และแล้วดิฉันก็โชคดีที่การไปเมืองไทยปลายปี พ.ศ. 2561 เป็นการไปที่ถูกเวลาคือไปในเดือนพฤศจิกายน ทำให้ได้มีโอกาสไปชมโขนของ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ใน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ซึ่งได้หยุดพักการแสดงไปน่าจะเป็นประมาณสองปีในช่วงที่คนไทยไว้ทุกข์ในการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตรเสด็จสวรรคต
ก่อนที่จะเล่าสู่กันฟังถึงความอลังการ ความวิจิตรสวยงาม ความบันเทิงจากการแสดง ดิฉันก็ขอท้าวความพอเป็นสังเขปเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เกิดความภาคภูมิใจและเข้าใจถึงความเป็นมาของโขนที่พวกเรามักจะเรียกกันสั้นๆว่าโขนสมเด็จฯ ก็จะรู้กันว่าเราหมายถึงอะไร สำหรับท่านที่ยังไม่ได้สัมผัส หรือไม่ทราบรายละเอียดความเป็นมานั้น ก็ขอให้อ่านกันดูนะคะ เพราะว่าเวลานี้การแสดงโขนสมเด็จฯ นั้นย่างเข้าสู่หนึ่งทศวรรษของการแสดงแล้วนะคะ (ขอบคุณข้อมูลจากสูจิบัตรที่มีให้จับจองในวันงานแสดงนะคะ)
สำหรับท่านที่นิยมชมชื่นและติดตามโขนสมเด็จฯ มาตลอดสิบกว่าปี ย่อมทราบดีว่า อันการแสดงโขนที่จัดโดยมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นั้น เกิดขึ้นจากพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ว่าสมควรอนุรักษ์ศิลปะการแสดงโขนและเครื่องแต่งกายโขนไว้ไม่ให้สูญหาย อีกทั้งควรจัดการแสดงโขนเพื่อให้ประชาชนได้สัมผัสถึงความประณีตงดงามและคุณค่าในเชิงช่าง โดยผสมผสานเข้ากับเทคนิคการแสดงละครเวทีสมัยใหม่เพื่อให้เกิดความตื่นตาตื่นใจยิ่งขึ้น การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เริ่มจัดให้มีการแสดงครั้งแรกในพุทธศักราช 2550 และจัดต่อเนื่องทุกปี ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งปรเะเทศไทย ในปีนี้เป็นวาระครบ 11 ปี
การแสดงภายในสิบเอ็ดปีได้มีการแสดงชุดต่างๆ ดังนี้
ตอนพรหมาศ ตอนนางลอย ตอนศึกมัยราพณ์ ตอนจองถนน ศึกกุมภกรรณ (ตอน โมกขศักดิ์) ศึกอินทรชิต (ตอนนาคบาศ) ศึกอินทรชิต (ตอนพรหมาศ) และล่าสุดที่เพิ่งปิดการแสดงไปเมื่อเดือนธันวาคม 2561ก็คือตอน พิเภกสวามิภักดิ์ ที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ ซึ่งดิฉันภูมิใจยิ่งที่ไม่เคยพลาดการแสดงแม้สักครั้งเดียว
เรื่องราวความเป็นมาของการที่พิเภกไปสวามิภักดิ์ต่อพระราม
การแสดงครั้งนี้จับเรื่องเริ่มต้นองค์ที่หนึ่ง สุบินนิมิต ตอนที่พิเภกถูกขับ เพราะว่าไปทำนายที่ทศกัณฐ์สุบิน ความสำคัญของสุบินที่ทำให้เกิดเป็นเรื่องใหญ่ก็มีอยู่ว่า
