ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



ระทึก อุกกาบาตชนโลก เสียงบูมสนั่น เหนือท้องฟ้าแคนาดา

สนง.อวกาศยุโรป เผย ลูกไฟเจิดจ้า เหนือท้องฟ้ารัฐออนแทรีโอ ในแคนาดา เป็นอุกกาบาตดวงที่ 6 ซึ่งนักดาราศาสตร์ตรวจพบก่อนจะพุ่งชนโลก

เมื่อ 21 พ.ย. 2565 สำนักงานอวกาศยุโรปรายงาน ลูกไฟเจิดจ้าที่พุ่งผ่านเหนือท้องฟ้ารัฐออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา ช่วงเช้ามืดวันเสาร์ที่ 19 พ.ย. ที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่น คือ อุกกาบาตดวงที่ 6 ในห้วงอวกาศ ที่นักวิทยาศาสตร์ตรวจพบได้ก่อนที่จะพุ่งชนโลก

ศูนย์ดาวเคราะห์น้อยในสหรัฐฯ ซึ่งติดตามเทหวัตถุในระบบสุริยจักรวาล ยังระบุว่า มีอุกกาบาตดวงหนึ่งพุ่งด้วยความเร็วเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกเมื่อเวลาประมาณ 3.27 น. ของวันที่ 19 พ.ย. ตามเวลามาตรฐานตะวันออก เหนือเมืองแบรนต์ฟอร์ต รัฐออนแทรีโอ

อุกกาบาตซึ่งเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วนี้ ถูกตั้งชื่อเรียกว่า #C8FF042 และมีรูปถ่ายที่นักดาราศาสตร์ทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นสามารถตรวจจับได้ที่ เมาท์ เลมมอน เซอร์เวย์ ใกล้เมืองทูซอน รัฐแอริโซนา ในสหรัฐอเมริกา

ไมค์ แฮนคีย์ ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการของสมาคมดาวตกอเมริกัน ซึ่งอยู่ที่รัฐเมน บอกว่า เขากำลังตั้งกล้องตรวจดูท้องฟ้าและได้รับโทรศัพท์สายหนึ่งจากคนหนึ่งในเยอรมนีเกี่ยวกับการมีอุกกาบาตพุ่งชนโลก เมื่อเวลาประมาณ 04.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น

เมื่อเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น ชุมชนนักดาราศาสตร์ต้องการรู้ว่า อุกกาบาตจะพุ่งชนโลกบริเวณที่ใด และหากอุกกาบาตสามารถรอดจากการถูกเผาไหม้จนหมดในชั้นบรรยากาศโลกได้แล้ว บรรดานักดาราศาสตร์ต้องการจะติดตามดูทิศทางการเคลื่อนที่ของอุกกาบาตนี้ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ขณะที่ไมค์ แฮนคีย์ กล่าวว่า ได้รับแจ้งจากประชาชนในรัฐแมริแลนด์, นิวยอร์ก, โอไฮโอ, เพนซิลเวเนีย ในสหรัฐฯ และออนแทรีโอในแคนาดา ว่าเห็นอุกกาบาตถึง 33 ครั้ง โดยมีบางคนซึ่งอยู่ในเมืองแฮมิลตัน รัฐออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา แจ้งทางโซเชียลมีเดียว่า พวกเขาได้ยินเสียงบูมดังสนั่น ขณะอุกกาบาตพุ่งเข้ามาเหนือท้องฟ้า ในขณะที่นักดาราศาสตร์คาดว่ามีโอกาสที่อุกกาบาตดวงนี้อาจตกใกล้เมืองกริมสบี หรือเมืองเซนต์ แคเธอรีนส์ ในรัฐออนแทรีโอ

