บันทึกจากเบย์แอเรียฉบับนี้ ขอแนะนำให้รู้จักกับคุณครูอาสาภาคฤดูร้อน 2558 ทั้งสามท่าน ที่มาประจำ ณ วัดพุทธานุสรณ์ เมืองฟรีมอนท์ แคลิฟอร์เนียของ โครงการสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทย คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาจากที่ใด มีประสบการณ์สอนอย่างไรบ้าง และนำความรู้ความสามารถด้านใดมาให้กับเด็กๆ ของโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดพุทธานุสรณ์ เมืองฟรีมอนท์ ซึ่งอยู่ในแคลิฟอร์เนียภาคเหนือ บ้าง ดังต่อไปนี้ค่ะ
ครูน้อง อรลักษณ์ บุรัญบุญดาจบปริญญาโทจากวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม คณะบริหารการศึกษา ประสบการณ์ในการสอน สอนวิชาภาษาไทยโรงเรียนโพธิสารศึกษา จังหวัดนครสวรรค์ 13 ปี บรรจุรับราชการสอนวิชาภาษาไทย โรงเรียนทองหลางวิทยาคม 5 ปี ปัจจุบันย้ายเข้ามาทำการสอนอยู่โรงเรียนนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์
“ภาษาไทยเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมอันก่อให้เกิดความเป็นเอกภาพ และเสริมสร้างบุคลิกภาพของคนในชาติให้มีความเป็นไทย เราโชคดีที่มีภาษาไทยเป็นของตนเอง ดังนั้นเราจงช่วยกันอนุรักษ์ รักษาและเผยแพร่ภาษาของเราให้ยั่งยืน”
ในฐานะที่เป็นคนไทย เป็นครูภาษาไทย และมีหัวใจเต็มเปี่ยมรักในวัฒนธรรมไทย ดิฉันรู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ครั้งหนึ่งได้มีโอกาสมาทำงานให้กับประเทศชาติ ได้ทำงานเพื่อสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯและ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ในด้านการอนุรักษ์และเผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรม
เป้าหมายในการมาสอนครั้งนี้1.ให้มีความภาคภูมิใจในขนบธรรมเนียม ประเพณี ศิลปะและวัฒนธรรมไทย และมีความกตัญญูกตเวที แต่งกายและมีมารยาทงามแบบไทย มีสัมมาคารวะ แสดงความเคารพด้วยการไหว้ การกราบ วางตนอย่างสุภาพ อ่อนน้อมมีน้ำใจ
2.เห็นคุณค่าและใช้ภาษาไทยในการสื่อสารได้
3.อนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาไทย ชอบเล่นการละเล่นพื้นเมืองแบบไทย เล่นกีฬาแบบไทยๆ นำภูมิปัญญามาใช้ให้เหมาะสมในวิถีชีวิต
สำหรับหน้าที่ในสามเดือนขอรับใช้พี่น้องชาวไทยและวัดพุทธานุสรณ์ด้วยหัวใจ “เธอเป็นลูกใครไม่สำคัญ เธอเป็นลูกศิษย์ฉันสำคัญกว่า”
คุณครูปาริชาติ พรเพ็งจบปริญญาตรี ครุศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยราชภัฎเลย (โครงการทุนคุรุทายาท) สาขาวิชาประถมศึกษา ปริญญาโทศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาบริหารการศึกษา ปัจจุบันรับราชการครูที่โรงเรียนหลักเมืองมหาสารคาม อ.เมือง จ.มหาสารคาม สอนวิชาภาษาไทย
การจัดการเรียนการสอนภาษาไทยภาคฤดูร้อนที่โรงเรียนวัดพุทธานุสรณ์ฟรีมอนท์ ในปีการศึกษา2558 นี้ เป็นการจัดการศึกษาเพื่อให้เด็กและเยาวชนในต่างประเทศได้เรียนรู้ภาษาไทยและวัฒนธรรมไทย ได้รับการปลูกฝังจิตสำนึกความเป็นไทย และดำรงไว้ซึ่งความเป็นไทยรู้จักเทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ดังนั้นหลักสูตรที่นำมาจัดการเรียนการสอน จึงเป็นหลักสูตรที่ประกอบไปด้วยกิจกรรมต่อไปนี้
1.การฟัง การพูด การอ่าน และการเขียนภาษาไทยเบื้องต้น เช่น ประโยคง่ายๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน การเรียนรู้อักษรไทย พยัญชนะไทย การอ่านแลกลูกสะกดคำเบื้องต้น การผันวรรณยุกต์
2.การละเล่นไทย ได้แก่ มอญซ่อนผ้า รีรีข้าวสาร แม่งูเอ๋ย เสือกินวัว ลิงชิงบอล ตี่จับ เป็นต้น
3.การทำอาหารไทย ทั้งคาวและหวาน
4.กิจกรรมวันสำคัญของไทย ได้แก่ วันสุนทรภู่ วันภาษาไทย วันเข้าพรรษา วันอาสาฬหบูชา วันแม่แห่งชาติ
