บันทึกจากเบย์แอเรีย
เพ็ญวิภา โสภาภันฑ์



พบกับวงดนตรีไทยศูนย์วัฒนธรรมเบิร์กเล่ย์

ยังคงเกาะติดการฝึกซ้อม เตรียมพร้อม ในละครเวทีฟอร์มใหญ่เรื่อง นางเสือง ของศูนย์วัฒนธรรมไทยวัดมงคลรัตนาราม เบิร์กเล่ย์ โดยได้เริ่มด้วยการสัมภาษณ์ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ดร.เพลินใจ กุนทีกาญจน์ มาให้ได้อ่านกันไปแล้วว่ามีแรงจูงใจอย่างไรจึงจัดละครเรื่องนี้

ฉบับนี้ขอชะแว้ปมาทางวงดนตรีที่จะบรรเลงประกอบละครกันสดๆ ว่ามึใครเป็นใครบ้าง เริ่มด้วย คุณครูดนตรี ครูอาสาประจำปีนี้ที่จะเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงในเรื่องบริหารจัดการดนตรีประกอบการแสดง เนื่องจากจะเป็นผลงานโดยตรงของคณะครูอาสาปีนี้

พบกับ ครูต้าร์-ณัฐวุฒิ นันทหน่อ หนุ่มน้อยจากเมืองเหนือหน้าสะอาดรูปร่างสะโอดสะอง ครูต้าร์เป็นคนพื้นเพเดิมมาจากอำเภอเมืองจังหวัดลำปาง ปัจจุบันเป็นนิสิตชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาดนตรี

ขอถามความในใจ เหตุใดจึงชอบเรียนดนตรีไทย

ที่จริงแล้วผมเกิดในครอบครัวนักกีฬานะครับ คุณพ่อผมท่านเป็นนักกีฬาแบดมินตัน ดังนั้นท่านจึงสนับสนุนผมและน้องอีกสองคนให้สนใจและเรียนแบดมินตันมาตั้งแต่ผมอายุเพียงเก้าขวบ คุณพ่อเอาใจใส่ถ่ายทอดการเล่นแบดมินตันให้พวกเราเป็นอย่างดี ในสมัยนั้นผมไปแข่งได้ถ้วยรางวัลทั่วประเทศจนได้รับคัดเลือกให้เป็นนักแบดมินตันเยาวชนทีมชาติไทย เพื่อฝึกซ้อมเก็บตัวก่อนไปแข่งขันระดับโลก ตอนนั้นเก็บตัวอยู่ที่ SCG Badminton Academy โดยให้เราได้ฝึกซ้อมไปด้วยเรียนไปด้วย และที่โรงเรียนมีห้องดนตรีไทย ซึ่งเป็นห้องที่ผมแอบไปนอนหลับหลังซ้อมกีฬาเป็นประจำ

บ่อยครั้งที่ได้ยินเสียงซ้อมดนตรีไทย จีงเกิดความชอบและสนใจดนตรีไทยขึ้นมา จึงได้ขอให้คุณครูช่วยสอน เครื่องดนตรีไทยชิ้นแรกที่ได้สัมผัส คือฆ้องวงใหญ่ จากนั้นก็เป็นระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงเล็กและอีกหลายชิ้นตามลำดับ

เรียนเครื่องดนตรีไทยหลายชิ้น ถามว่าถนัดชิ้นใดเป็นพิเศษ อย่างไรคะ

ชอบระนาดเอกครับ เวลาว่างหรือเกิดความเครียดขึ้นมาผมจะตีระนาดเอกเพื่อผ่อนคลาย ยิ่งเรียนก็ยิ่งชอบในเสียงของดนตรีไทย จึงได้ตัดสินใจที่จะเอาดีทางด้านนี้และหยุดเล่นกีฬาแบดมินตัน เพื่อเรียนดนตรีไทยแบบจริงๆ จังๆ โดยสมัครเรียนด้านดนตรีไทยที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ตอนนั้น ครูนันท์สินี อุปพงษ์ ได้พาไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์กับ คุณครูอุทัย แก้วละเอียด ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปการแสดง (ดนตรีไทย ) ปี พ.ศ. 2552

และต่อมาได้เข้าเป็นลูกศิษย์รุ่นสุดท้ายของท่านครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) โดยไปเรียนที่บ้านของท่าน ซึ่งท่านเองก็ได้ถ่ายทอดวิชาดนตรีโดยไม่หวงวิชาเลยแม้แต่น้อยนิด ถือว่าท่านเป็นครูที่ผมเคารพเป็นอย่างมาก

