ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



ศึกษาช่วงเริ่มต้นการหมุนของกาแล็กซี

กล้องโทรทรรศน์ในโลกของเรามีความก้าวหน้าและทรงพลังมากขึ้น สามารถตรวจจับดาราจักรหรือกาแล็กซีที่อยู่ห่างไกลได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในจำนวนกาแล็กซีเหล่านั้นบางแห่งก็เก่าแก่ที่สุด กาแล็กซีเหล่านั้นเริ่มถอยห่างจากเราไปเมื่อจักรวาลขยายตัว แต่เครื่องมือของเราก็สามารถประเมินความเร็วของกาแล็กซีที่เคลื่อนที่ได้

เมื่อเร็วๆนี้ ทีมนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวาเซดะในญี่ปุ่น และจากมหาวิทยาลัยคอลเลจ ลอนดอน รวมทั้งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในอังกฤษ ระบุว่ากล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดยักษ์อัลมาที่ตั้งอยู่กลางทะเลทรายอาตากามาในชิลี ได้สังเกตเห็นการกระจัดกระจายของกาแล็กซีที่อยู่ห่างไกล ชื่อว่า MACS1149-JD1 หรือ JD1 ที่ทำให้ได้ข้อสรุปที่น่าสนใจบางประการ

นอกจากจะเป็นกาแล็กซีที่มีปรากฏการณ์เรดชิฟต์ (redshift) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อการแผ่รังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามีการเปล่งแสงหรือสะท้อนกับวัตถุ แล้วทำให้สเปกตรัมของคลื่นเลื่อนตัวไปในทางฝั่งสีแดงของสเปกตรัมแม่เหล็กไฟฟ้า ทีมยังพบการเคลื่อนที่ของก๊าซและดาวฤกษ์ภายใน JD1 ที่นำไปสู่ความเข้าใจกระบวนการสร้างกาแล็กซีอันเก่าแก่เหล่านี้ในจักรวาล

ทีมสังเกตการณ์ต่อเนื่องราว 2 เดือน ก็ประสบความสำเร็จในการวัดความแตกต่างเล็กน้อยในเรดชิฟต์ และ JD1 ก็เป็นไปตามเกณฑ์ของกาแล็กซีที่มีการหมุนรอบ ความเร็วในการหมุนที่คำนวณได้คือ 50 กิโลเมตรต่อวินาที ส่วนเส้นผ่าศูนย์กลางของ JD1 วัดได้ 3,000 ปีแสง ซึ่งเล็กกว่ากาแล็กซีทางช้างเผือกที่เส้นผ่าศูนย์กลางยาวถึง 100,000 ปีแสง ที่สำคัญคือ JD1 นั้นอยู่ไกลที่สุด ดังนั้น จึงเป็นหลักฐานแรกสุดที่พบกาแล็กซีมีจานหมุนของก๊าซและดาวฤกษ์.


กินเร็วเสี่ยงเป็นโรคอ้วน

ในสังคมปัจจุบันที่กิจกรรมทุกอย่างมักต้องทำด้วยความเร่งรีบ แม้กระทั่งเวลากินอาหาร ซึ่งน่าจะเป็นช่วงเวลาที่ควรจะผ่อนคลายและมีความสุขไปกับการลิ้มรสอาหาร กลับต้องกินอย่างรวดเร็ว ผลเสียของการกินเร็ว นอกจากจะทำให้เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด อาหารไม่ย่อย ซึ่งเป็นอาการที่พบโดยทั่วไปแล้ว การกินเร็วยังส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าที่เราคิด

การกินเร็วเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะที่เรียกว่า “Metabolic Syndrome” คือ กลุ่มอาการที่เกิดจากการเผาผลาญอาหารของร่างกายผิดปกติ มีสาเหตุมาจากการดื้อต่ออินซูลิน (Insulin Resistance) และความอ้วน มักพบในผู้ที่มีไขมันหน้าท้องมาก หรือที่เรียกว่า อ้วนลงพุง (Central Obesity) Metabolic Syndrome ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันสูง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ เกิดหัวใจขาดเลือด จากการศึกษาพบว่าคนที่กินเร็วมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มากกว่าคนที่กินปกติถึง 2.5 เท่า สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institutes of Health) ของสหรัฐอเมริกาประเมินว่า 34% ของประชากรวัยผู้ใหญ่ของสหรัฐอเมริกามีกลุ่มอาการ Metabolic Syndrome และยังได้เตือนว่าในอนาคต Metabolic Syndrome จะเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจได้มากกว่าการสูบบุหรี่

