บันทึกจากเบย์แอเรีย
เพ็ญวิภา โสภาภันฑ์



นมัสการ “พระศาสดา” ตอน ๒

ฉบับที่แล้วดิฉันได้นำเสนอเรื่องของวัดสุวรรณาราม โดยจั่วหัวเรื่องไว้ว่าจะพาไปนมัสการพระศาสดา พระประธานวัดสุวรรณาราม ราชวรวิหาร เขตบางกอกน้อย โดยได้เริ่มบันทึกด้วยการแนะนำให้ผู้อ่านได้รู้จักประวัติวัดสุวรรณาราม ความเป็นมา ความสำคัญ อย่างไร ซึ่งวัดสุวรรณารามฯ นี้ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนวัดสุวรรณเป็นโบราณสถานเมื่อปี 2492

ทว่ามีเหตุการณ์ด่วนเกิดขึ้นกับวัดสุวรรณาราม หลังบันทึกฉบับที่แล้วออกสู่สายตาผู้อ่านได้ไม่กี่วัน ทางวัดก็เกิดเหุตการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นนั่นก็คือ เมื่อวันอาทิตย์ ที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา เกิดเหตุไฟไหม้กุฏิไม้ที่ติดกับริมแม่น้ำที่มีอายุร้อยกว่าปี ซึ่งทำให้กุฏิไหม้ไปถึงสามหลัง ทำความตื่นตระหนกให้กับชุมชนและผู้มีจิตผูกพันและศรัทธาต่อวัดเป็นอย่างยิ่ง โดยต่างก็เกรงว่าพระอารามหลวงชั้นโทแห่งนี้จะเสียหายมากมายและพระเณรที่จำวัดอยู่นั้นจะเป็นอันตรายหรือไม่อย่างไร เพราะเป็นวัดที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากร หลังเกิดเหตุ คุณอนันต์ ชูโชติ รองอธิบดีกรมศิลปากร พร้อมด้วยนายธราพงศ์ ศรีสุชาติ ผู้อำนวยการสำนักโบราณคดี ลงพื้นที่เข้าตรวจสอบความเสียหายภายในวัดและได้เปิดเผยว่า

ทั้ง 3 กุฏิมีความเสียหายทั้งหมดและคงต้องรื้อถอน เนื่องจากตัวโครงสร้างทุกส่วนพังหมดแล้ว ที่ผ่านมากรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนวัดสุวรรณเป็นโบราณสถานเมื่อปี 2492 ซึ่งรวมไปถึงกุฏิเก่าที่ถูกไฟไหม้ทั้งหมดด้วย หลังจากนี้ ต้องรอให้วัดและเจ้าหน้าที่ตำรวจพิสูจน์หลักฐานให้แล้วเสร็จก่อน จากนั้นทางวัดจะให้สำนักงานเขตบางกอกน้อยเข้าทำความสะอาด นอกจากนี้คุณอนันต์ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนกรมศิลปากรก็เข้าไปดำเนินการก่อสร้างกุฏิใหม่ อย่างไรก็ตาม นับว่าเป็นความโชคดีอย่างหนึ่ง เพราะก่อนหน้านี้กรมศิลปากรมอบให้สำนักโบราณคดีทำแผนบูรณะวัดสุวรรณแล้ว โดยได้สำรวจแบบและถ่ายภาพเพื่อบูรณะไว้แล้ว หลังจากนี้ ก็จะเร่งนำแบบที่ได้ออกแบบไว้มาตรวจสอบใหม่ หากเห็นว่าส่วนไหนไม่สมบูรณ์ ก็จะออกแบบใหม่และดำเนินการของบประมาณบูรณะ

ด้านพระราชปริยัติเวที เจ้าอาวาสวัดสุวรรณ กล่าวว่า กุฏิทั้ง 3 หลังมีสภาพค่อนข้างทรุดโทรม คาดว่าสายไฟภายในน่าจะหมดสภาพลง จึงอาจเป็นต้นเหตุให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร

ก็ขอแสดงความเสียดาย และเสียใจต่อเหตุการณ์ไฟใหม้ในครั้งนี้ด้วย และหวังว่าทางราชการและทางวัดจะได้ช่วยกันบูรณะสิ่งก่อสร้างที่เสียหายไปกลับคืนมาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าต่อไปนะคะ