ที่มา : Nytimes


รู้จัก “อันนะปุรณะ เซอร์กิต” เส้นทางเดินเขาสุดท้าทายที่เนปาล

จากเหตุสลดที่มีหญิงนักเดินเขาชาวไทย 2 ราย เสียชีวิตในเส้นทาง “อันนะปุรณะ เซอร์กิต” ที่เนปาล ทำให้หลายคนอยากรู้ว่าเส้นทางนี้มีความท้าทายและอันตรายอย่างไร เรารวมข้อมูลที่น่าสนใจไว้ให้แล้ว

อันนะปุรณะ เซอร์กิต คืออะไร

อันนะปุรณะ เซอร์กิต (Annapurna Circuit) เป็นเส้นทางเดินเขาที่อยู่บนเทือกเขาอันนะปุรณะซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัย โดยตั้งอยู่ในประเทศเนปาล ซึ่งเป็นหนึ่งในสิบเส้นทางเดินเขาที่มีความยากและอันตรายพอสมควรแต่ก็ได้รับความนิยมสูงสุดจากหมู่นักเดินเขา มาตั้งแต่ยุค 70 เนื่องจากมีวิวทิวทัศน์ระหว่างทางที่สวยงาม และยังได้สัมผัสกับลักษณะภูมิประเทศ วัฒนธรรม และอีกหลากหลายประสบการณ์ในการเดินทาง จึงทำให้เป็นที่สนใจในหมู่นักเดินเขาและเทรกกิ้ง

จุดที่สูงที่สุดและยากที่สุดของการเดินเขาในเส้นทาง อันนะปุรณะ เซอร์กิต ก็คือ การเดินทางไปยัง Thorong La Pass ที่ระดับความสูง 5,416 เมตร ซึ่งจะได้พบกับวิวแนวเทือกเขาแบบ 360 องศาฯ และในเส้นทางนี้ยังมีทะเลสาบ Tilicho ซึ่งเป็นหนึ่งในไฮไลต์ของการเดินเขาในเส้นทางนี้ เรียกได้ว่าเป็นเส้นทางเดินเขาที่ตอบโจทย์ทั้งด้านการชมวัฒนธรรมและความสวยงามของธรรมชาติได้อย่างลงตัว

ทั้งนี้ เทือกเขาอันนะปุรณะ (Annapurna Massif) ซึ่งอยู่ในเส้นทางของ อันนะปุรณะ เซอร์กิต เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัยด้านตะวันตก ในประเทศเนปาล ซึ่งประกอบด้วยยอดเขาสูงเกินกว่า 7,200 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ถึง 6 ยอด ที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ ยอดเขาอันนะปุรณะ 1 (Annapurna I) ยอดเขาสูงอันดับ 10 ของโลก หนึ่งใน 14 ยอดเขาที่สูงเกิน 8 พันเมตร คือมีความสูงถึง 8,091 เมตร นอกจากนี้ในทิวเขาอันนะปุรณะ มียอดเขาซารังโกต (Sarangkot) สูง 1,592 เมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้น ที่ได้รับการยกย่องว่าสวยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ชื่อ "อันนะปุรณา" เป็นภาษาสันสกฤต หมายถึง เทวีแห่งการเก็บเกี่ยว ซึ่งในคติทางฮินดู ถือเป็นปางที่ 8 ใน 9 ปางของ พระอุมาเทวี ชายาของพระศิวะ ที่ทรงเป็นผู้ประทาน ความอุดมสมบูรณ์ แก่พืชพันธุ์ธัญญาหาร เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าปาง "มหาเคารี" ซึ่งเป็นปางที่มีผู้สักการบูชามากที่สุด รองจากปาง "กาลราตรี" หรือ "เจ้าแม่กาลี" และเพื่อแสดงความเคารพ รัฐบาลเนปาล ได้ประกาศสงวน ยอดเขามัจฉาปูชเร (Machhapuchhre) หรือ ยอดเขาหางปลา (Mt. Fishtail) ใกล้เมืองโปครา (Pokhara) เป็นเขตปลอดนักไต่เขา เพื่อให้เป็นที่สถิตของ องค์เทวีอันนะปุรณะ

