ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



เข้าใจภาวะสมองเสื่อม เพื่อดูแลคนใกล้ตัวอย่างถูกวิธี

ภาวะสมองเสื่อม ส่วนใหญ่มักพบในผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นความเสื่อมตามวัย ส่งผลให้ความจำหรือการรับรู้บกพร่องไป หากคนใกล้ตัวของผู้ป่วยพามาพบแพทย์เร็ว ก็จะช่วยชะลอความเสื่อมลงได้

แพทย์หญิงดวงกมล สิงห์วิชา อายุรแพทย์โรคสมองและระบบประสาท โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า ผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมหรือผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม มักมีความผิดปกติของการรับรู้บกพร่องไป ซึ่งประกอบด้วยไปด้วยการรู้คิด6 ด้าน ได้แก่ ความจำ, สมาธิจดจ่อ, การรับรู้ตำแหน่งของวัตถุต่างๆ, การวางแผน, การใช้ภาษา, และการใช้ชีวิตในสังคม ซึ่งผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมมักพบว่ามีการรู้คิดที่บกพร่องมากกว่า 1 ด้าน ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง เช่น ไม่สามารถจัดยาเองได้ หรือเดินทางไปธุระคนเดียวแล้วหลงทาง ภาวะสมองเสื่อม เกิดขึ้นได้หลากหลายสาเหตุมีทั้งสาเหตุที่สามารถรักษาได้ เช่น โรคต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ โรคขาดวิตามินบี 12 เนื้องอกในสมอง โรคซึมเศร้า โรคเส้นเลือดในสมองตีบ และสาเหตุที่ไม่สามารถรักษาได้ อีกทั้งยังเป็นสาเหตุหลักในผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม ได้แก่ โรคอัลไซเมอร์ ส่วนโรคอื่นๆที่สามารถทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมได้ เช่น โรคพาร์กินสันโรคสมองส่วนหน้าฝ่อผิดปกติ

หากผู้ป่วยมาพบแพทย์ และได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง การรักษาภาวะสมองเสื่อมในกลุ่มที่สามารถรักษาได้ จะทำให้สมองของผู้ป่วยเหล่านั้นฟื้นฟูกลับมาสู่สภาวะปกติได้รวดเร็วกว่า ซึ่งโดยปกติแล้วแพทย์จะวินิจฉัยด้วยการซักประวัติ ทั้งผู้ป่วยและญาติหรือผู้ดูแล รวมถึงตรวจร่างกายอย่างละเอียด เพื่อให้ได้ข้อมูลในการวินิจฉัยมากที่สุด และอาจมีทดสอบการรู้คิด ด้วยแบบประเมินต่างๆ เพื่อบอกถึงความรุนแรงของภาวะสมองเสื่อมนั้น โดยใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที สำหรับผู้ป่วยแต่ละราย

ส่วนการตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ ได้แก่ การตรวจเลือดเพื่อหาสาเหตุ เช่น ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ ระดับวิตามินในเลือด หรือการตรวจพิเศษในผู้ป่วยบางราย เช่น การเจาะน้ำไขสันหลัง รวมทั้งการตรวจทางรังสี ไม่ว่าจะเป็น Computed Tomography (CT Scan), MagneticResonance Imaging (MRI) หรือ Positron Emission Tomography (PET) scan ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ เพื่อตรวจการทำงานของสมองที่ได้ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

หากผู้ป่วยมีภาวะสมองเสื่อมจากสาเหตุที่รักษาได้ การรักษาที่ต้นเหตุจะเป็นการรักษาเพื่อทำให้สมองกลับมาทำงานได้ดี เกือบเท่าปกติ แต่หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อมจากอัลไซเมอร์ การใช้ยารักษา เป็นเพียงแค่การชะลอความเสื่อมเท่านั้น เพื่อทำให้การรู้คิดหรือความจำที่ถดถอยดำเนินช้าลง

นอกจากการใช้ยารักษาแล้ว การฝึกสมอง หรือการพัฒนาสมองด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่น เล่นเกมส์ฝึกความจำ การพูดคุยสื่อสารกับคนในครอบครัว หรือการออกกำลังกาย ล้วนแล้วแต่ช่วยชะลอความเสื่อมของสมองได้ดีเทียบเท่ากับการรักษาโดยการใช้ยา ดังนั้นการฝึกพัฒนาสมองควบคู่ไปกับการใช้ยา จึงเป็นการรักษาภาวะสมองเสื่อมจากอัลไซเมอร์ที่ดีที่สุดในปัจจุบัน


