บันทึกจากเบย์แอเรีย
เพ็ญวิภา โสภาภันฑ์



ตอนที่ ๑ ไปชมนาฏศิลป์ชั้นสูง “โขนพระราชทาน” (ต่อจากฉบับที่แล้ว)

สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๘ มายังผู้อ่านทุกท่าน ได้เว้นวรรคตอนจบของการไปชมโขนพระราชทาน ชุดศึกอินทรชิต ตอน นาคบาศ ซึ่งฉบับนี้จะเล่าถึงฉากสุดท้ายของการแสดงต่อจากฉบับวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๗ เลยนะคะ


ฉากสงคราม

เมื่อวิรุญมุขโดนพระลักษณ์ลงโทษด้วยการสักหน้าและเฆี่ยนตีแล้ว ก็กลับมาเฝ้าอินทรชิตผู้เป็นลุง อินทรชิตออกอุบายให้วิรุญมุขแปลงเป็นอินทรชิตแล้วออกไปรบ ส่วนตัวอินทรชิตนั้นจะขึ้นไปแผลงศรนาคบาศลงมาจากท้องฟ้า และเมื่อนัดแนะกันตามแผนแล้ว ลุงกับหลานก็เข้าสู่สนามรบ อินทรชิตแผลงศรกลายเป็นนาคลงมาไล่รัดพระลักษณ์ และพลวานรทั้งหมดยกเว้นพิเภก เพราะเป็นยักษ์ อินทรชิตลงจากท้องฟ้ามาไล่ตีพิเภก พิเภกหนีไปหาพระราม และตามพระรามมาช่วยพระลักษณ์ โดยให้พระรามแผลงศรพลายวาดเรียกพญาครุฑลงมาไล่นาคทั้งปวงหนีไป

“อินทรชิตฤทธิไกรเห็นได้ที จึงจับนาคบาศศรศรีขึ้นพาดสาย พระเนตรหมายจะสังหารผลาญไพริน พลางผาดแผลงพระแสงศิลป์ไปด้วยศักดา ลูกศรที่ยิงก็กลับกลายเป็นนาคาเรืองฤทธิไกร เข้ารวบรัดพระลักษณ์และลิงไพรทั้งโยธี”

อดคิดนิดๆ ไม่ได้ว่า กองทัพพระรามเป็นต่อเพราะมีพิเภกเป็นตัวช่วยเสนอแนะนำ และหยั่งรู้ไปเกือบทุกเรื่อง รู้จริงๆ ไม่เคยพลาด และเป็นต่ออีกสิบเท่าของศัตรูก็คือมีหนุมานทหารเอกนั่นเอง

เทคนิคประกอบเรื่องศรนาคบาศที่ทำให้ผู้ชมตื่นตาตื่นใจ

ดิฉันอ่านมาจากหนังสือพิมพ์ (ขอนำมาเล่าประกอบ – จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพฯธุรกิจ (ฉบับที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๗) ว่าทางผู้จัดถือว่าไฮไลต์ของโขนชุดนี้ คือฉากที่ ๓ โพรงไม้โรทัน อันเป็นป่าที่อยู่บนเขาอากาศ

เป็นสถานที่ซึ่งพวกนาคและสัตว์มีพิษ เช่น แตน ต่อ มาคายพิษลงในบ่อหน้าต้นไม้โรทัน ในฉากนี้เองที่ “อินทรชิต” เข้าไปประกอบพิธีชุบศรนาคบาศในโพรงไม้ ฝูงนาคได้ออกมาคายพิษลงในบ่อ ฉากนี้ผู้ชมจะได้เห็นความลึกลับและความน่ากลัวของป่าว่าน่าสะพรึงกลัวอย่างไร ทางคณะผู้จัดทำฉากจึงได้ศึกษาข้อมูลด้วยการใช้ภาพถ่ายป่าธรรมชาติจากหลายๆ แห่งมาผสมกับบทบรรยาลักษณะป่าที่น่ากลัวของรัชกาลที่หนึ่งเพื่อมาสร้างฉาก


ส่วนฉากดีเด่นในมุมมองของผู้เขียน มีความเห็นดังนี้
รำเบิกโรง

ส่วนดิฉันมีมุมมองเรื่องของความชอบและความชื่นชมอยู่หลายประการ เริ่มด้วย การแสดงรำเบิกโรงชุด ระบำนารายณ์เจ็ดปาง ซึ่งจะเป็นการรำของเทพบุตรและนางฟ้าร่ายรำสรรเสริญพระนารายณ์ โดยมีภาพประติมากรรมลอยตัว “พระนารายณ์ทรงสุบรรณ” เป็นภาพพระนารายณ์อวตาร ๔ กร ประทับเหนือพญาครุฑ ซึ่งมีความสูงกว่าเจ็ดเมตรมาเป็นประธานในฉาก โดยลายเส้นที่ปรากฏเป็นภาพใบหน้าพระนารายณ์นั้น คุณสุดสาคร ชายแสม ผู้ออกแบบฉากและอุปกรณ์ประกอบฉากให้กับการแสดงโขนครั้งนี้ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์กรุงเทพวันอาทิตย์ฉบับเดียวกันกับที่ดิฉันเขียนไว้ข้างบนว่า ลายเส้นที่ปรากฏเป็นภาพใบหน้าพระนารายณ์ ได้แรงบันดาลใจจากลายเส้นของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งวงการช่างเขียนไทยนับถือว่าเป็นลายเส้นภาพใบหน้าพระนารายณ์ที่เขียนได้งดงามที่สุด