“เมื่อรัตติกาลพี่สุบินนิมิตผิดประหลาด พี่ฝันว่ามีแร้งขาวผ่องพิลาสล้ำสำลี สำแดงฤทธิ์ดั่งราชสีห์โบยบินนมาเบื้องบูรพาทิศ แล้วมีแร้งดำกระทำฤทธิมาแต่ทิศประจิมสถาน ทั้งสองปักษิณบินเข้ายุทธนาการกันกลางฟ้า แร้งขาวนั้นกลั่นกล้าฆ่าแร้งดำตาย พอตกถึงดินร่างก็กลายเป็นอสุรี
อีกเรื่องหนึ่งนั้นพี่นี้นิมิตว่า นั่งถือกะลาสีคลาดคล้ำใส่น้ำมันยาง ประกอบด้วยใส้ใส่วางไว้ในหัตถ์ มี อีหญิงหนึ่งร่างสารพัดจะกาลี ที่ในมือถืออัคคีวิ่งมาจี้จุด ไฟก็รุดลุกลามฮือจนมือไหม้ พี่ประหลาดจิตคิดสงสัยนอนไม่หลับ เจ้าเป็นโหรชั้นครูรู้ตำหรับตำราเลิศ จงช่วยทำนายทายทีเถิดพ่อน้องชาย ว่าฝันดีของพี่หมายว่าอย่างไร”
ทีนี้ท่านพิเภกอสุรีผู้เป็นโหรระดับปรมาจารย์ฟังแล้ว ยกกระดานคู่ใจมาคำนวนก็ให้เกิดพรั่นพรึง เห็นแจ้งว่าภิภพยักษาคงจะถึงแก่จบสิ้นแน่ ความที่เป็นยักษ์ที่ “เห็นสิ่งไรก็ทำนายไปตามจริง” ก็เลยทูลทศกัณฐ์ผู้เป็นพี่ชายไปว่า
“ขอบารมีคุ้มเกล้าฝ่าพระบาท พระสุบินนิมิตของพระเชษฐาธิราช บอกลางร้ายไม่สถาวร อันกะลาในพระกรได้แก่ลงกา อุปมาสายชนวนใส้ได้แก่พระองค์ น้ำมันยางได้แก่พระญาติวงศ์ทั้งน้อยใหญ่ ความร้อนเริงพิษษเพลิงไหม้ได้แก่นางสีดา หญิงที่วิ่งมาจุดไฟได้แก่สำมะนักขากาลีร้าย ส่วนแร้งดำคำคำทำนายหมายเจาะจง คือองค์พระเจ้าพี่ แร้งขาวราวสำลีคือพระรามตามมารบ ขอพระองค์ดำรงภพโปรดทรงยับยั้งชั่งพระหฤทัย พระสุบินนิมิตลางบอกเหตุเป็นเภทภัยควรระวังระไว”
ทศกัณฐ์ฟังแล้วก็ขัดเคืองระคายหู แต่ก็หวังว่าสุบินนิมิตนี้คงแก้ไขได้ จึงขอความเห็นอสุรีผู้เป็นน้องว่า จะมีวิธีเลี่ยงและสะเดาะเคราะห์ให้หายได้อย่างไร
พิเภกคนซื่อก็ตอบตามจริง ทว่าคำตอบอันกล้าหาญนี้แหละทำให้ตัวเองเกือบชะตาขาด ก็ไปสอนท่านพี่ดังนี้
“ขอพระองค์ผู้ทรงชัยได้โปรดเกล้าฯ การแก้ไขเรื่องร้ายดังนั้นเล่ากลับเป็นดี มีทางเดียวคือขอให้พระองค์ส่งนารีองค์สีดากลับไปให้พระรามาผู้สามี”
เท่านี้พญายักษ์ก็พิโรธหนัก ซึ่งในบทเจรจาโกรธของท้าวทศกัณฐ์นั้นคนดูฟังแล้วก็ฮากันทั้งโรงละคร ขอยกบทมาให้อ่านเพราะดิฉันเชื่อว่าบทนี้สำคัญต่อเรื่องราวว่าทำไมพญามารจึงโกรธนักหนา
“เหม่ ไอ้พิเภก ไอ้กาลีกล่าวกระล่อน แกล้งกลับกลอกยอกย้อนหลอนหลอกกู ไอ้ทรลักษณ์อกตัญญูดูถูกพี่ ยกเอาเจ้ารามพราหมณ์ชีดีกว่าพงษ์พันธ์ เฮ้ย กูนี้ท้าวทศกัณฑ์เนื้อหน่อบรมพรหม ใครวะจะกล้ามาล้มบัลลังก์เล่น มึงมันทุจริตผิดเช่นเป็นน้องชาย ถึงแม้ความฝันมันจะเลวร้ายในเรื่องราว ก็มึงจะทายเปลี่ยนแปลงให้กูเป็นแร้งขาวไม่ได้หรือ (ตอนนี้คนดูฮากันครืนทั้งโรงละคร) ช่างเสียแรงที่กูหารือถือปรึกษา ไอ้โง่เง่าไปเผาตำราเสียเถิดไป เมื่อมึงเห็นเจ้ารามมีฤทธิไกรไปกว่ากู ไอ้จัญไรมึงไม่ต้องอยู่ในหมู่มาร”