กลับมาบันทึกเรื่องราวของการไปนมัสการพระประธาน พระศาสดา และเที่ยววัดสุวรรณารามฯต่อจากฉบับที่แล้วกันต่อค่ะ


วัดสุวรรณหลังรัชกาลที่ ๑

การบูรณะวัดสุวรรณเริ่มอีกครั้งในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระองค์ได้ขยายเขตุวัดให้กว้างขึ้นไปอีก แลโปรดเกล้าให้สร้างกุฏิในเพิ่มขึ้น และในครั้งนั้นได้โปรดเกล้าให้ช่างเขียนภาพฝาผนังในพระอุโบสถ โดยมีจิตกรเอกสมัยนั้นมาร่วมเขียนกันคับคั่ง อาทิ ครูทองอยู่ หรือ หลวงวิจิตรเจษฏา และ อาจารย์คงแป๊ะ หรือ หลวงเสนีบริรักษ์ เป็นต้น เรื่องเกี่ยวกับจิตกรรมฝาผนังนี้จะขอลงบันทึกฉบับหน้านะคะ ฉบับนี้ขอข้ามไปเล่าถึงพระประธาน “พระศาสดา” ก่อนค่ะ

หลวงพ่อศาสดา

พระอารามหลวงแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ “หลวงพ่อศาสดา” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สูงถึงพระรัศมี ๘ ศอก ๑ คืบ ๘ นิ้ว หน้าตักกว้าง ๖ ศอก ๑ คืบ พระพุทธรูปองค์นี้ สมเด็จกรมพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานไว้ในหนังสือตำนานพระพุทธรูปสำคัญว่า

พระพุทธรูปองค์นี้ ไม่ปรากฏเรื่องราวแต่พิจารณาลักษณะพระพุทธรูป เห็นว่าเป็นฝีมือเดียวกับช่างที่หล่อพระศรีศากยมุนี (วัดสุทัศน์) จึงสันนิษฐานว่า จะเชิญมาแต่กรุงสุโขทัย ในสมัยรัชกาลที่ ๑

นอกเหนือจากเป็นพระประธานที่สร้างมาก่อนสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นพระพุทธรูปที่มีความงดงาม เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านแล้ว ยังเป็นที่พึ่งทางใจของผู้ที่เชื่อว่าพระศาสดานั้นศักดิ์สิทธิ์ขอพรใดก็มักจะสัมฤทธิ์ผลโดยเฉพาะในเรื่องของการขอพรไม่ให้โดนเกณฑ์ทหาร และเมื่อขอพรได้สำเร็จก็จะตามมาด้วยการเซ่นไหว้ด้วยของที่เชื่อว่า “ถูกใจ” องค์พระประธาน


“วิ่งม้า””แก้บน ประเพณียอดนิยม

ชาวบ้านเล่าว่าการวิ่งม้าแก้บนเป็นความเชื่อที่สืบทอดกันมาของชาวบ้านชุมชนวัดสุวรรณฯอันเกิดจากความเคารพศรัทธาที่มีต่อหลวงพ่อศาสดา โดยตำนานจะเริ่มมาอย่างไรไม่แน่ชัด แต่ลือกันว่าหากใครไม่อยากให้บุตรหลานที่อยู่ในเกณฑ์ทหารต้องโดนเกณฑ์ หรือจับได้ใบแดงละก็ องค์พระประธานวัดสุวรรณนี่แหละ ท่าน "เอาอยู่"..เอ๊ย..ช่วยได้นะ

หลวงพ่อท่านชอบดู “วิ่งม้า” ก็คงคล้ายๆ กับละครรำแก้บนนั่นแหละค่ะ สุดแท้แต่ (ชาวชุมชน) จะมาบอกเราว่า ผู้ที่เราศรัทธากราบไหว้ จะ “โปรดของขวัญ” ชนิดใด

เอาล่ะค่ะ ชุมชนวัดสุวรรณประกาศก้องว่า “หลวงพ่อ” ของพวกเขา “โปรด” ม้าวิ่ง หากใครบนบานสำเร็จก็จะนำ “วิ่งม้า” โชว์มาให้ท่านได้ชม

