวงการผู้สูงอายุ ที่คงจะมากไปด้วยเรื่องของสุขภาพที่มักจะกร้ำกรายเข้ามาบ่อยครั้ง หลายๆ เรื่องพวกเราก็ไม่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น จนเมื่อสนทนากันกลับพบว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของแทบทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในวัยใดก็เลยอยากจะเขียนเรื่องการรักษาสุขภาพต่อ ซึ่งการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงสมบูรณ์นั้นไม่ว่าวัยใดตอนนี้ก็สนทนาแลกเปลี่ยนความรู้กันทั้งนั้น

วัยสาวหน่อยสมัยนี้เขาใส่ใจในเรื่องอาหารการกินกันมากกว่าสมัยดิฉันเป็นสาว อาจจะเป็นเพราะข่าวสารจะส่งถึงกันเร็วไวผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค ทำให้ผู้คนตื่นตัวแชร์ความรู้เหล่านั้นกัน วัยสูงอายุอย่างดิฉันเข้าพบแพทย์ทีไรตอนนี้ก็จะได้รับเอกสารหรือ sheet เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพด้วยการใส่ใจในการเลือกบริโภคให้ถูก เรียกว่า “กินอะไรเข้าไปร่างกายเราก็ได้อย่างนั้น” ฝรั่งบอก “You are what you eat, แม่นแล้ว….” ในกลุ่มพรรคพวกดิฉันจะมีผู้ที่ชอบเตือนพวกเราอยู่เป็นประจำ เวลาเราจะยื่นมือไปตักอาหารที่อาจจะเป็นโทษต่อร่างกายที่เขาเรียกกันว่า “อาหารขยะ” น่ะค่ะ

“ระวังน๊า พวกเธอ จะหาว่าฉันไม่เตือน หยุดกินหมูสามชั้นได้แล้ว นี่ถ้าลูกสาวฉันเห็นเธอกินอย่างนี้ เธอจะโดนเขาเล็คเชอร์ให้ฟังแน่ๆ” คนพูดไม่ใช่ใครหรอก เธอคือสายสุนีย์ สุขกสิกร ผ.บ.ท.บ. ของไพฑูรย์ สุขกสิกร เจ้าของคอลัมน์ ความจริงหรือความคิด ในน.ส.พ.ไทยแอลเอนี้เอง

“ลูกสาว” ที่สายสุนีย์เอ่ยถึงก็คือ กิฟฟี่-แพทย์หญิงสุภัคร สุขกสิกร เคสลิเกอร์ บุตรสาวคนโตของฑูรย์และสาย ดิฉันรู้จักกิฟฟี่มาตั้งแต่ยังตัวน้อยๆ มาเรียนนาฏศิลป์และภาษาไทยที่วัดไทยทั้งวัดมงคลรัตนาราม เบิร์กเล่ย์ และวัดพุทธานุสรณ์ ฟรีมอนต์ เป็นเด็กน่ารักและมีความเอื้ออารีต่อผู้คนรอบข้างตั้งแต่ยังเล็กๆ ความที่มีนิสัยชอบช่วยเหลือคน กิฟฟี่ได้ตั้งใจว่าจะดำรงอาชีพแพทย์เพื่อช่วยเหลือคน และในที่สุดกิฟฟี่ก็เรียนสำเร็จ ไปเรียนจบแพทย์ที่อังกฤษ และที่อังกฤษกิฟฟี่ได้พบรักกับหนุ่มเพื่อนนักเรียนแพทย์ด้วยกัน และต่อมาได้แต่งงานเป็นคู่ชีวิตกันคือ นายแพทย์ Manish Kesliker กิฟฟี่ได้ไปเป็นแพทย์อยู่ที่อีสโคสต์และที่ซีแอ๊ตเติลอยู่หลายปี ก่อนที่ทั้งสองจะตัดสินใจกลับไปเปิดคลินิกของตัวเองที่มิชิแกนตอนนี้ เรื่องราวละเอียดของกิฟฟี่ก็คงจะต้องให้คุณพ่อฑูรย์เขาเขียนถึงในคอลัมน์เขาเองดีกว่านะคะจะได้ถูกต้องกว่าดิฉัน

ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะบันทึกก็มีอยู่ตรงที่ว่า คุณหมอกิฟฟี่ นั้นให้ความสำคัญเรื่องการนำธรรมชาติมาร่วมรักษาผู้ป่วยน่ะค่ะ ด้วยความเชื่อที่ว่าหากเรากินอยู่อย่างถูกต้องแล้ว ก็จะทำให้มีแรงต้านทานโรคภัยใข้เจ็บทั้ังหลายดีขึ้น

แหม..ใครๆ ก็รู้เรื่องการกินอาหารดีเพื่อสุขภาพที่ดี มาเขียนให้อ่านทำไม ท่านผู้อ่านคงจะขำอยู่ในใจ

ตอบ...ท่านรู้จักคำว่า Integrative Medicine เพียงพอไหมคะ ตอนเพื่อนบอกลูกสาวฉันไปศึกษาเรื่อง Integrative Medicine ที่ Arizona จนเชี่ยวชาญในเรื่องการบำบัดโรคด้วยวิธีธรรมชาตินั้น ทำเอาดิฉันต้องรีบไปรีเสิร์ชคำนี้ว่าภาษาไทยเขาเรียกอย่างไรกัน คืออะไร ทำเอาได้ความรู้มาเล่าสู่กันฟังอีกเรื่องล่ะค่ะ

Integrative Medicine เขา (คุณครูกูเกิ้ล หรือศัทย์ที่วัยรุ่นไทยเรียกว่า “กู๋”) บอกว่าคือ “การแพทย์แบบบูรณาการ” เป็นศัพท์ใหม่ที่กำลังก้าวเข้ามาสู่สังคมโลก หมายถึงการแพทย์ที่ใช้ธรรมชาติร่วมในการรักษา โดยผสมผสานการแพทย์ปัจจุบันร่วมกับการแพทย์ทางเลือก ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนด้วยวิธีการป้องกันและรักษา

ดังนั้นดิฉันจึงถึงบางอ้อในเมื่อสายสุนีย์คอยแนะนำอาหารสุขภาพให้เพื่อนๆ ใส่ใจ ด้วยความหวังดีอันเป็นผลพลอยได้มาจากกิฟฟี่ แพทย์ผู้เป็นบุตรสาวที่มองเห็นการไกลว่าการเจ็บไข้ได้ป่วย โดยเฉพาะผู้สูงอายุสามารถป้องกันได้โดยการกินอยู่ให้ถูกต้อง ขณะเดียวกันมีผู้คนจำนวนมากหันไปสนใจการรักษาด้วยแพทย์ทางเลือกอื่นๆ กันมากโดยเฉพาะการใช้สมุนไพรมาแทนยาสมัยใหม่ที่แพทย์สั่งให้ ซึ่งหากเราไม่มีความรู้พอแทนที่จะดีกลับจะทำให้เกิดอันตรายได้ ดังนั้นการที่เราสามารถสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการรักษาแพทย์ทางเลือกนี้ เราควรปรึกษาแพทย์ที่มีความรู้ด้านนี้เป็นอย่างดี ซึ่งแพทย์หญิงสุภัครเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แบบบูรณาการนี้ เธอได้ไปศึกษาอยู่ University of Arizona

