บันทึกจากเบย์แอเรีย
เพ็ญวิภา โสภาภันฑ์



เที่ยวไทย Winter of 2014
ตอน เที่ยวงานหนึ่งร้อยปีเอเอฟเอส

ห่างหายไปจากงานเขียนหลายวีคเพื่อว่าจะได้เตรียมตัวไปเที่ยวเมืองไทยให้ชุ่มฉ่ำหัวใจในเดือนที่จะครบรอบวันสำคัญของตัวเอง นั่นคือวันคล้ายวันเกิด ซึ่งปีนี้สำคัญเพราะเป็นการผลัดเปลี่ยนตัวเลขนำหน้า จาก “หก” เป็น “เจ็ด” ประการฉะนี้ดิฉันจึงอยู่ไม่ติดขอตัวจากการเลี้ยงหลานๆ กลับไปเที่ยวไทย มอบงานบันทึกให้คุณวัลลภ คชินทร หรือผู้เฒ่าหัวใจสะออน ร่ายแทนไปพลางๆ

กะว่าจะหยุดงานเขียนไปก่อน แต่พอถึงเมืองไทยก็เจอะเจอแต่กิจกรรมดีๆ ที่น่าจะนำมาเล่าสู่กันฟัง วิญญาณนักเขียนกระโดดทรงร่างอีก อดไม่ได้ที่จะจับแป้นพิมพ์บันทึกเรื่องราว ส่วนทางกิจกรรมสังคมในซานฟรานและเบย์แอเรียก็คงต้องพลิกไปหาอ่านในคอลัมน์คุณวัลลภ “ลำนำชีวิต” ก็แล้วกันนะคะ

กิจกรรมแรกเริ่มเมื่อถึงประเทศไทยดิฉันได้รับเกียรติจากโรงเรียนพาทยกุลการดนตรีและนาฏศิลป์ เข้าร่วมบรรเลงดนตรีไทยหนึ่งเพลงในงานแสดงละครเรื่อง อานุภาพแห่งความเสียสละ บทประพันธ์ของ ฯพณฯ พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ แต่จะขอยกเรื่องนี้ไปเล่าคราวหน้าเพราะรอภาพสวยๆ เพื่อให้การบันทึกสมบูรณ์เนื่องจากเป็นละครฟอร์มใหญ่ ประสบความสำเร็จ (สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จทอดพระเนตรด้วย )

ขอนำกิจกรรมที่สอง ที่ดิฉันไปร่วมและเป็นกิจกรรมที่จะไม่มีขึ้นง่ายๆ อีกแล้ว นั่นก็คือ งานราตรีฉลององค์กรอเมริกันฟิลด์เซอร์วิส ครบรอบหนึ่งร้อยปี (AFS Centennial Party, The Colorful World of AFS) ที่ว่าคงไม่มีอีกง่ายๆแล้วก็คือดิฉันคงไม่ได้อยู่ฉลองปีที่สองร้อยแน่นอน ฮา ฮา..

ในฐานะดิฉันก็เป็นศิษย์เก่าคนหนึ่งจาก “รุ่นบุกเบิก” แปลว่ารุ่น 1 ทีเดียวนะ น้องๆ เชิญมาพอดีกับที่เราเองก็มาถึงประเทศไทย จึงสนใจอยากจะไปร่วมงาน อยากดูว่าเด็กๆ รุ่นใหม่ๆ เขาสนับสนุนและก่อร่างสร้างสมาคมนักเรียนเก่าต่อจากพวกเรากันอย่างไร ก็เลยพยายามชักชวนเพื่อนร่วมรุ่น จริงๆ แล้วรุ่นหนึ่งของเรามีกันสิบสี่คน แต่ ณ ปัจจุบันบางคนก็อยู่ต่างจังหวัด บางคนก็ติดธุระ บางคนก็ขี้เกียจยุ่งด้วยว่าอาวุโสเกินไปไม่ชอบเดินทาง ก็ว่ากันไป..

สำหรับท่านที่ไม่คุ้นเคยกับโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนเอเอฟเอส ดิฉันขอท้าวความเล็กน้อยว่าองค์กรเอเอฟเอสคืออะไร


กำเนิดองค์กร

องค์กรอเมริกันฟิลด์เซอร์วิสถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ. 1913 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 จากหนุ่มสาววัยทีนเอจสิบห้าคนทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครขับรถรับส่งผู้บาดเจ็บจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในสมรภูมิรบใกล้กรุงปารีสประเทศฝรั่งเศส จากนั้นก็มีอาสาสมัครเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นับพันคน ในปี ค.ศ. 1914 ถึง 1917 ได้ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากสงครามโดยไม่เลือกเชื้อชาติ ศาสนา จนเป็นที่รู้จักทั่วโลก และนำมาซึ่งแรงบันดาลใจของอาสาสมัครทั้งหลายให้ก่อตั้งโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา หลังเสร็จสิ้นสงครามโลกในครั้งนั้น

และต่อมาเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ในปี ค.ศ.1947 ก็ได้ขยายโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนระดับมัธยมปลายกับสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก ในนามโครงการ American Field Service และได้พัฒนาโครงการภายใต้ชื่อ AFS Intercultural Programs


AFS in Thailand เริ่มในปี ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505)

กำเนิดโครงการเอเอฟเอสในประเทศไทยขึ้นในปีค.ศ. 1962 ภายใต้การควบคุมดูแลของกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการต่างประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักข่าวสารอเมริกัน หรือ USIS (the U.S. Information Service) เริ่มแรกเป็นการให้ทุนแก่เยาวชนไทยไปศึกษาในสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 1 ปี

