ครบเครื่อง
ญ. อมตะ
ครบเครื่อง ญ. อมตะ 21 มีนาคม 2563

ค้นพบดาวเคราะห์น้อยไกลออกไปจากเนปจูน

มีแนวคิดมากมายเกี่ยวกับดาวเคราะห์ยักษ์ที่เคยอยู่ในระบบสุริยะและไม่ได้มีอยู่อีกต่อไป หรือดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างไกลและมีขนาดมหึมาแต่สลัวเลือนเกินกว่าที่จะสังเกตเห็นได้ เมื่อเร็วๆนี้ ทีมนักฟิสิกส์และนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ในสหรัฐอเมริกา รายงานการใช้ข้อมูลจากโครงการสำรวจพลังงานมืด (Dark Energy Survey–DES) ทำให้ค้นพบวัตถุพ้นดาวเนปจูน (Trans–Neptunian Object–TNO) มากกว่า 300 ดวงหรือเรียกว่าเป็นดาวเคราะห์น้อยนั่นเอง

จริงๆแล้วเป้าหมายของ DES ก็คือการศึกษากาแล็กซีและซุปเปอร์โนวา รวมถึงทำความเข้าใจธรรมชาติของพลังงานมืด โดยรวบรวมภาพที่มีความแม่นยำสูงของท้องฟ้าซีกใต้ แต่ถึง DES จะไม่ได้ออกแบบมาโดยตรงสำหรับการค้นหาวัตถุพ้นดาวเนปจูน ทว่าการสำรวจของโครงการนี้ที่มีความลึกซึ้งกลับทำให้สามารถค้นหาวัตถุพ้นดาวเนปจูนดวงใหม่ๆ อีกทั้งเมื่อใช้ความถี่ในการวัดบ่อยๆ ทุกๆชั่วโมงหรือ 2 ชั่วโมง ก็ช่วยให้นักดาราศาสตร์สามารถติดตามการเคลื่อนไหวของวัตถุพ้นดาวเนปจูนได้ง่ายขึ้น

หลังจากหลายเดือนของการพัฒนาวิธีการและการวิเคราะห์ ทีมนักดาราศาสตร์ได้ค้นพบดาวเคราะห์น้อยอีก 139 ดวง ซึ่งเป็นดาวเคราะห์ขนาดเล็กที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ ดาวเหล่านี้โคจรอยู่เหนือวงโคจรของดาวเนปจูน ตรงพื้นที่ที่มืดสนิทและเย็นเยือก ซึ่งการศึกษาวงโคจรของบรรดาวัตถุพ้นดาวเนปจูนดังกล่าว อาจทำให้เข้าใกล้กับการค้นพบดาวเคราะห์เก้า (Planet Nine) คือดาวเคราะห์ปริศนาที่เชื่อว่าซ่อนตัวอยู่รอบนอกระบบสุริยะของเรา.

ไดโนเสาร์เล็กที่สุดเผยวิวัฒนาการของนก

การค้นพบซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลไดโนเสาร์มักจะสร้างความตื่นเต้นในแวดวงบรรพชีวินวิทยาอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ก็มีการค้นพบที่น่าทึ่งคือซากฟอสซิลไดโนเสาร์จากยุคมีโซโซอิก (Mesozoic) ซึ่งมีขนาดเล็กที่สุดและชี้ให้เห็นว่าสายพันธุ์โบราณที่พบใหม่เกี่ยวข้องกับ วิวัฒนาการของนก

นักชีววิทยาจากแผนกวิทยาศาสตร์ W.M. Keck แห่งวิทยาลัยแคลร์มอนท์ แมคเคนนา ในสหรัฐอเมริกา เผยว่าพบกะโหลกศีรษะคล้ายนกขนาดเล็กในก้อนอำพันที่ได้มาจากตอนเหนือของเมียนมา ระบุได้ว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่ ชื่อว่า Oculudentavis khaungraae อาจเป็นไดโนเสาร์ยุคมีโซโซอิกที่มีขนาดเล็กที่สุด จากการสแกนด้วยแสงซินโครตรอนความละเอียดสูงตรวจสอบกะโหลกของ Oculudentavis khaungraae

เพื่อหาความแตกต่างจากไดโนเสาร์ที่มีรูปร่างคล้ายนกชนิดอื่นในยุคเดียวกัน ก็พบว่ารูปร่างและขนาดของกระดูกเบ้าตาของ Oculudentavis khaungraae มีความคล้ายคลึงกับดวงตากิ้งก่ายุคใหม่ กะโหลกศีรษะก็บ่งชี้ถึงรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของการหลอมรวมระหว่างองค์ประกอบของกระดูกที่แตกต่างกันรวมถึงฟันด้วยเช่นกัน

สรุปได้ว่าขนาดที่เล็กและรูปแบบที่ผิดปกติของซากฟอสซิล Oculudentavis khaungraae แสดงให้เห็นการผสมผสานคุณสมบัติที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และให้ความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับวิวัฒนาการของนก ที่น่าจะมีการย่อขนาดร่างกายของนกในช่วงต้นของกระบวนการวิวัฒนาการนั่นเอง.