ฉากพลับพลาพระราม

ซึ่งตระการตาด้วยท่ารำของกระบวนทัพยักษ์ สวยงามพร้อมเพรียง และดังที่ได้เอ่ยแล้วในตอนฉบับที่แล้วว่า ติดอกติดใจกับผู้แสดงเป็นตัววิรุญมุขในฉากนี้มาก เพราะว่าขี่ม้าถือหอกตรวจพลได้สวยงาม ฮึกเหิมและเร้าใจทั้งท่ารำและทำนองเพลง


วงดนตรี

และแน่นอนว่าการแสดงรำหากขาดเสียซึ่งวงดนตรีสดก็คงจะเกิดการแสดงขึ้นไม่ได้แน่นอน ในฐานะที่ดิฉันเองก็ใฝ่เรียนดนตรีไทยอยู่จึงพุ่งความสนใจส่วนใหญ่ไปยังวงดนตรีปี่พาทย์ซึ่งก็เป็นวงใหญ่มีทั้งสองข้างของเวที ใช้นักร้องและนักดนตรีเต็มอัตรา คือเต็มหลืบของเวทีดนตรีทีเดียวเลย มีการส่งร้องและบรรเลงให้ทั้งสองข้างดูน่าสนุก และถือว่าสุดยอดค่ะ และในที่นี้ขอรวมไว้ถึงผู้ออกมาพากย์สดให้ได้เห็นกันว่าใครเป็นใคร ซึ่งก็ต้องเป็นศิลปินที่คัดเลือกมาแล้วเป็นอย่างดี การพากย์ที่เป็นเอกลักษณ์ของโขนนี้ยิ่งทำให้ชื่นชมว่า ผู้พากย์นั้นพากย์ได้อย่างสดๆ โดยเฉพาะฉากที่เป็นการโต้ตอบกันของตัวตลกโขน ต้องรับมุขกันให้ทัน ซึ่งก็ทำให้การชมนี้สนุกสนานมากขึ้น

อ่านจบผู้อ่านอาจจะมีคำถามว่า เขียนแต่ชม ชม ที่ติมีไหมเนี่ย...มีเหมือนกันค่ะ

ข้อที่ ๑ อยากให้การแสดงมีรอบเพิ่มขึ้น น่าจะแสดงไปถึงปลายปีด้วยซ้ำนะคะ หรือไม่ก็น่าจะนำออกแสดงต่างจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางของภาคต่างๆ เชื่อว่ามีคนไทยที่อยู่ไกลจากกรุงเทพฯ ก็คงจะอยากมีโอกาสชมของดีๆ เช่นนี้เช่นกัน

ข้อที่ ๒ คงไม่เกี่ยวกับการแสดงแต่เกี่ยวกับโรงละครค่ะ เปิดแอร์เย็นเสียจริงๆ ปีที่แล้วดิฉันพาหลานๆ จากอเมริกา (ไปเมืองไทยช่วงพฤศจิกายนพอดี) หลานๆ ไม่ทันเตรียมตัวเพราะนึกว่าเมืองไทยร้อน ที่ไหนได้ร้องหนาวกันทุกคนและเนื่องจากการแสดงค่อนข้างยาว ทำให้เด็กๆ ต้องทนหนาวเป็นเวลานาน ดิฉันมองดูเด็กนักเรียนที่ไปชมวันนั้น เห็นใส่เสื้อหนาวกัน แสดงว่าผู้ใหญ่คงเตือนกันก่อน

จึงขอบอกกล่าวผู้อ่านในอเมริกาเผื่อว่าปลายปีนี้ไปชมโขนที่โรงละครศูนย์วัฒนธรรม (หรือโรงละครแห่งชาติก็เหมือนกันค่ะ) เตรียมเสื้อหนาวหรือผ้าคลุมไปด้วยจะทำให้ท่านชมการแสดงได้อย่างสุขสำราญ ค่ะ

เอาละค่ะ ก็ขอจบการเล่าเรื่องไปชมโขนพระราชทาน ในซีรี่ส์เที่ยวเมืองไทยปลายปี ๒๕๕๗ ในฉบับต่อไปก็จะได้นำเสนอเรื่องราวที่ได้ไปพบเห็นมาให้อ่านกันอีกนะคะ ส่วนจะเป็นเรื่องใดก็คงจะขอให้รอกันไปสักนิด ขอบคุณที่ติดตามอ่านนะคะ พบกันใหม่ฉบับหน้าค่ะ