และแล้วท้าวทศกัณฐ์ก็เข้าไล่ทำร้ายพิเภก กุมภกรรณและอินทรชิต เข้ากันและห้าม และทันทีที่ทศกัณฐ์จับยอดมงกุฏพิเภก กุมภกรรณก็เป็นผู้กราบทูลทศกัณฐ์ผู้เป็นพี่ร้องขอชีวิตพิเภกไว้ โดยยกคำขอของพระบิดาพวกเขามาเตือนพี่ชายว่า
“ช้าก่อน พระบรมเชษฐามหายศ พระองค์ทรงเงือดงดโทษประหาร ด้วยสมเด็จพระบรมชนกนาถเคยพระราชทานดำรัสสั่ง ว่าพิเภกไร้กำลังและอิทธิฤทธิ์ แม้นประมาทพลาดผิดควรจะอภัย การเพียงนี้จึงมิควรให้ถึงวายชีวา”
คำเตือนนี้แหละทำให้ท้าวทศกัณฐ์ยั้งคิดไม่เอาชีวิตน้องให้ถึงตายจึงสั่งให้ขับไล่พิเภกให้ไปลาลูกเมียและออกไปจากลงกา
ฉากสำคัญต้นสาเหตุที่พิเภกโดนขับออกจากกรุงลงกาและภายหลังไปสวามิภักดิ์ต่อพระรามจึงเป็นดังที่เล่ามานี้
ปิดฉากนี้โดยพิเภกเข้าไปกราบลาทศกัณฑ์ ทศกัณฐ์เมินหน้าและทำท่าขับไล่ พิเภกลากุมภกรรรณและอินทรชิต จากนั้นมโหธรก็เข้าไปถวายบังคมเชิญเสด็จพิเภกออกจากท้องพระโรง
ก็จะขอจบการเล่าเรื่องที่ไปดูตอนแรกนี้ไว้ก่อน ฉบับต่อไปจะมาเล่าต่อนะคะ การเล่าถึงไปดูโขนสมเด็จตอนพิเภกสวามิภักดิ์นี้อาจจะยาวจนต้องแบ่งการเล่าไปหลายฉบับ แต่ดิฉันอยากจะเล่าสู่กันฟังให้ละเอียดสำหรับแฟนโขนในเบย์แอเรียและซานฟรานที่เวลาเจอดิฉันมักจะบอกว่าอยากให้เล่าแบบคนอ่านสามารถมองเห็นภาพไปด้วยได้ ...ก็เล่าด้วยสไตล์ดิฉันล่ะค่ะ ทั้งจากบทในสูจิบัตรและจากประสบการณ์
ขอบันทึกไว้ ณ ที่นี้ว่า บทโขนนี้ได้รับการปรับปรุงมาจากบทโขนชุด มารชื่อพิเภก ของกรมศิลปากร บทพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ ฉบับรัชกาลที่ 1-2 และบทพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ ตอนพิเภษฐ์ ถูกขับ ฉบับรัชกาลที่ 6 และในการแสดงครั้งนี้ มี อาจารย์ ประเมษฐ์ บุณยะชัย ประพันธ์บท อาจารย์ ทัศนีย์ ขุนทอง บรรจุเพลง
เนื่องจากเราไม่สามารถถ่ายภาพเวลาเขาแสดงได้ จึงขอนำภาพจากสูจิบัตรมาประกอบการเขียนค่ะ
พบกันตอนหน้าที่จะนำผู้อ่านไปมีส่วนร่วมกับความงดงามในเชิงวรรณคดี ในการถ่ายทอดความประทับใจ รวมถึงการที่องค์กรยูเนสโก้ได้ประกาศให้โขนของไทยเป็นมรดกโลกทางภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม หรือมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2561 นี้ด้วย
สวัสดีค่ะ