ต่อมาประเทศไทยได้เปิดรับอุปถัมภ์นักเรียนจากประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเชิงวัฒนธรรมซึ่งกันและกันในปี พ.ศ. 2513 ได้มีมติให้เอเอฟเอสประเทศไทยเปลี่ยนเป็น “องค์การนานาชาติ” (AFS International Organization) และมีการพัฒนาขยายโอกาสในการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น โดยรวบรวมอาสาสมัครนานาชาติ ให้มีการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศอื่นๆ ด้วย อาทิ โครงการแลกเปลี่ยนกับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา ละติน-อเมริกา ยุโรป และอีกหลายประเทศ ที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาประจำชาติ ก็เป็นอันว่าจบข้อมูลโดยสังเขป


สมาคมนักเรียนเก่าเอเอฟเอสประเทศไทย

ทีนี้ มาถึงว่าทำไมดิฉันจึงนำกิจกรรมนี้มาเล่าและไปร่วมกิจกรรม ก็ขอประกาศก้องด้วยความภูมิใจว่าดิฉันเป็นนักเรียนเก่าทุนเอเอฟเอส “รุ่นหนึ่ง” คือรุ่นบุกเบิกเมื่อปี ค.ศ. 1962-1963 โดยดิฉันมาเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนในโรงเรียนมัธยมที่เมือง Simi Valley, California ในปีนั้นเป็นช่วงปลายสงครามเวียดนาม และ จอห์น เอฟ เคเนดี้ เป็นประธานาธิบดี รุ่นดิฉันที่ได้รับทุนมาอเมริกามีจำนวน 14 คน

เมื่อเราจบโครงการกลับถึงประเทศไทยเราก็ได้ก่อตั้ง สมาคมนักเรียนเก่าอเมริกันฟิลด์เซอร์วิส (Thai Returnees of American Field Service, หรือ TRAFS) จากรุ่นหนึ่งจนปัจจุบันรุ่น 52 ถือว่าเป็นรุ่นลูกหลานของดิฉันทีเดียว


งานฉลอง ณ Retro Live Café, ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

รุ่นน้องหลายคนเมื่อทราบข่าวว่าดิฉันจะเดินทางกลับไปเที่ยวเมืองไทยในช่วงเดือนพฤศจิกา-ธันวา ก็ได้ส่งข่าวมาเชิญให้ไปร่วมงานฉลองครบร้อยปีขององค์กรเอเอฟเอส โดยจัดที่ศูนย์สิริกิติ์ ในวันเสาร์ที่ 22 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยใช้ชื่องานเสียไพเราะเพราะพริ้งว่า ปี AFS Centennial Party, The Colorful World of AFS

สังสรรค์ฉันพี่น้อง

แม้ว่ารุ่นเราจะรวมตัวกันได้เพียงคนสองคนแต่เราก็ไม่ยอมให้เสียชื่อ ดิฉันกับเพื่อนอีกหนึ่งคนคือ มาลีรัตน์ ปลื้มจิตชม ซึ่งปัจจุบันเป็นรองประธานบอร์ดออฟไดเร็คเตอร์ ของเอเอฟเอสประเทศไทยได้ไปร่วมงาน และด้วยสปิริตที่เต็มร้อยทำให้ในวันนั้นรุ่นหนึ่งป๊อปปิวลาร์มาก ได้ยินแต่เสียงน้องๆ ตะโกนบ้าง กระซิบบ้าง “เฮ้ยๆ พี่รุ่นหนึ่งก็มา” ชื่นใจนะคร้าาา..หลายๆ กรุ๊ปมาขอถ่ายภาพกับเราสองคน ป๊อปปิวลาร์ไม่น้อย

บรรยากาศในงานเต็มไปด้วยมิตรภาพอันไม่มีพรมแดนมาแบ่งกั้น ไม่ว่าจะเป็นน้องๆ ที่ไปโครงการอเมริกา ไปนิวซีแลนด์ แคนาดา ละตินอเมริกา หรือ ยุโรป และล่าสุดรัสเซีย ต่างก็เปี่ยมไปด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม อบอุ่นไปด้วยสายใยความสมัครสมานสามัคคี

สมกับคำขวัญขององค์กรที่ว่า หากเราเดินไปด้วยกัน พูดกันด้วยความเข้าใจ เมื่อนั้นสันติภาพก็จะบังเกิดขึ้น“Walk Together, talk together, all ye people of the earth; then and only then, shall ye have peace” เช่นนี้แล...

เก็บภาพบรรยากาศฉันพี่น้องและความรื่นเริงบันเทิงใจมาให้ชมกัน ดิฉันออกจากงานมาด้วยความประทับใจ ซึ่งมิใช่ว่าเกิดจากความสนุกสนานของราตรีนี้ แต่เป็นความประทับใจของวัตถุประสงค์หลักขององค์กรเอเอฟเอสที่ได้ยืนยงถึงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมเพื่อสันติสุขของโลก จะอีกร้อยปีสองร้อยปีต่อไปก็เป็นหน้าที่อันสำคัญที่องค์กรนี้จะผดุงรักษาโครงการนี้ไว้ ด้วยความหวังที่ว่า สันติภาพของโลกไม่ไกลจากความเป็นจริง หากคนเรารักกัน เข้าใจกันผ่านวัฒนธรรมที่แตกต่าง

ขอคารวะต่ออาสาสมัครทุกท่านทั้งในอดีตและปัจจุบัน ขอให้องค์กรเอเอฟเอสจงยึดมั่นอยู่กับการทำงานเพื่อสันติภาพตลอดไป ค่ะ


รายงานจากกรุงเทพฯ
25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557