ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



นาซาจับสัญญาณ ‘วอยเอจเจอร์ 2’ ได้ หลังส่งคำสั่งผิดจนขาดการติดต่อ

นาซาจับสัญญาณจากยานวอยเอจเจอร์ 2 ที่อยู่ห่างจากโลกไปหลายหมื่นล้านกิโลเมตรได้อีกครั้ง หลังก่อนหน้านี้พวกเขาส่งคำสั่งผิดจนขาดการติดต่อ

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือนาซา ของสหรัฐฯ ยอมรับว่าเมื่อ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ของพวกเขาส่งคำสั่งผิดไปให้แก่ยาน ‘วอยเอจเจอร์ 2’ ซึ่งถูกส่งออกสำรวจอวกาศตั้งแต่ปี 2520 ทำให้จานรับสัญญาณของยานหันไปจากโลกราว 2 องศา ส่งผลให้ยานลำนี้หยุดรับคำสั่ง หรือส่งข้อมูลใดๆ กลับมา

แต่ล่าสุดในวันอังคารที่ 1 ส.ค. 2566 นาซายืนยันว่า พวกเขาตรวจจับสัญญาณจากวอยเอจเจอร์ 2 ได้อีกครั้ง ระหว่างการสแกนท้องฟ้าตามปกติ ทำให้มีความหวังที่เจ้าหน้าที่จะสามารถเชื่อมการติดต่อกับยานลำนี้ได้อีกครั้ง

ปัจจุบัน ยานวอยเอจเจอร์ 2 อยู่ห่างจากโลกมากกว่า 1.99 หมื่นล้านกิโลเมตร โดยมันกำลังเดินทางด้วยความเร็วประมาณ 55,346 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ผ่านห้วงอวกาศระหว่างดวงดาว ทำให้ต้องใช้เวลาประมาณ 18 ชั่วโมง กว่าที่สัญญาณที่มันส่งมาจะเดินทางมายังโลก

การจับสัญญาณของ วอยเอจเจอร์ 2 ได้อีกครั้ง เป็นการยืนยันว่ายานสำรวจลำนี้ยังคงปล่อยสัญญาณออกมา และมีสภาพที่ดี แม้ว่าเจ้าหน้าที่ของนาซาจะยังไม่สามารถเชื่อมการสื่อสารได้ แต่วอยเอจเจอร์มีโปรแกรมรีเซ็ตตัวเองหลายครั้งในแต่ละปี เพื่อปรับองศาจานรับสัญญาณให้หันไปทางโลกอยู่เสมอ โดยการรีเซ็ตครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 15 ต.ค. ซึ่งควรทำให้การสื่อสารกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง

ทั้งนี้ ยานวอยเอจเจอร์ 2 กับคู่แฝดของมันอย่าง วอยเอจเจอร์ 1 เป็นยานอวกาศเพียง 2 ลำในประวัติศาสตร์ที่ไปปฏิบัติการนอกเขตเฮลิโอสเฟียร์ หรือขอบเขตอิทธิพลลมสุริยะ ลักษณะคล้ายฟองที่โอบคลุมทั้งระบบสุริยะ ลมสุริยะ และสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์เอาไว้

วอยเอจเจอร์ 2 ยังเป็นยานอวกาศเพียงลำเดียวที่ลอยผ่านดาวเนปจูนและดาวยูเรนัส ส่วนวอยเอจเจอร์ 1 ไม่ผ่าน แต่เดินทางไปไกลจากโลกกว่า 2.4 หมื่นล้านกิโลเมตร กลายเป็นยานอวกาศที่เดินทางไปใกล้ที่สุดของมนุษยชาติ.

ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign ที่มา : bbc


ส่องสำรวจ ‘สิ่งมีชีวิตใหม่’ เจาะการค้นพบเรียนรู้ธรรมชาติ

การค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ทั้งพืชและสัตว์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีรายงานชวนติดตามต่อเนื่อง โดยการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ในประเทศไทย นอกจากบ่งบอกถึงความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ ยังเชื่อมโยงส่งต่อความรู้ความเข้าใจธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิต สร้างความตระหนักการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ…

จากการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่จากนิทรรศการสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ (New Species of Life) โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวบรวมนำสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ นำตัวอย่างจริงทั้งพืชและสัตว์ที่ค้นพบในประเทศไทยนับแต่อดีตถึงปัจจุบัน ที่เก็บรักษาไว้ในคลังตัวอย่างพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา จัดแสดง พาค้นความน่ามหัศจรรย์ในเรื่องราวสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่ถูกค้นพบ ค้นประโยชน์การค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่

ทั้งนี้ชวนเรียนรู้ธรรมชาติ ค้นเรื่องน่ารู้ที่ค้นได้จากสิ่งมีชีวิตใหม่ โดย ดร.วีระ วิลาศรี ผู้อำนวยการกองวิชาการสัตววิทยา สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ให้ความรู้ในประเด็นนี้ว่า เมื่อพูดถึงสิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์จะรู้จักกันโดยทั่วไปอย่างเช่น ปลาหมอ ปลาดุก ปลาตะเพียน ฯลฯ รู้จักรูปร่างหน้าตาเป็นพืชหรือสัตว์ชนิดนั้น ๆ

แต่เมื่อเรียนรู้ระบบที่เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้นสามารถแยกชนิดสิ่งที่พบเจอได้เพิ่มขึ้น เห็นความต่างโดยอาศัยลักษณะความพิเศษของคุณสมบัติสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ อย่างเช่น ปลาตะเพียนที่รู้จักอาจแยกได้มากกว่า 3 หรือ 4 ชนิด แยกได้โดยกลไกหรือกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ทำให้รู้จักกับสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่ในธรรมชาติ ได้พบสิ่งมีชีวิตที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนเพิ่มขึ้น

“สิ่งมีชีวิตใหม่ที่นำเสนอผ่านนิทรรศการครั้งนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะพาสัมผัสนับแต่กระบวนการแรกบอกเล่ารายละเอียด ขั้นตอน ความเป็นมา ทั้งนี้สิ่งมีชีวิตใหม่ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นหากแต่มีอยู่มายาวนาน แต่อาจยังสำรวจไปไม่ถึงหรือยังไม่มีการศึกษา โดยครั้งนี้เราพาย้อนหลัง ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา พาชมสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่ค้นพบในประเทศไทย ค้นประโยชน์ของการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ โดยนำตัวอย่างจริงทั้งพืชและสัตว์ที่ค้นพบในประเทศไทย ที่เก็บรักษาไว้ในคลังตัวอย่างพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยานำมาแสดง”

ผู้อำนวยการกองวิชาการสัตววิทยา ดร.วีระอธิบายเพิ่มอีกว่า การค้นพบทำให้เห็นถึงความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติ เห็นสิ่งที่มีมาในอดีตและปัจจุบัน ทั้งนี้ที่นี่เรามีนักวิชาการศึกษาธรรมชาติในกลุ่มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแมลง พืชพรรณไม้ ฯลฯ และจากการทำงานการค้นพบมีความสำคัญซึ่ง ส่งต่อความรู้จุดประกายการศึกษา การค้นคว้าต่อเนื่องต่อไปอีกหลากหลายมิติ เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น น่าสนใจทำให้มีข้อมูลใหม่ ๆ โดยหลายประเทศต่างให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว

“สิ่งที่นำมาจัดแสดงอาจเป็นเบื้องต้น ให้เห็นถึงเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตใหม่ที่มีการค้นพบ แสดงการทำงาน ขั้นตอน กระบวนการต่าง ๆ โดยในส่วนนี้มีรายละเอียดบอกเล่าไว้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจเดินทางไปในพื้นที่ การเก็บตัวอย่างเพื่อนำกลับมาศึกษาวิเคราะห์ ทั้งนี้จะเห็นว่าสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ในปัจจุบัน ที่พบส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลเข้าถึงยาก เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ๆ อย่างเช่น กลุ่มแมลง ซึ่งมีความหลากหลาย โดยที่นำมาแสดงเรานำ มดชนิดใหม่ที่ค้นพบ หรือในกลุ่มของปลาจะพบในทะเลลึก พบในแม่นํ้าลำธาร เป็นต้น”

