บันทึกจากเบย์แอเรีย
ผอ.นสพ.เพ็ญวิภา โสภาภัณฑ์



บันทึกจากเบย์เอเรีย 28 กันยายน 2567

บันทึกฉบับนี้ ขอลงภาพต่อเนื่องงานวันมุทิตาสักการะ หลวงพ่อพระเทพวชิรวิเทศ ประธานสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา เจ้าอาวาสวัดพุทธานุสรณ์ ฟรีมอนต์ เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2567 ขอขอบคุณภาพจาก คุณนารีรัตน์ นครศรี คุณอมรวดี ปิณฑะแพทย์ คุณอัจฉริยา ทวีวิรัช คุณกาย เฟลมมิ่ง ค่ะ

พร้อมกันนี้ก็นำเสนอกลอนธรรมะที่ดิฉันตั้งใจจะลงให้อ่านกันทุกสิ้นเดือน จากชมรมยุวกวีสุนันทา ประพันธ์โดย “แสงประภัสสร” ค่ะ

พบกันใหม่ฉบับหน้าค่ะ


ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก : ๖.กายคตาสติ และอานิสงส์


กลอนแปดสุภาพ

๑.ใครก็รู้ดูแม่น้ำทุกสาย
ไหลต่ำหมายมหานทีศรี
เหมือน"กายคตาฯ"ฝึกทวี
"วิชชา"มีหยั่งเห็นเด่นใจตน

๒."กายคตาสติ"ทำมาก
"โยคะ"พรากประโยชน์โชติช่วงผล
สติสัปชัญญะแกร่งดล
"ญาณทัสฯ"ล้นจนแจ้งหลุดพ้นไกล

๓.กายคตาฯเกิดอานิสงส์
เจริญบ่งกาย,จิตสงบใส
วิตก,วิจารจะระงับไว
"วิชชา"ไซร้รุ่งเรืองเปรื่องไพบูลย์

๔.กายคตาฯถ้าทำมากแล้ว
"อกุศลธรรม"แคล้วแจวหนีสูญ
ทำมากขึ้น"กุศลธรรม"เกิดพูน
ที่เกิดแล้ววิบูลย์คูณเจริญ

๕.เจริญกายคตาฯมากแล
"อวิชชา"ทิ้งแน่"วิชชา"เหิน
"อัสสิมานะ"จะถือตัวเกิน
ละได้เพลินเยินกิเลสทลาย

๖.กิเลสหลาย อนุสัย,สัญโญชน์
โดนถอนรากจากโฉดโลดสลาย
กาย์คตาฯมากพลันปัญญากราย
"อนุปาฯ"เกิดปลายลุนิพพาน

๗.รู้ซึ้ง"เอนกธาตุ,นานาธาตุ"
ทราบมิพลาดธาตุหลากปัญญาฉาน
รู้แจ้งผล"โสดาฯ,สกิฯ"กราน
"อนาฯ"งาน"อรหัตต์ฯ"ต่อมา

๘.เจริญกาย์คตาฯปัญญาเยี่ยม
ลึกซึ้งเปี่ยมกว้างใหญ่ไร้เขตหนา
เป็นผู้มีปัญญาไวในหล้า
ปัญญากล้าพาแทรกกิเลสรอน

๙.ใครคลาดบริโภคกาย์คตาฯ
เขาถลาอมตะเสียก่อน
ใครเพียรได้ลิ้มลองต้องได้พร
อมตะมิถอนตลอดกาล ฯ|ะ


แสงประภัสสร

ที่มา : เอกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๐/๕๕,๕๗,๕๘

พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน หน้า ๕๗-๕๘


กาย์คตาฯ=กายคตาสติ แปลว่า สติที่เป็นไปในกาย คือวิธีทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง ใช้สติไปรู้อวัยวะในร่างกายตน เช่น ขน ผม เล็บ ฟัน หนัง ให้เห็นตามความเป็นจริงว่าเป็นของปฏิกูล ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น จนจิตยอมรับความจริงได้ จึงเบื่อหน่ายคลายกำหนัดในกาม เลิกยึดมั่นต่อไป

วิชชา=ความรู้แจ้งในอริยสัจ ๔

โยคะ=คือกิเลสที่ประกอบสัตว์ไว้ในภพ มี ๔ อย่าง ได้แก่ กาม ภพ ทิฏฐิ อวิชชา

อวิชชา=ความไม่รู้ใน อริยสัจ ๔

ญาณทัสฯ=ญาณทัสสนะ คือความเห็นด้วยญาณ หรือสัญญา

วิตก=ความตรึก

วิจาร=ความตรอง

กุศลธรรม=คือเจตนาในการทำความดี ทางกาย วาจา ใจ ที่มีกำลังจนเป็นกุศลกรรม มีการให้ทาน รักษาศีล

อกุศลธรรม=คือธรรมที่เป็นอกุศล ได้แก่ อกุศลจิต อกุศลเจตสิกทั้งหมด เป็นอกุศลกรรมบท ๑๐. ๑)เจตนาฆ่า ๒) ลักทรัพย์ ๓)ผิดในกาม ๔)พูดเท็จ ๕)พูดส่อเสียด ๖)พูดคำหยาบ ๗)พูดเพ้อเจ้อ ๘)อภิชา ความโลภ ๙) พยาบาท ๑๐)มิจฉาทิฏฐิ

อัสสิมานะ=ความถือตัวว่า เราเป็นนั่นเป็นนี่

อนุสัย=กิเลสอย่างละเอียดที่นอนนิ่งในสันดาน

สัญโญชน์=กิเลสที่มัดสัตว์ไว้ในภพ

อนุปาฯ=อนุปาทาปรินิพพาน คือสภาพกิเลสที่ดับสนิทไม่มีเชื้อเหลือ

เอนกธาตุ=เอนกธาตุปฏิเวธ คือ ความตรัสรู้ หรือรู้ซาบซึ้งตลอดธาตุเป็นเอนก

นานาธาตุปฏิเวธ=ความตรัสรู้หรือรู้ซาบซึ้งตลอดธาตุต่างๆ

นานาธาตุปฏิสัมภิทา=ปัญญา แตกฉานในธาตุต่างๆ

โสดาฯ=โสดาปัตติผล คือธรรมที่พระโสดาบัน บรรลุ

สกิฯ=สกิทาคามิผล คือธรรมที่พระสกิทาคามี บรรลุ

อนาฯ=อนาคามิผล คือธรรมที่ พระอนาคามี บรรลุ

อรหัตต์ฯ=อรหัตตผล คือธรรมที่พระอรหันต์ บรรลุ