บันทึกจากเบย์แอเรีย
เพ็ญวิภา โสภาภันฑ์



เที่ยวเมืองไทยปี พ.ศ. 2555
ตอนตะลอนโรงพยาบาล ตอบจบ

สำหรับท่านที่ได้ติดตามอ่านเรื่องราวที่ดิฉันได้ไปพบเห็นจากการพาคุณแม่ไปเข้าโรงพยาบาลในแง่มุมที่ผู้อ่านบางท่านที่อยู่ในอเมริกาอาจจะไม่เคยทราบ และได้รับความสนใจไต่ถามจากเพื่อนฝูงที่ได้พบเมื่อดิฉันกลับมาถึงเบย์แอเรียนั้น ฉบับนี้คงจะขอเล่าเป็นตอนสุดท้ายเพราะว่าการเขียนอะไรยาวๆ ถึงเรื่องที่ไม่น่าบันเทิงใจนั้นคงจะไม่ได้รับความสนใจนานนัก

คราวที่แล้วดิฉันได้เกริ่นท้ายบทเขียนว่า มีเรื่องพิเศษที่ไม่พิเศษกับห้องในโรงพยาบาลเละเหตุการณ์ชวนระทึกนั้น ต้องขออภัยที่คงจะไม่นำมาเล่าสู่กันฟังได้เสียแล้วเพราะว่าเจ้าของไข้คือคุณแม่ท่านไม่ต้องการให้นำมาเล่าต่อ ค่ะ..ขอเคารพเจ้าของเรื่องนะคะ

ตัดตอนมาตรงที่ได้นำคุณแม่เข้ารับการรักษาสภาวะน้ำท่วมปอดในห้องพิเศษ ที่ไม่น่าจะพิเศษอะไรมากมายนอกเสียจากว่าเราได้ห้องส่วนตั๊วส่วนตัว ที่แสนจะเงียบสงัดปราศจากการรบกวนจากผู้อื่น มีห้องน้ำมีโทรทัศน์มีตู้เย็นมีอ่างล้างจานอยู่ด้านนอกชาน ช้อมส้อม โอเคตรงนี้ ตรงที่ไม่โอเคคือ เขาปล่อยเราให้คนที่มาเฝ้าดูแลในเกือบทุกเรื่องที่ไม่ใช่ด้านการตรวจร่างกาย เช่น เจาะเลือดวัดความดันวัดชีพจรและนำยามาให้ ส่วนเรื่องอื่นนั้นหรือคะ จัดการเอาเองก็เธอมีคนมาดูแลแล้ว

เราต้องนำผ้าอ้อมออกไปชั่งที่ห้องพยาบาลเพื่อจะได้ทราบว่าปัสสาวะออกมาจำนวนเท่าไร เปลี่ยนผ้าอ้อมและเช็ดตัวผู้ป่วยเอง พาผู้ป่วยไปห้องน้ำเองถ้าผู้ป่วยลุกได้ ป้อนอาหารผู้ป่วยเอาเอง พยาบาลจะเข้ามาเมื่อถึงเวลาให้ยา นำยามาวางบนโต๊ะแล้วบอก คุณยายทานยานะ วางยาแล้วก็ผลุบออกไปจากห้อง (อย่างรวดเร็ว) ไม่มีการคุยการทักทาย บางครั้งมีคำถามคุณแม่ต้องกดเรียก เช่นวันนี้อยากถามคุณหมอ ท่านจะเข้ามาตรวจตอนไหน คำตอบคือ ไม่ทราบค่ะ ส่วนมากจะมาเช้า อยากพบหมอต้องเข้ามารอแต่เช้านะคะ ว่าแล้วก็เดินออกไป บังเอิญมีบางช่วงที่คุณแม่เขากลัว (อะไรบางอย่าง) เราก็ไปบอกพยาบาลให้มาปลอบแกหน่อย เขาก็มาให้บ้างปลอบมั่ง ทำเสียงดุๆ มั่งว่าไม่มีอะไรหรอกคุณยาย คุณยายคงจะเหนื่อยและหูตาพร่าพรายไปบ้างเพราะไม่สบาย อะไรประมาณนี้ดังนั้นคนที่มาดูแลอยู่ด้วยคือคนที่จะรับหน้าที่ปลอบโยนกันไปให้คนไข้สบายใจ หลังจากที่เขาจัดการเอาน้ำออกจากปอดได้จนดูว่าคนไข้โอเคแล้ว เขาก็จะให้กลับไปบ้าน ให้ยาแล้วก็สั่งเหมือนเดิมคือมีอาการหอบ เท้าบวม ก็นำกลับไปอีก