ยอดเขาอันนะปุรณะ 1 (Annapurna I) เป็นยอดเขาสูงเกิน 8,000 เมตรแห่งแรก ที่มีมนุษย์ไต่ถึง โดย เมารีซ เออร์โซ (Maurice Herzog) และ ลูอิส แลชเนล (Louis Lachenal) นักไต่เขาชาวฝรั่งเศส นำทีมอีก 7 คน ขึ้นสู่ยอดเขาสำเร็จในปี พ.ศ. 2493 หรือ 3 ปีก่อนที่ เซอร์เอ็ดมันด์ ฮิลลารี จะพิชิต ยอดเขาเอเวอร์เรสต์ และแม้ว่าเอเวอร์เรสต์ จะโด่งดังในฐานะยอดเขาสูงที่สุดในโลก แต่ในความเป็นจริง มีนักไต่เขามาเยือนอันนะปุรณะ ถึงกว่า 40,000 คนต่อปี ซึ่งมากกว่าเอเวอร์เรสต์ 2 เท่า เนื่องจากอันนะปุรณะ มีความหลากหลายทางสภาพภูมิศาสตร์ ทั้งทะเลสาบในหุบเขาโปคราที่มีอากาศร้อนชื้น ไปจนถึงภูเขาน้ำแข็ง ประกอบไปด้วยพรรณไม้ และสัตว์ป่า เช่น แพะภูเขา เสือดาวหิมะ รวมทั้งนกต่างๆ กว่า 400 สปีชีส์ โดยมีชนเผ่าที่แตกต่างกันถึง 7 ชนเผ่า ทำให้เส้นทางเดินเขารอบทิวเขาอันนะปุรณะหนึ่งสัปดาห์ ถือเป็นเส้นทางคลาสสิกแห่งหนึ่ง สำหรับนักไต่เขาทั่วโลก

ยอดสูงสุดของอันนะปุรณะ ถือเป็นหนึ่งในยอดเขาอันตรายที่สุดในโลก มีอัตราการเสียชีวิตของนักไต่เขาสูงถึงร้อยละ 40 จากสถิติจนถึงปี พ.ศ. 2548 มีผู้พิชิตยอดเขาอันนะปุรณะสำเร็จ 103 คน และมีผู้เสียชีวิตถึง 56 คน ส่วนมากเนื่องจากหิมะถล่มที่เกิดขึ้นเป็นประจำ.


โรคไต..คุกคามคนไทย ป่วยพุ่ง 11.6 ล้านคน

สาเหตุสำคัญที่ทำให้จำนวนผู้ป่วยโรคไตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมการบริโภค โดยพบว่า คนไทยบริโภคโซเดียมมากถึง 3,635 มิลลิกรัมต่อวันหรือเทียบเท่า เกลือประมาณ 2 ช้อนชา สูงกว่าปริมาณที่ควรจะเป็นหรือที่ไม่ทำร้ายสุขภาพร่างกายถึง 2 เท่า

หลายคนอาจสงสัยว่า คนไทยกินเกลือมากขนาดนี้จากอะไร...

คำตอบคือ 90% ของโซเดียมที่ร่างกายได้รับ มาจากเครื่องปรุงรสต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น น้ำปลา ซีอิ๊วขาว ซุปก้อน เกลือ กะปิ และผงชูรส รวมถึงอาหารสำเร็จรูปต่างๆ ซึ่งแน่นอน อาหาร 1 จาน เราไม่ได้ใส่เครื่องปรุงเพียงอย่างเดียว จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงได้รับโซเดียมมากเกินกว่าปกติ

และเพราะสถานการณ์ของโรคไตเรื้อรังในประชากรไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นปัญหาสาธารณสุขที่กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ การหาแนวทางป้องกันไม่ให้มีจำนวนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังเพิ่มขึ้นหรือผู้ป่วยไตเรื้อรังที่เป็นแล้ว ไม่ให้กลายเป็นไตวายเรื้อรังเร็ว จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเมื่อโรคไตเรื้อรังเข้าสู่ระยะสุดท้าย การรักษาด้วยยาจะไม่สามารถควบคุมอาการของโรคได้ ผู้ป่วยจะต้องได้รับการบำบัดทดแทนไต ซึ่งมีอยู่ 3 วิธี คือ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม, การล้างไตทางช่องท้อง และการปลูกถ่ายไต