ดร.วีระเล่าขยายเพิ่มอีกว่า ปลาชนิดใหม่ที่ค้นพบในรอบสิบปีอย่างเช่น ปลาในกลุ่ม ปลาเลียหิน ปลารากกล้วย ฯลฯ อย่างปลารากกล้วยที่คุ้นเคย ถ้าสังเกตอย่างละเอียดมีหลายชนิด โดยสิ่งมีชีวิตใหม่ที่จัดแสดงครั้งนี้จะชวนสังเกตถึงความเหมือนที่มีความต่างกัน ศึกษาได้จากตัวอย่างจากพืชและสัตว์

“ในช่วงสิบปีที่พาย้อนไปอย่างที่นำมาแสดง เป็นกรณีศึกษาของนักวิจัยของเรา โดยบอกเล่าสตอรี่การศึกษาวิจัยเชื่อมโยงกับตัวอย่างที่เก็บรักษาไว้ในคลังตัวอย่างพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา จุดประกายและสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าความสำคัญ ตระหนักถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่จะทำให้เกิดความสมดุลและยั่งยืนต่อไปในอนาคต”

นอกจากที่กล่าวยังมี ดอกดินอีกหลายชนิด เช่น ดอกดินอรุณรุ่ง ดอกดินปากเหลือง ดอกดินทยา มี หอยจิ๋ว หอยชนิดเล็ก ๆ ที่พบตามหินปูน กุ้ง ปู ที่พบใหม่นำมาจัดแสดง หรือในกลุ่มปลา อาจไม่ใช่เฉพาะที่พบในประเทศไทย แต่เป็นการศึกษาในภาพรวม โดยปลาทะเลส่วนใหญ่อาจต้องเปรียบเทียบกับปลาในหลายพื้นที่หลายภูมิภาค ฯลฯ การค้นพบสิ่งมีชีวิตใหม่นอกจากจะทำให้เรียนรู้ธรรมชาติ แต่ยังส่งต่อถึงการดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ เกิดการค้นคว้าทดลอง การนำไปใช้ประโยชน์และระวังถึงพิษอันตรายอย่างเหมาะสมและเท่าทัน

ประโยชน์ของการศึกษาสิ่งมีชีวิตยังมีอีกหลายมิติ ผู้อำนวยการกองวิชาการสัตววิทยา ดร.วีระ บอกเล่าเพิ่มอีกว่า ปัจจุบันในเรื่องของ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ภาวะโลกร้อน พืชและสัตว์บางชนิดยังร่วมบ่งบอก อย่างเช่นแหล่งนํ้าในธารนํ้าบนภูเขาจากที่เคยสำรวจพบปลาบางชนิดอาศัยอยู่ในจุดที่เคยมี แต่กลับหายไปซึ่งทำให้เห็นว่าแหล่งอาศัย สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปส่งผลกระทบต่อการอยู่อาศัย การมีข้อมูลจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อการเตรียมพร้อมตั้งรับความเปลี่ยนแปลงและการฟื้นฟูธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ทั้งส่งเสริมให้เกิดความตระหนักดูแลรักษาธรรมชาติ เป็นต้น

“สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. เป็นนิทรรศการที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้ผู้เข้าชมเห็นถึงความสำคัญการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ เห็นคุณค่าความสำคัญทรัพยากรธรรมชาติใกล้ตัวจากที่กล่าว นำสิ่งที่ถูกค้นพบในประเทศไทยจัดแสดง โดยมีตัวอย่างจริงทั้งที่เป็น ตัวอย่างดองและตัวอย่างแห้ง แสดงกระบวนการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ ประโยชน์การค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์รวมทั้งนำสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่ค้นพบโดยนักวิชาการของ อพวช. จัดแสดง”

