บันทึกจากเบย์แอเรีย
เพ็ญวิภา โสภาภัณฑ์



เที่ยวเมืองไทย 2018 ไปชมโขนสมเด็จฯ ตอนพิเภกสวามิภักดิ์ (ต่อ)

ฉบับก่อนนี้ได้เล่าเรื่องราวความเป็นมาของโขนสมเด็จฯ และเรื่องย่อความเป็นมาของการที่พิเภกเปลี่ยนจากฝ่ายลงกามาสวามิภักดิ์ฝ่ายพระราม ว่าเกิดเหตุจากอะไรมาแล้ว ฉบับนี้จะขอบรรยายบรรยากาศในการไปชมโขนในวันที่ ๑ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ ต่อนะคะ

ฉบับที่แล้วลืมเกริ่นไปว่า ในวันแสดงผู้เขียนมีน้องที่เคยทำงานด้วยกันมาเมื่อตอนอยู่เมืองไทยไปเป็นเพื่อนด้วย และดูแลดิฉันเป็นอย่างดีคือ คุณตุ๊ก นิตยา พลสินพยัคฆ์ และขอบคุณเป็นพิเศษ คือ อ.ตึ๋ง ชัยรัตน์ วีระชัย และ อ. ออย บุญเปลี่ยน ที่สปอนเซอร์บัตรให้ ขอบคุณ อ. แมว ทรงยศ แก้วดี หัวหน้าภาคดุริยางค์ไทย วิทยาลัยนาฏศิลป์ ที่ต้อนรับและเลี้ยงดูด้วยอาหารกลางวัน เป็นมื้อที่อร่อยมากๆ ค่ะ

ร่ายยาวถึงเรื่องพิเภกต่อค่ะ (ที่มาเขียนถึงบทละครต่อแบบยาวๆ ก็เพราะว่าอยากให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบวรรณคดีที่ได้รับการคัดกรองมาแสดงนี้ด้วย ให้ได้ทั้งอ่านวรรณคดีและสัมผัสบรรยากาศในวันแสดงไปพร้อมๆ กัน)

คราวที่แล้วในท้องพระโรงกรุงลงกา พิเภกถูกขับให้ออกไปให้พ้นเมืองของชาวยักษา ละครก็จับฉากตอนที่ ๒ พิเภกลาชายาและธิดา ก็เป็นบทโศกเศร้าของการร่ำลาลูกเมีย ถ้าไม่ได้ดูฉากนี้ ดิฉันก็คงไม่ทราบหรอกว่า

ใครคือเมียของพิเภก สมัยเรียนหนังสือเรื่องรามเกียรติ์นี้ก็ไม่เคยมีการกล่าวถึง เอาล่ะค่ะ เฉลย เมียพิเภกชื่อ นางตรีชฏาค่ะ แล้วใครเป็นลูกสาวละคะ ..นี่ล่ะ..เพิ่งทราบวันนั้นเอง ลูกสาวพิเภก คือหนึ่งในตัวละครที่เรารู้จักกันดี ก็คือ นางเบญจกาย ค่ะ..นางคนนี้แหละที่ไปแปลงตัวเป็นสีดาลอยน้ำมาหลอกกองทัพพระราม อันเป็นต้นกำเนิดดเรื่องรามเกียรติตอนนางลอย ล่ะค่ะ

เมื่อลาลูกเมียเสร็จ พิเภกก็ถูกนำตัวขึ้นเรือสำเภาออกไปจากกรุงลงกา ระหว่างนั่งอยู่บนเรือ ก็ได้ภาวนาว่า

“ขอเทวัญบันดาลดลใจ ให้ไปพบองค์พระสี่กร” และเมื่อถึงฝั่งซึ่งในบทก็ไม่ได้บอกว่าฝั่งไหน ก็คงฝั่งชายป่าเมืองอโยธยากระมัง (อันนี้เดาเอาเอง) พวกพลยักษ์ก็เชิญพิเภกขึ้นฝั่งแล้วเหล่าทหารก็ขึ้นสำเภากลับเมืองลงกา

พิเภกได้พบกับด่านแรกที่เป็นเสมือนตรวจคนเข้าเมือง พิเภกก็ย่างก้าวไปพร้อมกับป้องปากร้องว่า

“รามาวตาร พระพุทธเจ้าข้า..” และนี่เองทำให้นิลเอกหัวหน้าพลลิงได้ยินและเมื่อซักไซร้ไล่เลียงได้ทราบความเบื้องต้นว่าอสุรีย์ผู้นี้ถูกเจ้ากรุงลงกาเนรเทศมาและประสงค์จะขอเข้าเฝ้าพระราม จึงได้นำพิเภกเข้าไปเฝ้าพระราม

ส่วนองค์รามาวตารได้ฟังคำอสุราให้การแถลงเล่าเรื่องราว ก็ทรงพินิจพิจารณา ด้วยยังมีความแคลงพระทัยอยู่บ้าง จึงตรัสซักไซร้ว่าแม้พระองค์จะยินดีต้อนรับยามที่ท่านมีทุกข์แต่ก็

“แม้ปลงจิตคิดเชื่อถ้อยคำท่านพาที แต่แยบยลกลราวีระหว่างศึกย่อมลึกซึ้ง ถึงลูกกับพ่อก็ต้องคิดคำนึงจึ่งควรการ แล้วท่านกับเราเล่าจะรักสมัครสมานกันฉันใด”