ในอดีตการแก้บนวิ่งด้วยม้าก้านกล้วย แต่ปัจจุบันใช้ผ้าขาวม้าแทน การวิ่งม้าที่วัดสุวรรณฯ นี้ส่วนใหญ่เป็นการบนบานเพื่อไม่ให้ถูกเกณฑ์ทหาร ตลอดจนบนให้ประสบความสำเร็จในด้านอื่นๆ โดยมีข้อห้ามมิให้พูดคำว่า “ขอ” เป็นอันขาด


วิธีการ "วิ่งม้า" แก้บนหลวงพ่อ

สถานที่ทำการแก้บน จะเริ่มที่ใบเสมาแรกทางด้านหน้าของพระอุโบสถ ด้วยเหตุที่ว่าตั้งอยู่ตรงตำแหน่งที่ตรงกับหลวงพ่อศาสดา ก่อนที่จะเริ่มพิธีการวิ่งม้า คนวิ่งม้าจะนำผ้าขาวม้ามาวางตรงหน้าใบเสมาและต้องขมวดปมให้เรียบร้อย เมื่อพร้อมแล้วคนวิ่งม้าก็จะนำผ้าขาวม้ามาทำเป็นม้าและควบวิ่งและร้องเสียงม้าไปด้วย วิ่งให้ครบสามรอบ เมื่อวิ่งเสร็จสามรอบ คนวิ่งก็จะนำผ้าขาวม้ามาวางกับพื้นตรงหน้าใบเสมาใบแรกแล้วกราบลา เป็นอันเสร็จพิธี

ในปัจจุบันนี้ทางวัดได้จัดบริการวิ่งม้าให้เยาวชนในชุมชนวิ่งม้าแก้บนแทนผู้บนบานด้วย

ซึ่งการแก้บนโดยวิ่งม้านี้ วันที่ดิฉันไปเยี่ยมวัดนั้นก็มีคนมาแก้บน ก็เลยถือโอกาสนำภาพที่แอบถ่ายมาให้ชมกัน เด็กๆ เห็นดิฉันถ่ายภาพก็สนุกสนานเต็มที่ เรียกว่านอกจากทางวัดจะเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้มีรายได้แล้ว เด็กยังได้ช่วยสืบสานประเพณีและให้เด็กได้มีความสุขไปพร้อมๆ กันด้วย

เรื่องของการเชื่อของชาวบ้านนั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกับศรัทธาและภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่น “ไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่” เป็นคำพูดที่ใช้ได้ในทุกสมัยนะคะ สำหรับผู้เขียนเชื่อว่าเป็นเสรีภาพส่วนบุคคล และเชื่อว่าการที่ทางวัดให้การสนับสนุนมาจนทุกวันนี้ มิใช่เพราะจะมอมเมาให้คนเชื่อถือในสิ่งที่ไร้สาระ แต่คงจะเข้าใจดีว่าเป็นเรื่องของการ “ให้ขวัญและกำลังใจต่อผู้มีทุกข์” มากกว่า

ค่ะ..นำมาเล่าสู่กันฟังเพราะเราคงไม่ค่อยได้สัมผัสกับการแก้บนด้วยวิธีนี้ หากท่านมีโอกาสแวะไปเยี่ยมเยียนวัด เชื่อว่าท่านก็คงจะได้เห็นพิธีกรรม “วิ่งม้า” นี้ไม่ยากนัก เพราะพระท่านบอกว่ามีเกือบตลอดเวลา

ก็ขอจบการพาเที่ยววัดสุวรรณตอนที่ ๒ เล่าเรื่องพระประธาน พระศาสดา ฉบับหน้าจะเป็นตอนสุดท้ายของเรื่องเที่ยววัดสุวรรณ ซึ่งจะนำท่านไปพบกับเรื่องราวของจิตรกรรมฝาผนัง มรดกทางศิลปะอันล้ำค่าของวัดและของชาติเรา ประวัติความงดงามของภาพมีอย่างไร ขอเชิญอ่านต่อฉบับต่อไปนะคะ

สวัสดีค่ะ