บันทึกจากเบย์แอเรีย
เพ็ญวิภา โสภาภันฑ์



จิตอาสา ดนตรีไทย ด้วยน้ำใจเพื่อผู้ป่วย

ไปเมืองไทยคราวนี้ผู้เขียนใช้เวลาไปเฝ้าไข้มารดาอยู่เป็นอาทิตย์ ได้พบได้เห็นได้ปลงกับคำว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย มากกว่าครั้งใดๆ นอกเหนือไปจากการอยู่ในห้องผู้ป่วยแล้วก็มีโอกาสเดินลงจากตึกไปซื้อข้าวของที่จำเป็นต้องใช้และหาอาหารรับประทานบ้าง

ผ่านระเบียงโรงพยาบาล (รัฐ) ผ่านห้องรอพบแพทย์ พบทั้งคนป่วยคนไม่ป่วย พบทั้งหน้าตาเจ้าหน้าที่และแพทย์พยาบาลที่มีแต่สีหน้าบอกความเหนื่อยล้าและอารมณ์ที่ไม่สู้จะเบิกบานประการใดนัก “อยากให้บรรยากาศดีๆ ปรากฎจังเลย” คิดไปเล่นๆ ว่ามันน่าจะมีใครทำบรรยากาศที่โหดๆ เหล่านี้เป็นบรรยากาศที่น่าอภิรมย์มากกว่านี้ เป็นไปได้ไหมเนี่ย....

และแล้วโจทย์นี้ก็มีคำตอบ เมื่ออาจารย์ วราพร พาทยกุล จากโรงเรียนพาทยกุลการดนตรีและนาฏศิลปชักชวนให้ดิฉันไปดูเด็กๆ แสดงดนตรีในโครงการจิตอาสาที่โรงพยาบาลหัวเฉียว เมื่อสองอาทิตย์ที่ผ่านมา “ไปให้กำลังใจเด็กๆ นะคะพี่แมว” ครูแด๋มเชื้อเชิญด้วยคำพูดที่ยากปฏิเสธ

“เด็กเขาสละเวลาส่วนตัวแทนที่จะนอนสบายๆ เช้าวันเสาร์ไปเล่นดนตรีให้คนป่วยและคนที่ไปใช้บริการโรงพยาบาลฟังค่ะ” สนใจ น่าสนใจ ดิฉันตอบรับโดยไม่รีรอ และแล้วในเก้านาฬิกาของวันเสาร์ที่ 20 ตุลาคม ที่ผ่านมา ดิฉันก็ตะลอนทัวร์ไปยังโรงพยาบาลหัวเฉียวที่อยู่แถวๆ ยศเส โดยไปถึงเร็วกว่าเวลาแสดงคือเก้านาฬิกาเพื่อเดินชมบริเวณรอบๆ โรงพยาบาล ซึ่งก็ยังคงไว้ซึ่งกลิ่นอายของวิถีชีวิตตามตรอกซอกซอยเล็กๆ ข้างหลังโรงพยาบาลคือมีตลาดขายของทั้งอาหารและเสื้อผ้าทั้งๆ ที่ซอยแคบคนก็ยังจับจ่ายกันเต็มไปหมด เดินฝ่าฝูงชนไม่ไหวก็เลย

ย้อนกลับมาที่โรงพยาบาลโดยเดินตรงไปยังห้องโถงใหญ่ผ่านโต๊ะประชาสัมพันธ์ สายตาพลันก็เห็นเวทีขนาดย่อมประดับด้วยดอกไม้และป้ายว่า โครงการจิตอาสา โรงพยาบาลหัวเฉียว การแสดงดนตรีไทย โดยโรงเรียนพาทยกุลการดนตรีและนาฏศิลป์ ก็เป็นอันว่ามาถูกที่ รอบๆ ตัวเป็นห้องใหญ่ บริเวณสะอาดสะอ้านมีม้านั่งเรียงไว้ให้คนชมซึ่งเมื่อใกล้เวลาแสดงดิฉันก็เห็นผู้คนเริ่มมาจับจองที่นั่ง และตรงนี้ผู้เขียนก็ได้พบครูแด๋ม ที่เป็นผู้ควบคุมนักเรียนมาในวันนี้ รวมทั้งผู้ปกครองนักเรียนพาทยกุลอีกสองท่าน