ดังเช่น ดอกดินทยา ชื่อวิทยาศาสตร์ Kaempferia jenjittikuliae Noppornch. ซึ่งถูกรายงานเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก เมื่อปี พ.ศ. 2564 โดย ดร.ณัฐพล นพพรเจริญกุล นักวิชาการ อพวช. โดยดอกดินทยาเป็นพืชวงศ์ขิงข่า สกุลเปราะ สกุลย่อยดอกดิน พบครั้งแรกในอำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ ภายหลังพบเพิ่มเติมในอำเภอภักดีชุมพล จังหวัดชัยภูมิ จัดเป็นพืชถิ่นเดียวของประเทศไทย โดยได้รับการประเมินสถานการณ์อนุรักษ์เป็นพืชที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ เป็นต้น เป็นส่วนหนึ่งแสดงความสำคัญของตัวอย่างอ้างอิงทั้งพืชและสัตว์ที่ อพวช. เก็บรักษา

นอกจากนี้มีส่วนแสดง New species and new records of Thailand in last decade and relative species จัดแสดงสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลกที่พบในประเทศไทยและชนิดที่มีรายงานครั้งแรกในประเทศไทยในรอบ10 ปี แสดงตัวอย่างจริงทั้งที่เป็นตัวอย่างแห้งและตัวอย่างเปียกเก็บรักษาสภาพไว้ในขวดโหลดองตัวอย่าง จัดวางเป็นหมวดหมู่ตามกลุ่มสิ่งมีชีวิต ได้แก่ มดและแมลง เอคไคโนเดิร์ม หอย กุ้งกั้งปู ปลา สัตว์สะเทินนํ้าสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และพืช มีตัวอย่างของสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่และตัวอย่างชนิดใกล้เคียงเปรียบเทียบให้ดู มีคำอธิบายสำหรับชนิดที่มีความน่าสนใจเป็นพิเศษ

อีกทั้งนำเสนอเรื่องราวของลักษณะสัณฐานภายในสิ่งมีชีวิตที่ใช้ในการแยกความแตกต่างของชนิดใหม่ แยกจากชนิดใกล้เคียงอื่น ๆ โดยยกตัวอย่างกรณีศึกษาในปลากระดูกแข็ง นอกจากลักษณะสัณฐานภายนอกที่นักวิทยาศาสตร์ใช้ในการบรรยายสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลกแล้วยังมีลักษณะสัณฐานภายในร่างกายบางอย่าง นำมาใช้อธิบายความแตกต่างระหว่างสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่และชนิดใกล้เคียง ดังเช่นยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นใน ปลากระดูกแข็ง ใช้ลักษณะสัณฐานภายในบางอย่างในการแยกชนิด เช่น จำนวนข้อกระดูกสันหลัง กระดูกโอโทลิธ ฯลฯ จัดแสดงมีตัวอย่างโครงกระดูกและกระดูกโอโทลิธให้ชม เป็นต้น

การค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ยังคงมีต่อไป ด้วยที่อีกหลายสถานที่ไม่ว่าจะเป็นป่าเขา ทะเลลึก หรือบางจุดบางพื้นที่ยังไปไม่ถึง ยังคงรอคอยการศึกษาสำรวจ การค้นพบเพิ่ม เป็นข้อมูลนำไปสู่การอนุรักษ์ การดูแลธรรมชาติสิ่งแวดล้อม สร้างความยั่งยืนต่อไปในอนาคต.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ... สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.dailynews.co.th/news/2579848/


โรคประจำตัว กับอาหารที่ไม่ควรกิน

อาหารที่เราทานกันทุกวัน นอกจากจะให้พลังงาน และสารอาหารที่จำเป็น รวมถึงช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และทำหน้าที่เสมือนยารักษาโรคแล้ว ในบางครั้งก็กลับจะให้โทษได้เหมือนกัน หากว่าเรารับประทานอาหารนั้นๆ ไม่ถูกจังหวะ โดยเฉพาะในช่วงที่สุขภาพไม่แข็งแรง ร่างกายอ่อนแอ โรคภัยถามหา ก่อนจะทานอะไรคงต้องเลือกกันซักหน่อย ไลฟ์เซ็นเตอร์บล็อก มีคำแนะนำเวลาป่วย หรือใครที่มีโรคประจำตัว มีเมนูอะไรที่เราควรหลีกเลี่ยงกันบ้าง

