ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



ค้นพบดาวเคราะห์ที่รอดพ้นหายนะอันร้อนแรง

ในปี พ.ศ.2558 มีการค้นพบดาวเคราะห์ขนาดเท่าดาวพฤหัสบดี ชื่อว่า “ฮัลลา” (Halla) หรือ 8 UMi b อยู่ห่างออกไปราว 520 ปีแสง กำลังโคจรรอบดาวฤกษ์อายุมากชื่อ Baekdu หรือ 8 Ursae Minoris ตั้งอยู่ในกลุ่มดาวหมีเล็ก ซึ่ง ฮัลลา โคจรเข้าใกล้ดาวฤกษ์แม่ด้วยระยะทางราวครึ่งหนึ่งของระยะห่างระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ นักดาราศาสตร์ยืนยันว่า Baekdu เป็นดาวยักษ์แดง ที่ควรพองตัวจนถึงจุดที่มันจะกลืนกินและทำลายดาวเคราะห์ฮัลลาที่อยู่ใกล้เคียง

คาดว่าดาวพุธ ดาวศุกร์ และโลกจะพบชะตากรรมนี้ในอนาคต เมื่อดวงอาทิตย์มีอายุมากขึ้นและขยายตัว

อย่างไรก็ตาม ที่น่าแปลกคือ ฮัลลา กลับรอดชีวิตอยู่ได้ เพราะจริงๆ แล้วมันควรจะถูกทำลายโดยดาวฤกษ์ของมัน ส่วนที่ว่า ฮัลลา อยู่รอดมาได้อย่างไรนั้น สิ่งแรกที่นักดาราศาสตร์ทำก็คือ ย้อนกลับไปตรวจสอบว่าการศึกษาก่อนหน้านี้ไม่ได้ทำอะไรผิดพลาด

นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ในออสเตรเลีย เผยว่าวิธีหนึ่งที่สามารถอธิบายปริศนาทั้งหมดนี้ได้อย่างง่ายดายก็คือดาวเคราะห์ดวงนั้นไม่ได้อยู่ที่นั่นจริง แต่หลังจากติดตามการโคลงเคลงในดาวฤกษ์ Baekdu ที่บันทึกไว้นานกว่า 15 ปี ก็พบรูปแบบที่อาจเกิดจากแรงดึงของแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์ต่อดาวฤกษ์เท่านั้น ดังนั้นจึงยืนยันได้ว่าดาวเคราะห์ ฮัลลา มีอยู่จริง

นักดาราศาสตร์ยังตรวจสอบองค์ประกอบภายในของดาวฤกษ์ Baekdu โดยการวัดความแปรผันของความสว่างของดาว และพิจารณาว่า Baekdu ไม่ได้เผาผลาญไฮโดรเจนอีกต่อไปและเปลี่ยนไปใช้การเผาไหม้ฮีเลียม นั่นหมายความว่ามันใกล้จะสิ้นอายุขัยและได้ผ่านช่วงการขยายตัวที่ควรจะกลืนกลินดาวเคราะห์ฮัลลา.


ยูเอ็นเตือนทั่วโลก เตรียมรับมือผลกระทบจาก “เอลนีโญ”

สหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวเตือนโลกให้เตรียมพร้อมรับผลกระทบจากปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิทั่วโลกที่สูงขึ้น คงอยู่ต่อไปตลอดปีนี้

สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ว่า องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (ดับเบิลยูเอ็มโอ) ประกาศว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญเกิดขึ้นแล้ว และมีโอกาส 90% ที่จะดำเนินต่อไปในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

“การเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ จะเพิ่มความเป็นไปได้อย่างมาก ในการทำให้อุณหภูมิสูงเป็นประวัติการณ์ และเกิดความร้อนรุนแรงยิ่งขึ้นในพื้นที่หลายส่วนของโลก รวมถึงในมหาสมุทร” นายเพตเตอรี ทาลาส เลขาธิการดับเบิลยูเอ็มโอ กล่าวเสริมว่า การประกาศดังกล่าว เป็นการส่งสัญญาณให้รัฐบาลทั่วโลกเตรียมการ และดำเนินการล่วงหน้าในการรับมือกับเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว เพื่อจำกัดผลกระทบต่อสุขภาพ, ระบบนิเวศ และเศรษฐกิจ

