บันทึกจากเบย์แอเรีย
เพ็ญวิภา โสภาภันฑ์



พบกับครูอาสาโครงการจุฬาฯวัดพุทธานุสรณ์ ปี ค.ศ. 2012-13 ตอนที่ 2

ฉบับก่อนได้แนะนำครูอาสานาฏศิลป์ประจำปีจากโครงการสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปแล้ว ฉบับนี้ขอแนะนำคุณครู บุ๋ม-จุฑามาศ นกน้อย ครูอาสาคนขยันอารมณ์ดีมาเป็นครูสอนวิชาภาษาไทย ค่ะ

ครูบุ๋มเป็นบุตรคนที่สี่ของ คุณพ่อ ราชกิจ และคุณแม่ วรรรา นกน้อย คุณพ่อรับราชการครูคุณแม่มีอาชีพค้าขาย ครูบุ๋มมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดนครนายก มีพี่น้องห้าคน คือ นายศักดิ์ระพี นกน้อย รับราชการครู นายฐิติ นกน้อย ทำธุรกิจส่วนตัว นายราชศักดิ์ นกน้อย ยังเป็นนักเรียนอยู่

ในด้านการศีกษาเรียนหนังสือจบการศักษาระดับชั้นตรียมอนุบาล จาก โรงเรียนคุณากร จังหวัดนครนายกจบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษา จากโรงเรียนอนุบาลปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษา จากโรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุง จังหวัดปราจีนบุรี จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา จากสาขาประถมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

มีแรงบันดาลใจอย่างไรจึงเลือกเรียนครุศาสตร์คะ

สาเหตุที่เลือกเรียนด้านครู เพราะมีความใฝ่ในอยากเป็นครูมาตั้งแต่ยังเด็ก เมื่อโตขึ้นจึงตัดสินใจเรียนทางด้านครู โดยเฉพาะครูประถมศึกษา ซึ่งเป็นครูสอนนักเรียนในวัยที่กำลังซน ซึ่งเด็กๆ ในวัยนี้มีความน่ารักไร้เดียงสา เวลาอยู่กับเด็กแล้วไม่เครียด สนุกสนานมากเวลาสอนเด็กๆ

อันนี้เป็นเรื่องจริงเพราะว่าผู้เขียนได้เห็นมากับตาว่าครูบุ๋มสนุกสนานมากเวลาอยู่ท่ามกลางเด็กนักเรียน

ครูบุ๋มมีประสบการณ์ด้านการสอนที่น่าสนใจเล่าสู่กันฟังบ้างไหมคะ

ค่ะ..ใช้เวลาเรียนที่คณะครุศาสตร์มาทั้งหมดเป็นเวลา 5 ปี ตอนเรียนปีที่ 4 เทอมที่สองนั้นมีโอกาสได้ไปฝึกสอนที่โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝึกสอนในระดับชั้น ป.1 พอมาปี 5 เทอม 1 ได้ไปฝึกสอนที่โรงเรียนวัดมาบชลูด จังหวัดระยอง ในโครงการของ ปตท. เพื่อพัฒนาเด็กในพื้นที่เขตอุตสาหกรรมมาบตาพุด ในระดับชั้น ป.1

ซึ่งการฝึกสอนโรงเรียนที่มีความแตกต่างกันทางด้านความพร้อมของโรงเรียน นักเรียน ผู้ปกครอง สภาพแวดล้อม เป็เหตุผลหนึ่งในการเลือกฝึกสอน เพราะต้องการเห็นความแตกต่างของวิถีในโรงเรียนที่มีความพร้อมมากและความพร้อมน้อย ทำให้ได้ประสบการณ์มากมาย ซึ่งทำให้เห็นว่าวิธีการสอนที่ใช้โรงเรียนที่มีคุณภาพสามารถนำไปใช้กับโรงเรียนวัดต่างจังหวัดได้ และจะเห็นว่าปัญหาในระบบการศึกษาไทยยังมีอยู่มาก

