โควิด 19 ล่าสุดที่ระบาดในปี 2568 นี้ส่วนใหญ่เป็นโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน XEC แม้จะมีอาการไม่รุนแรง แต่มีการแพร่ระบาดรวดเร็ว และกลุ่มเสี่ยงยังต้องระมัดระวัง
โควิด 2568 สายพันธุ์โอมิครอน XEC คืออะไร
โควิด 2568 สายพันธุ์โอมิครอน XEC คือโควิด 19 ลูกผสมระหว่างสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนที่ค้นพบก่อนหน้านี้สองสายพันธุ์ KS.1.1 กลุ่มสายพันธุ์ FLiRT และ KP.3.3 กลุ่มสายพันธุ์ FLuQE ซึ่งจากข้อมูลที่เผยแพร่ตั้งแต่เดือนกันยายน 2567 ของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุไว้ว่า โควิด 19 โอมิครอน XEC ถูกพบครั้งแรกในเยอรมนีเมื่อเดือนมิถุนายน 2567 และจากข้อมูลในสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และจีน ในปี 2567 นั้น พบว่า XEC แพร่ระบาดเร็วกว่าโอมิครอนสายพันธุ์อื่นถึง 84% 90% และ 110% ตามลำดับ จึงถือว่าโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน XEC เป็นสายพันธุ์ที่สามารถแพร่ระบาดได้เร็ว
จึงไม่น่าแปลกใจที่มีคนติดโควิดกันตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น โดยที่กรมควบคุมโรค โดยนายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยข้อมูลเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 ไว้ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม จนถึงวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 พบผู้ป่วยโควิด 19 โดยรวมสะสม 41,197 ราย เสียชีวิตสะสม 15 ราย โดยถือว่ามีจำนวนผู้ป่วยโรคโควิด 19 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ตามคาดการณ์ เนื่องจากโรคโควิด 19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น ที่สามารถพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี
อย่างไรก็ตามกรมควบคุมโรคได้เตือนกลุ่มเสี่ยง 608 ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว เพราะหากป่วยเสี่ยงเสียชีวิตได้ ดังนั้น หากสงสัยว่าจะติดโควิด จึงควรตรวจด้วย ATK จะเห็นได้ว่า โควิด 19 ล่าสุดนี้ แม้จะไม่ควรตื่นตระหนก แต่ก็ควรระมัดระวัง และสังเกตอาการที่อาจเกิดขึ้น ว่าเสี่ยงติดโควิดหรือไม่
สรุปอาการโควิด 2568 สายพันธุ์โอมิครอน XEC มีอะไรบ้าง
จากข้อมูลของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และองค์กรสาธารณสุขของอังกฤษ (NHS) สรุปอาการโควิด 2568 สายพันธุ์โอมิครอน XEC ได้ดังนี้
ไข้สูง หรือหนาวสั่น ไข้สูงหมายถึงแค่แตะที่หน้าอก หรือหลังก็รู้สึกร้อน
ไอต่อเนื่องในช่วง 24 ชั่วโมง เป็นการไอต่อเนื่องมากกว่า 1 ชั่วโมง หรือ 3 ชั่วโมง
สูญเสีย หรือการรับกลิ่นหรือรสเปลี่ยนแปลง
หายใจลำบาก
รู้สึกเหนื่อย หรือหมดแรง
ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
ปวดศีรษะ
เจ็บคอ
คัดจมูก น้ำมูกไหล
เบื่ออาหาร
ท้องเสีย
รู้สึกไม่สบายหรืออาเจียน
ติดโควิด 2568 สายพันธุ์โอมิครอน XEC ควรดูแลตัวเองอย่างไร
ถ้าตรวจพบเชื้อโควิดแล้ว เว้นระยะห่างจากคนทั่วไป 3 วัน และเว้นระยะห่างกับกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 10 วัน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด
พักผ่อนมากๆ ดื่มน้ำมากๆ ให้สังเกตว่าอยู่ในภาวะขาดน้ำหรือไม่ เบื้องต้นสังเกตสีของปัสสาวะ ควรเป็นสีเหลืองใส
รับประทานยาแก้ไข้ได้
ถ้าไอต่อเนื่องให้รับประทานน้ำผึ้ง 1 ช้อนชา แต่ห้ามให้ทารกอายุต่ำกว่า 12 เดือนรับประทาน
หายใจเข้าทางจมูกอย่างช้า และหายใจออกทางปาก เพื่อให้การหายใจดีขึ้น
เมื่อวันที่ 11 พ.ค.68 นายมงคล ไชยภักดี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เปิดเผยภาพครอบครัวช้างป่าสุดน่ารัก ในผืนป่ามรดกโลก หลังสั่งการให้ นายฉลอง ทองสงฆ์ ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นำกำลังชุดลาดตระเวนผลักดันช้างป่า เฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า ในท้องที่ ต.ป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และ ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ หลังช่วงนี้ช้างป่ามีการรวมโขลงกันขึ้น...