(ให้รู้สึกปลื้มแทนครูต้าร์จังเลยที่มีโอกาสได้เป็นศิษย์ของบรมครูทั้งสองท่านที่เอ่ยนามมา โดยเฉพาะท่านครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ ที่เป็นที่ยกย่องในวงการดนตรีไทยของชาติ สักวันหนึ่งคงต้องขอให้ครูต้าร์มาเล่าให้ฟังถึงการเรียนการสอนของท่านครูให้เราได้อ่านกันบ้าง ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากๆ)

นอกเหนือจากบรมครูทั้งสองท่านที่เอ่ยถึงแล้ว มีครูท่านใดที่ครูต้าร์ได้รับการถ่ายทอดวิชาดนตรีไทยบ้างคะ

ครูจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จฯ คือ ครูสุรินทร์ สงทอง ครูพัฒนี พร้อมสมบัติ ครูสุดารัตน์ ชาญเลขา ครูรังสรรค์ บัวทอง ครูอัมรินทร์ แรงเพ็ชร ครูธิติ ทัศนกุลวงษ์ ครูโดม สว่างอารมณ์ นอกจากนี้ยังมี ครูกฤษณุพงศ์ บุญทะกุล (โรงเรียนอัสสัมชัญ ลำปาง) ครูนันท์สินี อุปพงษ์ (โรงเรียนศรีพฤฒา กรุงเทพฯ) ครูสิทธิชัย ตันเจริญ (โรงเรียนวัดระฆัง) ครูอนุชา บริพันธ์ (กรมศิลปากร) ขอกราบขอบพระคุณคุณครูทุกท่านมา ณ โอกาสนี้ด้วยนะครับ

อยากทราบว่าเมื่อเรียนจบปริญญาตรีแล้วจะศึกษาด้านดนตรีต่อหรือประกอบอาชีพด้านนี้หรือไม่ อย่างไรคะ

ผมตั้งใจที่จะเรียนต่อปริญญาโททางด้านดนตรีไทยต่อไป เพื่อเพิ่มพูนความรู้และเพิ่มทักษะด้านดนตรี และตั้งความมุ่งหวังไว้ว่าอนาคตจะประกอปอาชีพเป็นครูสอนดนตรีไทย อยากให้คนที่มาเรียนกับผมซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้และสืบทอดดนตรีไทยต่อไป เพราะว่าดนตรีไทยถือว่าเป็นเอกลักษณ์ที่บ่งบอกความเป็นไทย เป็นศิลปะที่ลึกซึ้งและละเอียดอ่อนเป็นอย่างมาก อยากให้คนไทยช่วยกันสืบทอดดนตรีไทยให้แพร่หลายเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก

แล้วทางบ้านให้การสนับสนุนให้เรียนดนตรีไทย หรือประกอบอาชีพสอนดนตรีไทยหรือไม่คะ

ความจริงแล้วคุณพ่อผมท่านมุ่งหวังให้ผมเป็นนักกีฬาแบดมินตันอาชีพตามรอยของท่าน แต่เมื่อผมเลือกที่จะเอาดีทางด้านดนตรีไทย ท่านรู้สึกผิดหวังบ้าง แต่ก็เข้าใจและสนับสนุนอย่างเต็มที่ ท่านกับคุณแม่ได้ลงทุนซื้อชุดเครื่องดนตรีไทยให้ และส่งเสียให้เรียนด้านดนตรีไทยเป็นอย่างดียิ่งครับ ...(เฮ้อ โล่งอกแทนค่าาา)

คิดอย่างไรที่เห็นเด็กที่เติบโตที่อเมริกามาเรียนดนตรีที่ศูนย์วัฒนธรรม

ผมดีใจเป็นอย่างยิ่งเพราะไม่คาดคิดว่าเด็กไทยที่นี่และคนต่างชาติจะสนใจมาเรียนดนตรีไทยเป็นจำนวนมากขนาดนี้ เด็กหลายคนเรียนรู้ได้รวดเร็วมาก จดจำเพลงต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ ผมภูมิใจที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งนี้เปิดโอกาสให้ผมทำหน้าที่เผยแพร่ศิลปะทางด้านดนตรีไทย

