ผู้เชี่ยวชาญแนะวิธีสังเกตอาการแรกเริ่มของภาวะสมองเสื่อมได้แบบง่าย ๆ ระหว่างการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การอาบน้ำ
ปัจจุบันมีสถิติว่า พบผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม (Dementia) ทั่วโลกเป็นจำนวนมากถึง 55 ล้านคน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป โรคนี้เป็นโรคทางระบบประสาทที่ทำให้ผู้ป่วยหลงลืมสิ่งต่าง ๆ มีความกังวลและตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่ออาการลุกลาม
การสังเกตพบอาการแต่เนิ่น ๆ จะมีประโยชน์มากในการช่วยเตรียมตัวรับมือโรคนี้ ทั้งนี้มีคำแนะนำให้สังเกตอาการเริ่มแรกแบบง่าย ๆ ระหว่างทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันอย่างการอาบน้ำ ซึ่งก็คือความผิดปกติของประสาทรับกลิ่น เมื่อเราไม่สามารถได้กลิ่นหรือจดจำกลิ่นของแชมพูสระผมหรือสบู่ที่ใช้เป็นประจำได้ เว้นแต่ว่าจะอยู่ระหว่างป่วยเป็นโรคโควิด-19 หรือมีอาการคัดจมูก
“เมื่อเราอายุมากขึ้น ประสาทสัมผัสของเราก็มักจะเปลี่ยนไป” ดร.เมเรดิธ บ็อค แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทจากรีโมเฮลท์ ซึ่งเป็นชุมชนออนไลน์ที่ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมอธิบาย “การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจสังเกตได้ชัดเจนขึ้นสำหรับผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อม”
อย่างไรก็ตาม ไม่จำเป็นว่าการไม่ได้กลิ่นหรือประสาทรับกลิ่นบกพร่องเมื่ออายุมากขึ้นจะเป็นอาการของภาวะสมองเสื่อมเสมอไป
ดร.ฟูเซีย ซิดดิคี แพทย์ระบบประสาทและผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ด้านการนอนหลับของศูนย์การแพทย์เซนทารา อาร์เอ็มเอชก็กล่าวถึงความเชื่อมโยงนี้ว่า ผู้ที่มีประสาทการรับรู้เสื่อมถอย โดยเฉพาะประสาทการรับกลิ่นจะเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์และมีภาวะสมองเสื่อม การรับรู้และระบุกลิ่นได้มักจะถูกมองว่าเป็นวิธีคัดกรองโรคที่มีประโยชน์วิธีหนึ่ง
ถ้าจะอธิบายจากหลักง่าย ๆ ก็คือ เนื่องจากภาวะสมองเสื่อมเป็นโรคทางระบบประสาท ซึ่งส่งผลกระทบต่อสมองและส่งผลกระทบต่อประสาทสัมผัสทั้งหลายอีกทีหนึ่ง
“กระบวนการเสื่อมถอยของระบบประสาทที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมยังส่งผลต่อความรู้สึกและการประมวลผลทางประสาทสัมผัสที่เกี่ยวข้องกับกลิ่น ทำให้ยากต่อการรับรู้กลิ่นที่คุ้นเคย เช่น แชมพูหรือสบู่เหลวที่ตนชื่นชอบ” ดร.บ็อคกล่าว พร้อมทั้งอธิบายว่า การสูญเสียประสาทรับกลิ่นมักเกิดขึ้นอย่างช้าๆ เมื่อเวลาผ่านไป และอาจเกิดขึ้นได้ก่อนที่ผู้ป่วยจะสังเกตเห็นความบกพร่องทางสติปัญญาอื่น ๆ
“ในกรณีของภาวะสมองเสื่อมจากลิววีบอดี (Lewy body dementia) ความผิดปกติของการรับกลิ่นดูเหมือนจะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเกิดโรค” ดร.ซิดดิคีกล่าวและชี้ว่า โดยทั่วไป ความผิดปกติด้านการรับกลิ่นนี้อาจเกิดขึ้นก่อนอาการอื่นของภาวะสมองเสื่อมได้หลายปี และอาจนานเกือบสิบปีในบางกรณี
ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองแนะนำว่า เมื่อพบอาการผิดปกติเกี่ยวกับการรับกลิ่น ควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงและรักษาอย่างถูกต้อง เพราะไม่แน่ว่าอาการเช่นนี้จะเป็นสัญญาณเตือนของภาวะสมองเสื่อม
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า หากความผิดปกติของประสาทรับกลิ่นเกิดขึ้นเพราะภาวะสมองที่เริ่มเสื่อมแล้ว ประสาทส่วนนี้จะไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับมาได้ดังเดิม ผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อมมักจะสูญเสียความสามารถในการรับกลิ่นอย่างถาวร