“ไมเกรน” ปวดหัวจี๊ดๆ ข้างเดียวเป็นประจำ ควรงดเมนูขนมหวาน ขนมเค้ก ชานม น้ำผลไม้หวานๆ น้ำอัดลม เพราะอาหารหวานที่มีปริมาณน้ำตาลสูงจะทำให้น้ำตาลในเลือดไม่คงที่ จะเพิ่มสูงขึ้น และลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดโรคไฮโปโกลซีเมียหรืออาการที่น้ำตาลในเลือดต่ำได้ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรน นอกจากนั้นยังควรลดปริมาณการทานเนื้อสัตว์ ทั้งเนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ เพราะโปรตีนจากเนื้อสัตว์เหล่านี้มักมีสารพิษตกค้างจากฮอร์โมนต่างๆ ในกระบวนการเลี้ยง ทั้งยังมีกรดแอมิโนไทโรซิน ที่ทำให้ปวดหัวได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

อาการข้ออักเสบ ปวดข้อ ปวดเข่า จะลุกนั่งก็ลำบาก ลองงดน้ำแข็ง อาหารเย็นๆ ดู เพราะความเย็นจะทำให้กระเพาะอาหารของเราทำงานหนักขึ้น และระบบไหลเวียนของเลือดยังทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพอีกด้วย ที่สำคัญ ควรลดอาหารประเภทเนื้อสัตว์ เครื่องใน ไขมัน เพราะสารพิษตกค้างที่อยู่ในเนื้อสัตว์ จะเป็นตัวเพิ่มอาการเจ็บปวด และอาการอักเสบให้รุนแรงยิ่งขึ้น

สำหรับผู้ที่มีอาการ “กระเพาะอาหารอักเสบ ปวดท้อง แสบท้องเป็นประจำ” ไม่ควรทานอาหารประเภทยำ หรืออาหารรสจัด รวมทั้ง ชา กาแฟ น้ำอัดลม (อาหารที่มีคาเฟอีนสูง) เพราะจะยิ่งทำให้เกิดการระคายเคืองของเยื่อบุกระเพาะมากขึ้น อาหารรสจัดยังจะยิ่งเร่งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้นอีกด้วย

ผู้ที่มีอาการของ “โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง” ต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็ม มีเกลือหรือโซเดียมสูง เพราะโซเดียมจะเร่งความดันให้ยิ่งเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงอาหารรสหวาน และผลไม้สุก เพราะน้ำตาลและไขมันจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นได้ง่าย ทั้งโรค หลอดเลือดเปราะ จอตาเสื่อม โรคไต ท่อปัสสาวะอักเสบ เป็นต้น

ผู้ป่วยที่มีอาการ “ตับแข็ง ตับอักเสบ” หรืออาการ “เสื่อมสภาพของตับ” ต้องหลีกเลี่ยงอาหารทำร้ายตับ ซึ่งหลักๆ คืออาหารประเภทเนื้อสัตว์ เพราะบรรดาเนื้อสัตว์ทั้งหลายจะทำให้ตับต้องทำงานอย่างหนักในการขับของเสียเช่น ยูเรีย และ แอมโมเนีย ออกไป แต่เมื่อตับทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ของเสียต่างๆ จึงถูกขับออกจากร่างกายได้น้อยลง และจะถูกดูดซึมกลับเข้าไปในกระแสเลือดอีกครั้ง ทำให้สุขภาพแย่ลง เซื่องซึม และบางครั้งอาจมีอาการหนักถึงขั้นหมดสติไปเลยก็ได้

คนป่วยมักต้องการการดูแลมากกว่าคนทั่วไป เพราะอวัยวะภายในบางส่วนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ พฤติกรรมการรับประทานอาหารจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจดูแลเป็นพิเศษ การเลือกเมนูที่เหมาะสมจะช่วยให้ส่วนต่างๆของร่างกายได้ทำงานเบาลง และให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง

ใส่ใจกับเมนูต่างๆ แล้วอย่าลืมออกกำลังกายอย่างพอเหมาะเพื่อช่วยฟื้นฟู เสริมสร้างสุขภาพโดยรวมให้แข็งแรงกันด้วย


