บันทึกจากเบย์แอเรีย
เพ็ญวิภา โสภาภันฑ์



เที่ยวไทย ฤดูหนาว ๒๕๕๗ (ต่อ)
ตอน ไปชมงานนิทรรศการสมขัตติยนารีแห่งสยาม
ของมูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา

๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๗ ไปเยี่ยมคารวะ คุณอา มารศรี สนิทวงศ์ ฯ คุณอาท่านปีนี้อายุแปดสิบแล้วแต่ยังแข็งแรงสดใส และชอบเที่ยว พอเห็นหลานมาเยี่ยมก็ดีอกดีใจ บอกว่าแมวมาในจังหวะที่ดีมาก อาอยากจะพาไปชมนิทรรศการที่วังรื่นฤดี ที่ปกติแล้วเราจะหาโอกาสเข้าไปชมสถานที่นี้ได้ยากมาก

“อาไปชมมาแล้วและเห็นว่าแมวคงจะชอบแน่ๆ เห็นสนใจประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมของไทยมาก”

คุณอาและน้องสาวสู้พาดิฉันไปชมนิทรรศการทั้งๆ ที่ไปกันมาแล้ว แต่ความที่คุณอาท่านอยากให้หลานได้เข้าไปชมก็เลยไปอีกทั้งๆ ที่เพิ่งไปมา แน่นอนว่าดิฉันได้รีบตอบรับทันที ทั้งๆ ที่ช่วงบ่ายมีนัดสำคัญเหมือนกัน แต่คำว่า “นิทรรศการที่วังรื่นฤดี” นั้นดึงความสนใจไปหมดใจ เพราะว่า ชื่อของวังนี้ สำหรับคนที่มีใจผูกพันรักเรื่องราวของราชวงศ์ไทยมาแต่เป็นสาว ย่อมต้องเกิดความปรีดาที่จะได้ก้าวเท้าไปสัมผัสกับ วัง ของ “เจ้าฟ้าเพชรรัตน์” สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ที่คุณแม่ดิฉันเล่าให้ฟังเสมอๆ ว่าพระองค์ท่านทรงเป็นเจ้านายสตรีที่ทรงประกอบพระกรณียกิจน้อยใหญ่เพื่อประโยชน์แก่สังคมไทยมากมาย

บ้านของคุณอาอยู่ไม่ไกลจากวังรื่นฤดี ในซอยสันติสุข สุขุมวิท ๓๘ เราจึงไปถึงได้ด้วยเวลารวดเร็ว แม้ว่าวังของพระองค์ท่านจะอยู่ในซอยและมีบ้านช่องอยู่รอบข้าง ทว่ารั้ววังของท่านก็อยู่ในเขตที่ดูจะสงบ ไม่วุ่นวายเหมือนซอยสุขุมวิทบางซอย ที่จอดรถก็หาไม่ยากนัก เมื่อน้องหาที่จอดรถได้โดยไม่มีปัญหามาก เราอาหลานและน้องก็พาก็เดินเข้าประตูวังที่เปิดอ้าไว้ต้อนรับแขกผู้มาเยี่ยมชมนิทรรศการที่ต่างก็ทยอยกันเข้ามาไม่ขาดสาย จะเป็นเพราะวันนั้นเป็นวันสุดท้ายหรือว่าแน่นทุกวันก็มิทราบได้

เมื่อเข้าไปถึงด่านแรกซ้ายมือของประตู ก็จะเป็นอาคารที่มีเจ้าหน้าที่ตั้งโต๊ะให้เราลงทะเบียน และให้เบอร์คิวที่จะเข้าไปในตำหนักที่สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ เคยประทับ ซึ่งเป็นสถานที่แสดงนิทรรศการนี้

ผู้เขียนรับบัตรคิว ที่เจ้าหน้าที่ชี้แจงว่าจะเป็นคิวกรุ๊ปที่จะเข้าไปชมนิทรรศการโดยเมื่อถึงเวลาที่ลงไว้ในบัตรเขาจะเรียกชื่อและจะมีไกด์มัคคุเทศน์มานำทัวร์ซึ่งจะเข้าไปกรุ๊ปละสิบท่าน และให้เดินตามทางที่มัคคุเทศน์นำเท่านั้น ห้ามแตกแถว ห้ามแตะต้องของที่นำออกมาแสดงให้ชม และห้ามถ่ายภาพข้างในตำหนัก ระยะเวลานำชมนิทรรศการประมาณยี่สิบนาที