ครั้งต่อมาไม่กี่อาทิตย์คุณแม่ก็กลับเข้าไปโรงพยาบาลอีกด้วยอาการเดิม คราวนี้พวกเรารวมทั้่งคุณแม่ด้วย ยืนยันเสียงแข็ง ขอห้องสามัญ จะลองดูว่ามันต่างกันมากแค่ใด ปรากฏว่าการที่ให้ท่านไปอยู่ห้องสามัญกลับเป็นประสบการณ์ที่ดีกว่า แม้ว่าเตียงคนไข้จะติดๆ กัน แต่ก็โอเคนะคะ เพราะคนไข้ในวอร์ดนี้เป็นวอร์ดอายุรกรรม ไม่ได้มีใครเป็นโรคติดต่ออะไร แม้จะเป็นภาพที่สลดใจอยู่มากที่ได้เห็นผู้สูงอายุในสภาพที่เจ็บป่วยเช่นนั้น

แต่สิ่งดีก็คือในห้องนี้พยาบาลและผู้ช่วยพยาบาลเดินกันขวักไขว่ตลอดเวลา ห้องทำงานพยาบาลจะอยู่ในนี้เลยเปิดกระจกหันหน้าเข้าคนไข้ และเดินหาคนไข้ตลอด พูดจาก็ดีทักทายคนไข้ด้วยน้ำเสียงที่ดี ที่นี่เขาไม่ให้ญาติอยู่เกินสองทุ่มและเข้าเยี่ยมได้เที่ยงวัน นอกนั้นเป็นหน้าที่แพทย์และพยาบาลที่จะดูแลผู้ป่วย พยาบาลผลัดเปลี่ยนกันเช็ดตัวและเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ไม่ได้ใช้เราให้ทำ ทั้งๆ ที่เราก็ยืนอยู่ตรงนั้น (ดีจัง) แต่หากญาติประสงค์จะจ้างผู้ช่วยพยาบาลอยู่ข้างๆ คนไข้ช่วงหลังสองทุ่มก็สามารถจ้างผู้ช่วยพยาบาลได้ด้วยสนนราคาที่ไม่แพงนัก ซึ่งทางเราก็ใช้บริการนี้ให้มีผู้ช่วยพยาบาลอยู่เคียงข้างท่านตลอดทั้งคืน กลายเป็นว่าคุณแม่ดีใจที่เราให้ท่านมาอยู่ในที่นี่ ท่านพอใจในบริการนี้และอีกครั้งที่ท่านต้องเข้าร.พ. เราก็ให้ท่านอยู่ห้องสามัญอีก ข้อเสียก็มีล่ะค่ะ เช่นห้องนี้เตียงจะไม่ค่อยว่าง อยู่ได้ไม่นานพอคนไข้เริ่มดีเขาก็ให้กลับ

อ้อ..และห้องนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ของแพทย์ฝึกหัดและพยาบาลฝึกหัด ทำให้ตลอดทั้งวันเขาจะมาคุยและดูแลคนไข้ ดิฉันได้พบแพทย์และพยาบาลหลายคนที่เป็นแพทย์เจ้าของไข้คุณแม่ ซึ่งเราสามารถซักถามอาการคุณแม่และคุณหมอก็เอาใจใส่ซักถามเรื่องของคุณแม่รวมทั้งให้คำแนะนำและอธิบายถึงสาเหตุเจ็บป่วยของคุณแม่รวมทั้งเมื่อกลับบ้านแล้วควรดูแลอย่างไรโดยละเอียด ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม เป็นอันว่าจบลงด้วยดีในการใช้บริการห้องสามัญ บริการดีกว่า แม้การเยี่ยมคุยกับคนไข้ไม่เป็นส่วนตัวนัก ราคาถูกกว่า (สำหรับคุณแม่เป็นข้าราชการบำนาญก็เลยเบิกได้หมด)

