บันทึกฉบับนี้กลับมารายงานเองหลังจากที่ได้ขอให้ คุณวัลลภ คชินทร นายกสมาคมไทยแคลิฟอร์เนียภาคเหนือ มาร่ายทั้งร้อยกลอนทั้งร้อยแก้วให้ถึงสองฉบับ ขอบคุณมากๆ นะคะ ข่าวว่าตอนนี้แฟนคลับเริ่มเรียกร้องสำนวนสนุกๆ ของคุณวัลลภ หรือ ผู้เฒ่าหัวใจสะออน จากเว็บไซต์สรรพรสดอทคอมกันแล้ว
อ่ะค่ะ..งานนี้กอง บ.ก.ไทยแอลเอน่าจะพิจารณารับนายกท่านนี้ไว้เป็นคอลัมนิสต์ร่วมทีมบ้างนะคะ
ผู้เขียนไปอยู่กรุงเทพฯ ได้สองเดือนแล้ว ได้พบได้เห็นและได้นำเรื่องราวต่างๆ มารายงานให้ได้ทราบหลายเรื่องซึ่งส่วนมากก็จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเที่ยวเมืองไทยเชิงวัฒนธรรม ไปดูดนตรีไทย ดูโขน และดูละครร้อง รวมทั้งไปชอปปิ้งแหล่งใหม่เอเซียทีคที่มีจุดมุ่งหมายจะดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นต้น
มาระยะหลังผู้เขียนต้องหยุดเวลาที่จะเขียนไปดูแลคุณแม่อายุเก้าสิบสาม ซึ่งเพิ่งออกจากโรงพยาบาลก่อนผู้เขียนเดินทางไปถึง จนกระทั่งคุณแม่ออกจากร.พ.ก่อนผู้เขียนเดินทางไปถึงกรุงเทพฯ ไม่กี่วัน ด้วยขวัญและกำลังใจที่ได้เห็นลูกๆ พร้อมหน้าพร้อมตา คุณแม่ก็ดีขึ้น แต่ด้วยอายุที่มาก หัวใจที่ทำงานมานานทำให้ท่านเหนื่อยง่าย เกิดหอบและเท้าบวมรวมทั้งปวดศีรษะ ความดันสูงปรี๊ด เราก็เลยต้องนำท่านไปห้องฉุกเฉินอีกครั้งปลายเดือนกันยายน แพทย์ลงความเห็นว่าหัวใจล้มเหลวและน้ำท่วมปอดจึงแอดมิตให้ท่านนอนโรงพยาบาลอีก บันทึกนี้ไม่ได้ตั้งใจจะนำเรื่องส่วนตัวความเจ็บไข้ได้ป่วยของคุณแม่มาเขียน แต่จากการที่ได้เข้าไปใกล้ชิดดูแลคุณแม่อยู่ที่โรงพยาบาล ทำให้ได้เห็นอะไรและได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุมาเล่าสู่กันฟัง
เพื่อเป็นอุทาหรณ์ และเป็นข้อแนะนำสำหรับพวกเราชาวไทยที่ใช้ชีวิตอยู่อเมริกาเป็นเวลานาน จนถึงเวลาเกษียณอายุ อยากจะกลับไปใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่ประเทศไทย
หากท่านไปในฐานะผู้สูงอายุที่ยังมีสุขภาพดีก็ดีไปแต่หากเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยเข้าโรงพยาบาลและไม่สามารถช่วยตัวเองได้ เราควรจะแสวงหาข้อมูลไว้บ้าง หากในฐานะผู้ป่วยต้องมีคนดูแลตลอดเวลาละก็ในกรุงเทพฯ หาผู้รับจ้างมาดูแลผู้ป่วย (แถมชราอีกด้วย) ยากมากๆ คุณต้องพร้อมที่จะจ่ายเงินแพงๆ ให้กับแรงงานไทย มิฉะนั้นคุณก็จะต้องไปใช้บริการคนต่างด้าวซึ่งเวลานี้ส่วนมากมาจากสองประเทศเพื่อนบ้าน ขออนุญาตไม่เอ่ยชื่อประเทศนะคะ
เพื่อนสนิทของผู้เขียนมีประสบการณ์ใช้บริการแรงงานต่างด้าวบ่อยๆ เพื่อนเล่าว่าจะมีนายหน้านำผู้รับจ้างมาส่ง เรามอบเงินค่านายหน้าให้กับผู้มาส่งแล้วแต่สนนราคาที่เรียก รับรองไม่ต่ำกว่าเจ็ดพันบาท แล้วนายหน้ายังมีความกล้าที่จะบอกให้เราไปหักค่านายหน้าจากเงินเดือนเด็กที่มาทำงาน สรุปเด็กไม่ได้อะไรเท่าไรแต่อยากอยู่ประเทศไทยก็เลยยอมทำงานเหล่านี้ด้วยราคาเดือนละถูกๆ เราก็ต้องดูด้วยนะคะว่าเด็กมีใบอนุญาตทำงานหรือไม่ เด็กเขาจะมีพาสปอร์ตมาให้ดู และเมื่อถึงเวลาต่อใบอนุญาตรู้สึกจะทุกสามเดือนเขาจะไปต่อเองที่เขตที่เขาลงทะเบียน กรุณาจำไว้ว่า คนที่มารับงานจะต้องทำงานอยู่แต่ในเขตที่ทางการ (บ้านเรา) อนุญาตเท่านั้น หากนอกเหนือไปจากนี้ ตัวใครก็ตัวมันล่ะค่ะ ฟังดูคุ้นๆ ไหมคะ ???