ระหว่างนั่งรอคณะนักแสดงจัดเครื่องดนตรีดิฉันก็ไถ่ถามถึงความเป็นมาของการที่พาทยกุลได้มาร่วมกิจกรรม ครูแด๋มเล่าให้ฟังว่า เริ่มโดยเพื่อนของลูกชายของครูแด๋ม (คือน้อง ดอลล่าร์) มีคุณแม่เป็นพยาบาลประจำอยู่ที่นี่ชวนน้องดอลล่าร์มาอาสาเล่นดนตรีเพื่อให้คนที่มาโรงพยาบาลไม่เบื่อหน่ายในการมานั่งรอคอยพบแพทย์ และได้รับการตอบรับที่ดีจากทั้งผู้บริหารและผู้เข้ามารับบริการที่โรงพยาบาล น้องเขามีความสุขที่เป็นผู้ให้และเมื่อเห็นผู้รับฟังมีความสุข ก็เลยมาชักชวนเพื่อนๆ และนักเรียนที่พาทยกุลไปช่วยกันปีนี้นับเป็นปีที่ห้าแล้วผู้ปกครองทั้งสองท่านคือคุณแม่ของน้องมีมี่และของน้องฟ้าเล่าว่า ลูกๆ ก็คิดเช่นเดียวกับน้องดอลล่าร์เมื่อโรงเรียนชวนมาร่วมก็อยากมา ผู้ปกครอง ก็เลยสนับสนุนเพราะเห็นว่าเด็กๆ ได้ใช้เวลาในวันหยุดให้เป็นประโยชน์ การมาเล่นก็ไม่ได้นัดกันเป็นกิจจะลักษณะ ใครว่างที่จะมาก็มา ถามเด็กๆที่มาแสดงทุกคนตอบเหมือนกันหมดว่า

“ชอบมาแสดงดนตรีจิตอาสาที่นี่ เพราะมีความสุขที่ได้เล่นดนตรีได้ฝึกฝนทักษะที่เรียนมา และเมื่อได้รับการสนับสนุนจากทั้งผู้มาใช้บริการโรงพยาบาลและผู้บริหารก็ยิ่งมีกำลังใจที่จะเล่นดนตรี” การแสดงในวันนั้นหนึ่งชั่วโมงเต็มดิฉันเห็นเด็กๆ เล่นดนตรีกันด้วยหน้าตาที่อิ่มเอิบไปด้วยความสุข แม้ว่าบางเพลงจะไม่ได้ซักซ้อมกันมาแต่ทุกคนก็รับลูกที่หัวหน้าวง (พี่เฟิร์น) ส่งให้ ทุกเพลง ทุกเพลง น่ารักมากค่ะ คนที่เดินผ่านไปมาหยุดฟังบ้าง เดินไปหาที่นั่งบ้าง ครูแด๋มเล่าว่าทางผู้จัดเขาต่อสายส่งเสียงการแสดงไปทั่ว ไม่ว่าจะเป็นห้องนั่งรอพบแพทย์หรือห้องผู้ป่วยชั้นบน ถือได้ว่าได้ฟังกันทั่วสมเจตนารมย์ของผู้จัดล่ะค่ะ

คงไม่มีใครที่จะปฏิเสธเสียงดนตรี คงไม่มีใครไม่เคยฟังเพลง คงไม่มีใครไม่เคย (แอบบ้างเปิดเผยบ้าง) ที่จะร้องเพลง

เสียงเพลงเป็นสื่อที่ทำให้ผู้ที่ได้รับฟังเกิดอารมณ์ ไม่ว่าจะอารมณ์ทุกข์หรืออารมณ์สุข บทพระราชนิพนธ์บทหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับเรื่องความงดงามของดนตรีไว้ดังนี้


“ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก
อีกใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ เขานั้นเหมาะคิดขบอัปลักษณ์
หรืออุบายมุ่งร้ายฉมังนัก มโนหนักมือมัวเหมือนราตรี
และดวงใจย่อมดำสกปรก ราวนรกชนเช่นกล่าวมานี่ ไม่ควรไว้ใจในโลกนี้”

เมื่อการแสดงจบลงด้วยเสียงปรบมือ ดิฉันเห็นนักแสดงมีความสุข ผู้ปกครองนักเรียนมีความสุข ผู้ฟังมีความสุข ถือว่าโครงการสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วผู้บริหารโรงพยาบาลล่ะ คิดอย่างไร ครูแด๋มตอบว่าผู้บริหารเล็งเห็นความตั้งใจดีของนักเรียนเมื่อสองอาทิตย์ก่อนยังได้มาพบเด็กๆ และมอบเกียรติบัตรให้เป็นที่ระลึก แถมครูแด๋มยังไปติดต่อให้ดิฉันได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้อำนวยการของโรงพยาบาลอีกด้วย ถือว่าดิฉันโชคดีมากที่วันนั้นท่านผู้อำนวยการเข้ามาทำงานพอดีและยินดีให้เราได้ขึ้นไปพบ ค่ะ..ดิฉันได้พบและได้พูดคุยกับ น.พ.นิธิวัฒน์ กิจศรีอุไร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวเฉียว ซึ่งท่านได้ให้การต้อนรับและตอบคำถามด้วยความเต็มใจยิ่ง

โดยท่านได้ออกตัวนิดหน่อยว่า เรื่องของกิจกรรมจิตอาสานั้นกำลังอยู่ในระหว่างทำโครงการให้เป็นรูปธรรมให้ชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากในมิติที่เห็น ณ ปัจจุบันจะเห็นในการทำงานว่าต่างคนต่างทำงาน มีความแข่งขันสูง จึงอยากกระตุ้นให้คนเกิดความเพลิดเพลินในการทำงาน คนทำงานจะได้รู้สึกเป็นผู้ให้ เนื่องจากในมิติที่เห็นปัจจุบันต่างคนต่างทำงาน มีความแข่งขันสูง ต้องการกระตุ้นให้คนเพลิดเพลินในการทำงานจะได้รู้สึกว่าเป็นผู้ให้ พยายามที่จะรณรงค์ให้คนมีจิตสำนึก ในเรื่องของดนตรีจิตอาสาจัดให้มีขึ้นเพื่อสร้างความผ่อนคลาย ลดความเครียดให้แก่ผู้ป่วยและญาติระหว่างนั่งรอตรวจรักษา การที่นักเรียนมาอาสาเล่นดนตรีถือเป็นการตอบโจทย์ที่ดี มาอาสาให้ความสุขกับคนอื่นในเวลาวันหยุดของตัวเอง ซึ่งท่านผู้อำนวยการแสดงความชื่นชมในการเสียสละของนักเรียนทุกคนที่อาสามาร่วมกิจกรรมนี้

นอกเหนือจากดนตรีอาสา ก็ยังมีอาสาสมัครจากผู้ที่ทำงานอยู่กับโรงพยาบาลและอาสาจากคนนอกก็มี เช่น การให้บริการในด้านที่ไม่ใช่งานอาชีพหลักของตัวเอง บางคนก็รับอาสานำสวดมนต์ บ้างก็นำพาคนไข้ไปส่งตามห้องนัดหมายต่างๆ สมกับความหมายของคำว่า จิตอาสา ตามนิยามของ พระอาจารย์ วิศาล วิสาโร ดังนี้ คือ “ผู้มีจิตในเป็นผู้ให้เช่น ให้ความช่วยเหลือด้วยกำลังแรงกาย แรงสมองซึ่งเป็นการเสียสละสิ่ที่ตนเองมีแม้กระทั่งเวลา เพื่อเผื่อแผ่ให้กับส่วนรวม อีกทั้งยังช่วยลดอัตตาหรือความเป็นตัวของตัวเองลงได้”

ขอบพระคุณผู้อำนวยการ น.พ. นิธิวัฒน์ กิจศรีอุไร ไว้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ ที่กรุณาให้ดิฉันได้เข้าพบและได้ตอบคำถามเกี่ยวกับกิจกรรมดนตรีจิตอาสานี้ ต่อท้ายว่าคุณหมอท่าทางใจดีและสุภาพมากๆ ดูท่านมีความตั้งใจมากที่จะสนับสนุนให้ผู้เข้ามารับบริการทางแพทย์ที่โรงพยาบาลนี้เต็มไปด้วยบรรยากาศที่ดีเท่าที่จะทำได้ สมดังเจตนารมย์ของผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลมาตั้งแต่สมัยแรกเริ่ม โรงพยาบาลหัวเฉียวนี้ถ้าจะบอกว่าเริ่มมาจากมูลนิธิปอเต็กตึ้งก็คงร้องอ๋อกันทั้งแบงคอก เป็นความจริงว่าโรงพยาบาลหัวเฉียวก่อตั้งโดยมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง

เอ้า..เล่าประวัติย่อๆ โรงพยาบาลหัวเฉียวนิดหน่อยนะคะ เพราะว่าจะทำให้ท่านโยงถึงได้ว่าจิตอาสาเนี่ยโรงพยาบาลเขามิใช่เพิ่งจะมี เขามีจิตใจที่จะช่วยเหลือมนุษย์มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2481 โน้นแล้วเมื่อเป็นสถานพยาบาลผดุงครรภ์เล็กๆ จนสถานที่ไม่สามารถรองรับผู้มารักษาได้ ในช่วงปี พ.ศ.2485 ซึ่งเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่2 ที่กรุงเทพฯ ถูกโจมตี แพทย์และพยาบาลยังคงให้บริการทำคลอดและรักษาพยาบาลอย่างไม่ย่อท้อ

เมื่อสงครามสิ้นสุดลง เนื่องจากประชากรในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คณะกรรมการบริหารมูลนิธิป่อเต็กตึ้ง ดำริให้ย้ายโรงพยาบาลฯ จากบริเวณหลังวัดเทพศิรินทราวาส มายังสถานที่ตั้งปัจจุบัน เพื่อรองรับการบริการรักษาพยาบาลครอบคลุมทุกสาขาโรค โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ศาสนา และฐานะ และเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ.2522 พระบาทสมเด็จพระเจัาอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชพร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดอาคาร 22 ชั้น โรงพยาบาลหัวเฉียว อย่างเป็นทางการ ปัจจุบัน โรงพยาบาลหัวเฉียว เติบโตก้าวหน้าขึ้นเป็นโรงพยาบาลทั่วไป (GENERAL HOSPITAL) ให้บริการทุกสาขาการแพทย์ และมุ่งมั่นที่จะดำเนินตามรอยปณิธานของหลวงปู่ไต้ฮง พร้อมให้บริการด้วยคุณภาพมาตรฐาน คณะกรรมบริการบริหารเขาตั้งวิสัยทัศน์ไว้ว่า “หัวเฉียวก้าวไกล มั่นใจมาตรฐาน ประทับใจบริการ โรงพยาบาลเพื่อสังคม"

ดังนั้นจึงไม่เป็นเรื่องน่าแปลกใจเลย ที่เราจะเห็นหลากโครงการที่ผู้บริหารนำมาพัฒนาเพื่อให้คนไข้ได้ประทับใจในบริการ การนำดนตรีไทยมาบรรเลงให้ผู้มารอรับบริการที่โรงพยาบาลก็เป็นหนึ่งวิสัยทัศน์ที่ได้ตั้งไว้ ผู้เขียนเดินกลับเข้ามาในโรงพยาบาล ณ ด้านหน้าซึ่งเป็นบริเวณของโต๊ะประชาสัมพันธ์ และพื้นที่ด้านหลังของโต๊ะ จะเป็นเวทีแสดง

ปิดฉบับกันด้วยรายชื่อของเด็กๆ นักดนตรีผู้มีจิตใจงดงามในวันนั้นค่ะ ที่จริงแล้วมีอีกแยะนะคะที่มีจิตอาสา แต่วันนี้ขอลงเฉพาะผู้ที่ได้ไปวันนั้นไปก่อนค่ะ มิฉะนั้นรายงานฉบับนี้คงจะยาวเหยียดหมดโควต้าดิฉันเสียก่อน

ระนาดเอก ณรอรรฆ์ ประมวญภรณ์ (ไผ่) ซออู้ มาดาพร น้อยนิตย์ (เฟิร์น) ซอด้วง กชพรรณ หอมหวลดี (เอ็มม่า) ซอสามสาย พรพิมาย ธนะสาร (มีมี่) จะเข้ กนกพร พยุงวงษ์ (ฟ้า) ขลุ่ย วรเดช ตุมราศวิน (อ๋อม) กลอง ณัฏฐ์ธวัช น้อยนิตย์ (ฟาร์ม) ฉิ่ง พิชชากร ลวกิตติไชยยันต์ ( เอิง) ขิม ขจรธรรม พาทยกุล (ดอลล่าร์)

ภาพประจำฉบับเป็นกิจกรรมดนตรีจิตอาสา และแถมท้ายด้วยภาพน้องๆ นักแสดงนาฏศิลป์บางส่วนในวันแสดงผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาดนตรี-นาฏศิลป์ไทย ที่โรงเรียนพาทยกุลเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา พบกันใหม่ฉบับหน้าค่ะ....