5.กิจกรรมการเรียนการสอนในช่วงระยะสามเดือน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2558 นี้ คุณครูมีความมุ่งหวังตั้งใจจริงในการถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์เกี่ยวกับความเป็นไทย แก่ลูกศิษย์ของครูทุกคนด้วยความรักและความภาคภูมิใจที่เราทุกคนได้เกิดมาภายใต้ร่มพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ และภายใต้ไตรรงค์ธงไทยที่ปลิวไสวสวยงามสง่า ควรค่าแห่งความภาคภูมิใจของชาวไทยเราทุกคน
ครู จ๊ะเอ๋ สิริพร รัตนมุงจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะศึกษาศาสตร์ วิชาเอกภาษาไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร (โครงการสืบสานภาษาไทย) กำลังศึกษาระดับปริญญโท สาขาการสอนภาษาไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร
พ.ศ. 2554 บรรจุรับราชการโรงเรียนศรัทธาสมุทร จ.สมุทรสงคราม
พ.ศ. 2557 ย้ายมาที่โรงเรียนราชินีบูรณะ จ. นครปฐม สอนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่3
“หนูรู้จักโครงการนี้ได้เพราะโพสต์ข้อความหน้าเฟสบุคว่า “สนใจเรียนภาษาสเปน จีน ญี่ปุ่น เยอรมัน อังกฤษ เพิ่ม ใครทราบที่เรียนรบกวนแนะนำหน่อยค่ะ” หลังจากนั้นพี่ที่สอนภาษาจีนที่โรงเรียนราชินีก็นำเว็บไซต์ประชาสัมพันธ์โครงการฯ มาแปะไว้ที่หน้าเฟสบุคให้เข้าไปดูตามลิงค์ จนได้รู้ว่าโครงการนี้เป็นโครงการการสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยให้กับนักเรียนในต่างประเทศ จึงตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการ ซึ่งนับเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ทำตามความฝันที่เลือกเรียนวิชาเอกภาษาไทย เพราะต้องการสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยให้กับชาวต่างชาติ แล้วความฝันนั้นก็เป็นจริงขึ้นมาคือการได้เป็นครูอาสาจามจุรี แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ก็ตาม
ก่อนออกเดินทาง ก็ยังแอบกังวลว่าเราจะพบกับอุปสรรคใดบ้าง แต่อีกใจก็คิดว่า เราน่าจะพอรับมือกับนักเรียนไหว เพราะเคยสอนรำไทยให้นักเรียนและผู้ปกครองที่เป็นชาวต่างชาติมาก่อน โดยส่วนตัวเป็นคนชอบทำกิจกรรม และชอบภาษาอังกฤษอยู่แล้วคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร และยังได้รับการอบรมพัฒนาศักยภาพครูก่อนมา ก็ยิ่งช่วยเพิ่มความมั่นใจยิ่งขึ้น
เมื่อเดินทางมาถึงก็ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น และเมื่อได้พบนักเรียนในสถานการณ์จริงที่ครูเองจะต้องเตรียมเนื้อหาในการสอน และในขณะเดียวกันสถานการณ์ต่างๆ ในห้องเรียนก็เป็นบทเรียนสำคัญสำหรับครูเช่นเดียวกัน ที่เคยคิดว่าง่ายก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด แต่ครูเองก็หวังว่าจะได้เติมเต็มความภาคภูมิใจ เอกลักษณ์วัฒนธรรมไทยรวมถึงคุณลักษณะที่ดี ให้กับลูกหลานไทยที่วัดพุทธานุสรณ์ ฟรีมอนต์ รวมถึงขอฝากเนื้อฝากตัวด้วยนะคะ”
สุดท้ายนี้ หากนักเรียนคิดว่าภาษาไทยยากอยากให้กำลังใจให้ทุกคนให้ตั้งใจฝึกฝนนะคะ ดังคติประจำใจที่ครูเองพึงระลึกเสมอว่า “ก้าวไปแล้วล้ม ดีกว่าจมอยู่กับที่” เป็นกำลังใจให้กับทุกท่านที่สนใจในภาษาและวัฒนธรรมไทยค่ะ
ขอขอบคุณ คุณครูอาสาภาคฤดูร้อนทั้งสามท่านที่มาสนทนาความในใจและความตั้งใจที่จะมาทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมาให้ได้อ่านกัน และหวังว่าคุณครูและนักเรียนจะประสบความสำเร็จบรรลุสมกับความมุ่งหวัง และสมกับเจตนารมณ์ของโครงการเรียนการสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทย ของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 27 ของการเรียนภาคฤดูร้อน วัดพุทธานุสรณ์ค่ะ
พบกันใหม่โอกาสหน้า สวัสดีค่ะ