และที่เราท่านคิดกันว่ากลับไปใช้ชีวิตประเทศไทยค่าใช้จ่ายกินอยู่ถูกกว่าน่ะ คิดใหม่ก็ได้ค่ะ เพราะว่าหากเราเจ็บป่วย ช่วยตัวเองบ่มิได้ ท่านก็จะบ่มิมีเงินเหลือนะคะ สนนราคาจากศูนย์ส่งคนไปดูแลผู้ป่วยนั้นมีหลายระดับ หากคนที่เรารับมาทำงานจบระดับผู้ช่วยพยาบาลจากโรงพยาบาลเอกชนที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ ค่าบริการจะไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นแปดพันบาท และทำงานหกวันต่ออาทิตย์อีกวันให้เด็กหยุด หากจะจ้างเด็กในวันหยุดของเขา จ่ายพิเศษอีก ครั้งละประมาณห้าร้อยบาท รวมทั้งเราจะต้องเป็นผู้หาอาหารให้เด็กสามมื้อต่อวัน
นั่นเป็นการส่งคนมาดูแลตามบ้าน หากคุณจะต้องเข้าโรงพยาบาลและเลือกห้องพิเศษ เขาจะบอกเลยว่าห้องพิเศษต้องมีคนอยู่ด้วยตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง แปลว่าพยาบาลจะมาดูแลเฉพาะนำยามาให้ หรือมาวัดตัวเพื่อตรวจผลต่างๆ นอกนั้นเขาจะไม่มาดูแลนอกจากจะไปเรียกเขาเวลาฉุกเฉิน ดังนั้นเวลาเราเข้าไปใช้บริการโรงพยาบาล เราก็ต้องจ่ายค่าห้องพิเศษและค่าคนดูแลเราด้วย
ตอนนี้ ใช้บริการจากศูนย์ฯ ให้ส่งพนักงานมาดูแลคุณแม่เริ่มเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยศูนย์นี้คุณน้าของผู้เขียนใช้บริการอยู่ ค่าบริการเดือนละหนึ่งหมื่นบาท ทางศูนย์เรียกเก็บค่าสมาชิก (ไม่ทราบแปลว่าสมาชิกอะไร) อีกหนึ่งพันบาท ทางศูนย์ฯ นำเด็กมาส่งถึงบ้าน พร้อมกระดาษสัญญาให้เราเซ็น และเก็บเงินเดือนก่อนให้พนักงานปฏิบัติงานล่วงหน้าหนึ่งเดือน ที่เราควรพึงระวังคือต้องหาศูนย์ฯ ที่เป็นที่รู้จักและวางใจได้ ภรรยาของน้องชายประสบการโดนโกงมาแล้ว คือเด็กมาอยู่ได้สามวันแล้วหนีไป ทางศูนย์ฯ ไม่รับผิดชอบ (ได้ไงไม่รู้) เสียเงินไปฟรีๆ หนึ่งเดือน ดังนั้นก่อนจะตกลงใจเลือกศูนย์ฯ ใดก็ไต่ถามดูคนที่เคยใช้บริการดูก่อนหลายๆ แห่งนะคะ
อย่างไรก็ดีการใช้บริการศูนย์ฯ ไปก่อนระหว่างที่เรายังหาคนมารับจ้างประจำไม่ได้ก็เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด โล่งอกโล่งใจ คราวนี้ก็เตรียมแพคกระเป๋ากลับคอนโดพักผ่อน และจะผจญเรื่องใดต่อไปในการเดินทางไปพักผ่อนประเทศไทยในคราวนี้ โปรดติดตามนะคะ
ขอปิดคอลัมน์ด้วยข่าวสังคมกิจกรรมจากซานฟรานซิสโกเบย์แอเรีย
สมาคมกอล์ฟไทย-อเมริกันแห่งนครซานฟรานซิสโก ได้จัดการแข่งขันกอล์ฟชิงถ้วยพระราชทานของสมเด็จพระเทพฯ รายการ “Princess Maha Charkri Sirindhorn Cup" ซึ่งปีนี้ได้จัดขี้นเป็นครั้งที่ 12 ณ Chardonney Golf Club เมือง Napa รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 7 กันยายน ที่ผ่านมา โดยมีนักกอล์ฟชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้าร่วมการแข่งขันมากพอสมควร บรรยากาศเต็มไปด้วยความสนุกสนาน ความรักและความสามัคคี (หลังการแข่งขันนักกีฬาร่วมฉลองกันที่ร้าน The Bird & Bee Thai Restaurant)
ขอบคุณ คุณเกศกนก รัตตกูล เลขาคนสวยและคนขยันของสมาคมกอล์ฟ สำหรับรายงานและภาพค่ะ ภาพประจำฉบับนี้ชมภาพกิจกรรมกีฬากอล์ฟค่ะ
พบกันใหม่ฉบับหน้านะคะ