อยากให้เล่าถึงผลงานที่ครูบุ๋มภาคภูมิใจที่สุด

ผลงานที่มีความภาคภูมิใจ คือ การสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ “นักสืบรุ่นจิ๋ว” ที่เน้นให้ผู้เรียนรู้จักการคิดวิเคราะห์มากขึ้น ซึ่งเมื่อนำไปทดลองใช้ในห้องเรียนสภาพจริง นวัตกรรมนี้สามารถช่วยให้ผู้เรียนเกิดการคิดวิเคราะห์ได้จริง

ทำไมจึงอาสามาสอนที่สหรัฐอเมริกาล่ะคะ รู้จักวัดพุทธานุสรณ์มาก่อนหรือไม่

เหตุผลที่เลือกมาเป็นครูอาสาที่สหรัฐอเมริกานั้น ในความเป็นจริงแล้วอาจจะเป็นส่วนน้อยของนิสิตที่เพิ่งจบรับปริญญาหมาดๆ แล้วจะตัดสินใจเลือกมาเป็นครูอาสาในต่างแดน แทนที่จะเลือกทำงานเพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน แต่บุ๋มกลับคิดว่า การที่ได้มาเป็นครูอาสาสอนภาษาไทยที่วัดไทยในต่างแดนจะนำมาซึ่งประสบการณ์แปลกใหม่ที่หาซื้อไม่ได้ จึงตั้งใจแน่วแน่ว่าต้องเปิดโลกให้กว้าง มาค้นหาตัวเอง เรียนรู้ในโลกที่เราไม่คุ้นเคย และยังเป็นการมาทำบุญ มาอยู่วัดเป็นระยะเวลาที่นานที่สุด ได้พัฒนาตนเองในหลายๆ ด้าน และไม่รู้จักวัดพุทธานุสรณ์นี้มาก่อนหน้านี้

มาสอนที่วัดพุทธานุสรณ์ได้หกเดือนแล้ว ครูมีความเห็นอย่างไรกับงานอาสาครั้งนี้คะ

เวลา 6 เดือนที่ผ่านไป รู้สึกว่าเพิ่งจะเดินทางมาถึงเมื่อวานก่อนนี้เอง ความรู้สึก ณ ตอนนี้ช่างแตกต่างกับตอนที่มาถึงใหม่ๆ ก่อนหน้านี้เราจะรู้สึกกดดันเล็กน้อย ทั้งสถานที่แปลกใหม่ ผู้คนก็ไม่คุ้นเคย และสภาพแวดล้อมต่างๆ เป็นสิ่งใหม่ไปหมด แต่เมื่อเวลาผ่านไป 6 เดือนกว่า เราสามารถปรับตัวกับสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาได้เป็นอย่างดี มีหลายครั้งที่ทำงานเหนื่อย แต่เมื่อได้พักได้ผ่อนคลายก็จะหาย แต่ทุกครั้งก็จะได้กำลังใจดีๆ จากใครหลายๆ คน ทำให้รู้สึกว่าเรามีคุณค่าที่จะทำสิ่งต่างๆ ให้เป็นประโยชน์กับเด็กๆ ที่นี่ รวมถึงวัดพุทธานุสรณ์ด้วย มีความเต็มใจและยินดีทุกครั้งที่ได้มีส่วนร่วมช่วยเหลืองานต่างๆ ของวัดให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี เหนื่อยแต่ไม่ท้อค่ะ....กลับรู้สึกมีความสุขเสียด้วยซ้ำที่ได้มีโอกาสแบบนี้

สิ่งใดที่คิดว่ายากที่สุดในการมาสอนครั้งนี้

สำหรับการเรียนการสอนก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการ เนื้อหาที่จะสอนนักเรียนในแต่ละระดับ เนื่องจากในสภาพจริงนั้นมีความแตกต่างกันของพื้นฐานผู้เรียน และที่ยากที่สุดในการมาสอนในครั้งนี้ คือผู้ปกครองของนักเรียนแต่ละคนมีความเอาใจใส่ในการพัฒนาภาษาไทยของบุตรหลานแตกต่างกัน ต้องการเห็นผู้ปกครองใช้ภาษาไทยกับเด็กๆ มากขึ้น เพราะจะทำให้เด็กๆ ได้พัฒนาภาษาไทย เพราะเด็กบางคนเขาคิดว่าถ้าพูดภาษาไทยไปอาจจะไม่มีใครพูดภาษาไทยกับเขา เพราะลำพังแค่เรียนในห้องเรียนสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง คงไม่เพียงพอสำหรับการฝึกฝนการใช้ภาษาไทยให้เกิดความชำนาญ

จากประสบการณ์ที่ได้สอนภาษาไทยมาเกือบหกเดือน หากสามารถทำได้ คุณครูอยากจะเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงตารางการสอน หรือบทเรียนใหม่หรือไม่ เพราะเหตุใดคะ

สำหรับตารางสอนของนักเรียนแต่ละระดับชั้นนั้น ทางโรงเรียนได้มีการปรับเปลี่ยนจากระดันชั้น ป.1– ป.6 มาเป็น 3 ระดับ คือ ระดับอนุบาล ระดับ 1 (ประถมศึกษาตอนต้น) ระดับ 2 (ประถมศึกษาตอนปลาย) ซึ่งในแต่ละระดับก็จะมีการสอนทั้งหลักภาษาไทยและวัฒนธรรมไทย ซึ่งเนื้อหาแต่ละระดับที่จัดเตรียมนำมาสอนนั้น จะต้องวัดพื้นฐานความรู้เดิมของผู้เรียน ซึ่งในระดับอนุบาลที่เป็นการเริ่มต้นเรียนภาษาไทยนั้น เราจะต้องปู พื้นฐานให้ผู้เรียนได้รู้จักพยัญชนะต่างๆ คำไทยต่างๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน สำหรับในระดับ 1 นั้นจะให้นักเรียนได้รู้จัก พยัญชนะ สระ ในระดับสุดท้าย คือ ระดับ 2 จะให้ผู้เรียนเรียนรู้เกี่ยวกับพยัญชนะ สระ และตัวสะกด และไวยกรณ์ต่างๆ ในหลักภาษาไทย โดยผ่านการเรียนการสอนสอดแทรกเกมการสอนเพื่อให้เกิดความสนุกสนานในการเรียนรู้ มีการทำกิจกรรมให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ ให้ผู้เรียนมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนภาษาไทยต่อไป

ครูคิดว่า การเรียนการสอนภาษาไทยของเด็กไทยที่เกิดและเติบโตที่อเมริกานั้น ทางโครงการควรจะเน้นเรียนสนทนาภาษาไทยหรือภาษาเขียนมากกว่ากันคะ

เด็กไทยที่เกิดและเติบโตที่อเมริกานั้น ควรจะเริ่มต้นเน้นไปทางด้านการพูดคุยสนทนา การฟังเพื่อให้เด็กสามารถสื่อสารโดยใช้ภาษาไทยได้อย่างเข้าใจ เมื่อเด็กๆ สามารถสื่อสารภาษาไทยได้แล้ว จะทำให้การเรียนภาษาไทยในขั้นต่อไป นั่นก็คือ การอ่าน การเขียน เป็นไปได้ง่ายมากขึ้น

แล้วครูคิดว่าอายุของเด็กที่มาเรียนกับบทเรียน ณ ปัจจุบัน เหมาะสมกันหรือไม่

เหมาะสมค่ะ เนื่องจากการเริ่มเรียนในระดับอนุบาลตั้งแต่ 4-5 ขวบขึ้นไป จนกระทั่งถึงระดับประถมมีการเรียนการสอนที่แบ่งแยกระดับความยากง่ายชัดเจน ตามพื้นฐานและวัยของผู้เรียน

หากมีโอกาสพบครูที่จะอาสามาปีต่อไป ครูมีข้อแนะนำอะไรที่อยากจะเน้นรุ่นน้องบ้างหรือไม่อย่างไรคะ

ข้อแนะนำที่สำคัญ คือ การเป็นตัวของตัวเองที่คิดว่าจะไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร ทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด เต็มที่ที่สุด และเก็บเกี่ยวประสบการณ์เพื่อพัฒนาตนเอง

เมื่อกลับไปถึงประเทศไทยแล้ว วางแผนอนาคตไว้อย่างไรคะ จะไปทำงานอะไร และคิดว่าประสบการณ์ที่ได้จากการมาสอนครั้งนี้จะช่วยในหน้าที่การงานในอนาคตหรือไม่อย่างไรคะ