พิเภกก็ตอบข้อสงสัยได้อย่างชาญฉลาดถึงว่าแม้เขาจะกำเนิดเกิดในอสุรพงษ์ แต่องค์ทศพักตร์ผู้พี่ก็หาได้เห็นในความภักดีไม่

“เหมือนข้าพระบาทภักดีต่อบาทบงส์ดำรงสัตย์ ย่อมแจ้งรักประจักษ์ชัดแต่พระหัทยา
แสนเสกสรรค์พรรณาหาประโยชน์มิได้ การจะควรมิควรถวายชีวิตไว้แทบพระบาทาฝ่าธุลี”

พระรามทรงพอพระทัยในคำตอบ และมีรับสั่งให้พญาสุครีพไปนำศรพรหมาศมาตั้ง สุครีพคลานเข้ารับพระแสงศร พลลิงยกขันมหาสาครออกมาตั้งหน้าพลับพลา สุครีพเชิญศรลงสรงน้ำ พิเภกคลานเข้าไปถวายบังคมมพระราม แล้วคลานมานั้งหน้าขันมหาสาคร

“แม้นข้ามิตรงต่อเบื้องบาท พระนารายณ์ธิราชฤทธิไพศาล
เข้าด้วยพวกี้องผองพาล ก่อการคิดคดเป็นกลมา
ขอให้พระแสงศรสิทธิ์ จงสังหารชีวิตของข้า"

พิเภกดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยา แล้วขึ้นไปบนพลับพลาถวายบังคมพระราม องค์พระจักรีทรงปรีดิ์เปรมเกษมศรี และสถาปนาพิเภกประหนึ่งองค์ราชา

“แล้วประทานชฏาสง่าเลิศ เป็นอาภรณ์ประเสริฐสวมใส่
ขอจงสุขสวัสดิ์พิพัฒน์ชัย อยู่ในไอศวรรย์นิรันดร์เทอญฯ"

ก็เป็นอันจบเรื่องเล่าถึงที่มาที่ไปของการที่พิเภกมาสวามิภักดิ์ต่อองค์พระรามาวตาร ซึ่งทำให้เข้าใจได้ในการดูโขนเรื่องรามเกียรติในตอนต่อๆ ไป เพราะว่าพิเภกมีบทบาทสำคัญยิ่งในกลการศึกของทัพพระรามกัยทัพจากทศกัณฐ์ ที่พระรามสามารถเอาชีวิตทศกัณฐ์ได้ในตอนจบรามเกียรติ์ก็เพราะพิเภกแจ้งเรื่องที่ท้าวทศกัณฐ์ถอดดวงใจไว้กับฤษี และหนุมานไปนำกล่องดวงใจมาได้นั้น ก็มีจุดเริ่มต้นมาจากที่พิเภกได้มาสวามิภักดิ์ต่อพระรามนี่เอง

โขนในวันนั้นยังมีอีกสองตอนคือ ตอนที่ ๓ มณโฑทูลตัดศึก และหอกกบิลพัท แก้พิษหอก แต่ดิฉันจะขอจบการเล่าถึงเรื่องของฉากการแสดงเพียงเท่านี้ เพราะจุดสำคัญสำหรับดิฉันคือการได้ทราบถึงการที่พิภกได้มาสวามิภักดิ์ต่อพระราม

ในการดูโขนครั้งนี้นอกจากสนุกและได้สาระจากเรื่องราวแล้ว ดิฉันชื่นชมการแสดงของวงดนตรีประกอบโขนเป็นที่สุด เพราะว่าเป็นวงปี่พาทย์วงใหญ่ ที่มีนักดนตรีและนักร้องมากมายทั้งสองฝั่งเวที ผลัดกันรับผลัดกันบรรเลง น่าตื่นตาตื่นใจและได้ความสุนทรีย์ในชั้นเชิงของดนตรี กอร์ปกับนักแสดงที่ทุกตัวแสดงได้รับการคัดเลือกว่ามีฝีมือเลิศมาแล้วทั้งนั้น ไม่ต้องเอ่ยถึงชุดที่ได้รับการออกแบบตัดเย็บอย่างวิจิตรงดงาม ฉากที่ได้รับการจัดสร้างโดยบรมครูด้านประติมากรรมและจิตรกรรมไทย ล้วนแล้วแต่ส่งเสริมให้การแสดงโขนทุกครั้งของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพออกมาล้ำเลิศ จนเป็นที่กล่าวขาน เป็นที่ชื่นชอบของคนไทยที่รักในศิลปะด้านนี้จนทำให้ทุกรอบการ แสดงมีผู้เข้าชมเต็มทุกที่นั่ง

ฉบับนี้เนื้อที่หมดแล้ว จึงจะขอไปปิดท้ายเรื่องของโขนถึงความภูมิใจของคนไทยเมื่อองค์การยูเนสโก้ได้ประกาศให้โขนของไทยเป็นมรดกโลกทางภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอย่างไรบ้าง ในฉบับต่อไปนะคะ

สวัสดีค่ะ

เพ็ญวิภา โสภาภัณฑ์

รายงาน