บันทึกจากเบย์แอเรีย
เพ็ญวิภา โสภาภันฑ์



เที่ยวไทย ฤดูหนาว ๒๕๕๗ (ต่อ)
ตอน ไปชมการแสดงละครเรื่อง อานุภาพแห่งความเสียสละ
แสดงโดยนักเรียนโรงเรียนพาทยกุล (๑)

ฉบับนี้ขอนำท่านผู้อ่านกลับไปติดตามบันทึกเรื่องเล่าจากการไปเที่ยวเมืองไทยเมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ของผู้เขียนซึ่งบันทึกเรื่องราวกิจกรรมที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟังไปแล้วหลายตอน แม้ว่าบางฉบับอาจจะมีกิจกรรมสังคมในซานฟรานและเบย์แอเรียมาแทรกบ้างเพื่อให้ทันเหตุการณ์ เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นอีกสิ่งที่เป็นสุดยอดของการเดินทางไปเมืองไทยเมื่อปีที่แล้วของผู้เขียนเลยก็ได้ นั่นก็คือการได้ไปชมละครเรื่อง อานุภาพแห่งความเสียสละ บทประพันธ์ของฯพณฯพลตรีหลวงวิจิตรวาทการ เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ณ โรงละครแห่งชาติ


อารัมภบท
ความชื่นชอบส่วนตัว

ละครเรื่อง อานุภาพแห่งความเสียสละ นี้ เป็นละครที่ผู้เขียนเคยดูตั้งแต่สมัยยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้น ซึ่งตอนนั้นแสดงที่โรงละครของกระทรวงวัฒนธรรมที่อยู่ในบริเวณเสือป่า สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี คุณอาของผู้เขียน คุณอาภนิดา เขมะพรรค์ (ถึงแก่กรรมไปแล้ว) ตอนนั้นท่านทำงานอยู่ที่สำนักงานเลขานุการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล ท่านขอบัตรมาให้ผู้เขียนและน้องสาวไปชม เราติดใจและชอบเพลงปลุกใจทุกเพลง รวมทั้งชอบตัวละครโดยเฉพาะ “จามรี” และ “ขุนฟ้า” จนถึงกับรบเร้าคุณอาขอบัตรไปชมอีกหลายครั้ง และกลายเป็นความผูกพันที่ทำให้ผู้เขียนเกิดความชอบและชื่นชมในนาฏศิลป์ไทยจนถึงทุกวันนี้ ถ้าจะเล่าก็จะยาววันหลังมีโอกาสจะมาบันทึกเฉพาะก็แล้วกันนะคะ วันนี้ขอเล่าถึงละครเรื่องนี้ที่โรงเรียนพาทยกุลการนาฏศิลป์และนาฏศิลป์นำบทละครเรื่องนี้มานำเสนอในรูปแบบใหม่ โดยการนำบทประพันธ์ของ ฯพณฯ พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ มาปรับปรุงเป็นการเล่าเรื่องประกอบการแสดง โดย ดร.บำรุง พาทยกุล สร้างสรรค์เทคนิค และอำนวยการแสดงโดย “น้องดิว” ขจิตธรรม พาทยกุล

และก็เป็นเหตุบังเอิญอีกที่ว่าความชื่นชอบส่วนตัวที่มีต่อโรงเรียนพาทยกุลการดนตรีและนาฏศิลป์ทำให้ผู้เขียนได้มีโอกาสอีกครั้งที่ได้ชมละครเรื่องนี้ โดยที่มาที่ไปของการที่ได้รู้จักกับ “พาทยกุล” นั้นก็มีมาเกือบห้าปี เมื่อผู้เขียนได้ใช้เวลาว่างตอนไปเที่ยวประเทศไทยและได้อยู่ยาวนานในครั้งนั้น ก็เลยถือโอกาสไปเรียนระนาดที่โรงเรียน และต่อมาได้มีโอกาสนำนักเรียนของพาทยกุลมาแสดงที่ซานฟรานและเบย์แอเรียถึงสองครั้ง และในอนาคต ปีหน้าเราก็อาจจะได้พบกับคณะนักเรียนพาทยกุลอีกครั้ง เนื่องจากทางสภาวัฒนธรรมไทยในสหรัฐอเมริกาแห่งเมืองฟรีมอนต์ ได้เห็นชอบที่คณะนักเรียนจากพาทยกุลมาแสดงนาฏศิลป์และดนตรีเพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับนักเรียนของวัดพุทธานุสรณ์ ในปีหน้า พ.ศ. ๒๕๕๙ ค่ะ เราอาจจะได้ชมละครเรื่องนี้ หรือบางชุุดการแสดงจากเรื่องนี้ ขึ้นอยู่กับการประสานงานของทั้งสองฝ่ายค่ะ หากมีข่าวคืบหน้าผู้เขียนจะมารายงานให้ทราบทันทีค่ะ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับเชิญเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร

นับเป็นวันแห่งความปลื้มปีติเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ที่ได้ไปชมละครในวันนั้นได้มีโอกาสเฝ้าฯรับเสด็จฯ นักเรียน นักแสดงได้มีโอกาสแสดงดนตรีและละครถวายพระองค์ท่าน รวมทั้งยังทรงพระเมตตาฉายพระรูปร่วมกับนักแสดงทุกคนด้วย