เอลนีโญ เป็นรูปแบบภูมิอากาศที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับความร้อนที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก เช่นเดียวกับความแห้งแล้งในพื้นที่บางส่วนของโลก และฝนตกหนักในพื้นที่อื่น โดยปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นโดยเฉลี่ยทุก ๆ 2-7 ปี และคงอยู่นาน 9-12 เดือน ซึ่งดับเบิลยูเอ็มโอระบุว่า เอลนีโญครั้งล่าสุดเกิดขึ้น ระหว่างปี 2558-2559

นายวิลฟราน มูฟูมา โอเคีย หัวหน้าฝ่ายบริการพยากรณ์อากาศระดับภูมิภาคของดับเบิลยูเอ็มโอ กล่าวว่า ในช่วง 6 เดือนต่อจากนี้ มีโอกาสเพียง 10% เท่านั้น ที่เอลนีโญจะอ่อนกำลังลง นั่นหมายความว่า ปรากฏการณ์ลานีญาจะไม่เกิดขึ้นในปีนี้

อนึ่ง ปีที่ร้อนสุดเป็นประวัติการณ์คือ ปี 2559 ซึ่งในเวลานั้นเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรงเป็นพิเศษ รวมเข้ากับความร้อนที่เกิดจากฝีมือของมนุษย์ จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ขณะที่องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) กล่าวว่า กำลังช่วยเหลือประเทศต่าง ๆ ให้พร้อมรับมือกับผลกระทบของเอลนีโญ ด้วยการจัดเตรียมสิ่งของหลายอย่างล่วงหน้า

ด้านนางมาเรีย เนย์รา ผู้อำนวยการด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และสุขภาพของดับเบิลยูเอชโอ กล่าวเตือนว่า ในหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ เผชิญกับวิกฤติอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ความร้อนสูง, ไฟป่า และความไม่มั่นคงทางอาหาร ที่นำไปสู่ภาวะขาดสารอาหารรุนแรง ซึ่งดับเบิลยูเอชโอเอง ก็แสดงความกังวลเป็นพิเศษเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของอหิวาตกโรค, โรคที่มียุงเป็นพาหะ และโรคติดเชื้อต่าง ๆ เช่นกัน.

เครดิตภาพ : AFP...


3 ก.ค. อุณหภูมิโลกทำสถิติ ร้อนที่สุดนับตั้งแต่เริ่มบันทึก ทะลุ 17 องศา

อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกแตะระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึกกันมาในวันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยพุ่งสูงถึง 17 องศาเซลเซียสเป็นครั้งแรก ซึ่งนักวิจัยสหรัฐระบุว่า สถิติใหม่นี้สูงที่สุดในบรรดาการเก็บสถิติใดๆ ทุกรูปแบบที่ผ่านมา ซึ่งย้อนไปถึงปลายศตวรรษที่ 19

นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์คาดการณ์สิ่งแวดล้อมแห่งชาติของสหรัฐระบุว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในวันที่ 3 กรกฎาคม อยู่ที่ 17.01 องศาเซลเซียส ทำลายสถิติเดิมที่ 16.92 องศาเซลเซียสที่เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2559 ไปเป็นที่เรียบร้อย

อุณหภูมิเฉลี่ยของวันจันทร์ที่ผ่านมา นับเป็นอุณหภูมิที่ร้อนที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บสถิติอุณหภูมิโลกโดยใช้ดาวเทียม ซึ่งเริ่มขึ้นในปี 2522 หรือในรอบ 44 ปี ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญยังบอกด้วยว่า มันเป็นอุณหภูมิที่สูงที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึกข้อมูลด้วยเครื่องมือต่างๆ อย่างแพร่หลาย

