บันทึกจากเบย์แอเรีย
เพ็ญวิภา โสภาภันฑ์



สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๗
พาไปนมัสการพระศาสดา วัดสุวรรณาราม ราชวรวิหาร ธนบุรี
ตอนที่ ๑

ได้ฤกษ์กลับมาเขียนบันทึกในวันใหม่ของปีใหม่ ๒๕๕๗ ขอกราบอาราธนาสิ่งศักดิ์สิทธิในสากลโลก และคุณพระศรีรัตนตรัย จงดลบันดาลให้ผู้อ่านทุกท่านและครอบครัว พบแต่ความสุข ความเจริญ มีพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์ ตลอดปีใหม่ และตลอดไปนะคะ

ขณะเขียนบันทึกนี้ผู้เขียนยังติดธุระอยู่ที่ประเทศไทย โดยเดินทางไปประเทศไทยตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๖ เพื่อไปร่วมงานฌาปนกิจมารดาของผู้เขียนที่มีไปเมือวันที่ ๓๐ พฤศจิกายนแล้วนั้น ก็ขอกราบขอบพระคุณและขอบคุณญาติสนิทมิตรสหายที่ไปร่วมงานที่วัดธาตุทองทุกท่าน


ทิศทางงานเขียนในปี ๒๕๕๗ ของดิฉัน

ในช่วงที่ผู้เขียนอยู่ประเทศไทยนั้น ก็มิได้ละทิ้งคอลัมน์นี้ โดยได้ขอให้คุณวัลลภ คชินทร น้องรักนักเขียนอารมณ์ดีของสรรพรสดอทคอม มาทำหน้าที่พิธีกร เอ๊ย..คอลัมนิสต์แทนเพื่อขับเคลื่อนการข่าวสังคมเบย์แอเรียและซานฟรานซิสโกให้ต่อเนื่องให้ถึงสิ้นปีพ.ศ. ๒๕๕๖ ค่ะ

เริ่มเบิกฟ้าใหม่ปีใหม่ ๒๕๕๗ ดิฉันกลับมารับหน้าที่บันทึกต่อนะคะ โดยมีความมุ่งหมายว่าปีนี้จะเขียนบันทึกเรื่องราวที่น่าสนใจทั้งที่ได้ไปพบเห็นที่เมืองไทย รวมทั้งสถานการณ์น่าสนใจในอเมริกาแทนที่จะเป็นเรื่องราวส่วนบุคคลหรือภาพงานสังคมไทย การตัดสินใจเปลี่ยนรูปแบบงานเขียนก็เพราะปีที่ผ่านมาได้เห็นว่าภาพและข่าวงานสังคมไทยในซานฟรานและเบย์แอเรียนั้นมีคอลัมนิสต์ในไทยแอลเอทำหน้าที่ถึงสามบทแล้ว บางครั้งก็จะลงภาพรูปงานเดียวกัน ก็เลยขอเปลี่ยนมาทำงานที่ตัวเองถนัดดีกว่านั่นก็คือเขียนสารคดีและเขียนนวนิยาย นวนิยายนั้นในปีนี่้ผู้เขียนเขียนสำเร็จ พิมพ์ออกมาแล้วหนึ่งเรื่องคือเรื่อง “ถึง..นายก้อนอิฐ ข้างบ้าน” แล้วจะมาแจ้งนะคะว่าจะหาซื้อได้ที่ใด ส่วนท่านที่มาร่วมงานสวดอภิธรรมและงานฌาปนกิจคุณแม่ผู้เขียน ผู้เขียนจะนำมาแจกให้ฟรีนะคะ

บทความแรกของปี ๒๕๕๗

ขอเริ่มพุทธศักราช ๒๕๕๗ ด้วยเรื่องอันเป็นมงคล กราบนมัสการและขอพรพระศาสดา พระประธานของวัดสุวรรณาราม พระอารามหลวงชั้นโท ที่ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อยฝั่งตะวันตก ขอสิริมงคลจงมีแด่ผู้อ่านเรื่องราวของวัดอันสำคัญวัดหนึ่งของกรุงธนบุรี ค่ะ