ผู้เขียนเป็นผู้หนึ่งที่มีโอกาสได้บรรเลงร่วมกับวงมหาดุริยางค์ไทย เพลงโหมโรงสามัคคีชุมนุม นับเป็นครั้งหนึ่งในชีวิตที่จะเก็บไว้ในทรงจำมิมีวันลืมในพระมหากรุณาธิคุณของพระองท่าน และขอบพระคุณ ดร.บำรุง-อาจารย์วราพร พาทยกุล ที่มอบโอกาสนี้ให้ผู้เขียนได้มีส่วนร่วมด้วย ทั้งๆ ที่ผู้เขียนไม่ได้อยู่ในประเทศไทย แต่การเรียนการสอนส่งผ่านเทคนิคสมัยใหม่ “ไลน์” โดยมี น้องเฟิร์น-มาดาพร น้อยนิตย์ (นางเอกละครเรื่องนี้) เป็นผู้ฝึกสอนให้ (ด้วยความอดทนกับป้าแมวเป็นอย่างยิ่ง) ขอบคุณ ขอบคุณ...

อานุภาพแห่งความเสียสละ นำเสนอในรูปแบบใหม่

โรงเรียนพาทยกุลการดนตรีและนาฏศิลป์ได้นำบทประพันธ์ ของ ฯพณฯ พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ เรื่อง “อานุภาพ แห่งความเสียสละ” มาสร้างสรรค์เป็นการแสดงละครปลุกใจรักชาติในรูแบบใหม่ ที่ยังไม่เคยจัดแสดงมาก่อนในประเทศไทย รูปแบบการแสดงเป็นการเล่าเรื่องประกอบการบรรเลงดนตรีไทย ดนตรีสร้างสรร การแสดงละครพูด และระบำสลับฉาก

ทำไมทางผู้บริหารโรงเรียนพาทยกุลจึงนำเสนอละครเรื่องนี้

สำหรับเหตุผลที่ทางโรงเรียนพาทยกุลนำเสนอละครปลุกใจรักชาติในครั้งนี้นั้น ผู้เขียนคงจะเขียนได้ไม่ละเอียดเท่ากับที่ทางผู้บริหารเช่น ดร.บำรุงที่ได้เขียนคำนำไว้ในสูจิบัติที่ออกแจกในงานละคร การจะย่อข้อเขียนเหล่านั้นคงไม่ เหมาะควร ด้วยเหตุว่าอาจจะขาดไปซึ่งข้อมุ่งหมายหลักๆ ผู้เขียนจึงตัดสินใจขอลอกคำนำจากอาจารย์บำรุง มาลงให้น่าจะดีกว่า เชิญอ่านค่ะ

คำนำจาก ดร.บำรุง พาทยกุล

ในการปฏิรูปประเทศไทยที่ในขณะนี้รัฐบาล หน่วยราชการทุกแห่ง คสช. และองค์กรต่างๆ กำลังดำเนินการขับเคลื่อนอยู่นั้น โรงเรียนพาทยกุลการดนตรีและนาฏศิลป์ ในฐานะสถาบันการศึกษาภาคเอกชนที่จัดการศึกษาด้านศิลปวัฒนธรรมแก่เด็ก และเยาวชน ได้ตระหนักถึงการปลูกจิตสำนึกให้เด็กและเยาวชนเป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรมความรัก ความสามัคคีและความเสียสละ เพื่อประโยจน์แก่ส่วนรวมอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต จึงมีแนวคิดในการร่วมปฏิรูปด้านวัฒนธรรมโดยการใช้ศิลปะนาฏศิลป์-ดนตรี และละคร มาเป็นสื่อในการสร้างคุณธรรม จริยธรรมให้กับเด็กและเยาวชนในปัจจุบัน

หลังจากที่นางสาวขจิตธรรม พาทยกุล (บุตรี) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขา Creative Economy (เศรษฐกิจสร้างสรร) ณ Kingston University สหราชอณาจักร โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณทุนพระราชทานใน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีความมุ่งมั่นที่จะแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างแรงกล้า จึงเลือกอาชีพสอบบรรจุเป็นข้าราชการ กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อรับใช้ประเทศชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์ พร้อมการช่วยงานบิดามารดาตามปณิธานของครูเตือน พาทยกุล ศิลปินแห่งชาติ ในการบริหารจัดการศึกษาและกิจกรรมสืบสานศิลปวัฒนธรรม นาฏศิลป์ ดนตรีไทย ให้กับเด็กและเยาวชน โรงเรียนพาทยกุลการดนตรีและนาฏศิลป์

การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ นางสาวขจิตธรรม พาทยกุล ได้น้อมนำพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ในเรื่องความเสียสละเพื่อประเทศชาติส่วนรวมและผลงานละครปลุกใจรักชาติของ ฯพณฯ พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ มาเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมโครงการระยะยาวตลอดทั้งปี เพื่อเป็นเครื่องสร้างภูมิคุ้มกัน ปลูกจิตสำนึกความรัก ความสามัคคี ความเสียสละ ให้เกิดกับเด็ก เยาวชน และบุคคลในชาติ ประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ กิจกรรมการจัดค่ายอบรมเยาวชน ดนตรี-นาฏศิลป์ไทย หัวใจรักชาติ กิจกรรมมอบไออุ่นแห่งความรักสู่บ้านพักคนชรา กิจกรรมเยาวชนดนตรีบำบัดผู้ป่วยโรงพยาบาลหัวเฉียว การจัดแสดงละครปลุกใจรักชาติเรื่อง “อานุภาพแห่งความเสียสละ” ผลงานของ ฯพณฯพลตรีหลวงวิจิตรวาทการ ในรูปแบบปรับปรุงเป็นการเล่าบรรยายเรื่องประกอบการแสดงสดในบางฉาก พร้อมการสร้างสรรค์เทคนิคฉาก แสดง เสียง และการแสดงเพิ่มเติม

ค่ะ..นั่นคือส่วนหนึ่งที่ผู้เขียนคัดตอนมาจากคำนำของการเสนอละครเรื่องนี้ จากดร.บำรุง พาทยกุล ผู้บริหารโรงเรียนค่ะ ผู้เขียนเห็นว่าละครเรื่องนี้ “ทันสมัย” ในทุกยุค โดยเฉพาะในเรื่องส่งเสริมให้มึความเสียสละ และสามัคคี เพื่อชาติมากกว่าเรื่องส่วนตัว แม้กระทั่งเพลงที่นำมาบรรเลงในฉากแรก วงมหาดุริยางค์ของนักเรียนดนตรีนั้น ทางโรงเรียนก็ยังได้เลือกเพลงที่เข้ากับละคร และสถานการณ์ปัจจุบันอีกด้วย นั่นคือเพลง “โหมโรงสามัคคีชุมนุม” ซึ่งเป็นการนำทำนองเพลง Auld Lang Syne ที่ครูเตือน พาทยกุล ครูดนตรีไทยของโรงเรียนอัสสัมชัญ และโรงเรียนศรีอยุธยาในสมัยนั้นได้คิดแต่งเพลง “สามัคคีชุมนุม” ทางไทยขึ้น เมื่้อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๒๕ เพื่อใช้บรรเลงเป็นเพลงโหมโรงในโอกาสที่นักเรียนดนตรีไทยของโรงเรียนต่างๆ จะมีการบรรเลงร่วมกันในงานดนตรีไทยมัธยมครั้งที่ ๘ เพื่อแสดงออกถึงความสมานสามัคคี (เพลง “สามัคคีชุมนุม” ที่ขึ้นต้นว่า พวกเราเหล่ามาชุมนุม.... เป็นเพลงที่เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) ได้แต่งไว้แล้ว โดยใช้ทำนองเพลงโอล แลง ซาย ดังกล่าว)

ครูเตือน พาทยกุล นี้ท่านเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) ปีพ.ศ. ๒๕๓๕ และเป็นบิดาของดร.บำรุง พาทยกุล

ศิลปินหลายสาขาร่วมแสดง

ในละครเรื่องนี้ ได้มีทั้งศิลปินแห่งชาติหลากสาขา และดารานักแสดง นักดนตรีรับเชิญมาร่วมแสดงกันมากมาย อาทิ ผศ.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์) พ.ศ. ๒๕๔๘ อาจารย์ บรูซ แกสตัน นักดนตรีชาวอเมริกันวงดนตรีฟองน้ำ ผู้ได้รับรางวัลศิลปาธรกิตติคุณ ปี พ.ศ. ๒๕๕๒ นายนภัสกร มิตรธีรโรจน์ รับบทขุนฟ้า พระเอก นายวรุตน์ พิทักษ์สรยุทธ รับบทขุนพัน และนางสาว มาดาพร น้อยนิตย์ รับบทจามรี ร่วมด้วย นายอนุชา สุมามาลย์ นายรัฐพร เคหา นายวุฒิชัย กิจวาส และนักเรียนจากโรงเรียนพาทยกุลการดนตรีและนาฏศิลป์

เรื่องราวที่เล่าถึงวันแสดงละครให้ผู้อ่านมองเห็นภาพละครฟอร์มดี และความรู้สึกผู้เขียนที่ได้ไปชมและมีส่วนได้บรรเลงดนตรีแม้จะเป็นส่วนเพียงเศษเล็กๆ แต่ก็ได้เก็บเกี่ยวภาพและเรื่องราวแห่งความประทับใจไว้มากมาย โดยเฉพาะความรู้สึกที่ได้ก้มลงกราบสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมๆ กับนักแสดงทุกคนด้วย ว่ามีความรู้สึกอย่างไรนั้นคงจะต้องขอไปเขียนต่อในฉบับหน้าแน่นอนนะคะ เนื่องจากเนื้อที่ของคอลัมน์นี้มีจำกัดในแต่ละฉบับ

ชมภาพบางภาพในงานละครวันศุกร์ที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ไปก่อนนะคะ


พบกันใหม่ฉบับหน้า สวัสดีค่ะ