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า หลายปัจจัยที่มีผลรวมกันตั้งแต่ปรากฏการณ์เอลนิโญ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างต่อเนื่องของมวลมนุษย์ ล้วนเป็นปัจจัยผลักดันให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่เดือนมิถุนายนที่เพิ่งผ่านพ้นไป ก็ยังเป็นเดือนมิถุนายนที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีการจดบันทึกสถิติเอาไว้เช่นเดียวกัน

ฤดูใบไม้ผลิในปีนี้สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ในสเปนและอีกหลายประเทศในเอเชีย ตามด้วยคลื่นความร้อนในทะเลในสถานที่ซึ่งปกติจะมองไม่เห็น เช่นในทะเลเหนือ โดยสัปดาห์นี้ จีนยังคงเผชิญคลื่นความร้อนอย่างต่อเนื่อง อุณหภูมิในบางพื้นที่สูงกว่า 35 องศาเซลเซียส ขณะเดียวกันพื้นที่ทางตอนใต้ของสหรัฐก็เจอกับสภาพอากาศแปรปรวนเช่นกัน

ลีออน ไซมอนส์ นักวิจัยด้านสภาพอากาศ กล่าวว่า การที่อุณหภูมิเฉลี่ยบนพื้นผิวโลกสูงถึง 17 องศาเซลเซียสเป็นครั้งแรก ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญเชิงสัญลักษณ์ในโลกที่กำลังร้อนขึ้นของเรา

“ขณะนี้ปรากฏการณ์เอลนิโญก็กำลังเริ่มต้นขึ้น คาดว่าจะมีการทำลายสถิติรายวัน รายเดือน และรายปี มากขึ้นเรื่อยๆ ในอีกหนึ่งปีครึ่งข้างหน้านี้” ไซมอนส์กล่าว


กล้องเจมส์เว็บบ์ ถ่ายภาพดาวเสาร์ พร้อมดวงจันทร์บริวารทั้ง 3

กล้องเจมส์ เว็บบ์ บันทึกภาพ ดาวเสาร์ แล้วมาดูกันว่าเรากล้องโทรทรรศน์อวกาศที่ทรงพลังที่สุดนี้ เผยอะไรเกี่ยวกับดาวเสาร์ให้เราเห็นกันบ้าง

วันที่ 3 กรกฎาคม ธนกร อังค์วัฒนะ – เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(สดร.) โพสต์ใน เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่า เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 2023 องค์การ NASA เผยแพร่ภาพถ่ายดาวเสาร์ในช่วงคลื่นอินฟราเรดล่าสุดจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ (JWST)

แสดงให้เห็นวงแหวนดาวเสาร์ที่สว่างคมชัดทั้ง 4 ชั้น พร้อมกับดวงจันทร์บริวารอีก 3 ดวง ขณะที่ตัวดาวเสาร์มีความสว่างน้อยเนื่องจากบรรยากาศมีองค์ประกอบทางเคมีที่ดูดกลืนแสงอินฟราเรดได้ดี

ภาพถ่ายล่าสุดนี้ถ่ายเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 2023 โดยใช้อุปกรณ์ NIRCam ที่สามารถบันทึกภาพในช่วงคลื่นอินฟราเรดที่ความยาวคลื่น 3.23 ไมครอน แสดงให้เห็นวงแหวนของดาวเสาร์ทั้ง 4 ชั้น ได้แก่ ชั้น A, B, C และ F ซึ่งวงแหวนของดาวเสาร์มีองค์ประกอบหลักเป็นเศษน้ำแข็งและก้อนหิน มีขนาดตั้งแต่เล็กเท่ากรวดทราย ไปจนถึงขนาดใหญ่เท่าภูเขาบนโลก

ในภาพถ่ายนี้ยังปรากฏดวงจันทร์ขนาดใหญ่ของดาวเสาร์ จำนวน 3 ดวง ได้แก่ Dione Tethys และ Enceladus โดยก่อนหน้านี้ JWST ก็ได้ศึกษาน้ำพุที่พุ่งจากพื้นผิวดวงจันทร์ Enceladus แล้วพบว่ามีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นน้ำและอนุภาคอื่น ๆ ที่คอยเติมมวลสารเข้าสู่วงแหวนชั้น E ของดาวเสาร์ ซึ่งเป็นวงแหวนชั้นนอกสุดและมีความสว่างน้อยมาก (ไม่สามารถสังเกตเห็นได้ในภาพนี้)

