บันทึกจากเบย์แอเรีย
เพ็ญวิภา โสภาภัณฑ์



โขนไทย มรดกวัฒนธรรมอันจับต้องไม่ได้

ได้เล่าเรื่องการไปชมโขน ตอน พิเภกสวามิภักดิ์ ของมูลนิธีศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ มาสองตอนเต็ม ก่อนที่จะปิดท้ายบันทึกเกี่ยวกับเรื่องโขน ในช่วงก่อนที่ดิฉันจะไปชมโขน ชาวไทยที่รักในศิลปวัฒนธรรมก็ได้รับทราบข่าวดี เมื่อกระทรวงวัฒนธรรมได้ออกประกาศเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ว่าองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก้) ได้ประกาศรับรองให้ “โขนไทย” เป็นมรดกวัฒนธรรมอันจับต้องไม่ได้ (Intangible Heritage) ของมวลมนุษยชาติอย่างเป็นทางการแล้ว

นับเป็นข่าวดีสำหรับพวกเราที่รักในศิลปวัฒนธรรมโขนนี้เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งบนเวทีแสดงโขนตอนพิเภกสวามิภักดิ์วันที่ดิฉันไปชม คือวันที่ ๒ ธันวา ๒๕๖๑ นักแสดงก็ได้นำข่าวนี้มาแทรกประกาศระหว่างการแสดงด้วย ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ทำงานด้วยความเหน็ดเหนื่อยที่จะอนุรักษ์ศิลปะแขนงนี้ไว้

ดิฉันเห็นด้วยกับ รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ที่ได้กล่าวสดุดีว่า “ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่หาที่สุดมิได้ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชการที่ ๙ ทรงอนุรักษ์ ส่งเสริม ฟื้นฟู สืบสาน และพัฒนาการแสดงโขนในทุกมิติ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดสร้างเครื่องแต่งกายเครื่องประดับโขนชุดใหม่ พัฒนาการแต่งหน้าให้งดงามดึงดูดความสนใจ พัฒนารูปแบบและเทคนิคการแสดง ฉากเวที แสง สี เสียง อันเป็นที่มาของโขนพระราชทาน”

ขอพระองค์ทรงพระเจริญฯ

มรดกวัฒนธรรมอันจับต้องไม่ได้ (Intangible Heritage) คืออะไร อย่างไร นั้น ขอสรุปและขอบคุณ ข้อมูลจาก AmarinTV และ คุณปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล ที่ดิฉันได้อ่านเห็นในไลน์ที่แชร์ต่อๆ กันมา ดังนี้

Intangible cultural heritage ซึ่งภาษาไทยแปลว่า มรดกวัฒนธรรมภูมิปัญญา หรือมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ นั้นแตกต่างกับมรดกโลก มรดกโลกนั้นจะเป็นสิ่งก่อสร้างหรือแหล่งธรรมชาติที่มีคุณค่ามหาศาลสำหรับมวลมนุษย์ มักจะเป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ หรือสถาปัตยกรรม และจำเป็นต้องอนุรักษ์ไว้เพื่อมวลมนุษยชาติ การพิจารณาว่าอะไรเป็นหรือไม่เป็นมรดกโลก จะต้องฟังความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการเป็นหลัก ส่วนมรดกวัฒนธรรมภูมิปัญญา เป็นสิ่งที่ไม่เป็นกายภาพชัดเจน แต่เป็นการปฏิบัติ ความรู้ ประเพณี พิธีกรรม การแสดง ดนตรี งานช่าง ฯลฯ ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่ปฏิบัติในกลุ่มหรือชุมชนเล็กๆ แต่ถ้าชุมชนนั้นเห็นว่าเป็นสิ่งที่มีค่าของเขา ก็สามารถเป็นมรดกของเขาได้

ขึ้นทะเบียนแล้วแปลว่าอะไร?

แปลว่าประเทศที่นำเสนอมีความรับผิดชอบที่จะสนับสนุนให้มีการสืบทอด ด้วยวิธีการต่างๆ เช่นส่งเสริมให้มีการเรียนการสอน การแสดง การให้ความเข้าใจ การทำให้คนยุคใหม่รู้สึกว่าโขนไม่ใช่สิ่งที่แปลกแยก สนับสนุนให้มีการค้นคว้า และอื่นๆ อีกมากมาย และถือว่าเป็นการบังเอิญที่คล้องจองกับข่าวนี้ นั่นก็คือ ดิฉันได้มีโอกาสเข้าไปศึกษาเพื่อหาข้อมูลการเรียนการสอนโขนเบื้องต้นที่วิทยาลัยนาฏศิลป กรุงเทพฯ มาเสนอกับสภาวัฒนธรรมไทยในสหรัฐอเมริกาทั้งสองสภาฯ ในแคลิฟอร์เนียตอนเหนือ ว่าจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะนำครูชำนาญการไปฝึกสอนโขนเบื้องต้นให้เด็กๆ ในเบย์แอเรีย

ขอบคุณ ครูตึ๋ง อาจารย์ชัยรัตน์ วีระชัย ที่ได้แนะนำให้ไปพบกับ ครูโด้ อาจารย์ วชิรพงศ์ ยนตรกิจ ซึ่งวันนั้นครูโด้กำลังสอนโขนนักเรียนอยู่พอดี ครูโด้เคยเดินทางมาร่วมกิจกรรมการแสดงให้กับวัดมงคลรัตนารามเบิร์กเล่ย์ มาเมื่อหลายปีมาแล้ว และวันนั้นครูกรุณาให้คำแนะนำถึงการฝึกโขนเบื้องต้นให้กับเยาวชนไทยที่เติบโตในอเมริกา ว่าภายในช่วงฤดูร้อนที่เด็กๆ ปิดภาคเรียน สามารถทำการเรียนการสอนให้เหมาะสมได้ และเป็นไปได้ เพราะคุณครูท่านมีประสบการณ์ในการจัดสอนเยาวชนทั้งนอกวิทยาลัย และในวิทยาลัยนาฏศิลป์มาแล้ว

ก็อยากจะเชียร์ให้ทางสภาวัฒนธรรมทั้งสองแห่ง คือเบิร์กเล่ย์ และฟรีมอนต์ หรือสมาคมไทย ได้มองเห็นถึงความสำคัญที่จะมีครูที่มีความรู้ด้านนี้มาช่วยฝึกสอนอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพแม้จะเป็นช่วงสั้นๆตอนปิดภาคฤดูร้อนก็ตาม อย่างน้อยก็จะเป็นการปลูกฝังให้เยาวชนไทยในอเมริกาได้รู้จัก ได้สัมผัสกับศิลปะด้านนี้ สมดังเจตนาขององค์กรยูเนสโก้

ฉบับนี้ถือโอกาสเผยแพร่ภาพจากการไปเยี่ยมชมการเรียนในวันนั้น รวมทั้งภาพจากผลงานการสอนของครูโด้ด้วยนะคะ

จบการบันทึกถึง “โขน” ที่ได้ไปสัมผัสมาเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๖๒ แต่เพียงนี้ ปีนี้ พ.ศ. ๒๕๖๒ มีข่าวว่ากระทรวงวัฒนธรรมจะเฉลิมฉลองการที่ยูเนสโก้รับรองให้โขนไทยเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอย่างเป็นทางการ คนไทยคงจะได้ชมการแสดงโขนกันตลอดปี

พบกันใหม่โอกาสหน้าค่ะ