พบไดโนเสาร์ชนิดใหม่ของโลก”มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส” ตัวที่ 13 ของไทย อายุ150ล้านปี

วันที่ 26 กรกฎาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) แถลงข่าว ผลการศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ชนิดใหม่ของโลก “มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส” (Minimocursor phunoiensis) โดยมีนายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ โฆษก ทส.เป็นประธานแถลงข่าว นางอรนุช หล่อเพ็ญศรี อธิบดีทธ.รองศาสตราจารย์มงคล อุดชาชน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

นายเถลิงศักดิ์ กล่าวว่า ผลการศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ตัวที่ 13 ของไทย และเป็นสายพันธุ์ใหม่ของโลก มีชื่อว่า “มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส” ถูกค้นพบที่แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย จ.กาฬสินธุ์ เป็นไดโนเสาร์กินพืชขนาดเล็ก จัดอยู่ในกลุ่มกระดูกเชิงกรานแบบนกหรือออร์นิธิสเชียน (Ornithischia) พบในหมวดหินภูกระดึง ยุคจูแรสสิกตอนปลาย มีอายุประมาณ 150 ล้านปี

นางอรนุช กล่าวถึงการดำเนินงานของทธ.ภายใต้ การดำเนินงานวิจัยร่วมกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ ด้านการสำรวจวิจัยซากดึกดำบรรพ์ โดยเฉพาะ การดำเนินงานร่วมกับศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในด้านการสำรวจขุดค้น ศึกษา วิจัยซากดึกดำบรรพ์ในพื้นที่แหล่งขุดค้นภูน้อย จังหวัดกาฬสินธุ์มาอย่างต่อเนื่องตลอดหลายสิบปี”

“ความน่าสนใจของแหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย ตำบลดินจี่ อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ บนพื้นที่ขนาด 1,200 ตารางเมตร นักวิจัยได้ค้นพบความสมบูรณ์ของตัวอย่างซากดึกดำบรรพ์ “มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส” เป็นโครงกระดูกที่สมบูรณ์ที่สุดตัวหนึ่งของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ยังมีการพบร่วมกับซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลังอีกหลากหลายชนิดกว่า 5,000 ชิ้น ทั้งปลาฉลามน้ำจืด ปลาปอด เต่า จระเข้ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลานบินได้ หอยน้ำจืด และไม้กลายเป็นหิน รวมทั้งไดโนเสาร์ทั้งสายพันธุ์กินพืช-กินเนื้อ ซึ่งเป็นสัตว์สายพันธุ์ใหม่ของโลกมากถึง 8 สายพันธุ์ ทำให้ภูน้อยได้รับการขนานนามว่า “จูแรสซิกพาร์ค เมืองไทย” ที่มีการพบซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลังที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดและใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” อธิบดีทธ. กล่าว

ด้าน รศ.มงคล กล่าวว่า แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อยแห่งนี้เป็นพื้นที่ศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลังที่มีศักยภาพสูง ก่อนหน้านี้มีการค้นพบชนิดพันธุ์ใหม่ของโลกมากถึง 7 ชนิดที่ตีพิมพ์ในบทความทางวิชาการในวารสารระดับนานาชาติร่วมกับ ทธ. และผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ และไดโนเสาร์ตัวนี้เป็นชนิดที่ 8 จากแหล่งภูน้อย อีกทั้งเป็นไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ตัวแรกในพื้นที่อุทยานธรณีกาฬสินธุ์

การค้นพบไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ตัวที่ 13 ของประเทศไทยนี้ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “มินิโมเคอร์เซอร์ภูน้อยเอนซิส” ซึ่งหมายถึง “นักวิ่งขนาดเล็กจากแหล่งภูน้อย” บ่งชี้ถึงซากดึกดำบรรพ์ต้นแบบ (โฮโลไทป์) ซึ่งใช้เวลาอนุรักษ์ตัวอย่างนานมากกว่า 5 ปี แ“ซากดึกดำบรรพ์นี้ถูกรักษาสภาพในลักษณะโครงกระดูกที่เรียงต่อกัน ประกอบด้วย ชิ้นส่วนกะโหลก กระดูกสันหลังส่วนคอไปจนถึงโคนหาง มือซ้าย กระดูกเชิงกราน ขาหลังทั้งสองข้าง แม้กระทั่งเอ็นกระดูกบริเวณสันหลัง นับเป็นหนึ่งในซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นไดโนเสาร์ ที่ถูกตั้งชื่ออย่างเป็นทางการตัวแรกของหมวดหินภูกระดึง โดยมีลักษณะเฉพาะตัวของไดโนเสาร์สายพันธุ์นี้ คือ มีสะโพกคล้ายนก (ออร์นิธิสเชียน) ขนาดเล็ก จากผลการวิเคราะห์วงศ์วานทางวิวัฒนาการเผยให้เห็นว่ามันเป็นไดโนเสาร์นีออร์นิธิสเชียนแรกเริ่มที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความใกล้ชิดกับญาติขนาดเล็กอื่น ๆ ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงตอนกลางถึงตอนปลายของยุคจูแรสซิกในประเทศจีนและรัสเซีย” รศ.มงคล อุดชาชน กล่าวละมีความพิเศษอย่างมาก

ปัจจุบัน ทธ.ได้ประกาศให้พื้นที่แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อยเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ขึ้นทะเบียนของประเทศ ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2563 ทั้งนี้ คาดว่ายังคงมีซากดึกดำบรรพ์อยู่ใต้ชั้นหินอีกจำนวนมาก ซึ่งการพัฒนาพื้นที่ในรูปแบบการบูรณาการร่วมกับแหล่งมรดกทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรมอื่นอันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดกาฬสินธุ์จะช่วยส่งเสริมให้อุทยานธรณีกาฬสินธุ์เป็นอุทยานธรณีในระดับประเทศต่อไปได้


UN เตือนสยอง ยุค ‘โลกร้อน’ สิ้นสุดแล้ว ต่อจากนี้ เข้าสู่ยุค ‘โลกเดือด’

สหประชาชาติเตือนน่ากลัวถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศบนโลก ชี้ ยุค ‘โลกร้อน’ ได้สิ้นสุดลงแล้ว จากนี้ไป เข้าสู่ยุค ‘โลกเดือด’

เมื่อ 27 ก.ค. 2566 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวประณามโลกที่ทำลายสภาพอากาศ ด้วยคำเตือนที่น่ากลัวที่สุดเกี่ยวกับภัยพิบัติทางสภาพอากาศในอนาคต ว่า ยุคของภาวะโลกร้อน (global warming) ได้สิ้นสุดลงแล้ว และจากนี้ไป โลกเข้าสู่ยุค ‘โลกเดือด’ (global boiling)

หลังจากบรรดานักวิทยาศาสตร์ได้ยืนยันว่า เดือนกรกฎาคม ปีนี้เป็นเดือนที่โลกร้อนจัดที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา ‘การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอยู่ที่นี่ มันน่ากลัวมาก และเป็นแค่การเริ่มต้นเท่านั้น’ กูเตร์เรส กล่าวกับนักข่าว

‘มันยังมีความเป็นไปได้ในการยับยั้งอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส และหลีกเลี่ยงความเลวร้ายที่สุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ’ เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าว พร้อมกับบอกว่า มีเพียงแต่การปกป้องสภาพอากาศทันที ผู้นำทั่วโลกต้องเป็นแกนนำ ไม่ลังเลมากไปกว่านี้ ไม่มีข้อแก้ตัวอีก และรอคนอื่นๆ ทำก่อนไม่ได้อีกต่อไป เพราะไม่มีเวลาสำหรับเรื่องเหล่านี้แล้ว

‘มันยังมีความเป็นไปได้ในการยับยั้งอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส และหลีกเลี่ยงความเลวร้ายที่สุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ’ เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าว พร้อมกับบอกว่า มีเพียงแต่การปกป้องสภาพอากาศทันที ผู้นำทั่วโลกต้องเป็นแกนนำ ไม่ลังเลมากไปกว่านี้ ไม่มีข้อแก้ตัวอีก และรอคนอื่นๆ ทำก่อนไม่ได้อีกต่อไป เพราะไม่มีเวลาสำหรับเรื่องเหล่านี้แล้ว

