บันทึกจากเบย์แอเรีย
เพ็ญวิภา โสภาภัณฑ์



ย้อนอดีตเรื่องกีฬาประเพณีแอลเอ-ซานฟราน (ตอน 1)

Memorial Day Weekend ของทุกปีจะเป็นวีคแห่งความสมัครสมานสามัคคีระหว่างเพื่อนผองน้องพี่ชุมชนไทย ชาวซานฟราน เบย์แอเรีย และชาวแอลเอ ซึ่งถือเป็นประเพณีปฏิบัติกันมานับจะหกสิบปีแล้ว ปีนี้เช่นกัน ก่อนจะมีกิจกรรม ผู้เกี่ยวข้องทั้งสองชุมชนก็จะพากันเขียนเชียร์ เขียนประชาสัมพันธ์เพื่อให้คนไปร่วมงานกันมากๆ ปีนีก็เช่นกัน พิเศษตรง ประธานจัดงาน น้องเกด หรือ คุณเกศกนก รัตตกูล ผู้สื่อข่าวพิเศษของหนังสือพิมพ์สยามทาวน์ มาขอให้ดิฉันเขียนเล่าเรื่องราวในอดีตในฐานะรุ่นเก่าแก่ลายครามของซานฟราน ดิฉันได้เขียนลงในเฟซบุ๊กของดิฉัน ติดต่อกันเป็นตอนๆ มีผู้ติดตามอ่านพอสมควร และหนึ่งในผู้ติดตามนั้นก็คือน้องชาย วิรัช โรจนปัญญา ผ.อ.ของหนังสือพิมพ์ไทยแอลเอนี้แหละค่ะ อ่านเห็นโพสต์แรกๆ ก็ส่งข้อความมาว่าขอให้ “พี่แมว” เขียนมาลงไทยแอลเอด้วย..นะครับ ก็ นะคะ ...ไม่ขัดน้องเขาอยู่แล้ว ดิฉันได้เขียนไว้ 4 ซี่รี่ส์ด้วยกัน แต่ในไทยแอลเอนี้ คงจะรวบยอดมารวมๆ กันค่ะ...เชิญอ่านกันนะคะ


ซี่รี่ส์ 1

สเตตัสต่อจากนี้จะเป็นซีรี่ส์เชียร์กีฬาประเพณีแอลเอ-ซานฟราน ที่จะมีกิจกรรมตั้งแต่วันที่ 27-28 พฤษภาคมนี้ ที่ ลอสแอนเจลลิส พี่ป้าน้าอาเตรียมอ่านวันละสเตตัสละกันนะคะ

ได้รับปากน้องๆ มาว่าจะช่วยกันเขียนเชียร์งานกีฬาประเพณีระหว่าง แอลเอ- ซานฟราน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดกันมาเป็นเวลานานนับหกสิบปีแล้วกระมัง ปีนี้สาวมั่นผู้อุทิศเวลาช่วยสังคมไทย หนูเกด.. เกศกนก รัตตกูล ได้รับเลือกเป็นประธานจัดงาน แม่จ้าว...ยอมรับเลยว่าน้องเขาตั้งใจมาก วันๆ กริ๊งแมสเสสนับร้อย สั่งงาน เตรียมงาน จัดทีม เอาใจใส่งาน.. แล้วป้าแมวก็ไม่รอด โดนให้เป็นฝ่ายข่าว..แต่ไม่เกี่ยงนะ ชอบทำงานกับคนที่ตั้งใจทำงานและบริหารทีมเวิร์กได้ดี

ย้อนอดีตเมื่อเข้าร่วมกิจกรรม

กิจกรรมนี้ดิฉันเข้าไปมีส่วนร่วมเชียร์ตั้งแต่ย่างเท้าลงพื้นแผ่นดินโอ๊กแลนด์ แคลิฟอร์เนียภาคเหนือ เมื่อปี ค.ศ. 1968 ตั้งแต่รู้จักกับพี่น้อย บุญศิริ และพี่ชัย โด-นอม ผ่านเพื่อนชักชวนไปดูและเข้าไปร่วม จนได้ไปรู้จักหนุ่มนักเตะบอลคนหนึ่ง ที่รักกีฬาฟุตบอลนี้มาก แล้วไงละคะ ไปเป็นแฟนคลับหนุ่ม (ในตอนนั้น) คนนี้ จนกระทั้ง โอ้ว่าดวงคนหนอ..เขากลายมาเป็นคนในครอบครัวตราบวันนี้ วัฎฐี โสภาภัณฑ์ ฮึม ฮิม ฮิม หึ่ม ฮีม กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ...พารากราฟนี้เล่าสู่กันฟังนอกเรื่องที่น้องเขาขอนิด แต่ว่ามันก็คือสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นกับชีวิต ที่ทำให้เราต้องไปช่วยงานเพื่อสืบสานประเพณีนี้ต่อไปเท่าที่จะทำได้..


