ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



แนะนำเลี้ยงสัตว์ 4 ชนิด พิชิตโรคซึมเศร้าคลายเครียด

วันนี้คนไทยเราต้องเผชิญกับเรื่องเครียดในทุก ๆ วันไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ ฝนตกรถติด น้ำขัง จนกระทั่งถึงเรื่องใหญ่ระดับประเทศอย่างระบบเศรษฐกิจ หรือการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้สุขภาพจิตของเราเสียลงทุก ๆ วัน จนนำไปสู่อาการป่วยได้ หากเริ่มรู้สึกตัวแล้วว่าชีวิตไม่สดใสเลย ไม่อยากตื่นไปเจอใคร ๆ โปรดลองมองหาเพื่อนที่เขาจะช่วยคุณได้ทั้งสุขภาพกายและใจ

จากผลการศึกษาล่าสุด สัตว์เลี้ยงไม่เพียงแต่เป็นเพื่อนที่ดีเท่านั้น แต่ยังให้ประโยชน์ด้านสุขภาพมากมายแก่เจ้าของ เช่น สุนัขหรือแมว สามารถช่วยลดระดับความเครียด ลดความดันโลหิต และแม้กระทั่งปรับปรุงสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด สัตว์เลี้ยงยังส่งเสริมการออกกำลังกาย เนื่องจากพวกมันต้องการการออกกำลังกายและเวลาเล่นทุกวัน

นอกจากประโยชน์ต่อสุขภาพแล้ว การเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงยังช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นอีกด้วย-การอยู่กับสัตว์เลี้ยงที่ให้ความรักแบบไม่มีเงื่อนไข อยู่เป็นเพื่อนข้างกายเสมอ ซึ่งสามารถบรรเทาความรู้สึกเหงาและซึมเศร้าได้ พวกเขายังช่วยพัฒนาทักษะทางสังคมและให้ความรู้สึกมีเป้าหมายและความรับผิดชอบ

สำหรับคนที่เป็นโรคซึมเศร้า เครียดบ่อย ๆ สัตว์เลี้ยงที่แนะนำ 1. สุนัข : สุนัขเป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องความภักดีและความรักที่ไม่มีเงื่อนไข พวกเขาสามารถให้การสนับสนุนทางอารมณ์และส่งเสริมการออกกำลังกายผ่านการเดินและเวลาเล่น ลองพิจารณาสายพันธุ์ที่ขึ้นชื่อเรื่องนิสัยสงบและอ่อนโยน เช่น โกลเด้น รีทรีฟเวอร์หรือคาวาเลียร์ คิง ชาลส์ สแปเนียล 2. แมว : แมวเป็นสัตว์ที่รักอิสระแต่น่ารัก พวกเขาสามารถให้ความสะดวกสบายและความเป็นเพื่อนโดยไม่ต้องการความสนใจมากเท่ากับสุนัข เสียงฟี้ของแมวมีผลทำให้ผ่อนคลาย ซึ่งช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวลได้ 3. ปลา : การดูปลาว่ายอย่างสง่างามในตู้ปลาสามารถช่วยให้จิตใจสงบได้ การดูแลตู้ปลายังสามารถสร้างกิจวัตรประจำวันและความรับผิดชอบ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า และ 4. นก : ยกตัวอย่าง นกแก้วหรือนกค็อกคาเทล สามารถเป็นเพื่อนที่ดีได้ พวกเขาสามารถฝึกให้เลียนแบบคำและให้ความบันเทิงได้ เสียงนกร้องสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่ผ่อนคลายและเงียบสงบได้

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือต้องจำไว้ว่าการเลือกสัตว์เลี้ยงขึ้นอยู่กับความชอบ ไลฟ์สไตล์ และความสามารถในการดูแล การเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงนั้นมาพร้อมกับความรับผิดชอบ สิ่งสำคัญคือต้องให้การดูแลที่เหมาะสมแก่พวกเขา รวมถึงการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ อาหารที่สมดลุ และสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัยและสะดวกสบายพร้อมที่จะให้ความรัก ความเอาใจใส่ ตลอดอายุขัยของเขาด้วย

หากใครรู้ว่าไม่มีเวลา หรือความรับผิดชอบมากพอ ลองมองคาเฟ่สัตว์เลี้ยงตามความชอบที่ปัจจุบันมีอยู่ทั่วทุกจังหวัดในประเทศไทย รวมทั้งการเป็นอาสาสมัครที่ศูนย์พักพิงสัตว์หรือใช้เวลากับเพื่อนหรือครอบครัวที่มีสัตว์เลี้ยง เพื่อผ่อนคลายจิตใจ หากยังรู้สึกว่าไม่เพียงพอควรเข้ารับการบำบัดหรือขอคำปรึกษาเพื่อจัดการกับภาวะเครียดซึมเศร้า ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตดีกว่า....