รู้จัก แก้วโป่งข่าม ของขลังสำหรับสายมู ไอเทมแนะนำของ ททท.ลำปาง

สายมู ห้ามพลาด!!ของดีของขลังแห่งจังหวัดลำปาง “แก้วโป่งข่าม” เมืองเถิน ธาตุกายบสิทธิ์ มีฤทธิ์ในตัว ป้องกันเภทภัย มงคล 13 ประการ “แก้วโป่งข่าม” เป็นแร่ควอรตซ์ชนิดหนึ่งที่มีแร่ซิลิกาปนอยู่ในปริมาณมากมีลักษณะทางกายภาพเป็นหินผลึกที่บางก้อนสามารถมองทะลุเข้าไปภายในแล้วเห็นเป็นผลึกหรือมีอินทรีย์สารอยู่ภายใน โดยแก้วโป่งข่ามที่พบมีอยู่หลายชื่อเรียกแบ่งตามสีสันและลวดลายทางธรรมชาติที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งในไทยมีการขุดพบแก้วโป่งข่ามเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2542 บริเวณดอยโป่งหลวง อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ซึ่งจากข้อมูลทางธรณีวิทยาระบุว่าบริเวณดังกล่าวเคยมีร่องรอยของลาวาไหลผ่านชั้นหินบนผิวดิน จนเกิดการเคลือบแร่ธาตุเอาไว้ และกลายมาเป็นแก้วโป่งข่าม โดยมีการนำแก้วโป่งข่ามลักษณะต่างๆนำมาแปรรูปเป็นเครื่องประดับที่มีทั้งแหวน จี้ ต่างหู และกำไลข้อมือ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังนำเอาแก้วโป่งข่ามไปใช้ผลิตเป็นรูปแกะสลักขนาดเล็ก อาทิ พระพุทธรูป ของตกแต่งรูปสัตว์และดอกไม้ต่างๆ เป็นต้น ซึ่งมีเอกลักษณ์ความแปลกจากความสวยงามของสีสันที่ต่างกันของแก้วโป่งข่าม

นอกจากความสวยงามที่ดูแปลกตาของแก้วโป่งข่ามแล้ว เกี่ยวกับตำนานความเชื่อเรื่องแก้วศักดิ์สิทธิ์ของล้านนาโบราณ ซึ่งแก่นหลักทางความเชื่อของล้านนาได้กล่าวถึงแก้วศักดิ์สิทธิ์ อันมีลักษณะเหมือนกันกับแก้วโป่งข่ามว่าสามารถป้องกันเหตุอันตรายต่างๆ ตลอดจนภูตผีปีศาจให้แก่ผู้ที่ครอบครองได้ อีกทั้งยังสามารถทำให้เกิดโชคลาภ เป็นสิริมงคล ความสุข และความเจริญก้าวหน้าในชีวิตวโป่งข่าม

ปัจจุบันมีแก้วโป่งข่ามอยู่ทั้งหมด 13 ประเภท ซึ่งมีชื่อเรียกและการสื่อความหมายทางความเชื่อที่แตกต่างกันออกไป โดยการเลือกบริโภคสินค้าขึ้นอยู่กับความชื่นชอบส่วนบุคคล ได้แก่

1. แก้วขนเหล็กใส มีลักษณะโปร่งใส ภายในมีเส้นแร่ปรากฎอยู่ มีไว้เพื่อเสริมโชคลาภ ยศและตำแหน่ง

2. แก้วเข้าแก้ว มีไว้เพื่อเสริมความโดดเด่นในเรื่องของอำนาจ ความสำเร็จในการติดต่อค้าขาย และความมีชื่อเสียง

3. แก้วสามกษัตริย์ ช่วยเสริมชะตาบารมีให้แก่ผู้ถือครอง

4. แก้วนางขวัญ ช่วยให้ผู้ที่ครอบครองมีเสน่ห์ต่อคนรอบข้าง

5. แก้วทราย มีลักษณะของเม็ดทรายเรียงกัน ช่วยส่งเสริมในเรื่องของเงินทอง โชคลาภ

6. แก้วพิรุณเสน่หา มีลักษณะของเส้นลายจะเป็นริ้วบางๆ เหมือนกับผ้าแพรบางๆ ช่วยส่งเสริมด้านการค้าขายให้ประสบความสำเร็จ