ซีรี่ส์ 2

โพสต์ที่แล้วเล่าไว้ว่าร่วมกิจกรรมกีฬาดังกล่าวตั้งแต่มาอยู่อเมริกาปี ค.ศ. 1968 จนได้พบคู่ครองเป็นนักฟุตบอล มีผู้คอมเม้นต์ไม่ยักรู้ว่าอิฉันพบแฟนที่กิจกรรมนี้ ก็อยากเล่าว่าสมัยนั้นยังไม่มีวัดไทย ศูนย์รวมคนไทยมักอยู่ที่บ้านรุ่นพี่ผู้บุกเบิก เช่นพี่น้อย พี่ชัย โด-นอม ที่ผู้ล่วงลับไปแล้วที่เบิร์กเล่ย์ บ้านพี่มาลินี ที่โอ๊กแลนด์ เป็นต้นปีนั้นคุณประสิทธิ มหาคุณเป็นนายกสมาคม แฟนดิฉันจริงๆ อยู่มอนเทอเร่ แต่สนิทกับนายกสมาคม เลยมาช่วยลงแข่งให้ ช่วงนั้นสังคมไทยยังเล็กอยู่มาก ส่วนมากเป็นนักเรียนมหาวิทยาลัย ไม่มีร้านอาหารไทย ไม่มีวัดไทย แต่มีรุ่นพี่ๆ เป็นแบ็คที่ดี จัดงาน จัดอาหารเลี้ยงดู สนุกสนาน

ตัดเรื่องมาเพื่อไม่ให้ยาวมาก หลังจากปีนั้น ดิฉันแต่งงานแล้วก็ห่างเหินสังคมไปพักใหญ่ เลี้ยงดูลูก สามีพาเราย้ายจากมอนเทอเร่มาอยู่เบย์แอเรีย ห้าปีต่อมาเจอเพื่อนชวนไปวัด ตอนนั้นสังคมไทยมีวัดแล้ว วัดมงคลรัตนาราม ที่เซาท์ ซานฟราน ก็เริ่มเข้าสังคมอีก เพื่อนที่ชักนำมาสู่สังคมไทย ปัจจุบันยังคบกันอยู่ เป็นเพื่อนที่ใครๆ ก็รู้จักและรักใคร่ เธอไม่ใช่ใคร คือ จิ๋ว-สุวัฒนา วรรณรักษ์ เพื่อนซี้ปัจจุบันนี้เอง..แล้วคุณสามีก็กลับมาช่วยเล่นฟุตบอลให้สมาคมแต่นั้นต่อมา โดยเฉพาะปีที่คุณหล่าน-จารุภา ชมพูพงษ์ ผู้ล่วงลับไปแล้ว เป็นนายกสมาคมไทยแห่งแคลิฟอร์เนียภาคเหนือปี ค.ศ. 1985 นั้น วัฏฐี รับเป็นประธานฝ่ายฟุตบอล และปีต่อๆ มาเราก็ได้ร่วมกิจกรรมประเพณีนี้เสมอ และ look forward to งานนี้ทุกปี เพราะมันเป็นการรวมตัวกันของชาวแคลิฟอร์เนียภาคเหนือ กินไม่อั้น สามัคคีร่วมกัน เป็นยาวิเศษ ทำให้พวกเรารวมตัวกัน โดยเฉพาะนายกสมาคมที่พ้นวาระไปแล้ว ถ้าใครยังอยู่ที่ซานฟรานก็จะมาแจมด้วย ได้เห็นหน้าเห็นตา เม้ามอยกันถึงความหลัง ไม่ว่าจะเป็นคุณวิสุทธิ, คุณเพลินใจ, คุณเจือ, คุณชัยภัคร, คุณไพฑูรย์, คุณอุไร, คุณชัยวัฒน์ เป็นต้น ที่มาให้กำลังใจนายกรุ่นน้องๆ สม่ำเสมอ และสำคัญมากๆ ก็คือผู้ประสานงานจัดตัวนักกีฬา จัดซ้อม หลายสิบปีที่ผ่านมานี้คือ คุณไพโรจน์ รัตนเถลิงศักดิ์ ไม่มีน้องคนนี้ก็ไม่มีทีมนักฟุตบอลจากซานฟรานยุคนี้ ขอบคุณจากใจ และที่จะต้องยกย่องเอาไปเลยสิบดาว คือ พี่ยงยุทธ สังขโกวิท อดีตนักกีฬาทีมชาติไทย ที่เข้ามาร่วมกิจกรรมช่วงเดียวกับครอบครัวเรา จนปัจจุบัน พี่เขาไม่เคยหายไปไหน รับเป็นทั้งกรรมการตัดสิน และอยู่ขอบสนาม เป็นโค้ชให้รุ่นน้อง หัวใจเกินร้อยให้กับกิจกรรมนี้ เรื่องของพี่ยงยุทธนี้จะขอเขียนถึงในโอกาสต่อไปค่ะ

ตอนหน้าพบกับการเล่าถึงการฉลองหลังงานกีฬาของสมัยก่อนๆ โดยจะยกตัวอย่างในปีที่ คุณจิรพงศ์ สัจจะวัชรพงษ์ และคุณสุกิจ ปาละวิวัธ เป็นนายก โปรดติดตามว่าทำไมดิฉันจึงจะขอยกตัวอย่างปีสองอดีตตนายกดังกล่าวมาเล่าสู่กันฟัง เตรียมอ่านฉบับหน้านะคะ