สิ่งดีๆ ที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อวีคเอ็นด์ที่ผ่านมา ก็คือการที่ดิฉันได้มีโอกาสพบกับ “พี่อู๊ด” ศาสตราจารย์ประภาศรี สีหอำไพ อีกครั้งหลังจากที่ “บังเอิญ” เจอกันที่ตลาดนัด “บอง มาเช่” ที่ประเทศไทยเมื่อสามปีที่แล้ว แม้ว่ากรุงเทพฯ จะไม่ได้ใหญ่โตกว้างขวางเกินความสามารถที่จะไปพบกันได้ หนทางมิใช่ปัญหา แต่เป็น “หนทางแห่งเวลา” ต่างหากที่ทำให้ดิฉันพลาดพบ พี่อู๊ด ไปนานนับปี และอีกครั้งที่เฉียดเฉือนเกือบได้พบก็คือการนัดพบกับกลุ่มศิษย์รุ่นหนึ่งของนิเทศศาสตร์จุฬาฯ ในวันรำลึกถึง ศ.บำรุงสุข สีหอำไพ ผู้ก่อตั้งคณะพวกเราเมื่อปลายปีที่แล้ว และในการเขียนถึง ศ.ประภาศรีในที่นี้ขอเรียกท่านว่า “พี่อู๊ด”
มิใช่ว่าจะตีสนิทไม่แสดงความเคารพนะคะ แต่พี่ท่านขอให้เรียกท่านเช่นนั้นค่ะ
“พี่อู๊ด” ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความสนิทชิดเชื้อเสมือนญาติ ในขั้นต้นเพราะพี่อู๊ดเป็นภรรยาของ ศ.บำรุงสุข สีหอำไพ อาจารย์ของดิฉันสมัยเรียนอยู่ที่แผนกอิสระสื่อสารมวลชนฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (คณะนิเทศศาสตร์ในปัจจุบัน) ดิฉันเป็นนิสิตรุ่นแรก ถือตัว (เอาเอง) ว่าเป็นศิษย์หัวกะทิของ “บ.ร.ส.” นามทีเราเรียก ศ.บำรุงสุข สามีของพี่อู๊ดผู้ก่อตั้งคณะ ดิฉันกล้าเรียกว่าตัวเองเป็นศิษย์หัวกะทิ ท่านเห็นว่าดิฉันเป็นนักเรียนทุนแลกเปลี่ยนเอเอฟเอส รุ่นแรก ท่าน “เชื่อ” ว่าดิฉันเก่งภาษาอังกฤษ และจะได้ดีต่อไป แต่ดิฉันช่าง “ขี้เกียจ” และ “โดดเรียน” บ่อยมาก เพราะตอนนั้นกำลังแรกแย้ม มีหนุ่มๆ มาติดพันพาโดดเรียนยามเย็น (คณะของเรานั้นตอนแรกสอนเราเรียนกันภาคกลางคืนค่ะ) เนื่องจากท่านเมตตาดิฉันมากท่านก็เลยออกจะผิดหวังในตัวดิฉันอยู่ไม่น้อย ที่เรียนถึงเทอมสุดท้ายของปีที่สี่แล้วกลับกระโดดมาอเมริกาเสียก่อน
อย่างไรก็ดีขอกระโดดข้ามไปอีกมิติหนึ่ง นั่นก็คือเมื่อดิฉันมาตั้งรกรากอยู่กับสามีที่เมืองยูเนี่ยนซิตี้ในเบย์แอเรีย ในปีที่วัดพุทธานุสรณ์ยังเป็นเด็กหัดเดินได้เพียงไม่ถึงห้าปี ดิฉันก็ได้พบพี่อู๊ดที่เดินทางมาเป็นหนึ่งในคณาจารย์ที่อาสาสมัครไปดูแลจัดหลักสูตรการเรียนการสอนในโครงการสอนภาษาและวัฒนธรรมไทย ของคณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้กับวัดพุทธานุสรณ์ในปี พ.