ตอนนี้แพทย์หญิงสุภัคร และนายแพทย์มานิช ได้นำวิชาความรู้ที่ได้ร่ำเรียนและมีประสบการณ์มาเปิดคลินิกเป็นศูนย์ดูแลผู้ป่วยที่ต้องการความช่วยเหลือฉับพลัน เมื่อผู้ป่วยไม่สามารถพบแพทย์ประจำได้ในทันทีทันใด “เราเห็นความจำเป็นที่จะมีคลินิกแบบ Walk in คือเดินเข้ามาพบแพทย์ได้ทุกเมื่อในเมื่อในเมืองมิชิแกนนี้” รวมทั้งมีความมุ่งหมายสำคัญที่จะเป็นผู้ให้คำแนะนำในเรื่องการแพทย์แบบบูรณาการ ที่แพทย์หญิงสุภัครได้ทุนไปศึกษามาจาก Dr. Andrew Weil’s Integrative Medicine ที่มีชื่อเสียงในด้านการแพทย์แผนดังกล่าว ในมลรัฐอาริโซน่า

คลินิคนี้มีชื่อว่า Emcura Immediate Care ตั้งอยู่ที่ 4050 West Maple Road Suite 101 Bloomfield Township, MI โทรศัพท์ 248-885-8211 โดยนายแพทย์ทั้งสองให้ความใส่ใจในการจัดคลินิกให้สวยงามสะอาด โดยเฉพาะต้องการให้พวกเด็กๆ ที่มาพบแพทย์พบกับสิ่งแวดล้อมที่สดชื่นเป็นกันเอง ไม่ต้องกลัวในการมาพบแพทย์ โดยเลือกสีสันสดใสทันสมัย โดยการลงทุนว่าจ้างบริษัทที่มีชื่อเสียงทางวู๊ดเวิร์กคือบริษัท Sandifer of Detroit และบริษัทตกแต่งเฟอร์นิเจอร์จาก Herman Miller บริษัทก่อสร้างคือ Issa Construction เพื่อให้ทุกห้องในคลินิกดูทันสมัยน่าเข้ามาใช้บริการ ฝากบอกกันต่อๆ นะคะสำหรับผู้อ่านที่อยู่ในเมืองใกล้เคียงในมลรัฐมิชิแกน

คลินิกแบบนี้ และบริหารโดยคนไทยอย่างนี้ล่ะค่ะที่พวกเราอยากเห็นเกิดขึ้นในเบย์แอเรีย ฝากถามฑูรย์และคุณสายเมื่อไหร่คุณหมอกิฟฟี่จะกลับมาอยู่กับพวกเราทางนี้บ้างคะ แต่ไม่ว่าที่ใดหากคุณหมอและครอบครัว (ลูกชายทั้งสามของคุณหมอ 6,4, และ 2 ขวบ) มีความสุข พี่ป้าน้าอาที่เบย์แอเรียนี้ก็ขออวยพรให้มีความสุขและประสบความสำเร็จนะคะ

แต่แม้คลินิก “Emcura Immediate Care” นี้จะอยู่ห่างไกลจากแคลิฟอร์เนีย แต่ก็ไม่ได้ไกลไปกว่าหนึ่งคลิกในอินเตอร์เน็ต สำหรับผู้ที่มีเฟสบุ๊ก คุณหมอทั้งสองมีเฟสบุ๊กให้เข้าไปอ่านเรื่องราวดีๆ และติดต่อได้โดยง่าย คลิกไปที่ https://www.facebook.com/emcuramedical หรือเว็บไซต์ emcura.com มีเรื่องน่าสนใจโพสต์ใหม่ๆ ตลอดเวลาค่ะ ก็คงจะต้องโยนลูกต่อไปที่คอลัมน์ความจริงหรือความคิดละนะคะ หากมีเรื่องราวที่จะต่อยอดจากที่ดิฉันเขียน ก่อนจะจบบทต้องขอแก้คำผิดภาษาอังกฤษในฉบับที่แล้วด้วยนะคะ ที่สะกดคำว่าแผนกตรวจโรคตาว่า Opthomalogy ที่ถูกต้องเป็น Ophthalmology ค่ะ

สำหรับฉบับนี้ขออำลาไปก่อน สวัสดีค่ะ