ที่มา : Metro


พบหลักฐานชี้การปรับตัวของปลาการ์โบราณ

ปลาการ์ (Gar fish) เป็นปลาที่อยู่ในวงศ์ Lepisosteidae ถูกอธิบายว่าเป็นปลาน้ำจืดกระดูกแข็งที่มีก้านครีบ ปลาชนิดนี้เป็นสายพันธุ์หนึ่งที่นักบรรพชีวินวิทยาให้ความสนใจเกี่ยวกับวิวัฒนาการของพวกมันนับตั้งแต่ยุคครีเตเชียส เมื่อเร็วๆนี้ ทีมนักบรรพชีวินวิทยานานาชาติระบุว่าปลาการ์โบราณสายพันธุ์ใหม่ที่เติบโตทางทะเลเมื่อ 66 ล้านปีก่อน หลังศึกษาซากดึกดำบรรพ์หรือ ฟอสซิลซยาว 1 เมตร มีครีบ เกล็ด และศีรษะที่โต เชื่อว่าจะเป็นของปลาการ์ชนิดหนึ่ง พบในโอเอซิสของทะเลทรายซาฮาราที่เชิงเขาแอตลาสที่เรียกว่า Asfla ในโมร็อกโก

สายพันธุ์ใหม่นี้ได้รับการตั้งชื่อว่า Gran demarinus gherisensis โดยตั้งชื่อตาม แลนซ์ กรานเด (Lance Grande) นักมีนวิทยาชั้นนำ (ichthyologist) ของสหรัฐอเมริกา ผู้ศึกษาวิวัฒนาการของปลาการ์มาเกือบทั้งชีวิต ทั้งนี้ ตามปกติแล้วปลาการ์ได้รับการอธิบายว่ามันมีจมูกยาวและฟันที่แหลมคมเรียงเป็นแถว เพื่อใช้สำหรับจับปลาและแมลงขนาดเล็ก ทว่าซาก Grandemarinus gherisensis นี้กลับมีจมูกที่สั้นผิดปกติเมื่อเทียบกับความยาวของศีรษะ ซากฟอสซิลนี้นับว่าเป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์ชิ้นแรกที่ได้จากแหล่งสะสมทางทะเลในยุคครีเตเชียส

นั่นหมายความว่า Grandemarinus gherisensis คือหลักฐานที่น่าสนใจว่าปลาการ์ น่าจะเป็นปลาทะเลทั้งหมดในช่วงปลายยุคจูราสสิก ซึ่งเป็นยุคก่อนครีเตเชียส การค้นพบนี้สนับสนุนแนวคิดที่ว่าปลาการ์อาจมีต้นกำเนิดในทะเลและต่อมาก็ปรับตัวเองให้เข้ากับถิ่นที่อยู่ที่เป็นน้ำจืด.

Credit : University of Portsmouth


รัฐบาลห่วงสถานการณ์‘ไข้มาลาเรีย’ลามช่วงฤดูฝน ป่วยสะสม 9,255 ราย

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยประชาชนหลังรับทราบรายงานสถานการณ์โรคไข้มาลาเรียในประเทศไทย (ณ 7 ก.ค. 66) กรมควบคุมโรครายงานพบผู้ป่วยเพิ่มจากสัปดาห์ก่อนหน้า 835 ราย นายกรัฐมนตรีจึงฝากความห่วงใยมายังประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีไร่มีสวนติดกับเขตพื้นที่ป่าเขา เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ทหารที่ลาดตระเวนตามแนวชายแดนที่ติดพื้นที่ป่า รวมทั้งประชาชนที่ชอบเดินป่า เพราะช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝนเหมาะต่อการเจริญพันธุ์ของยุงหลายชนิด เสี่ยงติดเชื้อโรคมาลาเรียซึ่งมียุงก้นปล่องที่ออกหากินเวลากลางคืนเป็นพาหะนำโรค โดยกรมควบคุมโรคแนะนำให้ประชาชนสวมเสื้อผ้าปกปิดร่างกายให้มิดชิด ใช้ยาทากันยุงหรือจุดยากันยุง หากต้องนอนค้างคืนในป่าควรกางมุ้ง หรือหากนอนเปลควรหามุ้งคลุมเปลป้องกันยุงกัด จะช่วยป้องกันโรคไข้มาเลเรีย หรือไข้ป่า ไข้จับสั่นได้

นางสาวรัชดา กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้รายงานสถานการณ์โรคไข้มาลาเรียในประเทศไทย จากระบบมาลาเรียออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 7 กรกฎาคม 2566 พบผู้ป่วยสะสม 9,255 ราย (รายงานเพิ่มจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 835 ราย) จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุดได้แก่ ตาก 5,513 ราย รองลงมาคือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน 1,026 ราย และจังหวัดกาญจนบุรี 945 ราย เป็นคนไทย 4,158 ราย (ร้อยละ 44.9) และต่างชาติ 5,097 ราย (ร้อยละ 55.1) พบผู้เสียชีวิต 3 ราย ที่จังหวัดตาก