ศ. 2531 หลังจากที่โครงการได้ประสบความสำเร็จในการจัดการสอนภาษาไทยแก่เยาวชนไทยในลอสแอนเจลิส เมื่อปี พ.ศ. 2527 โดย “พี่อู๊ด” เป็นหนึ่งในคณาจารย์ที่อาสาสมัครไปปฏิบัติงานสอนในปีแรก ที่จริงแล้วพี่อู๊ดเคยใช้ชีวิตอยู่ในเบย์แอเรียพักหนึ่งแล้ว ตอนนั้นได้รับเชิญมาเป็น Visiting Professor ที่ San Jose State University, San Jose, California ปี ค.ศ. 1986-7
ท้าวความกลับไปตรงที่ว่าดิฉันได้พบพี่อู๊ดเมื่อมาจัดหลักสูตรโครงการให้วัดพุทธาฯ ในครั้งนั้นลูกสาวสองคนของดิฉันซึ่งกำลังอยู่ในวัยเรียนไฮสคูล ก็เข้าเรียนกับโครงการนี้และได้เรียนสำเร็จจบหลักสูตร ตอนนั้นทางกระทรวงศึกษาฯรับรองให้เทียบเท่ากับชั้นประถมปีที่ 4 และในวันรับสัมฤทธิบัตร พี่อู๊ดท่านเป็นผู้มอบสัมฤทธิบัตรให้ บัดนั้นถึงบัดนี้ยี่สิบห้าปี
กาลเวลาผ่านมาจนขณะนี้วัดพุทธานุสรณ์เติบใหญ่อายุครบสามสิบปีบริบูรณ์ในปีนี้ ทางกรรมการวัดได้เห็นความสำคัญของพี่อู๊ด ได้ส่งจดหมายเรียนเชิญไปยังผู้บริหารโครงการ ขอเชิญ ศาสตราจารย์ประภาศรี สีหอำไพ มาเป็นประธานพิธีมอบสัมฤทธิบัตรนักเรียนภาคฤดูร้อน ปี พ.ศ. 2556 ณ วัดพุทธานุสรณ์ ฟรีมอนต์
ไม่กี่ปีหลังจากนั้นพี่อู๊ดก็ได้กลับมาพำนักกับครอบครัวลูกสาวคนโต น้องแอน-ศุภศรี (สีหอำไพ) แก้วจินดา ที่มามีครอบครัวและตั้งรกรากอยู่ที่ซิลิคอนแวลลี่ย์ เราจึงนับว่าเบย์แอเรียเป็น “บ้านที่สอง” ของพี่อู๊ด จากนั้นดิฉันก็อพยพกลับประเทศไทย โดยลูกสาวคนเล็กยังอยู่ที่เบย์แอเรีย และดิฉันกลับมาเบย์แอเรียอีกครั้ง แต่ทราบข่าวว่าครอบครัวน้องแอนย้ายไปทำงานที่อีสโคสต์ และปัจจุบันอาศัยอยู่รัฐเวอร์จิเนีย
ย้อนไปย้อนมาอย่าเพิ่งงงนะคะ เอาล่ะค่ะ เข้าเรื่องเรื่องราววีคเอ็นด์ที่ผ่านมาต่อล่ะค่ะ
เริ่มเหตุการณ์อันน่าปลื้มสำหรับครอบครัวดิฉันเมื่อวีคเอ็นด์ที่ผ่านมาก็คือ ลูกสาวคนเล็กของดิฉัน “จอย” ได้นำลูกสาวสองคนอายุสิบขวบและแปดขวบ มาเป็นนักเรียนภาษาและวัฒนธรรมของวัดพุทธาฯ นับเป็นปีที่สี่ที่เรียน และหลานยาย จีเซลและคามีลของดิฉัน ก็เป็นผู้ที่จะเข้ารับสัมฤทธิบัตรจากพี่อู๊ด ด้วย
