บันทึกจากเบย์แอเรีย
เพ็ญวิภา โสภาภันฑ์



คุยเรื่องประชาคมอาเซียน กับ เอเซียทิค (คนละเรื่องแต่ใกล้เคียงกัน)

วันนี้ก่อนจะพาเที่ยวชมสถานที่น่าสนใจเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมอีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ อยากจะท้าวความถึงข่าวที่ค่อนข้างจะได้ยินบ่อยตั้งแต่มาอยู่ประเทศไทย นั่นก็คือเรื่องเกี่ยวกับที่ประเทศไทยกำลังเตรียมพร้อมสำหรับ ประชาคมอาเซียน

ตอนแรกๆ ก็ปล่อยให้ผ่านหูผ่านตาไปเรื่อยๆ ไม่ได้ใส่ใจเท่าไร เดาๆ เอาว่าเขาพูดถึงการรวมตัวของชาติอาเซียน รวมตัวอย่างไรเพื่ออะไรก็ไม่รู้ จนกระทั่งได้พบเพื่อนๆ ตอนไป meeting กันประสาผู้สูงอายุ เมื่อพบกันก็คุยกันเรื่องจิปาถะ ไอ้ที่หัวการเมืองก็คุยเรื่องการเมืองอย่างเอาเป็นเอาตายจบลงด้วยอาการเครียดต้องสั่งโอยั๊วะมาเพื่อยั๊วะกาแฟแทนยั๊วะเพื่อน ตอนหลังเราก็เลยคุยเรื่องอื่น อาทิ เศรษฐกิจประเทศชาติ เออ..อันนี้ค่อยคุยด้วยกันได้หน่อย

ว่าแล้วเพื่อนก็เล่นอารัมภบทกันด้วยคำเพราะพริ้งว่า มึงคิดว่าประเทศไทยพร้อมที่จะเข้าร่วมประชาคมอาเซียนหรือยัง จากนั้นกูรูเศรษฐกิจทั้งหลายก็เริ่มวิเคราะห์สถานการเศรษฐกิจกันสนุกสนาน ผู้เขียนไม่อยากเป็นเต่าล้านปีก็ได้แต่พยักหน้าเห็นตามเพื่อนๆ ไปทั้งๆ ที่ไม่ค่อยรู้เรื่อง หมายใจว่ากลับบ้านเถอะตูจะต้องศึกษาเรื่องประชาคมอาเซียนนี้ให้ได้ และแล้วก็ได้กูรูคือกูเกิ้ลเป็นผู้ถ่ายทอดรายละเอียดให้

เอาล่ะค่ะ เป็นอันว่าพอรู้เรื่องประชาคมอาเซียนเป็นสังเขป ขอนำบันทึกมาแบ่งปันกันสำหรับผู้ไม่รู้ดังต่อไปนี้

ประชาคมอาเซียน หรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations : ASEAN) เป็นองค์กรระหว่างประเทศระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีจุดเริ่มต้นโดยประเทศไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ได้ร่วมกันจัดตั้ง สมาคมอาสา (Association of South East Asia) เมื่อเดือน ก.ค. 2504 เพื่อการร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม แต่ดำเนินการไปได้เพียง 2 ปี ก็ต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากความผกผันทางการเมืองระหว่างประเทศอินโดนีเซียและประเทศมาเลเซีย จนเมื่อมีการฟื้นฟูสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ จึงได้มีการแสวงหาหนทางความร่วมมือกันอีกครั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2510 หลังจากการลงนามในปฏิญญาสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Declaration of ASEAN Concord) หรือเป็นที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า ปฏิญญากรุงเทพ (The Bangkok Declaration) โดยสมาชิกผู้ก่อตั้งมี 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย


สำหรับวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งประชาคมอาเซียนสรุปได้ว่า

เพื่อสร้างสันติภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันนำมาซึ่งเสถียรภาพทางการเมือง และความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และเมื่อการค้าระหว่างประเทศในโลกมีแนวโน้มกีดกันการค้ารุนแรงขึ้น ทำให้อาเซียนได้หันมามุ่งเน้นกระชับและขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างกันมากขึ้น โดยเขามีเป้าหมายหลักอยู่หกเจ็ดประการ

ผู้เขียนคงไม่ยกมาทั้งหมดนอกจากข้อหนึ่งซึ่งเวลารมต.หรือนักการเมืองจะให้สัมภาษณ์ทีไรก็มักจะพูดว่า “เราต้องเตรียมพร้อมในการเป็นประชาคมอาเซียน” เอาล่ะ เข้าใจแล้วค่ะ แม้ว่าบางครั้งเราจะมีคำตอบในใจว่า “ไม่น่าจะพร้อม” แต่ก็คงได้แต่กระซิบกับตัวเอง กลัวเขาจะว่ามือไม่พายแล้วเอาเท้าราน้ำ ประมาณนั้น....

แต่ที่เห็นชัดๆ ว่าพร้อมก็คือในเรื่องความตื่นตัวในการจัดสถานที่น่าสนใจแปลกๆ ใหม่ๆ เพื่อเรียกให้นักท่องเที่ยวเข้ามาจับจ่ายใช้สอยในประเทศไทย วันนี้ขอยกตัวอย่างสถานที่จับจ่ายใช้สอยและเป็นการพาเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอีกรูปแบบหนึ่งของผู้เขียน คือวัฒนธรรมอาหาร การกินแบบไทยๆ หลากสไตล์ กับบรรยากาศริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่น่าเดินช็อป และหาอาหารรับประทานได้อย่างเอร็ดอร่อย ในกรุงเทพมหานครนี้เอง

ผู้เขียนกำลังพูดถึง เอเซียทิค เดอะริเวอร์ฟร้อนท์ Asiatique The Riverfront ซึ่งตั้งอยู่บนเลขที่ 2194 ถนนเจริญกรุง เขตบางคอแหลม กทม. 10120 อันเป็นโครงการสถานที่ท่องเที่ยวและช้อปปิ้ง บนเนื้อที่ 70 กว่าไร่ ที่ตรงนี้เคยเป็นที่ตั้งท่าเรือเดิมของบริษัทเอเซียติคเมื่อสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีประวัติว่า ท่าเรือนี้เป็นของนาย ฮันส์ นิลล์ แอนเดอร์เซน ชาวเดนมาร์กเป็นเจ้าของ เพื่อทำการค้าไม้สักไปต่างประเทศ จึงสร้างท่าเรือขนถ่ายสินค้าขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นของประตูการค้าสากลระหว่างสยามประเทศ และยุโรป ซึ่งท่าเรือแห่งนี้ยังคงไว้ซึ่งสถาปัตย์แบบเดิมๆ ที่ก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2450 ถึง พ.ศ. 2490 ซึ่งทางเจ้าของโครงการนำมาผสมผสานกับสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ให้กลมกลืนกัน ถือเป็นแลนด์มาร์คใหม่ล่าสุดริมแม่น้ำเจ้าพระยา

ผู้เขียนเคยเห็นโครงการนี้จากหนังสือพิมพ์ที่ออกในเมืองไทย กะว่ามาเมืองไทยเมื่อไรต้องไปสำรวจให้ได้ เนื่องจากโครงการนี้อยู่ไม่ไกลจากคอนโดฯ ที่ผู้เขียนพักอยู่ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับท่าเรือสาทร สอบถามจากเจ้าหน้าที่ที่ประจำอยู่ตรงท่าเรือเขาก็บอกว่า มีเรือจากโครงการมาบริการรับส่งฟรีจากท่าเรือสาทรไปที่เอเซียทิคทุกวัน ตั้งแต่เวลา 17.00-24.00 น.