จากการศึกษาวิจัยความชุกของโรคไตเรื้อรังในประเทศไทยพบโรคไตเรื้อรังระยะที่ 1-5 มีความชุกรวมทั้งหมดประมาณ 17.5% ของประชากร เมื่อเทียบกับความชุกโรคไตเรื้อรังประเทศสหรัฐอเมริกาหรือประเทศในแถบยุโรปแล้ว ประเทศไทยมีอัตราความชุกโรคไตเรื้อรังที่สูงกว่ามาก ในต่างประเทศอัตราความชุกของโรคไตอยู่ที่ประมาณ 11-13%

สำหรับผู้ป่วยที่เข้าสู่ภาวะไตวายระยะสุดท้าย ผลกระทบที่มากที่สุดคือ ผู้ป่วยที่เป็นไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ต้องทำการฟอกเลือด หรือล้างไตทางช่องท้อง ผลกระทบต่อตัวผู้ป่วยนอกจากจะมีภาวะสุขภาพแย่ลงและเทียบกับก่อนเจ็บป่วยจะไม่เหมือนเดิม กระทบต่อความสามารถในการทำงานหรือประกอบอาชีพ อาจมีรายได้ลดลงหรืออาจจะต้องลาออกจากงานที่ทำ คุณภาพชีวิตแย่ลง

แม้ว่าวิธีการรักษาที่ดีที่สุดคือการปลูกถ่ายไต เพราะผู้ป่วยไม่ต้องมาฟอกเลือด หรือล้างไตทางช่องท้อง มีคุณภาพชีวิตที่ดีใกล้เคียงกับคนปกติ แต่มีข้อจำกัดที่จำนวนการปลูกถ่ายไตในแต่ละปีสามารถทำได้ประมาณ 600-700 ราย เท่านั้นซึ่งขึ้นอยู่กับสมรรถนะของสถาบันที่มีจำนวนไม่มากในประเทศไทยและจำนวนไตบริจาคในแต่ละปีด้วย

ที่เสี่ยงเป็นโรคไตเรื้อรังมากที่สุด คือผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคเบาหวาน โดยพบว่า เบาหวานเป็นสาเหตุของการเป็นโรคไต มากถึง 30-40% ของผู้ป่วยไตเรื้อรังทั้งหมด ตามด้วย ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตอักเสบ หรือโรคแพ้ภูมิตนเอง เช่น กลุ่มโรค SLE ผู้ที่ได้รับยาหรือสารที่เป็นพิษต่อไต เช่น ยาแก้ปวดกลุ่มเอนเสด ยาสมุนไพรบางชนิด ยาปฏิชีวนะบางชนิด เป็นนิ่วในไตหรือในระบบทางเดินปัสสาวะ โรคถุงน้ำในไต โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนบนซ้ำหลายครั้ง มีมวลไตน้อยหรือลดลง หรือมีไตข้างเดียว ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป มีประวัติโรคไตเรื้อรังในครอบครัว ผู้ที่มีภาวะอ้วน หรือโรคอ้วน และผู้ที่สูบบุหรี่ ฯลฯ

ทางออกของปัญหาที่ดีที่สุด คือการสื่อสารเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนในการลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคไต การรณรงค์ให้ลดอาหารเค็มจัด หวานจัด อาหารสำเร็จรูป เนื้อสัตว์แปรรูป และหันมารับประทานผักผลไม้ให้มากขึ้นในกลุ่มของผู้ป่วยเบาหวาน ต้องควบคุมอาหาร ดูแลตนเองและพยายามควบคุมน้ำตาลให้อยู่ในระดับคงที่เพื่อไม่ให้พัฒนากลายเป็นโรคไตเพิ่มขึ้น

ที่สำคัญ คือทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ดื่มสุรา สูบบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และไม่เครียด จะช่วยลดความเสี่ยงจากการป่วยไม่เฉพาะแค่โรคไตแต่รวมถึงโรคไม่ติดต่ออื่นๆ ด้วย.