สิ่งใดที่คิดว่ายากที่สุดในการสอนดนตรีไทยที่นี่

เด็กๆ ส่วนใหญ่ของที่นี่ จะมีโปรแกรมเรียนหลายอย่าง จึงทำให้มีเวลาในการฝึกซ้อมน้อย ดนตรีไทยนั้นต้องหมั่นฝึกซ้อมบ่อยๆ เพื่อให้เกิดทักษะและพัฒนาฝีมือตัวเองอยู่ตลอดเวลา จึงจะเป็นนักดนตรีที่มีฝืมือแและมีความชำนาญ

มีข้อใดที่คิดว่าควรจะปรับปรุงการเรียนการสอนดนตรีไทย เพื่อให้เด็กเกิดทักษะได้ง่ายขึ้น

อยากให้เด็กๆ ได้มีโอกาสฟังเพลงไทยเดิมอย่างน้อยวันละหนึ่งเพลง เพื่อซึมซับเสียงของเครื่องดนตรีไทยชนิดต่างๆ อันจะทำให้เด็กสนใจอยากเล่นดนตรีมากขึ้น เพราะการฟังเพลงไทยเดิมช่วยให้เกิดทักษะและช่วยให้เรียนรู้ง่ายขึ้น

สิ่งใดที่คิดว่าเป็นปัญหาในการฝึกซ้อมดนตรีเพื่อแสดงละครเรื่อง “นางเสือง” ครั้งนี้

เด็กแต่ละคนจะมีเวลาว่างไม่ค่อยตรงกันทำให้การซ้อมรวมวงช่วงนี้ยังน้อยไป แต่เชื่อว่าเรายังมีเวลาพอที่จะปรับปรุงตรงนี้ทัน

เอาล่ะค่ะ ได้รู้จักตัวตนครูต้าร์ ครูดนตรีที่เป็นครูประจำการปีนี้กันแล้วนะคะ จากที่ได้คุยกับครูต้าร์มาข้างต้น เราก็มองเห็นศักยภาพของคุณครูแล้วนะคะ ไม่ว่าจะเป็นพื้นความรู้ของครู ความรักในวิชานี้ ความตั้งใจที่จะสอนเด็กๆ เต็มร้อยล่ะค่ะ

อย่างไรก็อย่าลืมไปให้กำลังใจคุณครูเขานะคะ

ในครั้งแรกดิฉันตั้งใจว่าจะลงเรื่องของบุคคลากรในวงดนตรีของศูนย์ฯ ให้ได้สักสองสามคนในหนึ่งคอลัมน์ ทำไปทำมา เรื่องราวของคุณครูและนักดนตรีแต่ละท่านน่าสนใจที่จะนำมาเผยแพร่ต่อ ดังนั้น ดิฉันจึงมิอยากจะตัดทอนหรือย่อเรื่องความเป็นมาของคนใดคนหนึ่งเลยค่ะ จึงจะขอแนะนำครูประจำวงดนตรีคนต่อไป คือ คุณครูตุ้ย-ศุภโชค พงศ์ธนานนท์ คุณครูเล็ก วลัยพิศ พงศ์ธนานนท์ ในฉบับหน้านะคะ

จากครูตุ้ย ครูเล็ก ก็ยังมีครูอีกสองสามท่าน ที่จะมาร่วมกันบรรเลงให้กับศูนย์ฯ ในงานละครนี้ นี่เป็นเพียงน้ำจิ้มนะคะ เพราะนอกจากจะมีวงปี่พาทย์และนักร้องประจำศูนย์ฯ แล้ว ยังมีวงโปงลาง ที่เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นหนึ่งในซานฟรานและเบย์แอเรีย กับวงน้องใหม่ที่เพิ่งตั้งปีที่แล้ว วงสะล้อ ซอ ซึง แค่เพิ่งเริ่มออกงานปีทีแล้วก็ได้รับเสียงตอบรับอย่างดียิ่ง ไม่นับวงลิเกฮูลูล่าสุดที่ ครูแนน-เบญจรวรรณ ใจรักษ์ ครูนาฏศิลป์ประจำการปีนี้ กำลังขะมักเขม้นเฟ้นหนูๆ มาร่วมวงอยู่ขณะนี้ (วงนี้ศูนย์จะนำไปเปิดตัวที่งาน Queen Gala Night ของสมาคมไทยแคลิฟอร์เนียภาคเหนือในวันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม ศกนี้)

โอ้ ..เชียร์กันขนาดนี้ ไม่ตามไปดูละคร “นางเสือง” ก็ไม่ทราบจะว่าอย่างไรแล้วนะคะคุณขา...

พบกันใหม่โอกาสหน้าค่ะ