โดยภาพที่เห็น จะเป็นภาพครอบครัวช้างป่าโขลงใหญ่ เดินอยู่ในป่า โดยมีพฤติกรรมหากินหญ้า และกินดินโป่ง ขณะเดียวกันเนื่องด้วยอากาศที่ร้อน ทำให้เหล่าช้างในโขลง ที่มีทั้งลูกช้าง พากันลงเล่นน้ำอย่างสบายใจ ...
อีกทั้งจากการเฝ้าระวังของเจ้าหน้าที่ ยังช่วยผลักดันไม่ช้างออกนอกพื้นที่ สร้างความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า ได้อย่างเห็นผล ...
ที่สำคัญ นอกจากเฝ้าระวังแล้ว การปฏิบัติการครั้งนี้ยังสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลสำคัญ ทั้งเรื่องสถิติประชากรช้างป่าที่อาศัยและหากินอยู่ในพื้นที่ อาหารของช้างป่า และเพื่อเป็นการเฝ้าระวังไม่ให้เกิดอันตรายต่อช้างป่าด้วยเช่นกัน
…ขอบคุณภาพ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ...
ล่าสุด (10 พ.ค. 2568) จาก GISTDA โดยศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศ “ยานอวกาศ COSMOS 482 โคจรห่างจากพื้นโลกในระยะใกล้โลกโดยเฉลี่ยประมาณ 117 กิโลเมตร และมีแนวโน้มจะตกในช่วงเวลา 12:42 น.(± 1 ชม.) ของวันนี้ ตามเวลาในประเทศไทย
จากการวิเคราะห์ คาดว่าจุดตกของชิ้นส่วนยานอวกาศฯ จะอยู่ในพื้นที่ของมหาสมุทรแปซิฟิก ทั้งนี้ การแจ้งเตือนชิ้นส่วนยานอวกาศฯ ตกสู่โลกในครั้งนี้ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศของ GISTDA ใช้ระบบ ZIRCON ที่ทีมนักวิจัยของ GISTDA พัฒนาขึ้น เพื่อทำการวิเคราะห์ ติดตาม และคาดการณ์ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล
สำหรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย ณ วันนี้ มีโอกาสได้รับผลกระทบเพียง 0.001 % โดย GISTDA จะติดตามสถานการณ์และพื้นที่ที่มีความเสี่ยงของการตกของชิ้นส่วนยานอวกาศฯ และจะรายงานความคืบหน้าให้ทราบต่อไปเป็นระยะ
รู้หรือไม่? วัตถุดิบธรรมดาๆ ที่คนไทยคุ้นเคย 3 อย่าง ไม่ควรวางไว้ใกล้เตาในครัว เพราะเสี่ยงเกิดทำให้ไฟไหม้ และเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค
ห้องครัวเป็นสถานที่ที่คุ้นเคยแต่ก็เต็มไปด้วยอันตรายมากมายเช่นกัน ตั้งแต่ความปลอดภัยของอาหาร ความเสี่ยงจากไฟไหม้และการระเบิด หรือเครื่องมือมีคม แต่นอกเหนือจากกระบวนการทำอาหารแล้ว การจัดวางของในครัวก็จำเป็นต้องได้รับความใส่ใจเป็นพิเศษเช่นกัน
ไม่ว่าห้องครัวจะคับแคบเพียงใดก็มีอาหารบางชนิดที่ไม่ควรวางใกล้เตา โดยเฉพาะเตาเตาแก๊ส หรือเตาถ่านหิน เพราะอาจกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์โรคได้ เพื่อปกป้องตัวคุณและครอบครัว ควรเก็บสิ่งของ 3 อย่างนี้ให้ห่างจากเตา...
