บันทึกจากเบย์แอเรีย
เพ็ญวิภา โสภาภันฑ์



หนทางสู่โอเรกอน เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย ตอนจบ

วันแสดงที่ Willamette University , Salem , Oregon

สำหรับบทเขียนฉบับนี้ขอเล่าต่อจากฉบับที่แล้ว เรื่องที่ดิฉันและเพื่อนๆเดินทางไปร่วมกิจกรรมงานเผยแพร่นาฏศิลป์และดนตรีไทยที่มหาวิทยาลัย Willamette ณ เมือง Salem เมืองหลวงของมลรัฐ Oregon ร่วมกับคณะครูอาสานาฏศิลป์และดนตรีวัดพุทธานุสรณ์ เมื่อคืนวันพุธที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2555 ซึ่งจบลงไปแล้วด้วยความสำเร็จเรียบร้อยทุกประการ

ทางมหาวิทยาลัยนำโปสเตอร์โฆษณาไปติดประกาศทั่วมหาวิทยาลัย และเชิญชวนคนในเมืองมาชมด้วย เป็นการแสดงที่ไม่เก็บค่าผ่านประตู โดยแสดงที่เวทีแสดงของ Music Department ทางมหาวิทยาลัยให้ชื่อการแสดงของเราว่า A Concert of Music and Dance from Thailand แสดงที่ Roger’s Music Center ในบริเวณมหาวิทยาลัย ในคืนนั้นมีผู้เข้าชมที่เป็นทั้งนักศึกษาของมหาวิทยาลัยและบุคคลภายนอกที่เป็นชาวเมืองเซเล็มให้ความสนใจมาชมนับร้อย บางคนก็พาเด็กเล็กๆ มาด้วย เด็กเล็กหลายคนขึ้นมาพบนักแสดงบนเวทีหลังการแสดงจบและซักถามนักแสดงด้วยความสนใจซึ่งนับว่าเป็นเรื่องแปลกอยู่เหมือนกันสำหรับเด็กต่างชาติที่จะสนใจวัฒนธรรมอื่นเช่นนี้

พวกเราส.ว. แม้เราจะไม่ใช่มืออาชีพแต่เราก็เรียนดนตรีกันมาหลายปีแล้ว พอที่จะเล่นเพลง (บางเพลง) ได้โดยไม่ต้องขายหน้าเอาผ้ารอด เรานำเพลง ต้อยตลิ่ง เพลง มาร์ชพุทธานุสรณ์ (ทำนองจากลาวลำปาง) และเพลง ล่องแม่ปิง ซึ่งเราเลือกเพลงนี้เพื่อให้อาจารย์แพมมาล่าได้ร่วมเล่นซอด้วงด้วย ก็ขอบันทึกชื่อพรรคพวกด้วยค่ะ จินตนา กาญจะนะมาระกุล ขลุ่ย กาญจนา บุญสม ซอด้วง สุวัฒนา วรรณรักษ์ ร้องเพลง กิ่งกาญจน์ สมิตามร กรับ และ ดิฉัน รับหน้าที่ระนาดเอก

ครูนาฏศิลป์ ณวรรณ์ศา รักชาติ รำเดี่ยวมโนราห์บูชายันต์ ส่วนครูดนตรีของเราครูเอ๊ะ เล่นระนาดทุ้ม ครูกิ๊ฟ-ลอยฟ้า สัมบุณณานนท์ รับตีฉิ่ง และครูดนตรีสองคนได้โชว์เดี่ยวคนละเพลง ครูเอ๊ะ- ฉัตรชัย พึ่งทองคำ หลานปู่ของ ครูกาหลง พึ่งทองคำ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปการแสดง (ดนตรีไทย) ปี 2549 เดี่ยวเพลงกราวในที่ปู่กาหลงสอนให้และ ได้รับเสียงปรบมือกึกก้องห้องแสดง ครูเอ๊ะบอกว่า ภูมิใจและประทับใจที่สุดในทริปนี้

ครูเอ็ม-พลังสฤษฏ์ ชุนรักษา แสดงโขนเป็นพระรามตอนตามกวาง และเดี่ยวจะเข้เพลงลาวแพน ด้วยลีลาสุดหวานในตอนต้นและพริ้วเร็ว ดิฉันดูมือครูที่ดีดไปตามสายจนตาลายเพราะเร็วและมีลูกเล่นสุดเพราะ จบด้วยเสียงปรบมือยาวนานเช่นกัน ครูเอ็มบอกว่าสำหรับเพลงที่เล่นในงานนี้ได้หัดเพลงนี้มากับ ครูระวิรรณ ทับทิมศรี

ในช่วงการแสดงนั้นนับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายยิ่งที่ไม่มีภาพมาให้ชมกัน เพราะว่าพวกเราทุกคนอยู่บนเวทีหมดจึงไม่ได้มีใครบันทึกภาพไว้ ได้แต่ภาพหลังการแสดงเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งเป็นภาพที่ดิฉันว่าน่าจะนำเสนอมากกว่าด้วยซ้ำเพราะว่าเป็นภาพที่หาชมได้ยาก คือผู้เข้าชมทั้งบุคคลทั่วไปในเมืองเซเล็มและนักศึกษานักเรียนได้ขึ้นมาบนเวทีเพื่อพูดคุยกับนักแสดง และได้จับต้องเครื่องดนตรีไทย บ้างก็ขอลองเล่นดูซึ่งถือว่าได้รับความสนใจจากผู้ชมมาก นักแสดงตอบคำถามหลากคำถามจากผู้ชม ทำให้เห็นว่าชาวต่างชาติล้วนแล้วแต่พึงพอใจในเครื่องดนตรีไทยเป็นอย่างดียิ่ง