"ไขมันในเลือดสูง" อันตรายแค่ไหน รักษาอย่างไร

ไขมันในเลือดสูง เป็นสาเหตุของโรคอันตรายตามมาหลายโรค ควรรีบรักษาก่อนสายไป

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ระบุว่า โรคไขมันในเลือดผิดปกติหรือ dyslipidemia เป็นโรคหนึ่งในกลุ่มโรค NCDs ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีระดับไขมันในเลือดผิดปกติ เกิดการอักเสบในหลอดเลือด มีไขมันสะสมในหลอดเลือด ส่งผลต่อระบบหัวใจ และหลอดเลือด เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบ หลอดเลือดสมองอุดตัน

ประเภทของไขมันในเลือดที่พบได้

โดยทั่วไปแล้ว ไขมันจะมีอยู่ 2 ประเภท คือ

คอเลสเตอรอล แบ่งออกเป็น 2 ชนิด

LDL (low density lipoprotein) ไขมันตัวที่ไม่ดี ยิ่งมีมาก จะทำให้โรคดำเนินต่อไป และแย่ลง

HDL (high density lipoprotein) ไขมันตัวดี ป้องกันการอักเสบ และการอุดตันของหลอดเลือด

ไตรกลีเซอไรด์

การรักษาภาวะไขมันในเลือดสูง

แพทย์อาจจะพิจารณาการปรับพฤติกรรมในการรับประทานอาหาร ลดการรับประทานอาหารไขมันสูง รวมถึงแป้งและน้ำตาลสูง รวมถึงการแนะนำให้ออกกำลังกาย และปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันให้มีการเคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้น ซึ่งอาจช่วยลดไขมันในเลือดได้ในรายที่ไขมันในเลือดไม่สูงมากนัก

แต่ในรายที่มีระดับไขมันในเลือกสูงผิดปกติ อาจมีความจำเป็นต้องรับประทานยาลดระดับไขมันในเลือด และอาจจำเป็นต้องใช้ยาในการควบคุมโรคไปตลอด เพราะโรคเหล่านี้หากเป็นแล้วก็จะมีการดำเนินไปของโรคมากขึ้นเรื่อยๆ แต่มักจะไม่แสดงอาการออกมา ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งจึงมีความเข้าใจผิดว่าหายแล้ว และอาจหยุดรับประทานยาเองได้ ซึ่งอาจทำให้โรคเลวร้ายลง และเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมาได้

การรักษาภาวะไขมันในเลือดด้วยวิธีใช้ยา

การรักษาโรคไขมันในเลือดผิดปกติ แบ่งออกเป็น 2 ช่วง

ช่วงแรกเป็นการใช้ยา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน

เมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นแล้ว เป้าหมายคือ การใช้ยาเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ

ยากลุ่ม Statin เป็นยาหลัก ในการรักษาผู้ป่วยโรคไขมันในเลือดผิดปกติที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย สามารถลดปริมาณไขมันตัวที่ไม่ดี ลดปริมาณไตรกลีเซอไรด์ และเพิ่มปริมาณไขมันตัวที่ดีได้ด้วย นอกจากนี้ยังสามารถยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ต้านการอักเสบ และต้านอนุมูลอิสระได้อีกด้วย โดยทั่วไปแนะนำให้รับประทานวันละ 1 ครั้ง ก่อนนอน เนื่องจากกระบวนการสร้างคอเลสเตอรอลจะเกิดขึ้นมากในช่วงเวลากลางคืน แต่ยาลดไขมันรุ่นใหม่บางชนิด ออกฤทธิ์ได้นานขึ้น สามารถรับประทานยาเวลาอื่น เช่น หลังอาหารเช้า ได้ ดังนั้น ควรรับประทานยาตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด

หากก่อนนอน ลืมรับประทานลดไขมัน แล้วนึกได้ในเวลาเช้าของอีกวัน ให้รับประทานยาของวันนั้นตามปกติโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยา เนื่องจากประสิทธิภาพของการลดไขมันโดยรวมจะไม่กระทบมากนัก การรับประทานยาเกินขนาดกลับจะเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากยามากขึ้น

วิธีลดไขมันในเลือดอย่างยั่งยืน

ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 30 นาที

รับประทานยาลดไขมันนั้นๆ ต่อไป ไม่ควรหยุดยาเอง

เน้นรับประทานผัก ผลไม้ และอาหารไขมันต่ำ

ควบคุมน้ำหนัก

ระวังการใช้อาหารเสริมหรือสมุนไพรที่โฆษณาว่าช่วยลดไขมันในเลือด อาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา และอาจเกิดผลข้างเคียงได้

เลิกสูบบุหรี่ เพราะ การสูบบุหรี่จะทำให้กระบวนการอักเสบของร่างกายเพิ่มมากขึ้น


มหาสมุทรบนดาวอังคารอาจมาจากอุกกาบาต

การวิจัยก่อนหน้านี้นำเสนอว่า ครั้งหนึ่งบนดาวอังคารเคยปกคลุมด้วยมหาสมุทรที่เป็นน้ำส่วนใหญ่หรือทั้งหมด โดยน้ำมาจากก๊าซที่ซึมออกมาจากใต้พื้นผิว จากนั้นก็กลายเป็นของเหลวเมื่อเย็นลง แต่การศึกษาใหม่โดยทีมนักวิจัยจากศูนย์ศึกษาการก่อตัวดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ที่ทำงานร่วมกับนักวิจัยหลายสถาบันในฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ เสนอว่า น้ำบนดาวอังคารเมื่ออดีตน่าจะมาจากแหล่งอื่นมากกว่า

ทีมวิจัยเผยว่า ได้ข้อสรุปนี้หลังจากศึกษาเศษชิ้นส่วน 31 ชิ้นที่เชื่อว่ากระเด็นออกมาจากพื้นผิวดาวอังคารหลังการชนของดาวเคราะห์น้อย โดยพุ่งมาตกยังโลกในรูปแบบของอุกกาบาต นักวิจัยระบุว่า สืบหาร่องรอยของอะตอมธาตุโครเมียม-54 เพราะธาตุชนิดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติบนดาวอังคาร ดังนั้น การปรากฏตัวของโครเมียม-54 ในเศษของเปลือกดาวอังคารจะบ่งชี้ว่าพื้นผิวดาวถูกกระแทกด้วยวัตถุจากที่อื่น นั่นคืออุกกาบาตชนิดคอนไดรท์ (chondrite) ที่อุดมด้วยคาร์บอนจากระบบสุริยะชั้นนอก

ทั้งนี้ ก็ยังมีการศึกษาก่อนหน้าชี้ว่าอุกกาบาตคอนไดรท์มีน้ำอยู่ 10% นั่นทำให้ทีมวิจัยคำนวณปริมาณน้ำที่น่าจะส่งมายังดวงดาวได้ และเพียงพอจะครอบคลุมพื้นผิวทั้งหมดได้ลึกถึง 300 เมตร การค้นพบนี้แสดงให้เห็นว่าดาวเคราะห์น้อยที่อุดมด้วยน้ำ คือที่มาของมหาสมุทรดาวอังคาร เป็นไปได้ว่าน้ำส่วนใหญ่บนวัตถุหรือดาวดวงอื่นๆในระบบสุริยะน่าจะมาจากอุกกาบาตที่เดินทางมาจากชั้นนอกของระบบสุริยะเช่นกัน รวมทั้งโลกเราด้วย.

Credit : NASA/JPL-Celtech