ชื่อของนิทรรศการคือ “สามขัตติยนารีแห่งสยาม : ทรงสร้างเพื่อประโยชน์สุขของคนไทย”” โดย มูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา โดยนิทรรศการนี้มีวัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และพระกรุณาธิคุณของเจ้านายสตรีผู้วางรากฐานการสร้างคุณค่าให้กับสตรีไทยมาตั้งแต่อดีต อันได้แก่ สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และเนื่องในโอกาสที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) มีมติให้ประกาศราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณ ยกย่องให้ สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ทั้งนี้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาตนเองและจิตสำนึกเพื่อประเทศชาติ ให้กับนักเรียน นักศึกษา ตลอดจนประชาชนผู้เข้าชมงาน และทางมูลนิธิได้ตั้งความหวังไว้ว่า ผู้ที่ไปร่วมชมนิทรรศการ จะได้อิ่มเอมกับความรู้ทางประวัติศาสตร์ การจุดประกายความคิด การพัฒนาตนเอง ตลอดจนสามารถนำเอาสิ่งที่ได้จากนิทรรศการครั้งนี้ไปพัฒนาประเทศชาติ และสังคมต่อไปในอนาคต

ดิฉันและคุณอารอกันอยู่สิบห้านาทีก็ถึงคิวของเราได้เข้าชมนิทรรศการซึ่งอยู่บนตำหนักที่เคยประทับ และก็ได้เห็นสิ่งประทับใจด่านแรกก็คือ ยุววิทยากรที่เป็นนักเรียนจากโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย และโรงเรียนราชินี มาเป็นผู้บรรยาย ด่านที่สองคือพระบรมสาทิศลักษณ์ของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ สง่างามยิ่งนัก เป็นบุญตาที่ได้เห็นภาพนี้ ในห้องโถงหรือท้องพระโรงบนพระตำหนักที่แสดงนิทรรศการแบ่งออกเป็นสามส่วน

ส่วนที่ ๑ ที่ยุววิทยากรพากรุ๊ปเราชมและอธิบายเป็นส่วนที่เล่าถึงพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ และเครื่องประดับชิ้นสำคัญๆ ที่ในชีวิตนี้หากไม่ได้เข้าชมงานวันนั้น ดิฉันคงไม่มีโอกาสจะได้เห็น โดยเฉพาะ เหรียญแฟเบร์เช่ ที่สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถทรงพระราชทานให้แก่ข้าราชบริพารที่ถวายงานเป็นการขอบคุณเมื่อครั้งที่ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะประพาสยุโรป และเหรียญเฉลิมพระชนมพรรษา ๕๐ พรรษา หรือที่เรียกกันว่า “เหรียญหมูเสาวภา” ที่พระราชทานให้แก่พระสหายที่เกิดในปีกุล

และที่ผ้าพาดพระอังสะ “ผ้าทรงสะพัก” งดงามด้วยฝีมือปราณีตของชาววังที่มีอายุกว่าร้อยปี ยังมองดูเหมือนของใหม่ซึ่งแสดงว่าของชิ้นนี้ได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างดีเยี่ยม สวยจริงๆ ค่ะท่านผู้อ่าน

ส่วนที ๒ เป็นเรื่องราวพระประวัติและพระกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ซึ่งมุมนี้จะมีน้องจากโรงเรียนวชิราวุธผลัดกันมาบรรเลงเปียโนด้วยเพลงเพราะๆ ให้ได้ฟังกัน

ตรงส่วนนี้มีเครื่องประดับประกอบนิทรรศการสำคัญๆ ที่จะได้อยู่สามชิ้น เช่น เหรียญรัตนาภรณ์ ชั้น ๑ รัชกาลที่ ๖ รัชกาลที่ ๗ และรัชกาลปัจจุบัน รวามทั้งที่น่าสนใจและเป็นความรู้เพิ่มก็คือ เพิ่งได้ทราบว่า สมเด็จเจ้าฟ้าฯท่านมีงานอดิเรกที่ทรงโปรดนั่นก็คือถักนิตติ้ง ได้มีการนำนิตติ้งที่ทรงถักค้างไว้ก่อนจะสิ้นพระชนม์เป็นผ้าไหมพรมสีเขียว ซึ่งน้องวิทยากรได้อธิบายว่า เพราะท่านทรงถักเพื่อมอบให้แก่ทหารและตำรวจตระเวนชายแดน

ส่วนที่ ๓ “สร้อยมุกที่หายไปกับลมหายใจเพื่อผู้อื่น”