1.น้ำมัน
แม้น้ำจะเป็นส่วนผสมที่สำคัญในการปรุงอาหาร แต่หากเก็บไว้ใกล้เตา อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพที่ร้ายแรงมากมาย เมื่อถูกสัมผัสกับอุณหภูมิสูงเป็นเวลานาน น้ำมันจะเกิดการออกซิไดซ์และสลายตัวได้ง่าย ส่งผลให้เกิดสารประกอบที่เป็นอันตราย เช่น อัลดีไฮด์หรืออะโครลีน ซึ่งเป็นสารที่ได้รับคำเตือนว่าเกี่ยวข้องกับโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอักเสบเรื้อรัง และโรคมะเร็ง
ยิ่งกว่านั้นหากเก็บน้ำมันไว้ในขวดพลาสติก ความร้อนจากเตาอาจทำให้พลาสติกเสียรูป ส่งผลให้มีสารพิษ เช่น BPA หรือสารประกอบที่คล้ายคลึงกันไหลย้อนกลับเข้าไปในน้ำมัน การได้รับสารเหล่านี้เป็นเวลานานผ่านอาหารจะส่งผลเสียต่อตับ ไต ระบบต่อมไร้ท่อโดยไม่รู้ตัว และเพิ่มความเสี่ยงต่อความผิดปกติของระบบเผาผลาญ
2. ของแห้งประเภทผง
ผงต่างๆ เช่น แป้งสาลี แป้งข้าวเจ้า หรือเครื่องเทศ เช่น พริกไทยป่น พริกป่น อบเชย ผงกะหรี่ มีอนุภาคขนาดเล็กที่สามารถแพร่กระจายในอากาศได้อย่างง่ายดายทุกครั้งที่เปิดฝาหรือคน หากวางไว้ใกล้เตา ผงอนุภาคเหล่านี้จะสัมผัสกับความร้อนที่สูง และอาจติดไฟได้หากสัมผัสกับประกายไฟของแก๊ส ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้หรือระเบิดในพื้นที่ปิด
ไม่เพียงเท่านั้น สภาพแวดล้อมในห้องครัวมักมีไอน้ำ ไขมัน และอุณหภูมิที่ผันผวนอย่างมาก ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ผงดูดซับความชื้น จับตัวเป็นก้อน ขึ้นรา หรือเสื่อมสภาพได้ง่าย การใช้แป้งที่ปนเปื้อนความชื้นหรือเชื้อราไม่เพียงแต่จะทำให้รสชาติของอาหารเสีย แต่ยังทำให้เกิดความผิดปกติของระบบย่อยอาหาร อาการแพ้ หรือการสะสมของสารพิษที่ส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้อีกด้วย
3.อาหารกระป๋อง
อาหารกระป๋อง ไม่จำเป็นจะต้องแช่เย็นเสมอไป หลายคนจึงมีนิสัยชอบวางไว้ใกล้เตาเนื่องจากพื้นที่จำกัด เมื่อถูกสัมผัสกับอุณหภูมิสูงเป็นเวลานาน ชั้นโลหะหรือพลาสติกที่อยู่ภายนอกกระป๋องอาจเกิดการเสียรูปหรือเกิดออกซิเดชัน ทำให้มีความเสี่ยงที่สารพิษ เช่น ดีบุก อะลูมิเนียม หรือ BPA จากซับในจะรั่วไหลลงไปในอาหารได้
ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อคุณภาพและรสชาติของอาหาร การบริโภคอาหารที่มีการปนเปื้อนสารเคมีเหล่านี้เป็นเวลานานยังก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อตับ ไต และระบบประสาท ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังหรือโรคมะเร็งได้ด้วย
นอกจากนี้ หากกระป๋องอาหารถูกปิดสนิทเกินไปและสัมผัสกับความร้อนมากไป แรงดันภายในอาจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจส่งผลให้กระป๋องระเบิด และเกิดไฟไหม้ในครัวได้...