ขณะที่ตัวดาวเสาร์ในภาพนี้จะมีความสว่างน้อยกว่าส่วนของวงแหวน เนื่องจากชั้นบรรยากาศของดาวเสาร์มีแก๊สมีเทนซึ่งสามารถดูดกลืนรังสีอินฟราเรดได้ดี จึงกลายเป็นภาพดาวเสาร์ที่ไม่ค่อยคุ้นตากันนัก ทั้งนี้ หากสังเกตบริเวณขั้วเหนือของดาวเสาร์ จะมีส่วนมืดที่กระจายตัวเป็นวงกว้าง และไม่ได้มีรูปร่างที่สอดคล้องกับเส้นละติจูดของดาว เกิดจากคลื่นของละอองลอยในบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ของดาวเสาร์

ซึ่งพบได้ในชั้นบรรยากาศของดาวพฤหัสบดีเช่นกัน เบื้องต้นคาดว่าการกระจายตัวของส่วนมืดข้างต้นนี้ น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับฤดูกาลบนดาวเสาร์ แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่สามารถยืนยันถึงกระบวนการที่แท้จริงได้

อ้างอิง : https://blogs.nasa.gov/…/saturns-rings-shine-in-webbs…/


'ไตวายเรื้อรัง' ระยะสุดท้าย ตัวการร้าย ทำลายทุกระบบของร่างกาย

หากผู้ป่วยโรค 'ไตวาย' ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและทันเวลา ไตก็จะทำงานเสื่อมลงอย่างต่อเนื่อง จนท้ายที่สุดจะเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่า โรค 'ไตวายเรื้อรัง' ระยะสุดท้าย

โรคไตวายเรื้อรัง ระยะแรกถึงปานกลาง ผู้ป่วยมักไม่มีอาการหรือมีอาการแค่เล็กน้อย ซึ่งการจะทราบได้ว่าเป็นโรคไตวายเรื้อรังก็ต่อเมื่อเข้ารับการตรวจเลือดหรือปัสสาวะเท่านั้น หากผู้ป่วยโรคไตวายไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและทันเวลา ไตก็จะทำงานเสื่อมลงอย่างต่อเนื่อง จนท้ายที่สุดจะเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่า โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย

พญ.อำไพวรรณ รุ่งบรรณพันธุ์ อายุรแพทย์โรคไต โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า โรคไตวายเรื้อรัง คือการที่เนื้อไตถูกทำลายอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานหลายเดือนหรือเป็นปี ในระยะแรกผู้ป่วยจะไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆ ซึ่งเมื่อมาตรวจร่างกายก็อาจไม่พบความผิดปกติ เว้นแต่มีการตรวจเลือด หรือตรวจปัสสาวะ พบความผิดปกติ เช่น ปัสสาวะมีเม็ดเลือดแดงและโปรตีนไข่ขาวปนออกมา จึงจะทราบได้ว่าเป็นโรคไตวายเรื้องรัง

เมื่อการทำงานของไตเหลือเพียง 30% มักจะเริ่มมีอาการแสดงของโรคไตออกมาให้เห็น ระยะต่อมาผู้ป่วยจะถูกวินิจฉัยว่าเป็น ไตวายเรื้อรัง ระยะสุดท้าย ก็ต่อเมื่อมีการทำงานของไตน้อยกว่า 15% ในภาวะนี้การทำงานของร่างกายหลายระบบจะเริ่มเสื่อมลงอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่

ระบบทางเดินอาหาร ผู้ป่วยจะเริ่มเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ไม่สามารถรับรสชาติอาหารได้ ระบบทางเดินหายใจและหัวใจ เมื่อร่างกายไม่สามารถขับของเสียออกได้ จะทำให้หัวใจทำงานหนัก เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก ความดันโลหิตสูง หัวใจโต กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมสภาพ และอาจเกิดน้ำคั่งในเยื่อหุ้มหัวใจ น้ำคั่งในปอด ปวดบวม และไอเป็นเลือดได้

ระบบประสาทและสมอง ผู้ป่วยจะมีอาการกล้ามเนื้อกระตุก เป็นตะคริว กล้ามเนื้ออ่อนแรง สมองเสื่อม หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมอาจทำให้เกิดอาการชัก หมดสติ หรือเสียชีวิตได้

ระบบทางเดินปัสสาวะ เมื่อไตทำงานได้น้อยลง การขับของเสียรวมทั้งเกลือแร่และน้ำก็ทำได้น้อย ทำให้มีปัสสาวะออกน้อย ขาบวม ตัวบวม และมีระดับเกลือแร่ในเลือดแปรปรวน

ระบบโลหิตและภูมิคุ้มกันร่างกาย ฮอร์โมนที่จะกระตุ้นให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดงผลิตจากไต เมื่อไตวายจึงผลิตได้น้อยลง ผู้ป่วยจึงมีอาการซีดจากภาวะโลหิตจาง รวมทั้งมีการทำงานของเกร็ดเลือดผิดปกติ เลือดจึงออกง่าย และมักมีภาวะภูมิต้านทานต่ำ จึงติดเชื้อได้ง่าย

ระบบกระดูก ผู้ป่วยมีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ เกิดภาวะกระดูกพรุน แตกหักง่าย ในผู้ป่วยเด็กจะหยุดการเจริญเติบโตและตัวแคระแกร็น

ระบบฮอร์โมนอื่นๆ ผู้ป่วยไตวายมักมีการทำงานของฮอร์โมนผิดปกติเกือบทุกชนิด เช่น ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง ต่อมไทรอยด์ ต่อมพาราไทรอยด์ ต่อมหมวกไต และฮอร์โมนจากรังไข่

การรักษาโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ให้ผลได้ดีมีประสิทธิภาพสูงสุดในปัจจุบันคือ “การปลูกถ่ายไต” เป็นการผ่าตัดนำไตของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคจากผู้บริจาคสมองตายหรือผู้บริจาคที่มีชีวิต มาทำหน้าที่แทนไตเดิมของผู้ป่วย โดยวางไตใหม่ไว้ในอุ้งเชิงกรานแล้วต่อเข้ากับกระเพาะปัสสาวะและหลอดเลือดของผู้ป่วย ถ้าการผ่าตัดประสบความสำเร็จ ผู้ป่วยจะไม่ต้องบำบัดด้วยการฟอกไตอีกต่อไป แต่จำเป็นต้องรับประทานยากดภูมิไปตลอดชีวิตเพื่อป้องกันร่างกายต่อต้านไตใหม่ หรือที่เรียกว่าภาวะสลัดไต โดยวิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่ร่างกายแข็งแรง ไม่มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะติดเชื้อและไม่มีโรคหัวใจรุนแรง


5 วิธีง่ายๆ กับการใช้ระบบ 'GPS' ไม่ให้หลงทาง

"GPS" ระบบนำทางที่พาเราไปถึงจุดหมายปลายได้อย่างสะดวก รวดเร็ว แต่ก็มีหลายครั้ง ที่คนขับรถตามการนำทางของ "GPS" ดันพาไปหลง หรือบางรายไปต่อไม่ได้ถอยหลังกลับก็ลำบาก บางรายก็ถึงกับเกิดอุบัติเหตุได้ เมื่อเจอแบบนี้ต้องทำอย่างไร

ถึงเวลาต้องเดินทางไม่ว่าจะไปที่ไหน ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด หลายสถานที่ที่เราไม่รู้จัก ไม่เคยไป จะทำอย่างไรดี ถ้าเป็นสมัยก่อนคงต้องเปิดแผนที่กระดาษศึกษาเส้นทางกันวุ่นวาย แต่มายุคนี้ที่เทคโนโลยีระบบนำทาง หรือเราเรียกกันว่า GPS เข้ามามีบทบาททำให้เดินทางได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

แต่เราก็ยังได้ยินข่าวอยู่บ่อยๆ ว่ามีคนขับรถหลงทางเพราะ GPS พาเข้าป่าเข้ารกเข้าพง บางรายโชคร้ายอาจถึงกับเกิดอุบัติเหตุกันเลย ดังนี้วันนี้เราจะมาจะมาแนะนำถึงวิธีการใช้ GPS ไม่ให้หลงทาง

รู้ก่อนใช้ GPS ไม่หลงทาง

ทำความรู้จักกับ GPS กันก่อนว่าคืออะไร มีการทำงานอย่างไร

GPS เป็นคำย่อมาจากคำว่า Global Positioning System เป็นชื่อระบบดาวเทียม กำหนดตำแหน่ง หรือระบบนำทางจาก ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งปัจจุบันมีหลายประเทศก็มีระบบดาวเทียมกำหนดตำแหน่งเป็นของตัวเอง ก็จะมีมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไป เช่น จีน เรียกว่า Beidou รัสเซีย เรียกว่า GLONASS และสหภาพยุโรป เรียกว่า Galileo

วิธีการใช้ GPS ให้แม่นยำ ไม่หลงทาง

1. รอสัญญาณดาวเทียมให้ชัดเจน

เมื่อเราเปิดเครื่อง อย่าเพิ่งรีบร้อนรอให้สัญญาณดาวเทียม ตรวจจับหาตำแหน่งได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ เพื่อประโยชน์ในการคำนวณเส้นทางที่เหมาะสม

2.เช็คชื่อจุดหมายปลายทางให้ชัวร์ :

การตั้งสถานที่ปลายทาง ต้องตรวจสอบให้ละเอียดตรงกับจุดหมายปลายทางที่เราต้องการเดินทางไปหรือไม่ ไม่เช่นนั้น GPS อาจพาเราไปโผล่อีกทีก็ได้นะ

วิธีง่ายๆ ใช้ GPS อย่างไรไม่ให้หลงทาง

3.ตรวจสอบเส้นทางปลายทาง

นอกจากที่ต้องตรวจสอบชื่อสถานที่ตั้งของจุดที่เราต้องการเดินทางแล้ว เรายังต้องตรวจสอบเส้นทางอีกด้วย เพราะด้วยความเป็นอัจฉริยะของ GPS ที่มักจะคำนวนเส้นทาง ระยะเวลา ให้เราเดินทางไปถึงปลายทางอย่างรวดเร็ว ซึ่งบางทีอาจจะนำทางไปเข้าถนนเส้นรอง ซึ่งหากไม่คุ้นเคย หรือ ยิ่งเป็นเวลากลางคืนเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ ดังนั้น เราควรต้องเลือกเดินทางในถนนเส้นทางหลักดีที่สุด

4. วางแผนล่วงหน้า

ระบบนำทาง GPS เป็นระบบที่ดี แต่เราได้ไม่สามารถไว้ใจได้อย่าง 100% ดังนั้นเพื่อความชัวร์ นอกจากพึ่งพาเจ้า GPS แล้วสิ่งสำคัญเราต้องวางแผนในการเดินทาง ศึกษาเส้นทางล่วงหน้าไว้ก่อนบ้างก็จะดี

5.อัพเดทฐานข้อมูล

ระบบนำทาง GPS จะสามารถนำเราไปถึงปลายทางได้อย่างปลอดภัย ก็ต้องมีการอัพเดทฐานข้อมูลก่อนออกเดินทางให้เป็นปัจจุบัน เพราะอย่าลืมว่าเมื่อเวลาผ่านไปถนนหนทางบางเส้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงไป อาจมีการยกเลิกการใช้งาน หรือบางเส้นถูกสร้างขึ้นมาใหม่ ฉะนั้นต้องหมั่นอัพเดทฐานข้อมูลในเครื่องจีพีเอสตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ระบบนำทาง GPS เป็นเพียงอุปกรณ์ช่วยในการเดินทางได้อย่างสะดวก แต่อย่าไว้ใจทั้งหมดเพราะอาจมีข้อผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ได้ ดังนั้น หากต้องการเดินทางแล้วควรหาข้อมูลจากที่อื่นประกอบการเดินทางอีกด้วย

ขอบคุณข้อมูล

: สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)