เปิดภาพ พื้นผิวดวงจันทร์ บริเวณขั้วใต้ จากภารกิจ จันทรยาน-3 ของอินเดีย

29 สิงหาคม เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร.เผยแพร่บทความ โดย พิสิฏฐ นิธิยานันท์ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ เรื่อง ภารกิจ ของ“จันทรยาน-3” ยานสำรวจดวงจันทร์ของอินเดีย มีเนื้อหา ดังนี้

ต้อนรับ ซูเปอร์บลูมูน คืนวันพรุ่งนี้(30 สิงหาคม) ด้วยภาพถ่ายส่งตรงจาก ดวงจันทร์ เป็นภาพของพื้นผิวบริเวณขั้วใต้จาก “รถสำรวจปรัชญาน” รถสำรวจน้องใหม่ล่าสุดบนดวงจันทร์ที่เริ่มทำงานแล้ว พร้อมอัพเดทภารกิจ “จันทรยาน-3” ภารกิจสำรวจดวงจันทร์ของอินเดียครั้งนี้กันสักเล็กน้อย !

ในการลงจอดของ ยานวิกรม (Vikram) ในภารกิจจันทรยาน-3 เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา นับเป็นหลักหมุดสำคัญในประวัติศาสตร์วงการอวกาศอินเดีย เมื่ออินเดียกลายเป็นชาติที่ 4 ที่ส่งยานลงจอดบนดวงจันทร์ได้ และเป็นชาติแรกที่มียานลงจอดบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ แต่ความสำเร็จนี้ยังเป็นแค่เพียงก้าวแรกของเรื่องราวมากมายต่อจากนี้

หลังจากยานวิกรม ลงจอดบนพื้นที่ใกล้ขั้วใต้ของดวงจันทร์ได้สำเร็จ ต่อมาก็ได้ปล่อย รถสำรวจปรัชญาน (Pragyan) ลงสำรวจบนพื้นผิวดวงจันทร์ ปรัชญานใช้กล้องถ่ายภาพหลายตัวบันทึกภาพและวิดีโอของสภาพแวดล้อมโดยรอบพื้นที่ลงจอด และเริ่มเก็บข้อมูลตามแผนภารกิจ ซึ่งยานวิกรมและรถสำรวจ ปรัชญาน จะมีช่วงเวลาปฏิบัติงานราว 2 สัปดาห์

เมื่อวันเสาร์ที่ 26 สิงหาคม 2566 ทีมนักวิทยาศาสตร์จาก ISRO (องค์การวิจัยอวกาศอินเดีย) ได้เผยแพร่วิดีโอแสดงรถสำรวจปรัชญานที่เคลื่อนอยู่บริเวณพื้นที่ลงจอดที่เรียกว่า “จุดศิวะศักติ” (Shiv Shakti Point) รวมทั้งรายงานว่ายานวิกรมและรถสำรวจปรัชญานได้เริ่มการทดลองทางวิทยาศาสตร์แล้ว ซึ่งอุปกรณ์ทุกตัวใช้งานได้ตามปกติ

ต่อมาวันอาทิตย์ที่ 27 สิงหาคม 2566 ISRO ได้เผยแพร่กราฟแสดงข้อมูลอุณหภูมิของดินดวงจันทร์ที่ผันแปรตามระดับความลึกจากผิวดิน นับเป็น “โปรไฟล์ข้อมูลอุณหภูมิดินแถบขั้วใต้ของดวงจันทร์” ครั้งแรก ซึ่งเป็นผลการทดลองจากอุปกรณ์ ChaSTE (Chandra’s Surface Thermophysical Experiment) ที่ศึกษาคุณสมบัติทางความร้อนของพื้นผิวดวงจันทร์ อุปกรณ์ดังกล่าวมีตัววัดอุณหภูมิ 10 ตัว ใช้วัดอุณหภูมิของดินบริเวณขั้วใต้ดวงจันทร์ เพื่อช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถทำความเข้าใจเกี่ยวกับคุณลักษณะทางความร้อนของพื้นผิวดวงจันทร์