ฟอสซิลนกเชื่อมโยงแอฟริกาเอเชียและยูทาห์

การค้นพบซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลชิ้นเล็กชิ้นน้อยไม่สมบูรณ์นั้น บางครั้งก็อาจให้เบาะแสใหม่ๆ เช่น ฟอสซิลของสัตว์ที่ได้แห่งหนึ่งอาจช่วยนักบรรพชีวินวิทยาเชื่อมโยงถึงกลุ่มสัตว์ในทวีปอื่นๆ ล่าสุด ดร.โธมัส สติดแฮม จากสถาบันบรรพชีวินวิทยาซากดึกดำบรรพ์และบรรพชีวินวิทยาของสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน เผยว่า ซากฟอสซิลนกที่พบในยุโรป เอเชีย แอฟริกา และอเมริกาเหนือ แสดงให้เห็นว่ากลุ่มนกมีการกระจัดกระจายแพร่ หลายในช่วงแรกของวิวัฒนาการ พวกมันเดินทางข้ามมหาสมุทรเพื่อขยายเผ่าพันธุ์อย่างกว้างขวาง

ดร.โธมัส สติดแฮม และทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิดเวสเทิร์น ในอริโซนา และพิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ในสหรัฐอเมริกา เผยว่าจากการศึกษาฟอสซิลนกพบในหินอายุ 44 ล้านปี ที่พบในทางตะวันออกของรัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา ได้ระบุว่านกโบราณตัวนี้เป็นสายพันธุ์ใหม่ของนกขนาดเล็กในกลุ่ม Paraortygidae ซึ่งสูญพันธุ์ไปแล้ว เชื่อว่าซากฟอสซิลนกนี้จะเติมเต็มในช่องว่างในข้อมูลเกี่ยวกับชั้นสัตว์ปีกในอันดับไก่ (Galliformes) โดยเฉพาะเกี่ยวพันกับนกขนาดเล็กจำพวกนกกระทา

ฟอสซิลนกตัวนี้มีแง่มุมที่น่าสนใจก็คือลักษณะคล้ายกับฟอสซิลขนาดเล็กที่มีรูปร่างอันเป็นเอกลักษณ์ของซากฟอสซิล Paraortygidae ก่อนหน้านี้ที่พบในชั้นตะกอนจากที่อื่นๆ แต่มีอายุทางธรณีวิทยาใกล้เคียงกัน อย่างที่พบในนามิเบีย ตั้งอยู่ตอนใต้ของแอฟริกา และอุซเบกิสถานในแถบเอเชียกลาง นักบรรพชีวินวิทยาเผยว่าความเชื่อมโยงเหล่านี้จะช่วยให้เข้าใจชุมชนสัตว์และระบบนิเวศในยุคดึกดำบรรพ์ได้เพิ่มขึ้น.

หนึ่งเดียวในโลก! พิธีนำกระดูกช้าง 15 เชือกไปบรรจุที่สุสานช้าง

วันเสาร์ ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2563 ช่วงระหว่างวันที่ 13-14 มีนาคม 2563 สำนักสงฆ์ป่าอาเจียง หมู่บ้านช้าง บ้านหนองบัว ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ได้จัดงานประเพณีวัฒนธรรมวันไหว้ "พระครูปะกำ" โดยในตอนเช้าของวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้ทำพิธีเคลื่อนย้ายพระครูปะกำมาประทับอยู่ที่ศาลปะกำหลังใหม่ โดยได้จัดขบวนแห่เริ่มจากคุ้มตะวันตกของหมู่บ้าน โดยมีช้างร่วมขบวนแห่ทั้งหมด 48 เชือก