ทั้งนี้ โรคไข้มาลาเรีย เกิดจากเชื้อพลาสโมเดียม โดยมียุงก้นปล่องซึ่งมักอาศัยอยู่ตามป่าเขาเป็นพาหะ ประชาชนกลุ่มเสี่ยงตามพื้นที่ป่าเขา รวมถึงพื้นที่แถบชายแดน มีโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด อาการของโรคไข้มาลาเรีย คือ เมื่อผู้ป่วยถูกยุงก้นปล่องตัวเมียกัด จากนั้นประมาณ 10 - 14 วัน จะมีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะเป็นพัก ๆ อาจมีอาการคลื่นไส้ เบื่ออาหาร หากไปพบแพทย์ทัน สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการรับประทานยาในเวลาไม่นาน แต่หากไปพบแพทย์ช้า ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะมาลาเรียขึ้นสมอง ภาวะปอดบวมน้ำ ภาวะไตวาย ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้

“กรมควบคุมโรคแนะนำให้ผู้ที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่เสี่ยงโรคไข้มาลาเรีย 10 - 14 วัน แล้วมีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยร่างกาย คลื่นไส้และเบื่ออาหาร ควรไปพบแพทย์โดยเร็วที่โรงพยาบาล ซึ่งมีขั้นตอนคือ การเจาะเลือดหาเชื้อ หากพบเชื้อจะได้รับยา และกินยาให้ครบตามแพทย์สั่ง มาตรวจเลือดซ้ำตามแพทย์นัด และเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการควบคุมยุงพาหะ ในพื้นที่ให้คลอบคลุมทุกหลังคาเรือน เร่งค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมในพื้นที่ ดำเนินการตามมาตรการ 1-3 -7 และเฝ้าระวังการกลับมาแพร่เชื้อใหม่ในพื้นที่ และสำหรับประชาชนเมื่อต้องเข้าป่า หรือไปในพื้นที่เสี่ยงควรป้องกันตนเอง ด้วยการสวมใส่เสื้อผ้าปกคลุมแขนขาให้มิดชิด ใช้ยาทากันยุงหรือจุดยากันยุง เมื่อต้องนอนค้างคืนในป่า ควรนอนในมุ้ง โดยมุ้งต้องอยู่ในสภาพดีไม่มีรูขาด รวมทั้งนำมุ้งไปชุบสารเคมีที่มีฤทธิ์ไล่และฆ่ายุง หากมีข้อสงสัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422” นางสาวรัชดา กล่าว


สลด! ฝูงวาฬเกยตื้นที่ออสเตรเลีย ตายแล้ว 51 ตัว

วันพฤหัสบดี ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2566,:สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า วาฬนำร่องจำนวนมากเกยตื้นบนชายหาดเชย์เนส (Cheynes) ทางตะวันออกของเมืองออลบานี ประเทศออสเตรเลีย โดยมีวาฬตายแล้ว 51 ตัว ภายในชั่วข้ามคืนหลังจากเกยตื้น

ผู้เชี่ยวชาญ พร้อมด้วย อาสาสมัครในเมืองเพิร์ท เมืองหลวงของรัฐเวสต์เทิร์น ออสเตรเลีย เร่งเข้าช่วยเหลือฝูงวาฬนำร่องเกือบ 100 ตัวที่มาเกยตื้นที่ชายหาดเชนีส ท่ามกลางสภาพอากาศหนาวเย็น โดยเจ้าหน้าที่สามารถช่วยวาฬกลับสู่ทะเลได้บางส่วน และยังพยายามช่วยวาฬที่ยังมีชีวิตรอด แต่ไม่สามารถยื้อชีวิตวาฬอีก 51 ตัวไว้ได้

เมื่อวาฬเริ่มเกยตื้นบนชายฝั่ง เจ้าหน้าที่ด้านสัตว์ป่าก็ได้ออกปฏิบัติการฉุกเฉินเพื่อช่วยชีวิต

ทั้งนี้ ออสเตรเลียเคยเผชิญกับการเกยตื้นของฝูงวาฬนำร่องจำนวนมากถึง 230 ตัวบนชายฝั่งรัฐแทสเมเนียเมื่อปี 2565 และ 150 ตัวเกยตื้นในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียเมื่อปี 2561