เรื่องเล่าจากข้อมูลที่ได้มาจากหนังสือของวัดสุวรรณฯ และจากปากคำของ พระราชปริยัติเวที (สุชาติ กิตฺติปัญฺโญ) เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน นำมาเขียนด้วยไสตล์ของดิฉันนะคะ ด้วยความเคารพในหลักฐานจากหนังสือดังเอ่ยถึงข้างบนค่ะ


ความเป็นมาของวัดสุวรรณาราม

เป็นวัดโบราณ เดิมชื่อ “วัดทอง” มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ไม่ปรากฏผู้ใดสร้าง แต่เรื่องเล่าที่เป็นเรื่องเด่นเรื่องดังของวัดนี้เกี่ยวข้องกับ พระเจ้าตากสินมหาราช มีดังนี้ค่ะ คือว่าเมื่อคราวพม่ายกทัพมาตีเมืองพิษณุโลก พระเจ้าตากสินมหาราชจะยกกองทัพไปช่วย จึงโปรดให้ถามเชลยศึกพม่าที่จับมาได้จากค่ายบางนางแก้วว่าจะสมัครใจไปช่วยรบกับพม่าด้วยหรือไม่ แต่เชลยศึกพม่าตอบปฏิเสธ ในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีได้กล่าวไว้ว่า

“สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว จึงดำรัสให้เกณฑ์กองทัพทั้งทางบกทางเรือ สรรพด้วยช้างม้าเครื่องสรรพาวุธพร้อมเสร็จ พลฉกรรจ์ ลำเครื่องทั้งไทยจีนเป็นคนหมื่นสองพันสองร้อยเจ็ดสิบคน แล้วดำรัสให้ถามพม่าตัวนายซึ่งจำไว้ ณ คุกว่า บัดนี้กองทัพพม่ายกมาอีก จะให้ไปทำสงครามกับพม่าพวกของตัวจะได้หรือมิได้ประการใด...


งุยอะคุงหวุ่นและอุตมสิงหจอจัว พม่านายทัพทั้งปวงให้การว่า


แม้นทรงพระกรุณาโปรดจะให้ไปรบกับข้าศึกอื่น จะขออาสาไปกระทำสงครามกว่าจะสิ้นชีวิต ซึ่งจะโปรดให้ไปสู้รบกับพม่าพวกเดียวกันนั้น เป็นเหลือสติปัญญา จะไปดูหน้าพวกกันกระไรได้ มีความละอายนักจนใจอยู่แล้ว


เมื่อเอาคำให้การขึ้นกราบทูล พระเจ้าตากสินมหาราชจึงดำรัสว่า


มันไม่ภักดีกับเราโดยแท้ ยังนับถือเจ้านายมันอยู่และเราจะยกไปการสงครามผู้คนอยู่รักษาบ้านเมืองน้อยพวกมันมาก จะแหกคุกออก กระทำจลาจลแก่บ้านเมืองข้างหลังจะเอาไว้มิได้ กาลนั้นพระองค์จึงดำรัสให้เอาไปประหารชีวิตเสีย ณ วัดทอง คลองบางกอกน้อยทั้งสิ้น”

แปลว่าเชลยศึกทั้งหมดถูกประหารชีวิต เจ้าอาวาสเล่าว่า สถานที่ประหารชีวิตของเชลยพม่าเหล่านั้น คือด้านหน้าพระอุโบสถและปัจจุบันเป็นลานจอดรถของวัด