และแล้วผู้เขียนก็นัดกับน้องๆ ที่ทำงานเก่าคือ หนูเอ-จัณทราณา และ หนูตุ๊ก-นิตยา ไปเดินเล่นและหาอาหารรับประทานกันในเย็นวันศุกร์ที่ผ่านมา ตอนแรกตกลงกันว่าหากฝนตกเราจะยกเลิกไปก่อน บังเอิญโชคดีดินฟ้าอากาศเป็นใจจะให้ได้ไปเดินเล่นท่ามกลางลมพัดเย็นสบายบรรยากาศสวยงามระหว่างเรือแล่นไปบนลำน้ำเจ้าพระยาจนไปถึงสถานที่ตั้งเอเซียติค

ขอเตือนนิดหนึ่งว่า เที่ยวเรือทุกเที่ยวแน่นขนัดมาก และคนที่ท่าเรือบอกเป็นเช่นนี้ทุกวันแม้ฝนจะตกฟ้าจะร้อง เพราะว่านักท่องเที่ยวสนใจมาก ครั้งแรกผู้เขียนไม่ค่อยจะเชื่อว่าจะอะไรนักหนาที่ช้อปปิ้งในประเทศไทยมีมากมาย ทั้งริมน้ำและบนบก ทว่าเมื่อไปสัมผัสด้วยตาตนเองก็ต้องเชื่อค่ะ เมื่อเห็นนักท่องเที่ยวและคนไทยมาจากไหนไม่ทราบเต็มเรือ และเมื่อลงจากท่าเรือก็มองเห็นผู้คนเดินกันขวักไขว่ ประหนึ่งมีงานแสดงที่นั่น นับจากขึ้นจากเรือ มองไปสุดลูกหูลูกตาก็เห็นซอกซอยมากมาย ตัวอาคารที่เป็นที่ตั้งร้านอาหารและร้านขายสินค้าแบ่งเป็นซอยๆ ไม่น้อยหน้าไปจาก Pier 39 ในซานฟรานฯ เลยค่ะ อากาศดีกว่าด้วยซ้ำไม่หนาวและมีหมอกดังที่ซานฟรานซิสโก และหากจะเกิดมีฝนตกก็มีอาคารให้หลบฝน สบายมาก

ผู้เขียนและน้องๆ เดินเล่นกันแค่สองซอยแค่นั้นเราก็หิวโหยอาหารเย็นกันแล้ว ร้านอาหารมีให้เลือกมากมาย ทั้งไทย จีน ญี่ปุ่น ฝรั่งและแขก เราเลือกร้านใดก็ขออุบไว้ไม่อยากโฆษณาเกินเลย แต่บอกได้ว่าเป็นอาหารไทย อร่อยถูกใจมากๆ ค่ะ รับประทานอาหารเสร็จเราเดินเล่นต่ออีกแค่ซอยเดียวก็มืดมากแล้ว น้องๆ ต้องขึ้นรถเมล์กลับบ้านก็เลยเห็นใจเขา นัดกันว่าจะไปที่นั่นอีกในเร็ววันเพราะผู้เขียนหมายตาของที่ระลึกไว้หลายเจ้า เห็นมีโรงละครหุ่นเล็กโจหลุยส์ ดูเหมือนจะยังไม่เปิดเพราะยังก่อสร้างไม่เสร็จเพราะปิดกำแพงล้อมไว้ ได้ข่าวแต่ว่าการแสดงคาบาเร่นั้นมีให้ชมแล้ว

เอาล่ะค่ะ รับรองผู้เขียนจะกลับไปอีก ในเร็วๆ นี้ เท่าที่ดูมีเสื้อผ้าเครื่องใช้และของที่ระลึกให้เลือกซื้อในสนนราคาที่พอจะมีกำลังซื้อ ซึ่งก็อาจจะเป็นสิ่งล่อตาล่อใจนักช้อปและนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ทราบมาว่า ร้านค้าเหล่านี้บ้างก็เคยเปิดอยู่ที่สวนลุมไนท์บาร์ซา ซึ่งปิดบริการไปแล้ว จริงเท็จอย่างไร จะสืบความมาบอกเล่าคราวหน้านะคะ

ชมรูปที่บันทึกมาพอเป็นสังเขปนะคะ ...เป็นอันว่า เอเซียทิค เดอะริเวอร์ฟร้อนท์ นี้ผู้เขียนขอยกให้เป็นอีกหนึ่งของสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมในการเดินทางไปเที่ยวประเทศไทยของผู้เขียนในครั้งนี้ค่ะ

พบกันใหม่โอกาสหน้า.... สวัสดีค่ะ