หลังจากกลับไปถึงประเทศไทยแล้ว อาจจะทำงานที่ตนเองรัก ทำในสิ่งที่ตนเองชอบ และสามารถช่วยเหลือสังคมได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งประสบการณ์ที่ได้มาเป็นครูอาสาในครั้งนี้จะทำให้รู้ว่าเราสู้งานมาขนาดไหน เมื่อเจอปัญหาใหญ่เราก็จะไม่กลัวสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น

เอาล่ะค่ะ ได้รู้จักคุณครูบุ๋ม จุฑามาศ พอเป็นสังเขปแล้วนะคะ

สุดท้ายนี้ผู้เขียนขอให้ความตั้งใจดีในการทำงานอาสาในปีนี้จงบันดาลให้ครูบุ๋มประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน และหวังว่าในอนาคตอันไม่ไกลเราจะได้เห็น คุณครูบุ๋มเข้าทำงานรับใช้ชาติและสังคมในท้องถิ่นโดยเจริญตามรอยคุณพ่อและพี่ชายที่รับราชการเป็นคุณครูที่เป็นที่รักของลูกศิษย์ทุกคนนะคะ

อ้อ..แถมข้อแนะนำให้คุณครูจุฑามาศว่า หากครูคิดจะไปทำงานด้านเป็นโฆษกหรือผู้ประกาศข่าว ครูจะรุ่งแน่ๆ ค่ะเพราะว่าตอนนี้โดนยัดเยียดตำแหน่งโฆษกของทุกงานจนจะกลายเป็นครูชำนาญการ (พูดในที่สาธารณะ) ไปเรียบร้อยโรงเรียนวัดพุทธานุสรณ์แล้วค่า...

ขอบคุณที่ให้เกียรติมาเป็นแขกรับเชิญของคอลัมน์นี้ค่ะ ฉบับต่อไปพบกับครูอาสาหนุ่มของโครงการเป็นครูอาสาสอนวิชาดนตรีบ้างค่ะ

และก่อนจะจากกันไปในฉบับนี้ขอประกาศเชิญชวนอีกครั้งนะคะเรื่องงานสงกรานต์ของสมาคมไทยแห่งแคลิฟอร์เนียภาคเหนือ ที่จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน ศกนี้ ตั้่งแต่เวลา 10.00 นาฬิกา ที่ San Salvador and South First Street งานนี้ซิตี้ออฟซานโฮเซ่ ปิดถนนสองถนนให้เรารื่นเริงฉลองปีใหม่ไทยกันเต็มที่ โดยจะเริ่มด้วยขบวนแห่นางสงกรานต์กันให้สนุกสนานครึกครื้น การแสดงบนเวทีเราก็จะถือฤกษ์ถือชัยกันด้วยการบรรเลงเพลงโหมโรงมหาฤกษ์ จากการบรรเลงของคณะครูและนักเรียนวัดมงคลรัตนาราม วัดพุทธานุสรณ์ และโรงเรียนพาทยกุลจากประเทศไทย จากนั้นก็ non stop กันล่ะค่ะ ด้วยการแสดงทั้งบนเวทีและรอบๆ บริเวณเช่นการชกมวยไทย และชมนิทรรศการเที่ยวประเทศไทย ไปจนถึงเวลา 6.00 p.m.

ในงานนอกจากจะมีอาหารไทยมาจำหน่ายให้ผู้ที่ชื่นชอบรสชาติแบบไทยๆ แล้ว เรายังมีขบวนรถอาหารจากนานาชาติให้ความสนใจมาร่วมจำหน่ายอาหารด้วย โปรดอย่าพลาด โปรดสนับสนุนในการอนุรักษ์และเผยแพร่วัฒนธรรมไทยในแคลิฟอร์เนียภาคเหนือกันนะคะ รายละเอียดเข้าไปอ่านได้ที่เว็บไซด์ของสมาคมนะคะ http://www.thainorcal.org/songkran2013 หรือสอบถามที่ประชาสัมพันธ์ อัจฉรา วงศาโรจน์ 510-520-1468


พบกันใหม่โอกาสหน้าค่ะ