ที่มา : parade.comหลายท่านมักจะได้ยินหรือได้รับคำถามเกี่ยวกับการเข้ารับการตรวจสุขภาพกันมาบ้าง แม้ว่าเรื่องการตรวจสุขภาพจะมีมานานแล้ว แต่ยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่กล้า หรือไม่ทราบว่าทำไมต้องตรวจ หรือตรวจแล้วได้ประโยชน์อะไร หากอยากจะไปตรวจจะต้องทำอย่างไร
การตรวจสุขภาพมีเป้าหมายสำคัญคือ การค้นหาโรคที่ซ่อนอยู่ในตัวเราโดยที่เรายังไม่มีอาการผิดปกติ และค้นหาพฤติกรรมเสี่ยง หรือปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ เพื่อหาแนวทางป้องกัน และรับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
เรื่องควรรู้ก่อนตรวจสุขภาพ
1. การตรวจสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญที่แท้จริง เพราะมีโรคหลายชนิดที่เกิดขึ้นแล้ว แต่กลับไม่แสดงอาการ กลายเป็นภัยเงียบ สร้างความเสียหายให้แก่ร่างกายของเรา หากเราได้รับการตรวจตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม เมื่อพบก็จะทำให้การรักษาง่ายขึ้น อีกทั้งมีโอกาสหายขาดได้
2. การตรวจสุขภาพต้องตรวจให้เหมาะสมกับตัวเรา โดยเริ่มได้ตั้งแต่วัยเด็ก โดยเน้นเรื่องการให้วัคซีนเพื่อป้องกันโรค รวมทั้งมีการตรวจการเจริญเติบโตและพัฒนาการว่าสมวัยหรือไม่ เพื่อป้องกันความผิดปกติต่างๆ ที่สำคัญการตรวจสุขภาพตั้งแต่เด็กจะทำให้แพทย์ได้ตรวจสอบปัจจัยเสี่ยงแทรกซ้อนที่จะเกิดกับเด็ก และทำการรักษาได้ทันท่วงที เมื่อก้าวเข้าสู่วัยรุ่น หรือวัยเจริญพันธุ์ ก็จะมีการตรวจเฉพาะด้านเพิ่มขึ้น เช่น โรคทางนรีเวช สุขภาพหัวใจ และเมื่อก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุ การตรวจสุขภาพก็จะเน้นเรื่องของความเสื่อม เพื่อชะลอความเสื่อมนั้นๆ และเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุจากความเสื่อมถอยของร่างกาย
3. ตรวจสุขภาพประจำปีไม่จำเป็นต้องตรวจทุกปีเสมอไป แม้เราจะบอกว่าคุณควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกๆ ปี แต่ในความเป็นจริงการตรวจสุขภาพไม่จำเป็นต้องตรวจทุกปี แต่ควรเป็นการตรวจตามระยะ ตามความจำเป็นของแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับ เพศ อายุ และโอกาสเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เช่น โรคที่ติดต่อทางพันธุกรรม เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง
4. การตรวจสุขภาพที่ดีควรให้ข้อมูลแพทย์อย่างละเอียด หลายท่านมักเข้าใจผิดว่าการตรวจสุขภาพ คือการค้นหาโรคโดยการตรวจห้องแล็บปฏิบัติการ และมุ่งเน้นการรักษาจากแพทย์ หรือการรับประทานยาเพื่อป้องกันโรคเท่านั้น จึงละเลยการดูแลสุขภาพของตนเอง ซึ่งแท้จริงแล้วการตรวจสุขภาพที่ถูกต้อง คือการให้ความสำคัญกับข้อมูล การซักประวัติโดยแพทย์เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงจากพฤติกรรมต่างๆ ที่ปฏิบัติอยู่ทุกวันตลอดทั้งปี แนะนำให้บอกแพทย์ตามความเป็นจริง เพื่อวินิจฉัยว่าคุณเสี่ยงต่อการเกิดโรคหรือไม่
จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนการให้แพทย์ตรวจร่างกาย และเมื่อทราบผลร่างกายแล้วควรปฏิบัติตามแนะนำแพทย์ หันกลับมาดูแลสุขภาพด้วยตัวคุณเอง นอกจากนี้เรายังสามารถตรวจสุขภาพด้วยตนเองได้ โดยการตรวจสังเกตพฤติกรรม น้ำหนัก การวัดเส้นรอบเอวว่าอยู่ในภาวะลงพุงหรือไม่ โดยวัดในแนวสะดือ นำค่าที่ได้ไปหารด้วยส่วนสูง ซึ่งคนปกติจะมีค่าเส้นรอบเอวไม่เกินครึ่งหนึ่งของส่วนสูง ถ้าเกินแสดงว่าลงพุงมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิต และโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือสมองตีบตัน
ก่อนตรวจสุขภาพต้องเตรียมตัวอย่างไร?
ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ก่อนรับการตรวจสุขภาพ หากอดนอนจะทำให้ผลการตรวจผิดปกติ โดยเฉพาะความดันโลหิต การเต้นของหัวใจ และอุณหภูมิของร่างกาย
งดอาหาร และเครื่องดื่ม อย่างน้อย 8-10 ชั่วโมงก่อนตรวจ (สามารถจิบน้ำเปล่าได้เล็กน้อย)
งดดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนตรวจสุขภาพ เนื่องจากยา และแอลกอฮอล์ อาจมีผลต่อการตรวจบางอย่าง
ควรไปถึงโรงพยาบาลในช่วงเช้า เพื่อไม่ให้ร่างกายอิดโรยเกินไป เพราะงดน้ำและอาหารมาหลายชั่วโมงแล้ว
หากท่านกำลังรับประทานยาเพื่อควบคุมความดันโลหิต ท่านสามารถรับประทานต่อได้ตามที่แพทย์แนะนำ แต่ควรแจ้งให้แพทย์ หรือพยาบาลทราบก่อนตรวจ
หากท่านมีโรคประจำตัวหรือประวัติสุขภาพอื่นๆ กรุณานำผลการตรวจหรือรายงานจากแพทย์มาด้วยเพื่อประกอบการวินิจฉัย
ควรสวมเสื้อผ้าที่สะดวกต่อการเจาะเลือดที่ข้อพับแขน ในวันตรวจงดใส่เครื่องประดับต่างๆ ที่เป็นโลหะ/สุภาพสตรีงดใส่ชุดชั้นในที่เป็นโครงเหล็ก สำหรับสุภาพสตรี ไม่ควรตรวจในช่วงก่อน และหลังมีประจำเดือน 7 วัน
หากมีประจำเดือนให้งดตรวจปัสสาวะ เพราะเลือดจะปนเปื้อนในปัสสาวะ และมีผลต่อการแปลผลการตรวจ
การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเอกซเรย์เต้านม (Mammogram) ควรหลีกเลี่ยงการตรวจในช่วงมีประจำเดือน เพราะเต้านมจะมีความคัดตึง ควรตรวจหลังมีประจำเดือน
กรณีสงสัยว่าตั้งครรภ์ โปรดแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบเพื่องดตรวจเอกซเรย์ ถึงแม้ว่าสภาพภายนอกที่ดูแข็งแรงปกติดี แต่ภายในอาจกำลังเจ็บป่วยก็เป็นได้ หากเราไม่สังเกต หรือตรวจเจาะลึกเข้าไปดู อาจเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพในอนาคตอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย การตรวจเช็กสุขภาพอย่างเป็นประจำทำให้เราสามารถติดตามสถานะสุขภาพได้อย่างต่อเนื่อง และช่วยให้เราเตรียมพร้อมรับมือ เพื่อดูแลรักษาสุขภาพให้ห่างไกลจากโรคได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ลดความเจ็บปวด ลดค่าใช้จ่ายที่อาจบานปลาย เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว
ขอบคุณข้อมูล : ศูนย์ตรวจสุขภาพ โรงพยาบาลพญาไท พหลโยธิน
รู้จัก "มะเร็งต่อมลูกหมาก" โรคร้ายพบอันดับ 4 ของมะเร็งที่พบทั้งหมดในเพศชาย แต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิต ประมาณ 1,700 ราย โรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
มะเร็งต่อมลูกหมากพบมากอันดับ 4 ของชายไทย
โรคมะเร็งเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการเสียชีวิตของประชากรไทย และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมะเร็งต่อมลูกหมากพบมากเป็นอันดับ 4 ของมะเร็งที่พบทั้งหมดในเพศชาย แต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิต ประมาณ 1,700 ราย และมีผู้ป่วยรายใหม่ ประมาณ 3,700 ราย
อย่างไรก็ตาม โรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดแต่มีการศึกษาวิจัย พบว่าปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยง เช่น อายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น
ดังนั้นการตรวจคัดกรองเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ค้นพบผู้ป่วยตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ทำให้ได้รับการวินิจฉัยและรักษาได้อย่างรวดเร็ว และมีโอกาสหายขาดจากโรคสูงขึ้น
มะเร็งต่อมลูกหมากมี 4 ระยะ ซึ่งแต่ละระยะการรักษาจะแตกต่างกันอาจเป็นการผ่าตัด ให้ยาฮอร์โมน ใช้รังสีรักษา หรือให้ยาเคมีบำบัด โดยอาจใช้วิธีการเดียวหรือหลายวิธีรวมกัน ขึ้นอยู่กับอาการ อายุ สุขภาพผู้ป่วยและระยะของโรค ทั้งนี้ มะเร็งต่อมลูกหมากถือเป็นภัยเงียบในผู้ชาย เนื่องจากในระยะเริ่มต้นจะไม่มีอาการให้เห็นเด่นชัด ส่วนใหญ่จึงไม่ทราบว่าป่วย รวมถึงยังมีความเข้าใจผิดว่าถ้าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากจะต้องตัดอัณฑะทิ้ง ทำให้ไม่อยากเข้ารับการรักษา ผู้ป่วยจึงได้รับการรักษาล่าช้าและต้องเสียชีวิตในที่สุด จึงได้จัดโครงการฯ ขึ้นเพื่อค้นหาผู้ป่วยตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นได้