7. แก้วหมอกมุงเมือง เชื่อว่าทำให้เกิดความบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สินเงินทอง

8. แก้ววิทูรสีน้ำผึ้ง มีสีเหลืองขุ่น ช่วยส่งเสริมทางด้านโชคลาภ

9. แก้วกาบ มีลักษณะเป็นแร่แผ่นบางๆ อยู่ภายใน ช่วยเสริมด้านความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน

10. แก้วปวก ลักษณะมองเห็นเป็นต่อมน้ำหรือฟองน้ำอยู่ภายใน ช่วยเสริมในด้านเมตตามหานิยม

11. แก้วแร ส่งผลในการค้ำชูสำหรับผู้ที่ทำธุรกิจค้าขาย

12. แก้วมังคละจุฬามณี เมื่อมองเข้าไปภายในจะจินตนาเห็นเป็นรูปมงคลต่างๆ เช่น องค์พระ ต้นโพธิ์ หรือเจดีย์ ถือเป็นแก้วที่หาพบได้ยากและถือว่ามีค่ามาก

13. แก้วโป่งข่ามสีฟ้า เชื่อว่าผู้ใดได้ครอบครองจะทำให้ชีวิตมีความสงบสุข

สำหรับสายมู สายความเชื่อแล้วพลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง โดยสามารถเข้ามาชมสินค้าแก้วโป่งข่ามได้ที่ กลุ่มเจียระไนแก้วโป่งข่ามบ้านนาบ้านไร่ อ.เถิน จ.ลำปาง ตั้งอยู่ข้างกับวัดนาบ้านไร่ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปแก้วโป่งข่ามที่ลือชื่อ ที่เชื่อว่าหากขอพรสิ่งใดมักสมหวังตามที่ขอ เป็นศูนย์รวมความเชื่อของชาวบ้านบริเวณนั้น อีกด้วย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท.สำนักงานลำปาง เบอร์โทร.054-222214 ทุกวันจันทร์-ศุกร์ หรือสอบถามได้ที่ INBOX Fanpage ททท.สำนักงานลำปาง


ข่าวนวัตกรรม 'ไหมไทย' งานวิจัยเผยรักษาได้สารพัดโรค ช่วยผ่อนคลายลดเครียด

นวัตกรรมสารสกัด 'ไหมไทย' งานวิจัยเผยรักษาได้สารพัดโรค ตั้งแต่โรคทางกายยันโรคทางจิตใจ ผลทดสอบพบทำให้นอนหลับสบายลดความเครียด คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คิดค้นนวัตกรรมทางการแพทย์ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีวิศวกรรมกับโปรตีน "ไหมไทย" จนเกิดเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ด้านวิศวกรรมเนื้อเยื่อและระบบนำส่งยา ของการรักษาโรคมะเร็ง โรคข้อเสื่อม การผลิตหลอดเลือดเทียม เส้นประสาทเทียม ท่อน้ำตาเทียม การพิมพ์เนื้อเยื่อสามมิติ การทาเปลือกตาเทียม ทาแผ่นปิดแผลนำส่งยา การทาผิวหนังเทียม และกระดูกเทียม

นวัตกรรมทางการแพทย์จาก "ไหมไทย" นี้ ศ.ดร.ศิริพร ดำรงค์ศักดิ์กุล และรศ. ดร.โศรดา กนกพานนท์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการวิจัยเนื่องจากเห็นว่า ไหมไทยเป็นวัตถุดิบทางการเกษตรที่สำคัญ และมีสมบัติที่ดีเหมาะสมสาหรับการนำมาใช้ทางการแพทย์ จึงได้ดำเนินงานวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง จนประสบความสำเร็จสามารถนำมาใช้เป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ในการรักษาโรคมะเร็งและโรคอื่นๆ ได้