นอกจากนี้ รถสำรวจปรัชญานได้เคลื่อนตัวข้ามหลุมอุกกาบาตกว้างราว 4 เมตรไปแล้วด้วย ซึ่งตอนนี้ปรัชญาน ปลอดภัยดีและจะออกเดินทางสำรวจต่อไป แม้นักวิทยาศาสตร์จะทราบดีว่าพื้นที่แถบนี้เต็มไปด้วยหลุมอุกกาบาตและลงจอดได้ยาก แต่เนื่องจากประเมินแล้วว่าเป็นบริเวณที่มีน้ำแข็งปริมาณมาก ควรค่าแก่การศึกษาวิจัย รถปรัชญานจึงได้มาโลดแล่นอยู่บนพื้นผิวดวงจันทร์ในวันนี้

ภารกิจสำรวจดวงจันทร์ของอินเดีย ส่งข้อมูล 'อุณหภูมิขั้วใต้' ชุดแรกกลับโลก

28 ส.ค.66 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อวันอาทิตย์ (27 ส.ค.) องค์การวิจัยอวกาศแห่งอินเดียประกาศว่าอุปกรณ์บรรทุก (payload) บนยานลงจอดของยานอวกาศสำหรับภารกิจสำรวจดวงจันทร์ครั้งที่ 3 ของอินเดีย หรือยานอวกาศจันทรายาน-3 (Chandrayaan-3) ได้ส่งข้อมูลสังเกตการณ์ชุดแรกเกี่ยวกับระดับอุณหภูมิของขั้วใต้ของพื้นผิวดวงจันทร์กลับมายังโลก

อุปกรณ์บรรทุกซึ่งมีชื่อว่า "ชาเอสทีอี" (ChaSTE) หรืออุปกรณ์ทดลองทางอุณหฟิสิกส์บนพื้นผิวของจันทรา (Chandra's Surface Thermophysical Experiment) ทำการวัดระดับอุณหภูมิดินชั้นบนของดวงจันทร์รอบขั้วใต้ เพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมการถ่ายเทความร้อนของพื้นผิวดวงจันทร์

อนึ่ง "จันทรา" เป็นคำศัพท์ภาษาฮินดีที่มีความหมายว่าดวงจันทร์องค์การฯ โพสต์ข้อความบนเอ็กซ์ (X) แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เดิมมีชื่อว่าทวิตเตอร์ว่า อุปกรณ์บรรทุกดังกล่าวติดตั้งโพรบวัดอุณหภูมิ (temperature probe) ซึ่งมีกลไกการเจาะทะลุที่สามารถเจาะถึงระดับความลึก 10 เซนติเมตรใต้พื้นผิว และโพรบนี้ยังติดตั้งเซนเซอร์วัดอุณหภูมิแยกอีก 10 ตัว

องค์การฯ ชี้ว่าเส้นกราฟที่ปรากฏให้เห็นแสดงความผันผวนของอุณหภูมิบนพื้นผิว/ใกล้พื้นผิวดวงจันทร์ที่ระดับความลึกต่างๆ ซึ่งถูกบันทึกไว้ระหว่างการเจาะของโพรบ โดยถือเป็นข้อมูลรูปแบบนี้ชุดแรกสำหรับขั้วใต้ของดวงจันทร์ ส่วนการสังเกตการณ์แบบละเอียดอยู่ระหว่างดำเนินการ

ความคืบหน้าครั้งนี้มีขึ้น 4 วันหลังจากยานอวกาศในภารกิจสำรวจดวงจันทร์ครั้งที่ 3 ของอินเดีย ลงจอดบนพื้นผิวของดวงจันทร์สำเร็จ เมื่อวันที่ 23 ส.ค. ที่ผ่านมา


ส่องวิถีชีวิต ‘ค่างหัวขาว’ สัตว์คุ้มครองแห่งพงไพรในกว่างซี...

“ค่างหัวขาว” หรือเรียกกันอีกชื่อว่า “ภูตแห่งภูเขาหิน” พวกมันมีจุดเด่นตรงขนสีขาวตั้งแหน็วบนหัว และเป็นสัตว์คุ้มครองระดับสูงสุดของจีน

สำนักข่าวซินหัว–ชวนส่องวิถีชีวิต “ค่างหัวขาว” หรือเรียกกันอีกชื่อว่า “ภูตแห่งภูเขาหิน” พวกมันมีจุดเด่นตรงขนสีขาวตั้งแหน็วบนหัว และเป็นสัตว์คุ้มครองระดับสูงสุดของจีน

จำนวนประชากรค่างหัวขาวเหลือไม่มากนักในปัจจุบัน ส่วนใหญ่กระจายอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศแบบหุบเขาคาสต์ (Karst) ขนาดเกือบ 200 ตารางกิโลเมตร ระหว่างแม่น้ำจั่วเจียงและแม่น้ำหมิงเจียง ซึ่งรายล้อมด้วยป่าไม้เขียวขจี ในเมืองฉงจั่ว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน

นักข่าวซินหัวเดินทางมาถึงพื้นที่ใจกลางของเขตป่านลี่ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอนุรักษ์ธรรมชาติแห่งชาติค่างหัวขาวในตำบลหลัวไป๋ เขตเจียงโจวของเมืองฉงจั่ว เพื่อเฝ้าติดตามและถ่ายภาพของค่างหัวขาวเป็นเวลาสองวัน (บันทึกภาพวันที่ 4-5 ส.ค. 2023


รับมือ “เบิร์นเอ้าท์” ปลดล็อกความเครียด ทำงานสุขใจยั่งยืน

ปัจจุบันพบว่าในแต่ละองค์กรมีการแข่งขันเรื่องงานเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งสถานการณ์บ้านเมืองต่างๆ ที่ยังคงไม่สงบนิ่ง สภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว และบางองค์กรที่ต้องเร่งสร้างผลงานเพื่อให้พนักงาน องค์กรอยู่รอดและมั่นคง จึงทำให้พนักงานในองค์กรต้องคอยผลักดันตนเองอยู่ตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้อาจทำให้เกิดความเหนื่อยล้าจากการทำงานได้มากขึ้นและกลายเป็น ภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout Syndrome ในที่สุด

ซึ่งภาวะหมดไฟในการทำงาน มาจากความเครียดสะสมในการทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง จากการพักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งบางรายอาจกลายเป็นคนมีทัศนคติค่อนข้างเป็นเชิงลบต่อการทำงานของตนเอง หรือขาดความเชื่อมั่นในตนเองไปในที่สุด ส่งผลต่อประสิทธิภาพของพนักงานของแต่ละองค์กรมากขึ้นเรื่อยๆ

จากภาวะ Burnout ที่มีทิศทางสูงขึ้นเรื่อยๆ ทาง JobsDB by SEEK แพลตฟอร์มหางานชั้นนำของเอเชีย ภายใต้กลุ่มบริษัท SEEK (ซีค) จัดงานสัมมนาออนไลน์ seekTALKS “ช่วยองค์กรรับมือกับภาวะ Burnout ของพนักงาน” ผ่านทางระบบซูม

ดร.เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์จิตวิทยาตะวันตก-ตะวันออก และประธานแขนงวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ภาวะหมดไฟในการทำงาน เป็นสิ่งที่พนักงานหลายคนในยุคนี้ต้องเผชิญแบบที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นผลมาจากความเครียดสะสมเรื้อรังจากการทำงาน ทำให้เกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย หดหู่ ซึมเศร้า หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน และขาดแรงจูงใจในการทำงาน แม้ว่าอาการของโรคนี้จะไม่รุนแรงมากนัก แต่ถ้าหากปล่อยไว้สะสมนานจนเกินไป อาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าได้ ซึ่งปัญหาเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่องค์กรไม่ควรละเลย และต้องเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังกับระบบการทำงานที่อาจทำให้พนักงานเกิดความเหนื่อยล้าสะสมจนเกิดเป็นภาวะหมดไฟที่กระทบกับสภาพจิตใจของคนทำงาน”

ในส่วนของความเครียด แบ่งออกได้ 3 ระดับ คือ 1.ความเครียดในระดับน้อยหรือปานกลาง ซึ่งเกิดขึ้นชั่วคราวในการทำงาน ความเครียดแบบนี้เป็นสิ่งที่ดีเพราะจะทำให้ทุกคนตื่นตัว หรือมีไฟในการทำงาน 2.ความเครียดในระดับที่มากขึ้น เกิดขึ้นนานในช่วงเวลาหนึ่ง เมื่อพนักงานมีความเครียดแบบนี้ ทุกคนต้องมองหาการสนับสนุน 3.ความเครียดในระดับที่มากเป็นระยะเวลานาน จนส่งผลกระทบต่อร่างกาย ซึ่งความเครียดในระดับนี้จะทำให้ทุกคนเข้าสู่ภาวะหมดไฟนั่นเอง

“องค์กรควรจะใส่ใจพนักงาน พร้อมหมั่นสังเกตว่า หากพบพนักงานมีแนวโน้มที่จะรู้สึกหมดไฟในการทำงาน ทั้งหมดใจหรือหมดไฟ การเข้าไปช่วยเหลือและให้คำปรึกษาทันที ตามแนวทางที่เหมาะสม หรือการที่พนักงานจะเข้าไปพูดคุยกับคนรอบข้างที่ไว้ใจและเข้าใจจะช่วยบรรเทาอาการของภาวะ Burnout Syndrome ได้ และสิ่งสำคัญสำหรับพนักงานเมื่อต้องเผชิญกับภาวะหมดไฟในการทำงาน การหยุดพักผ่อน ให้เวลาตัวเองได้จัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย อารมณ์ จิตใจ เพื่อปรับสมดุลชีวิตให้กลับสู่ภาวะปกติ และหา Work Life Balance ในการทำงาน ก็จะเป็นการผ่อนคลายและช่วยป้องกันภาวะ Burnout Syndrome ไม่ให้กลับมากวนใจในชีวิตได้อีก เพราะทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมความสุขได้”


รู้สึกไม่สบายตัว “กินยาดักไข้” ไม่ช่วยอะไร

รู้สึกไม่สบายตัว “กินยาดักไข้” ไม่ช่วยอะไร หลายๆ คน ที่ถ้าไม่สบายเนื้อไม่สบายตัวเมื่อไหร่ ก็มักจตตะติดการกินยาดักไข้ไปก่อน เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้อาการทุเลาได้ แต่ทราบหรือไม่ว่า การทำการณ์ดังกล่าวนี้ นอกจากที่จะไม่ช่วยให้อาการหายแล้ว ยังอาจขจะส่งผลเสียให้กับร่างกายได้ด้วยเช่นเดียวกัน

โดยสาเหตุที่ทำให้การกินยาดักไข้เป็นความเชื่อที่ผิดต้องเข้าใจ คือ ลักษณะของอาการเป็นไข้

อย่างแรกเลย ไข้หวัดสามารถเกิดขึ้นได้จากทั้งเชื้อแบคทีเรียและไวรัส แต่โดยส่วนมากแล้วมักจะเกิดขึ้นจากไวรัส ซึ่งอาการเบื้องต้นก็จะมีน้ำมูก คัดจมูก ไอ เจ็บคอ เป็นต้น และคราวนี้ถ้าเราจะกินยาเข้าไป ไม่ว่าจะพาราเซตามอล หรือยาปฏิชีวนะ ยาเหล่านี้ก็จะไปแก้อาการให้เพราะหน้าที่ของยาคือ “การแก้หรือรักษา” ไม่ใช่การป้องกัน

การออกฤทธิ์ของยา

ซึ่งหลังจากที่เรารู้แล้วว่าเราเป็นหวัดเพราะอะไร ก็ต้องมาเข้าใจการทำงานของยา ไม่ใช่ว่าเรากินยาเข้าไปแล้วมันจะออกฤทธิ์เลย แต่ยาเองก็มีกระบวนการในการย่อยเช่นกันซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของยาว่าจะไปถูกดูดซึมได้ทีไหน อย่างยาบางชนิดอาจจะถูกดูดซึมที่กระเพาะอาหารหรือลำไส้ แต่เมื่อดูดซึมเข้าไปแล้วจะถูกส่งไปยังกระแสเลือด ความอันตรายอยู่ที่ตรงนี้แหละ พอยาเข้าสู่กระแสเลือดแล้วมันจะมุ่งหน้าตรงไปที่ตับก่อน

โดยอันที่จริงแล้ว ยาก็นับว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมของร่างกาย ตับของเราจึงพยายามจะกำจัดยาบางส่วนออก และคราวนี้ถ้าหากว่ายาที่เราได้รับในปริมาณที่มากเกินไปตับก็จะทำงานมากเกินความจำเป็น ซึ่งคราวนี้ถ้าตับทำงานหนักมากเกินไปในระยะเวลานานก็จะส่งผลให้ตับเสื่อมสภาพได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน และการทานยาดักไข้มากๆ เข้าก็ส่งผลเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะยาพาราเซตามอล ขนาด 500 มิลลิกรัม หากกินเกินวันละ 8 เม็ด ติดต่อกันเกิน 5 วัน จะส่งผลให้ตับทำงานหนัก จนเซลล์ตับถูกทำลาย และมีโอกาสเกิดภาวะตับอักเสบได้ในที่สุด

วิธีป้องกัน “ไข้หวัด”

หากรู้สึกไม่สบายตัว หรือไม่อยากเป็นหวัด ควรทำดังนี้

-ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่แห้งสนิท เพื่อปกป้องร่างกายตามอุณหภูมิภายนอกที่เหมาะสม

-ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่เป็นประจำ

-ทานวิตามินต่าง ๆ จากผักผลไม้ เช่น ฝรั่ง ส้ม แอปเปิ้ล เป็นต้น

-นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลสมิติเวช, โรงพยาบาลบางมด และ โรงพยาบาลสินแพทย์


ลุ้น เมืองโบราณศรีเทพขึ้นทะเบียนมรดกโลก

ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง : ตอนนี้เมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ถูกบรรจุอยู่ในวาระการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 10 ถึง 25 กันยายน 2566 ณ กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

ข้อมูลเว็บไซต์ whc.unesco.org ได้เผยแพร่วาระการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 45 โดยในวาระการประชุม 8B นอมิเนชั่น (nominations) มีรายชื่อแหล่งทางธรรมชาติ วัฒนธรรม และแบบผสมทั้ง 2 อย่าง หนึ่งในนี้มีชื่อ เมืองโบราณศรีเทพ (Thailand The Ancient Town of Si Thep I 45 COM 8B.41) เพื่อพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม จากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก

ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 – 11 สิงหาคม 2566 กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม นำคณะทูตานุทูตและผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศที่เป็นคณะกรรมการมรดกโลกจาก 7 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนติน่า เบลเยี่ยม อียิปต์ อินเดีย อิตาลี เม็กซิโก และไนจีเรีย โดยมีวิทยากรวิชาการข้อมูลด้านประวัติศาสตร์พาเยี่ยมชมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการศิลปะในดินแดนไทย อันจะแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของแหล่ง ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขึ้นทะเบียนเมืองโบราณศรีเทพ ที่อยู่ระหว่างการขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแห่งใหม่ของประเทศไทย และยังเป็นการเผยแพร่เมืองโบราณศรีเทพนี้ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวต่างประเทศ

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม กล่าวการเสนอเมืองโบราณศรีเทพว่า โดยรัฐบาลได้ลงนามในเอกสารที่ใช้ยื่นต่อคณะกรรมการมรดกโลกที่ประเทศฝรั่งเศส เพื่อประกอบการพิจารณาใน พ.ศ. 2565 มีการนำเสนอ 3 แหล่งในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ได้แก่ โบราณสถานเขาคลังนอก โบราณสถานเขาถมอรัตน์ และเมืองโบราณศรีเทพ รวมพื้นที่ 8.6 ตารางกิโลเมตร เพื่อพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกจากยูเนสโก เป็นไปได้ด้วยดี เอกสารได้รับการประเมินและผ่านการตรวจสอบความครบถ้วนสำหรับการอนุมัติขั้นสุดท้ายนอมิเนชั่น (nominations) ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 45 นี้

ทั้งนี้ ปัจจุบันแหล่งมรดกโลกในไทย ที่คัดเลือกโดยองค์การยูเนสโก (UNESCO) มีทั้งสิ้น 6 แห่ง เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม 3 แห่ง คือ เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร (ปี 2534) นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร (ปี 2534) แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี (ปี 2535) ส่วนมรดกโลกทางธรรมชาติมี 2 แห่งคือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง (ปี 2534) ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ (ปี 2548) และผืนป่าแก่งกระจาน (ปี 2564) นอกจากนี้ยังมีขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) เพื่อพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกในอนาคต ทั้งสิ้น 7 แห่ง หนึ่งในนั้นคือ เมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ จะได้รับการพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ของประเทศไทย ในวาระการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 นี้หรือไม่