กิจกรรมต่อมาคือขบวนการแห่โครงกระดูกช้าง 15 เชือกมาบรรจุไว้ในสุสานช้าง รอบนี้มีโครงกระดูกของพังใบไม้ และพังดอกไม้ ซึ่งเป็นช้างของคุณจาพนม ยี่รัมย์ เพื่อที่จะได้ทำบุญให้ช้างที่ล้มแล้วในช่วง "วันช้างไทย" ของทุกปี นอกจากนี้ยังมีการแสดงของชุมชนคือรำคชสารตำนานคนกับช้าง บ้านหนองบัว และชุมชนใกล้เคียงมาร่วมแสดง จากนั้นช่วงเวลา 20.00 น.ได้มีการรำแกลมอหรือรำแม่มด (ภาษากวยเรียกว่า รำหมูดหมัด) โดยมีแม่หมอ ซึ่งเป็นคนนำพาเริ่มพิธีและมีคนที่ต้องการจะรำหมูดหมัดซึ่งเป็นพิธีกรรมที่หาดูได้ยากร่วมรำด้วยโดยบรรยากาศภายในงานเป็นไปอย่างคึกคักมีชาวบ้านและนักท่องเที่ยวเดินทางไปเที่ยวชมกันจำนวนมาก

มัวทำะไรอยู่!WHOเร้าอาเซียนใช้มาตรการเชิงรุกสู้โควิด-19 หลังส่อแววระบาดหนัก

เอเอฟพี - องค์การอนามัยโลกในวันอังคาร(17มี.ค.) เรียกร้องบรรดาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้มาตรการ "เชิงรุก" ในการต่อสู้กับไวรัสโคโรนาสายพันธู์(โควิด-19) ที่กำลังระบาดอย่างรวดเร็ว พร้อมเตือนมีบางชาติกำลังมุ่งสู่การแพร่เชื้อในชุมชนภายในประเทศนั้นๆ (local transmission)

ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19พุ่งทะยานทั่วภูมิภาคอาเซียนในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้หลายประเทศต้องบังคับใช้มาตรการอันน่าตื่นตะลึงต่างๆนานา ไล่ตั้งแต่ปิดพรมแดนไม่ต้อนรับชาวต่างชาติและกำหนดเคอร์ฟิวยามค่ำคืน ไปจนถึงปิดโรงเรียนและยกเลิกกิจกรรมกีฬาต่างๆ

มีความกังวลว่าระบบสาธารณสุขที่อ่อนแอในหลายชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะไม่สามารถรับมือกับการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ได้ ในเรื่องนี้ พญ.พูนาม เคตราปาล ซิงห์ (Dr.Poonam Khetrapal Singh) ผู้อำนวยการใหญ่ องค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า "เราจำเป็นต้องยกระดับทุกความพยายามในทันที เพื่อป้องกันไวรัสไม่ให้แพร่กระจายติดผู้คนมากกว่านี้"

"มีคำยืนยันเกี่ยวกับการติดไวรัสแบบเป็นกลุ่มก้อนมากขึ้นเรื่อยๆ แม้มันบ่งชี้ถึงความตื่นตัวและการเฝ้าระวังอย่างได้ผล แต่อีกด้านหนึ่งมันก็ดึงดูดความสนใจไปยังความจำเป็นที่ต้องดำเนินการเชิงรุกมากกว่าที่เป็นอยู่ และต้องใช้ความพยายามของทั่วทุกภาคส่วนของสังคมเพื่อป้องกันไม่ให้โควิด-19แพร่ระบาดไปมากกว่านี้" เธอกล่าว "ชัดเจนว่าเราต้องทำมากกว่านี้และลงมือทำอย่างเร่งด่วนเลย"

จากข้อมูลของมหาวิทยาลัยจอห์นส ฮอปกินส์ พบว่ามาเลเซียเป็นชาติที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยจำนวน 673 คน โดยเคสส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมศาสนาอิสลามกิจกรรมหนึ่งซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนที่แล้วและมีผู้เข้าร่วมเกือบ 20,000 คน

ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พุ่งขึ้น ส่งผลให้มาเลเซียสั่งปิดพรมแดนไม่ต้อนรับนักเดินทางและห้ามพลเมืองออกนอกประเทศ, จำกัดความเคลื่อนไหวภายใน, ระงับการเรียนการสอนตามโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ และสั่งให้ภาคธุรกิจทั้งหมดปิดทำการ

ซิงห์บอกว่ามาตรการอย่างง่ายๆอย่างเช่นล้างมือและเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) มีความสำคัญยิ่งในการต่อสู้กับไวัส และสามารถช่วยลดการติดเชื้อได้อย่างมาก