ตรงนี้จะเล่าถึงพระประวัติและพระกรณียกิจของพระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ ๖ มีของสำคัญชิ้นหนึ่งที่นำมาแสดง ก็คือสร้อยไข่มุกพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ น้องยุววิทยากร เล่าให้ฟังว่า เป็นเครื่องประดับชิ้นสำคัญที่บอกเรื่องราวในฐานะของ “แม่” ผู้มีความอดทนอุตสาหะ และความเฉลียวฉลาดในการรับมือกับทุกสถานการณ์ที่ผ่านมาในชีวิต ไข่มุกที่ถูกนำออกทีละเม็ดจากสร้อยเส้นยาว ทรงใช้ในการดูแลพระราชธิดา เป็นทุนทรัพย์เพื่อแสวงหาความรู้ที่จะดำรงพระเกียรติของพระราชธิดาและพระองค์เอง

ก็เป็นอันจบสามโซนของนิทรรศการ โดยยุววิทยากรนำเราเข้ามายังห้องเสวยซึ่งจัดวางภาชนะไว้เสมือนเมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าฯยังทรงมี่พระชนม์อยู่ พร้อมทั้งคำอธิบายว่าพระองค์ทรงมีพระจริยาวัตรที่เรียบง่าย ทรงโปรดอาหารไทยเป็นอย่างยิ่ง

จบการเข้าชมในพระตำหนักเพียงตรงนี้ จากนั้นยุววิทยากรก็เปิดประตูกระจกด้านข้างห้องเสวยให้ผู้ชมออกมาทางระเบียงด้านหลังซึ่งเป็นสนามสวนกว้างใหญ่ และเคยใช้เป็นที่จัดงานเดินแฟชั่นโชว์การกุศลในยุคแรกๆ ของไทยมาก่อน

น้องยุววิทยากรต่อท้ายให้ฟังก่อนจบ (จริงๆ) ว่า หลังเสร็จงานพระชนนี (พระนางเจ้าสุวัทนา) จะทรงพระดำเนินสำรวจไปทั่วๆ วัง ในพระหัตถ์จะทรงหิ้วกระป๋องทราย คอยก้มหยอดอุดรูตามพื้นสนาม เพราะแขกมากันย่ำสนามทั้งส้นรองเท้า และขาโต๊ะ ขาเก้าอี้ ที่ตั้งในงาน จะทำให้พื้นสนามหญ้าเป็นพรุน แต่ก็มิได้ทรงถือสา

อ้อ..แถมอีกนิดค่ะ น้องวิทยากรเล่าว่าสระน้ำที่เราเห็นอยู่ด้านข้างสนามนั้นหากมองมาจากข้างบนจะเห็นว่าสร้างเป็นรูปแผนที่ประเทศไทย ค่ะ..น่าสนใจนะคะ

ก็เป็นอันว่าเสร็จสิ้นการเข้าชมในวันนั้น ดิฉัน คุณอา และน้อง ไปรับกระเป๋าและสัมภาระคืนจากโต๊ะที่อยู่ด้านข้างของตำหนัก (ไม่อนุญาตให้นำสิ่งใดๆ เข้าไป) คราวนี้ก็ถึงเวลาเก็บภาพที่ระลึกก่อนเราจะกลับออกมาจากวัง ด้วยความอิ่มเอิบใจ และซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของ “สามขัตติยารีแห่งสยาม”ที่ทรงสร้างเพื่อประโยชน์สุขของคนไทย เป็นอย่างยิ่ง

ดีใจที่ดิฉันได้ไปเที่ยวประเทศไทยในช่วงที่มีนิทรรศการดีๆ เช่นนี้ ถือว่าคุ้มค่าเป็นอย่างยิ่ง และเมื่อได้ไปพบเห็นสิ่งที่ดีๆ มีคุณค่า น่าสนใจ ดิฉันก็ย่อมอดไม่ได้ที่จะนำมาเล่าสู่กันฟัง และหากการเขียนบทความนี้จะมีคำผิดพลาดใดๆ ในการใช้ราชาศัพท์ ดิฉันก็ต้องขออภัยผู้รู้ไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะคะ ว่ามิได้เกิดจากเจตนาใดๆ นอกจากจะถ่ายทอดความรู้สึกภูมิใจ และปลื้มใจ ที่ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมนิทรรศการนี้ในวังรื่นฤดีในวันนั้น

เสียดายที่ไม่สามารถนำภาพภายในนิทรรศการมาให้ชมกันได้ เพราะเขาห้ามนำกล้องเข้าไป แต่หากท่านใดสนใจอยากจะเห็นภาพที่บรรยาย ท่านก็จะสามารถเข้าไปชมได้ตามหนังสือพิมพ์ที่ออกในประเทศไทยนะคะ ดิฉันส่งลิงก์มาให้ดูจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐก็แล้วกันนะคะ

คลิกไปชมที่ http://www.thairath.co.th/content/468313 มีภาพที่ดิฉันบรรยายให้ชมชัดเจนทีเดียวค่ะ


พบกันใหม่ฉบับหน้า สวัสดีค่ะ