ดิฉันคงจะจบการเล่าเรื่องซีรี่ส์ตามคุณแม่ไปโรงพยาบาลไปเพียงเท่านี้ก่อนนะคะ รายละเอียดบางเรื่องจะเล่ามากกว่านี้ก็ไม่ได้ค่ะ หวังว่าเรื่องราวที่เล่าสู่กันฟังนี้คงจะพอจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านบ้างไม่มากก็น้อยนะคะ จริงๆ แล้วดิฉันเป็นคนชอบเขียนเรื่องยาวๆ แต่เนื้อที่มิได้มีมากมาย มีข่าวกิจกรรมอื่นๆ ที่จะมาบันทึกหลายรายการค่ะ หากมีแง่มุมใดที่ผู้อ่านสนใจเขียนไปถามกันได้นะคะ ส่งคำถามผ่านคุณนิดที่หนังสือพิมพ์ไทยแอลเอนี้ น้องเขาจะส่งข้อความต่อให้ดิฉันค่ะ

จบคอลัมน์นี้ลงด้วยภาพที่เป็นกิจกรรมสังคมในเบย์แอเรียที่ได้รับรายงานมาค้างอยู่ในแฟ้มมากมาย ที่ต้องขอชื่นชมสองรายการคืองานแรก งานทำบุญของสมาคมไทยอิสานนานาชาติที่ต้องปิดสมาคมลงมติปิดสมาคมลงไปด้วยเหตุที่ขาดผู้บริหารที่จะดำเนินงาน สมาชิกสมาคมได้นำเงินที่เหลือในบัญชีที่ได้รับบริจาคจากสมาชิก และผู้มีศรัทธาที่เหลือจากจ่ายค่าทนายความทำเอกสารปิดสมาคม เป็นจำนวนเงิน $4,233.76 ทางคณะกรรมการได้มีมติถวายเงินทั้งหมดนี้ให้กับสามวัดคือ วัดมงคลรัตนาราม เบิร์คเล่ย์ $1411 วัดไชยมงคล แฟร์ฟิลค์ $1411 และวัดพุทธานุสรณ์ ฟรีมอนต์ $1411 ขออนุโมทนาสาธุ ณ ที่นี้ด้วย

และอีกรายการที่ขอนำมาบันทึกเพื่อให้กำลังใจกันเพราะก่อนเดินทางไปประเทศไทยดิฉันได้พบ ครูตุ้ย-ศุภโชค และครูเล็ก-วลัยพิศ พงศธนานนท์ ครูดนตรีของวัดมงคลรัตนาราม ทั้งสองบอกดิฉันว่ากำลังอยากจะหาธุรกิจของตัวเองทำในเบย์แอเรีย เพียงหกเดือน กลับมาถึงเบย์แอเรีย ครูเขาเปิดบิซิเนสได้จริงๆ และกำลังไปได้ดี เป็น Food Truck ขายอาหารไทย ชื่อว่า BaiTong Thai Food Truck จอดขายอยู่ในเมือง Richmond และ San Pablo ถือว่าเป็นบิซิเนสขายอาหารไทยอีกแนวหนึ่ง ไม่ต้องมีร้านใช้รถเป็นร้านเคลื่อนที่ ใครมีความอดทนทำมาหากินและประสบความสำเร็จคอลัมน์นี้ขอสนับสนุนค่า...

ชมภาพกิจกรรมสังสรรค์วันตรุษจีนที่ร้านนิวกรุงไทย ซานโฮเซ่ และวันเกิดเพื่อนรักสองคนที่ดิฉันรู้จักมายาวนานนับเจ็ดสิบเอ๊ยสามสิบปี สุวัฒนา วรรณรักษ์ และ สายสุนีย์ สุขกสิกร ค่ะ


พบกันใหม่ฉบับหน้าค่ะ
รายงาน February 16, 2013