ปัจจุบันคณะผู้วิจัยสามารถพัฒนาระบบนำส่งยาและสารสำคัญ รวมถึงวิศวกรรมเนื้อเยื่อจากชีววัสดุไฟโบรอินที่สกัดจากรังไหมไทยในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งไฮโดรเจล โครงสามมิติ แผ่นแปะ อนุภาคขนาดไมครอน เส้นใยขนาดนาโน เป็นต้น เพื่อประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์โดยเฉพาะระบบนำส่งยาหรือสารออกฤทธิ์เพื่อรักษาโรคต่างๆ อาทิ โรคมะเร็ง ข้อเสื่อม เบาหวาน และวิศวกรรมเนื้อเยื่อต่างๆ อาทิ ผิวหนัง กระดูก หลอดเลือด เป็นต้น ซึ่งจากผลการศึกษาวิจัยด้านความปลอดภัย ทำให้ผู้วิจัยมั่นใจว่าจะสามารถนำเทคโนโลยีไฟโบรอินไหมมาประยุกต์ใช้งานได้จริงในทางการแพทย์ เนื่องจากไฟโบรอินไหมมีสมบัติเด่นในด้านความเข้ากันได้ทางชีวภาพ (Biocompatibility) มีปฏิกิริยาต่อต้านจากภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำ (low-immunogenicity) สามารถย่อยสลายได้ในร่างกาย (Biodegradability) และสามารถปรับเปลี่ยนอัตราการย่อยสลายและการปลดปล่อยยาที่บรรจุได้

นอกจากนั้น ไหมไทย ยังสามารถนำมาผลิตเป็นครีมไฮโดรเจลจากสารสกัด "ไหมไทย" ผสมยาปฏิชีวนะ ใช้สำหรับทาแผลทั่วไป และแผลกดทับ เพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นในแผล ช่วยส่งเสริมขบวนการหายของแผล และกำจัดเชื้อแบคทีเรีย โดยไฮโดรเจลจากสารสกัดไหมไทยจะช่วยปลดปล่อยยาออกมาในปริมาณที่เหมาะสม และลดความถี่ของการใช้ยาปฏิชีวนะได้ รวมถึงการพัฒนาไฮโดรเจลแบบฉีดได้ ซึ่งเตรียมจากสารสกัดไหมไทยผสมยาสเตียรอยด์ที่เป็นยาทั่วไปที่ใช้ในการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม โดยจะช่วยลดความเจ็บปวดและอาการบวมจากการเสียดสีกันของข้อเข่าที่เสื่อมและต้านการอักเสบ ไฮโดรเจลจากสารสกัดไหมไทยสามารถช่วยปกป้องตัวยาไม่ให้เสื่อมสลาย และช่วยชะลอการปลดปล่อยของตัวยาให้ออกมาใน

ปริมาณที่เหมาะสม แต่เนิ่นนานขึ้น ส่งเสริมให้ตัวยายังคงมีประสิทธิภาพในการรักษานานขึ้น และลดความถี่ของการฉีดยาสเตียรอยด์ได้ นอกจากนี้ไหมไทยยังสามารถต่อยอด ผลิตเป็นแผ่นแปะช่วยผ่อนคลาย แผ่นไฮโดรเจลนวัตกรรมใหม่ ที่มีไฟโบรอินจากไหมไทยที่ประสิทธิภาพในการช่วยชะลอการปลดปล่อย cannabidiol (CBD) อย่างช้าๆ ซึ่งจะช่วยผ่อนคลาย ลดความเครียด ช่วยให้นอนหลับง่าย และช่วยให้การนอนหลับลึกขึ้น โดยมีผลการทดสอบทางวิทยาศาสตร์รองรับ รวมถึงผ่านการทดสอบทางผิวหนัง และการผลิตอยู่ภายใต้มาตรฐาน GMP

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ถือเป็นความภูมิใจและความสาเร็จที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้ทาการวิจัยค้นคว้า เป็นผลสัมฤทธิ์ที่เป็นที่ประจักษ์ สามารถนำงานวิจัยมาพัฒนาเพื่อการสร้างศักยภาพให้กับเกษตรกร ได้มีความรู้ ความสามารถ และยกระดับมาตรฐานในอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงหม่อนไหมได้อย่างดียิ่ง ทั้งยังเป็นการสร้างนวัตกรรมให้กับทาง การแพทย์ ให้มีศักยภาพในการรักษาผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึงด้วยผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานสากล สร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยงานวิจัยที่เป็นคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ”