บันทึกจากเบย์แอเรีย
เพ็ญวิภา โสภาภันฑ์



จิตรกรรมฝาผนังอันล้ำค่า วัดสุวรรณาราม ราชวรวิหาร ธนบุรี

กลับมาพบกับเรื่องราวช่วงดิฉันไปเที่ยวประเทศไทยเมื่อปลายปีที่แล้ว พ.ศ. ๒๕๕๖ นะคะ เป็นตอนจบเรื่องพาเที่ยววัดสุวรรณาราม ราชวรวิหาร ธนบุรี คราวก่อนได้เล่าถึงภายในพระอุโบสถของวัด นมัสการพระศาสดา พระประธานองค์ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนบางกอกน้อย วันนี้จะเล่าสู่กันฟังถึงจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถมีสมบัติอันล้ำค่ายิ่ง วาดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงค้นประวัติมาได้ว่า ผนังชั้นล่างช่วงระหว่างหน้าต่างซึ่งได้เขียนเป็นภาพทศชาติชาดกแต่ละช่อง ด้านทิศตะวันออกเขียนเรื่องพระเวสสันดรชาดกทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ส่วนด้านตะวันตกเขียนเรื่องพระเจ้า ๑๐ ชาติ ต่างก็เขียนโดยจิตรกรเอกในสม้ยนั้น ชุมนุมกันอย่างครบครันและเขียนประกวดประชันกันด้วย ที่แข่งขันกันออกหน้าออกตาก็มีอยู่ด้วยกัน ๒ ท่านคือ อาจารย์ทองอยู่ มีราชทินนามว่า หลวงวิจิตรเจษฏา ลูกศิษย์มักจะเรียนท่านว่า ครูทองอยู่ อีกท่านหนึ่งก็คือ อาจารย์คงแป๊ะ ซึ่งมีราชทินนามว่า หลวงเสนีบริรักษ์ จิตรกรทั้งสองท่านนี้ ต่างก็มีฝีมือที่ทัดเทียมกัน มีลูกศิษย์ถือหางกันคนละมิใช่น้อย

แม้ว่าผู้เขียนจะมิได้มีความรู้เพียงพอที่จะมาแยกแยะถึงความสามารถและความโดดเด่นของฝีมือของจิตรกรเอกแห่งยุค แต่ด้วยความที่เป็นคนรักในศิลปะแบบลายไทยทุกรูปแบบก็เลยใช้เวลาว่างเป็นชั่วโมง เข้าไปเดินชมแต่ละภาพในเช้าวันหนึ่ง สงบ เงียบ ไม่มีผู้ใดอยู่ในพระอุโบสถเลยนอกจากน้องที่นั่งอยู่โต๊ะบริจาคดอกไม้ธูปเทียนตรงระเบียงอุโบสถด้านหน้า

ได้เห็นลายเส้นของภาพที่บางเส้นก็จะเจือจางไปแล้ว แต่บางเส้นก็ยังเห็นรูปทรงโค้งงามที่สียังสดใสอยู่ ภายใต้ภาพที่วาดโดยจิตรกรเอกทั้งสองท่านนั้น มีป้ายติดจากกรมศิลปากรไว้ว่า ห้ามจับ คงจะเตรียมบูรณะ เรื่องการบูรณะหรือวาดทับของเก่านั้น บางท่านก็อาจจะเห็นว่าไม่สมควรไปแตะต้อง แต่สำหรับดิฉันคิดว่าสมควร เพราะเพียงแต่ไปซ่อมแซมลายหรือสีที่สึกหรอไปเพราะกาลเวลา เพื่อไม่ให้ชำรุดทรุดโทรมไปจนแลไม่เห็นความงามเหล่านั้นอีกแล้ว เพราะสมัยก่อนการใช้สีกับอิฐที่นำมาก่อสร้างกำแพงและสภาพดินฟ้าอากาศที่มีความชื้น ทำให้ภาพวาดต่างๆ ไม่คงอยู่นาน

การซ่อมแซมภาพวาดหรือสิ่งแกะสลักในสมัยนี้นั้น มิใช่ว่าจะให้ใครทำก็ได้อยู่แล้ว กรมศิลปากรมีช่างชำนาญการที่ประจำแผนกอยู่มากมาย รวมทั้งวัสดุและวิธีซ่อมแซมนั้นมีวิวัฒนาการที่ทันสมัยกว่าสมัยก่อนมากมาย

การที่ได้เห็นป้ายห้ามแตะต้อง เพราะเตรียมซ่อมแซม ทำให้ดิฉันใจชื้นขึ้นมาที่อย่างน้อยก็มีหน่วยงานที่รับผิดชอบเข้ามาดูแลดำเนินการ เพื่อมิให้สมบัติอันล้ำค่าของชาติต้องสูญสลายหายไปกับกาลเวลา

ดิฉันถ่ายภาพถ่ายจิตรกรรมฝาผนัง ณ วันที่ไปเยี่ยมวัด คือวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๕๗ มาให้ชมกันเทียบกับของเดิมที่ทางวัดมีไว้ จะเห็นภาพด้านประตูทางเข้า เหนือประตูเป็นภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ

ชมภาพเขียนเรื่องทศชาติตอนเนมิราชชาดกของครูทองอยู่ และภาพ “มโหสถชาดก” ของครูคงแป๊ะ เป็นต้น ชมไปปลื้มไปและความเป็นคนชอบจินตนาการ ก็ให้นึกไปถึงความคึกคักของวันเวลาที่ครูๆ ผู้ล้วนแล้วแต่เป็นเลิศในยุค ได้มารวมตัวกันเขียนภาพแข่งขันกัน คงจะเป็นบรรยากาศที่น่าสนุก แต่ละท่านก็คงจะนำศิษย์ก้นกุฎิมาช่วยงานกันมากมาย แน่นอนละว่าก็ต้องเป็นศิษย์ที่มีความสามารถเป็นที่ไว้วางใจของบรรดาครู เพราะนอกจากจะเป็นงานที่สนองพระบัญชาขององค์พระมหากษัตริย์แล้ว การได้มีโอกาสวาดภาพบนฝาผนังพระอุโบสถยังถือว่าเป็นการได้บุญกุศลอันยิ่งใหญ่ด้วย ภาพของการพูดคุย และอาจจะมีการถกเถียงกันประปราย เพราะแต่ละสำนักก็คงจะต้องถือว่าฝ่ายของตัวเป็นเลิศกว่า

จินตนาการไปสักครู่ว่าคงสนุกดีนะช่วงเวลาแห่งการแข่งขันวาดภาพอยู่ดีๆ ก็มีลมพัดพาดผ่านเบา อั๊ยย่ะ ...พอดีกว่า เดี๋ยวจะมีใครมาพาไปย้อนรอยอดีต..ว่าแล้วดิฉันก็ถอยพรวดออกมานอกโบถส์ พบน้องที่เขาดูแลเรื่องดอกไม้บริจาค เตือนว่า “คุณป้าคะ..เขามีแก้บนวิ่งม้าแล้วค่ะ ไปดูไหมคะ”

เฮ้อ..โล่งอก เรายังอยู่ในโลกปัจจุบัน..

แหม..จะไม่ให้สยองนิดๆ ได้ไงล่ะคะ ก็วัดสุวรรณารามเนี่ย มีเรื่องเล่าขานมากมายถึงเหตุการณ์ที่ชาวบ้านได้เห็น “ผีพม่าไม่มีหัว” กันหลายราย ถ้าท่านติดตามเรื่องที่เขียนถึงวัดนี้ตอนแรก ท่านอาจจะจำได้ที่เล่าไปว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนำเชลยพม่าที่ไม่ยอมไปออกทัพตอนทัพพม่าเข้ามาประชิดเมืองพิษณุโลก (ดังที่ได้เล่าไปเมื่อตอนแรกที่พามาชมวัด) มาประหารโดยตัดศีรษะเชลยนับร้อยที่ลานวัดสุวรรณารามแห่งนี้

และอีกหนึ่งในตามตำนานเล่าขานที่น่าจะมีในอนาคต ตั้งแต่เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันคือ พระราชปริยัติเวทีได้ครองวัดสุวรรณารามเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๖ ท่านก็ได้เริ่มโครงการทำนุบำรุงวัดเพิ่มเติม และที่เพิ่งจัดงานใหญ่เสร็จสิ้นไป นั่นก็คือท่านได้รวบรวมศรัทธาของชุมชนและผู้มีจิตเคารพต่อพระเจ้าตากสิน จัดพิธีกรรมเททองหล่อพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเนื่องในปีครบรอบ ๒๔๖ ปี แห่งการปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ โดยมีสาธุชนและประชาชนไปร่วมงานกันอย่างเนืองแน่นเมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ (วันตากสินมหาราช) ซึ่งดิฉันก็ได้ไปร่วมงานด้วย

เจ้าอาวาสท่านเล่าว่าเมื่อครั้งท่านมาครองวัดได้มีญาติโยมได้พาซินแสมาดูวัดว่าสมควรจะปฏิสังขรณ์สิ่งใดดี ซินแสท่านนั้นได้แนะนำให้สร้างอนุสาวรีย์ที่ระลึกถึงพระเจ้าตากสินด้วยเหตุว่าพระองค์เคยเสด็จมาจัดทัพที่วัดแห่งนี้ด้วย

ได้เห็นความศรัทธาที่ชุมชนได้มีต่อพระเจ้าตากสิน ขนาดว่ายันต์และวัตถุมงคลนั้นมีผู้คนเข้าแถวจองล้นหลาม และมีไม่พอต้องสั่งจองกันต่อ หลายๆ คนอยากได้ไว้ในครอบครองเพราะเชื่อว่ายันต์และเหรียญรูปพระองค์ที่ปลุกเสกนั้นจะเป็นเกราะคุ้มกันภยันตรายและจากศัตรูมารทั้งปวง

ก็เป็นความภูมิใจและดีใจที่ดิฉันเองสามารถฝ่าวงล้อมเข้าไปได้เหรียญและผ้ายันต์มาเก็บไว้บูชากับเขาด้วย ถือว่าเป็นที่พึ่งทางใจที่ดี

ไม่เชื่อ อย่าลบหลู่ ใช่ไหมคะ

ขอจบการเล่าขานเรื่องราวของวัดสุวรรณารามไว้ในฉบับนี้ ชมภาพจิตรกรรมฝาผนังมรดกล้ำค่าอีกหลายๆ ชิ้นของชาติ และภาพจากงานพิธีหล่อพระบรมรูปพระเจ้าตากสินค่ะ

ฉบับต่อไปยังขอเกาะติดการไปเที่ยวและไปธุระที่ประเทศไทยเมื่อปลายปีที่แล้วมาเล่าต่อนะคะ ส่วนจะเป็นเรื่องใดนั้น โปรดติดตามค่ะ

ขอบคุณที่เข้ามาอ่านนะคะ พบกันใหม่ฉบับหน้า สวัสดีค่ะ