อาการของมะเร็งต่อมลูกหมาก
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นมะเร็งต่อมลูกหมากเกิดจากการแบ่งตัวของเซลล์ต่อมลูกหมากที่ผิดปกติ ทำให้ต่อมลูกหมากโตขึ้น สิ่งที่น่ากังวลของการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากก็คือ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่มีอาการใด ๆ เลยในระยะเริ่มต้นของมะเร็งต่อมลูกหมาก ทำให้ผู้ป่วยไม่เข้ามาพบแพทย์ จนเมื่อก้อนมะเร็งโตขึ้นจึงจะมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นให้ผู้ป่วยรู้ตัว โดยอาการเหล่านี้มักจะเกิดจากการที่ก้อนมะเร็งต่อมลูกหมากไปกดท่อปัสสาวะ เช่น
ปัสสาวะลำบาก
ปัสสาวะไม่พุ่ง ปัสสาวะผิดปกติ
รู้สึกปวดขณะปัสสาวะ
ปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะเวลากลางคืน
รู้จักน้อง "ลีเมอร์หางวงแหวน" สัตว์เฉพาะถิ่น พบตามธรรมชาติ เฉพาะในสาธารณรัฐมาดากัสการ์ สถานะใกล้สูญพันธุ์ สัตว์ในบัญชีหมายเลข 1 ของอนุสัญญา CITES ที่ห้ามค้าโดยเด็ดขาดๅ
ตามที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เตรียมส่งคืนสัตว์ป่าของกลางจำนวน 963 ตัว ประกอบด้วย ลีเมอร์หางวงแหวน ลีเมอร์สีน้ำตาล เต่าแมงมุม และเต่าลายรัศมี กลับสู่ถิ่นกำเนิดที่สาธารณรัฐมาดากัสการ์ หลังจากที่เจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) จับกุมขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าได้เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา
มาทำความรู้จัก “ลีเมอร์หางวงแหวน” 1 ใน 4 สัตว์ป่าต่างถิ่นที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กำลังพากลับบ้าน คืนสู่ถิ่นกำเนิดสาธารณรัฐมาดากัสการ์
ลีเมอร์หางวงแหวน (Lemur catta) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จัดอยู่ในตระกูลลิง มีโครงหน้าเรียวและแคบ จมูกยื่นยาว มีลักษณะเด่นที่หาง ขนยาวสีดำตัดสลับกับสีขาวเป็นวงแหวน โดยมีแถบสีขาว 12-13 แถบ แถบสีดำ 13-14 แถบ และปลายหางเป็นแถบสีดำ ซึ่งมีถิ่นอาศัยอยู่ในแถบป่าริมฝั่งแม่น้ำทางตอนใต้ และทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะมาดากัสการ์
ลีเมอร์หางวงแหวน จัดเป็นสัตว์เฉพาะถิ่น (Endemic species) ที่พบตามธรรมชาติ เฉพาะในสาธารณรัฐมาดากัสการ์ ซึ่งมีสถานะใกล้สูญพันธุ์ และเป็นสัตว์ในบัญชีหมายเลข 1 ของอนุสัญญา CITES ที่ห้ามค้าโดยเด็ดขาด ยกเว้นเพื่อการศึกษา วิจัย หรือเพาะพันธุ์ ซึ่งต้องได้รับความยินยอมจากประเทศที่จะนำเข้าเสียก่อน ประเทศส่งออกจึงจะออกใบอนุญาตให้ได้ โดยจะต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของชนิดพันธุ์นั้นๆ ด้วย
การส่งมอบคืนสัตว์ป่าของกลางในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามกฎหมาย ที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทย ในการต่อต้านการลักลอบค้าสัตว์ป่า และการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ของโลก รวมถึงเป็นความร่วมมือกันระหว่างประเทศของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งให้ความสำคัญต่อชีวิตสัตว์ป่าทุกถิ่นอาศัย ที่มีความสำคัญต่อการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติ และประโยชน์สูงสุดของประเทศต้นกำเนิดชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่า
ที่มา : กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช , องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์