วันอังคาร ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2568: “บิ๊กอ๊อบ” เปิดตัวนักบินหญิงคนแรก ของบก.ทท. เที่ยวบินพิเศษ “First flight with NANTICHA” ภายใต้แนวคิด “ทุกคน ทุกชั้นยศ ทุกเพศ ทุกวัย คือ คนสำคัญของทัพไทย”
พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) เดินทางไปภารกิจที่จังหวัดเลย โดยเครื่องบินของ กรมแผนที่ทหาร แบบ Beechcraft King Air 350 หมายเลข 93311 เดินทางจากกรุงเทพมหานครมุ่งหน้าไปยังจังหวัดเลย โดยมีเจ้าหน้าที่ประจำเครื่องได้แก่
1.พ.ต.วัชรภัทร บูรณไชย นักบิน
2. ร.ต.หญิง นันทิชา สุภาชัย นักบินผู้ช่วย
3. ร.ท. วิสุทธิ์ สุขทวี ช่างเครื่อง
ทั้ง 3 คน เป็นกำลังพลของกองบัญชาการกองทัพไทย โดยพล.อ.ทรงวิทย์ ได้แสดงความรู้สึกยินดีผ่านเพจ Facebook กองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) ว่า เที่ยวบินนี้มีความพิเศษและน่าจดจำอย่างยิ่ง เพราะเป็นครั้งแรกที่มี ร.ต.หญิง นันทิชา สุภาชัย ทำหน้าที่ นักบินผู้ช่วย ซึ่งเธอคือ นักบินหญิงคนแรกของกองบัญชาการกองทัพไทย นับเป็นก้าวสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการเปิดโอกาสให้กำลังพลทุกเพศได้แสดงศักยภาพอย่างเท่าเทียม และนับเป็นความภาคภูมิใจของทุกคนบนเที่ยวบินนี้ ที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ภายใต้แนวคิดที่ว่า “ทุกคน ทุกชั้นยศ ทุกเพศ ทุกวัย คือ คนสำคัญของทัพไทย”
เชื้อดื้อยา คือ เชื้อโรคที่ไม่สามารถใช้ยาปฏิชีวนะรักษาตามปกติได้ เนื่องจากมีภาวะที่อาจต้องใช้ยาปริมาณที่มากขึ้น หรือไม่สามารถใช้ยานั้นได้เลย ต้องเปลี่ยนเป็นยาตัวอื่น
เชื้อดื้อยาเกิดจาก 2 ลักษณะ คือ
แบบแรก การได้รับเชื้อที่ดื้อยาตั้งแต่แรก จากผู้ที่เราสัมผัสร่างกายหรือสารคัดหลั่ง
แบบที่ 2 การที่เชื้อตอนแรกไม่ได้ดื้อยา แต่เมื่อทำการรักษาแล้ว ใช้ยาไม่สม่ำเสมอ เช่น ลืมกินยา กินไม่ถูกเวลาที่กำหนด กินปริมาณน้อยกว่ากำหนด อีกกรณี คือ กินไม่ครบ ซึ่งพบบ่อยกว่า คือ เมื่อแพทย์สั่งยาเป็นเวลา 14 วัน แต่พออาการดีขึ้น ก็คิดว่าหายแล้ว จึงหยุดยาก่อนครบ 14 วัน
เชื้อดื้อยามีหลายประเภท โดยครอบคลุมทั้งเชื้อแบคทีเรีย วัณโรค ไวรัส เชื้อรา และหนอนพยาธิต่าง ๆ ส่วนใหญ่มักพูดถึงเป็นเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ เชื้อดื้อยาอะซินิโตแบคเตอร์ (Acinetobacter) เชื้อดื้อยากลุ่มอีโคไล ชนิดดื้อยาอีเอสบีแอล (ESBL E. coli) เป็นต้น อีกกลุ่มที่พบบ่อยคือ วัณโรคดื้อยา ซึ่งจะแบ่งเป็นหลายประเภท เช่น ดื้อยาตัวหลัก ดื้อยาตัวรอง ดื้อยาเกือบทั้งหมด หรือดื้อยาทั้งหมด ทั้งนี้ เชื้อดื้อยาสามารถ ติดต่อกันได้ เช่นเดียวกับเชื้อที่ไม่ดื้อยา
การติดเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาล
การติดเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาล สามารถพบได้ โดยเฉพาะการที่มีผู้ใช้ยาปฏิชีวนะในโรงพยาบาล และมีบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วยหรือญาติของผู้ป่วยที่อาจสัมผัสตัวผู้ป่วย สิ่งแวดล้อม อุปกรณ์ทางการแพทย์ และการหายใจต่าง ๆ ที่ทำให้การแพร่เชื้อดื้อยาในโรงพยาบาลมีได้มากขึ้น
อาการ
อาการทั่วไปมักเกิดขึ้นกับอวัยวะที่เกี่ยวข้อง และเชื้อก่อโรคนั้น ๆ เช่น หากติดเชื้อในกรวยไต และมีการดื้อยาเกิดขึ้น จะมีอาการปวดบั้นเอว ไข้สูง หนาวสั่น ปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะขุ่น มีกลิ่นเหม็น และเมื่อรักษาแล้วยังมีอาการเท่า ๆ เดิม ไม่ดีขึ้นตามที่ควรจะเป็น หรือแย่ลงกว่าเดิม เป็นต้น
อันตรายของการติดเชื้อดื้อยา
เชื้อดื้อยาเป็นอันตรายเพราะทำให้ไม่สามารถให้การรักษาตามปกติได้ ต้องปรับยา ซึ่งอาจจะเพิ่มผลข้างเคียง ค่าใช้จ่าย และระยะเวลา ในบางกรณีอาจมีอาการรุกรามมากขึ้น เช่น ทำให้เกิดฝีหนอง ตัวอย่าง เช่น เกิดฝีหนองในไต หลังจากมีการติดเชื้อที่กรวยไต อาจจะต้องมีการผ่าตัดเพื่อระบายหนองออก ใส่ท่อระบายหนอง ติดตามพบแพทย์เป็นระยะ และให้ยาปฏิชีวนะยาวนานขึ้น บางรายอาจมีการติดเชื้อในกระแสเลือด ทำให้เกิดภาวะช็อกหรือความดันต่ำ
การวินิจฉัย
นอกจากอาการทางคลินิกที่พบว่า การรักษาทำให้ผลไม่ดีคิดตามที่คาดไว้แล้ว การเพาะเชื้อจากสารคัดหลั่ง สิ่งส่งตรวจ หรือในเลือดต่าง ๆ ก็มีความสำคัญ ที่บ่งบอกเชื้อดื้อยา ในขณะนี้ยังมีเทคโนโลยีทางพันธุกรรม เช่น การตรวจในกลุ่มพีซีอาร์ ที่ช่วยบอกยีนส์ดื้อยาได้ ทำให้การรักษาแม่นยำมากขึ้น
การรักษา
การรักษาเชื้อดื้อยา ทำได้ในกรณีที่มีทางเลือกยาอื่น ๆ แต่ในบางครั้งอาจมีตัวยาให้เลือกน้อยมากหรือไม่มียาที่ใช้ได้ จึงจำเป็นต้องใช้ยาหลายตัว เพื่อให้ได้ผลดีที่สุด การรักษาบางครั้งอาจต้องใช้ระยะเวลานานกว่าปกติ ร่วมกับการทำหัตถการต่าง ๆ เพื่อกำจัดแหล่งเชื้อ เช่น การระบายหนอง
คำแนะนำในการดูแลตนเองและการป้องกัน
การป้องกันตนเองที่ดีที่สุด คือ การรักษาสุขอนามัย ไม่ให้เกิดการติดเชื้อ โดยการกินอาหารสุกสะอาด ล้างมือบ่อย ๆ พักผ่อนให้เพียงพอ ฉีดวัคซีนป้องกันตนเองตามวัยและตามความเสี่ยงของโรคประจำตัวที่มี หากต้องกินหรือฉีดยาปฏิชีวนะ ควรใช้ตามที่แพทย์สั่งจนครบ ไม่หยุดยาเอง ไม่หาซื้อยามากินหรือฉีดเองโดยไม่ได้รับคำแนะนำที่เหมาะสม
แหล่งข้อมูล
อ. พญ. รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล