บันทึกจากเบย์แอเรีย
ผอ.นสพ.เพ็ญวิภา โสภาภัณฑ์



บันทึกจากเบย์แอเรีย 5 สิงหาคม 2566

สวัสดีค่ะ บันทึกฉบับนี้ต่อเนื่องจากฉบับที่แล้ว เป็นการแนะนำคณะครูสองท่านที่มาสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยให้กับนักเรียนช่วงฤดูร้อนในปี ค.ศ. 2023 จากโครงการของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปแล้ว ฉบับนี้ขอแนะนำอีกสองท่านที่มาจัดอบรมดนตรีไทยให้กับนักเรียนในโครงการของสภาวัฒนธรรมไทยในสหรัฐอเมริกาแห่งเมืองฟรีมอนต์ ณ วัดพุทธานุสรณ์เมืองฟรีมอนต์ค่ะ

โครงการของสภาฯฟรีมอนต์นี้ ได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ประเทศไทย โดยมอบให้คุณครูสองท่านจากวิทยาลัยนาฏศิลป สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์มาสอน ดังนี้ค่ะ


“ครูแมว””อาจารย์ ทรงยศ แก้วดี

ตำแหน่ง ครูชำนาญการสังกัดวิทยาลัยนาฏศิลป

ประวัติการศีกษา ศิลปมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ปริญญาตรี สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล มัธยมศึกษา วิทยาลัยนาฏศิลป

ประสบการณ์ ครู/วิทยากร ดนตรีไทยในสภาบันต่างๆ ครูสอนดนตรีไทยในโครงการเผยแพร่วัฒนธรรมของสภาวัฒนธรรมแห่งเมืองฟรีมอนต์ สหรัฐอเมริกา : ประพันธ์เพลงระบำชุดการแสดงสร้างสรรค์ : ผู้ควบคุมการฝึกซ้อมและการบรรเลงในงานวาระสำคัญของราชการ : ศิลปินรับเชิญงานบรรเลงดนตรีไทยในวาระสำคัญของคุรุปูชนียบุคคลของวงการดนตรีไทย เป็นต้น


“ครูตึ๋ง” อาจารย์ ชัยรัตน์ วีระชัย

ตำแหน่ง ครูวิทยฐานะ ชำนาญการพิเศษ สถานที่ทำงาน วิทยาลัยนาฏศิลป

ประวัติการศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น วัดนวลนรดิศ ระดับประกาศนียบัตรนาฏศิลปชั้นกลาง วิทยาลัยนาฏศิลป ระดับประกาศนีบัตรนาฏศิลป์ชั้นสูง วิทยาลัยนาฏศิลป ปริญญาตรีศึกษาศาสตร์บัณฑิต (ศษ.ม) วิทยาลัยนาฏศิลปสมทบคณะนาฏศิลป์และดุริยางค์ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ปริญญาโท ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ประสบการณ์ ครูวิทยากรพิเศษ สภาวัฒนธรรมไทยแห่งเมืองฟรีมอนต์ สหรัฐอเมริกา : คณะกรรมการมูลนิธิ เตือน พาทยกุล : ครูพิเศษ สอนวิชาดนตรีไทย โรงเรียนพาทยกุลการดนตรีและนาฏศิลป์ : ครูสอนดนตรีไทย ยุวศิลปินสืบทอดศิลปวัฒนธรรมในอุปถัมภ์มมูลนิธิ ร.2 : ศิลปินรับเชิญงานบรรเลงดนตรีไทยในวาระสำคัญของคุรุปูชนียบุคคลของวงการดนตรีไทย : ศิลปินและวิทยากรเผยแพร่วัฒนธรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น อเมริกา จีน ลาว พม่า มาเลเซีย สิงคโปร์ เป็นต้น

การมาเป็นวิทยากรอบรมให้กับสภาฟรีมอนต์ในปีนึ้ เป็นการมาครั้งที่สามของคุณครูทั้งสองท่าน ดังนั้นคุณครูจึงมีความคุ้นเคยกับชาววัดและสถานที่ ครั้งนี้มีศิษย์เก่าของคุณครูหลายๆ คนก็กลับมาเรียนอีก และก็เพิ่มนักเรียนใหม่มาอีกหลายคน รวมผู้เข้าเรียนกับคุณครูซัมเมอร์นี้ทั้งหมดห้าสิบคน

นอกเหนือจากเยาวชนแล้ว ครูยังมีนักเรียนระดับผู้ใหญ่ที่ชื่นชอบในดนตรีไทยมาสมัครเรียนกันมากราย ไม่ว่าจะเป็นระนาด จะเข้ ขลุ่ย ขิม และพิณ ซึ่งแต่ละคนก็ตั้งใจเรียน และชื่นชมที่ทางสภาฯได้ให้จัดอบรมนี้ขึ้น เพราะเป็นการได้เรียนกับคุณครูที่ชำนาญการจากวิทยาลัยที่สอนการดนตรีไทยโดยเฉพาะ ผู้เขียนได้ขอความคิดเห็นจากคุณครูทั้งสองท่าน ว่าท่านคิดอย่างไรกับเยาวชนไทยที่เกิดและเติบโตในอเมริกา ที่ได้ให้ความสนใจมาเรียนดนตรีไทย และจากการที่คุณครูทั้งสองได้มาสอนให้กับโครงการนี้เป็นครั้งที่สามแล้ว “คิดว่าเขามีพัฒนาการในการเรียนอย่างไร” และครูอยากจะฝากข้อคิดใดให้ผู้ปกครองและนักเรียนรุ่นผู้ใหญ่ที่มาเรียนในการช่วยสืบสานดนตรีไทยหรือสมัครเรียนดนตรีต่อไปในอนาคตเช่นไร


คำตอบของ “ครูตึ๋ง” ชัยรัตน์

“เชื่อว่าเยาวชนไทยเหล่านี้ สามารถสืบสานศิลปะวัฒนธรรมของดนตรีไทยในต่างแดนได้เป็นอย่างดี หลายคนที่ครูเคยสอนให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้นเป็นลำดับจากที่เคยมาต่อเพลงธรรมดา ครั้งนี้สามารถต่อเพลงเดี่ยวได้ เพลงเดี่ยวเป็นเพลงที่ต้องใช้ความสามารถ ใช้ฝีมือและใช้สมอง เด็กเหล่านี้สามารถทำได้ดี บางเพลงบางเครื่องมือ เด็กๆ จะต้องใช้ความพยายามในการบรรเลงกลวิธีต่างๆ ซึ่งเด็กๆ หลายๆ คนสามารถทำได้ทันที สิ่งเหล่านี้ย่อมแสดงให้เห็นว่าแม้พวกเขาจะอยู่ห่างไกลจากเมืองไทยซึ่งเป็นวัฒนธรรมแม่ แต่สามารถสืบสานและบรรเลงได้อย่างสมบูรณ์ หรือ แม้แต่ผู้ที่เริ่มเรียนในระดับฝึกหัดเบื้องต้นหลายคนก็พยายามฝึกฝนและสามารถทำได้อย่างที่ครูสอน อีกทั้งยังพัฒนาตนเองด้วยการใช้สื่อต่างๆ ในโลกออนไลน์มาดูและนำมาประยุกต์ใช้กับของตัวเองได้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าและความพยายามที่จะสืบสานดนตรีไทยต่อไป จึงขอฝากผู้ปกครองและนักเรียนที่เข้ามาร่วมโครงการนี้ว่าขอให้ช่วยกันอนุรักษ์และสืบทอดศิลปะวัฒนธรรมไทยเหล่านี้กันต่อไป”


คำตอบของ “ครูแมว” ทรงยศ

“นักเรียนที่มาสมัครเรียนในรุ่นนี้มีกันหลายวัย ตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ ทำให้เห็นว่าดนตรีไทยนี้มีผู้สนใจศึกษาเล่าเรียนโดยไม่จำกัดวัยวุฒิ จากการที่ได้สอนมาสังเกตและเห็นชัดว่านักเรียนทั้งรุ่นเด็ก รุ่นผู้ใหญ่ ให้ความสนใจอย่างมาก โดยที่ความสนใจนี้เริ่มจากการที่มาเรียนตรงตามเวลา แสดงว่ามีความตั้งใจที่จะมาเรียนรู้ เมื่อให้พักก็จะไม่ค่อยพักกัน กลับไปนั่งทบทวนเพลงที่ได้สอนและสอบถามครูเพิ่มเติม ทำให้ดีใจที่ยังมีผู้ให้ความสนใจในการเล่นดนตรีไทยอยู่แม้จะอยู่ต่างแดน ผู้เข้าเรียนหลายหลายคนมีศิลปะนิสัยที่ดี จากการที่ได้มาทำการสอนมาถึงสามครั้งจึงได้เห็นถึงการพัฒนาการเปลี่ยนเครื่องมือได้และสามารถปฏิบัติได้อย่างดี เพราะในแต่ละเครื่องมือจะมีการบรรเลงที่แตกต่างกัน ทว่านักเรียนมีความสามารถบรรเลงทางเพลงของเครื่องดนตรีนั้นนั้นซึ่งมีความแตกต่างกันมากได้ อยากจะฝากไปถึงคณะกรรมการสภาฯ ฟรีมอนต์ ได้พิจารณาให้การสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มพูนทักษะต่อไป เชื่อว่าหากมีการสนับสนุนสม่ำเสมอจะเป็นการ

สืบสานศิลปะด้านดนตรีไทยเป็นที่ประจักษ์และรับความนิยมชื่นชอบทั้งในหมู่คนไทย และต่างชาติสมดั่งเจตนารมย์สืบไป”

คุณครูทั้งสองจะเสร็จสิ้นภาระกิจและเดินทางกลับประเทศไทยในปลายเดือนสิงหาคม 2023 นี้แล้ว หวังว่าทางสภาฯ ฟรีมอนต์ และชาววัดพุทธานุสรณ์จะได้มีโอกาสต้อนรับคุณครูอีกในอนาคตอันใกล้นี้นะคะ

เดินทางกลับไทยโดยสวัสดิภาพค่ะ