ประวัติของวัดต่อมาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ต่อมาเมื่อ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ แล้วโปรดให้รื้อทำใหม่หมดทั้งวัดและได้ทรงสร้างพระอุโบสถ พระวิหาร กำแพงแก้ว มีเก๋งด้านหน้าสองเก๋ง พร้อมทั้งเสนาสนะขึ้นใหม่ ครั้นเสร็จแล้วจึงพระราชทานนามใหม่ว่า วัดสุวรรณาราม

พระราชพงศาวดารกล่าวถึงวัดที่ทรงบูรณปฏิสังขรไว้ว่า

“นอกจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพน วัดสระเกศ ซึ่งทรงสร้างและทรงได้กล่าวมาแล้วนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิสังขรณ์พระอารามอื่นๆ อีกหลายพระอาราม คือ วัดเลียบ เดิมสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ได้ทรงปฏิสังขรณ์ไว้เพียงพระอุโบสถ และกุฏิสงฆ์ได้ทรงสถาปนาต่อมาจนสำเร็จแล้วพระราชทานนามเปลี่ยนว่า วัดราชบูรณะ อาราม ๑ วัดบางว้าใหญ่ ทรงปฏิสังขรณ์แล้วพระราชทานนามเปลี่ยนใหม่ว่า วัดระฆัง ให้เหมือนวัดระฆังกรุงเก่า ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ใกล้พระราชวังด้านตะวันตกอาราม ๑ วัดสมอรายวัดแจ้งวัดท้ายตลาดวัดคอกกระบือ ๑ ทั้งวัดสุวรรณที่กรุงเก่าซึ่งเป็นวัดเดิมของสมเด็จพระชนกาธิบดี ก็ทรงปฏิสังขรณ์ด้วย”

เป็นที่พระราชทานเพลิงศพเจ้านายสมัยพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท

ในคราวนั้นสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ได้ทรงสร้างเครื่องป่าช้าขึ้นคือ เมรุ และลำสร้าง หอสวด หอทิ้งทาน โรงโขน โรงหุ่น ระทา และพลับพลา ตลอดกระทั้งโรงครัวทุกอย่างถวายเป็นของหลวง สำหรับเป็นที่พระราชทานเพลิงศพเจ้านายชั้นเจ้าฟ้าและศพขุนนางผู้ใหญ่ (สันนิษฐานว่า คือที่ืทำการเขตบางกอกน้อยในปัจจุบัน)

“เครื่องป่าช้าวัดสุวรรณาราม บางกอกน้อย คือ เมรุแลลำสร้าง หอสวด หอทิ้งทานโรงโขน โรงหุ่น ระทา และพลับพลา โรงครัว พร้อมทุกอย่าง ทำถวายเป็นของพระบรมมหาราชวังอีกตำบล ๑”

ครั้นถึงพุทธศักราช ๒๓๓๐ ได้ทรงมีพระราชศรัทธาเสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน (ตามปรากฏในจดหมายเหตุ จ.ศ. ๑๑๔๙ ) และอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. ๒๓๔๔ ดังความในหมายรับสั่ง จ.ศ. ๑๑๔๒ เลขที่ ๑ เรื่องกำหนดเสด็จพระราชทานพระกฐินหลวง จ.ศ. ๑๑๔๙

เป็นเรื่องเล่าครั้งรัชกาลที่ ๑ เป็นอันจบบันทึกเรื่องความเป็นมาของวัดสุวรรณ ตอนที่ ๑ ของบันทึกจากเบย์แอเรีย

ฉบับหน้าจะเล่าถึงเรื่องเกี่ยวกับวัดสุวรรณสมัยรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีเหตุการณ์ สำคัญๆ ที่ประวัติศาสตร์จารึกไว้ โดยเฉพาะเรื่องของภาพจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถ ที่มีความงดงามลือเลื่องยิ่งนัก

สำหรับฉบับนี้ขออำลาไปก่อนนะคะ ชมภาพวัดสุวรรณารามและภาพพระประธาน “พระศาสดา” ประสบโชค สุขสวัสดีทุกท่านค่ะ