ภาพของลูกสาว “จอย” เข้าคารวะพี่อู๊ด และภาพหลานทั้งสองเข้ารับมอบสัมฤทธิบัตรจากพี่อู๊ด จึงเป็นภาพประทับใจของคลื่นลูกที่สองและสามที่ได้มาเป็นศิษย์ ศ.ประภาศรี สีหอำไพ ไม่นับดิฉันซึ่งเป็นศิษย์ของ ศ.บำรุงสุข จึงขอนับว่าเราเป็นสามรุ่นสืบสานความเป็นศิษย์และครูของ “สีหอำไพ” โดยแท้ จึงเป็นความพิเศษที่ประทับใจและจะจดจำไว้อีกนานเท่านาน
พี่อู๊ด หยิบไมโครโฟนขึ้นมาประกาศหลังจากดิฉันได้แสดงมุทิตาต่อท่าน ว่า
“สัญญาว่า จะมามอบสัมฤทธิบัตรให้อีกในวันที่หลานชายคุณแมวเรียนจบจากโครงการนี้”
...อย่าลืมสัญญานะคะ เพราะว่าจอยเขาจะพา เบรนดัน หลานชายมาเข้าเรียนกับโครงการแน่ๆ ค่ะ
ขอยกความดีให้กับโครงการนี้ หากผู้ปกครองไม่เห็นว่ามีความสำคัญเขาก็คงไม่นำลูกหลานกลับมาเรียนอีกแน่นอนค่ะ
ขอเพิ่มเติมว่า จอยเขาเรียนรู้การอ่านเขียนและแม้จะห่างเหินการเรียนมานับสิบปีแต่เขาก็ยังอ่านและเขียนภาษาไทยได้ แม้เขาจะออกตัวว่า “เขียนลายมือเหมือนเด็กประถม” ดิฉันก็ยังภูมิใจ
ส่วนลูกสาวคนโตของดิฉัน จิ๊บ-ภิษณี นั้นหลังจากเรียนจบจาก Cal State Hayward (Cal State East Bay ปัจจุบัน) แต่งงานกับคนไทยและย้ายถิ่นฐานไปอยู่ประเทศไทย ทำให้สิ่งที่เรียนมาจากวัดไทยและโครงการนำไปใช้ได้ โดยเขาได้เข้าเรียนปริญญาโทต่อที่ ศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปัจจุบันทำงานตำแหน่งระดับผู้บริหารของบริษัทอเมริกันข้ามชาติในกรุงเทพฯ และสามารถใช้ทั้งภาษาอังกฤษและไทยได้เป็นอย่างดี
กลางเดือนกรกฎาคม ก่อนเดินทางมานี้พี่อู๊ดก็เพิ่งได้รับการยกย่องจากกระทรวงวัฒนธรรมไทย ให้เป็นหนึ่งในสองของ ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย เป็นผู้ที่มีความสามารถ มีความเชี่ยวชาญและมีผลงานดีเด่น เป็นที่ยอมรับของวงการด้านภาษาไทย ซึ่งคุณสุ ส.ท่าเกษม เจ้าของคอลัมน์คุยกันวันเสาร์ ได้เล่ารายละเอียดไปในหนังสือพิมพ์ไทยแอลเอเมื่อ วันที่ 10 สิงหาคม ศกนี้ค่ะ
พี่อู๊ดคงจะท่องอเมริกาอีกหลายอาทิตย์ เราคงได้อ่านเรื่องสนุกๆ จากพี่อู๊ดในคอลัมน์ สารพันวรรณนา ในหนังสือพิมพ์ไทยแอลเอนี้อีกหลายเรื่องล่ะค่ะ
ขอให้พี่สนุกกับการเดินทางมาปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้ สุขกาย สุขใจ ตลอดไปนะคะพี่อู๊ด
ชมภาพจากกิจกรรมที่มี ศาสตราจารย์ประภาศรี สีหอำไพ ได้มาร่วมที่วัดพุทธานุสรณ์ งานวันแม่ งานรับสัมฤทธิบัติ
พบกันใหม่โอกาสหน้าค่ะ