อาทิ ศาสตราจารย์ภาควิชาศิลปะพื้นบ้านจีนที่ประจำสาขาอาเซียนศึกษาของมหาวิทยาลัย ให้ความสนใจในซอด้วงและขลุ่ยเป็นพิเศษ ได้ซักถามนักแสดงซอและขลุ่ยอยู่เป็นเวลานาน โดยบอกว่ามีซอของจีนที่รูปร่างเหมือนซอด้วงของไทย และเขาเองได้ประดิษฐ์เครื่องดนตรีชนิดหนึ่งจากเซรามิคมาใช้เป่าแบบขลุ่ยและเสียงที่ออกมาแม้จะไม่เหมือนขลุ่ยไทยแต่ก็คล้ายกัน

มีแหม่มคนหนึ่งมาคนเดียวตรงมาถามดิฉันว่า ดนตรีไทยเดิมแบบนี้คนไทยสมัยนี้ยังให้ความนิยมมาชมอยู่หรือไม่ ยังมีการสอนที่โรงเรียนหรือไม่ ตัวแหม่มเองเคยไปเที่ยวเมืองไทยมาและชอบดนตรีไทยแต่เขาบอกว่าเท่าที่เห็นไม่ค่อยมีคนสมัยนี้นิยมเท่าไร

ดิฉันบอกแหม่มว่ายังมีคนนิยมเรียน และมีสอนตามโรงเรียนไม่ว่าจะระดับมัธยมหรือมหาวิทยาลัย และในประเทศสหรัฐอเมริกานี้พวกเราก็อนุรักษ์กันอยู่ เด็กไทยที่เกิดและเติบโตในอเมริกาก็ชอบมาเรียน เรามีครูอาสามาสอนจากเมืองไทยทุกๆ ปีไม่ว่าจะจากโครงการเผยแพร่วัฒนธรรมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาก็ตาม

และสุดท้ายดิฉันบอกแหม่มว่าข้อสำคัญที่สุดก็คือ เรามีปรินเซสของเรา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เป็นองค์อุปถัมภ์ดนตรีและนาฏศิลป์ไทย ทรงเป็นแบบอย่างในเรื่องของดนตรีไทย ทรงระนาดหรือทรงซอร่วมกับวงดนตรี เวลามีงานหากทรงไปได้ก็เสด็จไปให้กำลังใจ เมื่อพระองค์ให้ความสนับสนุนคนก็เห็นความสำคัญ ทำให้ดนตรีและนาฏศิลป์ไทยจะไม่มีวันสูญสลายไปเป็นแน่นอน รู้สึกว่าแหม่มเขาดูจะพอใจกับคำตอบนี้อยู่บ้างจึงไม่ได้ถามอะไรต่อ

ขอจบเรื่องเล่าด้วยภาพจะดีที่สุดนะคะ อยากฝากตอนจบว่า พวกเรามีความภูมิใจและประทับใจที่คนต่างชาติให้ความสนใจในศิลปวัฒนธรรมไทยเป็นที่สุด และเราหวังว่าเด็กไทยรุ่นใหม่จะช่วยกันสืบสานอนุรักษ์ศิลปะอันล้ำค่าของเรานี้ต่อไป ตราบนานเท่านาน


ก่อนที่จะปิดบทเขียนนี้ขอฝากประชาสัมพันธ์งานวันสงกรานต์ที่จะมีขึ้นในเบย์แอเรียนะคะ


วัดมงคลรัตนาราม มีงานทำบุญตักบาตร เริ่มตั้งแต่เวลา 10.00 นาฬิกา ถึง 15.00 นาฬิกา เชิญชมการแสดงนาฏศิลป์และดนตรีจากนักเรียนของ ศูนย์วัฒนธรรมไทยเบิรกเล่ย์ โดยมีไฮไลท์ของการแสดงระบำโบราณคดี และโปรดอย่าพลาด ข่าวล่าสุดว่าในช่วง 13.00 นาฬิกา จะมีรายการแสดงพิเศษสุด มีคณะนักเรียนจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ จำนวนสิบกว่าชีวิตจากประเทศไทยจะเดินทางมาแสดงโขนให้ชมกัน นำโดยอาจารย์ เจริญ-ขนิษฐา ถาปนะกุล ว่าที่ ร.ต. วชิรพงศ์ ยนตรกิจ และอาจารย์ เมศิณี มฆัษเฐียรย์ สนุกสนานกับสอยดาวการกุศลและสรงน้ำพระ


วัดพุทธานุสรณ์ จัดงานทั้งวันเสาร์ที่ 13 และวันอาทิตย์ที่ 14 เมษายน 2555 รายละเอียดมีดังนี้ วันเสาร์เวลา 10.30-11.30 มีการแสดงนาฏศิลป์และดนตรีจากคณะครูอาสาจุฬาฯ และตอนบ่าย 13.00 นาฬิกา ร่วมพิธีปล่อยนก ปล่อยปลาที่ Quary Lake, Fremont เวลา 10.30-11.30 วันอาทิตย์ มีการแสดงของนักเรียนวัด ตั้งแต่ 10.30-11.30 นาฬิกา ตอนบ่าย 13.30 นาฬิกา ร่วมตักบาตร และตอนบ่าย 13.00 นาฬิกา ร่วมพิธีปล่อยนก และสรงน้ำพระรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ อยู่ใกล้วัดใดสะดวกวัดใดเชิญร่วมงานบุญและสืบสานประเพณีไทยตามอัธยาศัยนะคะ