จากงานวิจัยของ Dr.Takayuki Yamaji แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคหัวใจ จาก Hiroshima University ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งศึกษาในอาสาสมัครชาวญี่ปุ่นที่มีสุขภาพดีจำนวนมากกว่า 1,000 คน อายุเฉลี่ยราว 51 ปี ทุกคนไม่เคยมีภาวะ Metabolic Syndrome อาสาสมัครเหล่านี้ถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ตามพฤติกรรมในการกินอาหาร คือ กลุ่มผู้กินเร็ว กลุ่มผู้กินอัตราเร็วปกติ และกลุ่มผู้กินช้า โดยได้ติดตามสุขภาพของอาสาสมัครเหล่านี้เป็นระยะเวลา 5 ปี พบว่า 11.6% ของกลุ่มผู้ที่กินเร็วเกิดภาวะ Metabolic Syndrome 6.5% ในกลุ่มผู้กินอัตราเร็วปกติ และเพียง 2.3% ในกลุ่มผู้กินช้า ในกลุ่มผู้ที่กินเร็วจะมีน้ำหนักตัวมากขึ้น มีรอบเอวขนาดใหญ่ขึ้น และมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มผู้ที่กินปกติและกินช้า การกินอาหารให้ช้าลง กินอาหารประเภทธัญพืช อาหารที่มีกากใยสูง ผัก ผลไม้ และออกกำลังกายให้มากขึ้นจะช่วยป้องกันการเกิด Metabolic Syndrome ได้

จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร American Journal of Clinical Nutrition โดยให้คนอ้วนและคนที่มีน้ำหนักตัวน้อย กินอาหารชนิดเดียวกันและปริมาณอาหารต่อ 1 คำเท่ากัน พบว่าคนอ้วนมีแนวโน้มที่จะเคี้ยวอาหารน้อยกว่าคนที่มีน้ำหนักน้อย คนอ้วนมักเคี้ยวเร็ว เคี้ยวไม่ละเอียดและกลืนเร็ว เมื่อทดลองให้ทุกคนเคี้ยวอาหาร 40 ครั้งต่อคำ ทั้งคนอ้วนและคนมีน้ำหนักน้อยจะกินอาหารน้อยลง

ขณะที่เรากินอาหารนั้น สมองจะได้รับสัญญาณจากกระเพาะอาหารและลำไส้ สมองจะสั่งการลงมาให้ร่างกายรู้สึกอิ่ม ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่า 20 นาทีกว่าที่สมองจะสั่งการ คนกินเร็วสมองจะสั่งการไม่ทัน มักจะกินหมดก่อนที่จะรู้สึกอิ่ม ทำให้กินไปเรื่อยๆ จนได้รับปริมาณอาหารมากเกินไป เมื่อเรากินช้าลง การสั่งการจากสมองจะเกิดขึ้นในขณะที่เรายังกินอยู่ จึงทำให้เรารู้สึกอิ่มก่อนที่จะกินมากเกินไป

การกินอาหารจึงควรใช้เวลามากกว่า 20 นาที หรือประมาณ 30 นาที เพื่อให้สมองสั่งการให้ร่างกายรู้สึกอิ่มได้ทันเวลา การกินช้าๆ และเคี้ยวอาหารให้ละเอียดจะช่วยทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น เพิ่มการไหลเวียนของโลหิตไปยังกระเพาะอาหารและลำไส้ และยังทำให้ร่างกายเผาผลาญแคลอรีได้เพิ่มขึ้นด้วย การกินอย่างช้า ๆ และให้ความสนใจกับอาหารที่กินอยู่ ยังเป็นการฝึกให้มีสติกับสิ่งที่กำลังทำ ช่วยลดความเครียดจากการทำงานและชีวิตประจำวัน

การมีสุขภาพที่ดีทำได้ไม่ยาก เพียงแค่เราใส่ใจกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่นพฤติกรรมการกินอาหาร วิธีแก้การกินเร็วทำได้ง่ายๆ เช่น ไม่ตักอาหารคำโตๆ ระหว่างเคี้ยวอาหารถ้านับจำนวนครั้งที่เคี้ยวได้ก็จะดี แต่ถ้ารู้สึกฝืนธรรมชาติของตัวเองมากเกินไปที่จะต้องมานั่งนับจำนวนครั้งในการเคี้ยว ทำให้เครียดโดยใช่เหตุ ก็ให้เคี้ยวอาหารอย่างช้าๆ และเคี้ยวให้ละเอียด วางช้อนส้อมลงระหว่างเคี้ยว ใช้เวลาอย่างน้อย 30 นาทีในการกินอาหาร ไม่ควรกินไปทำงานหรือดูทีวีไป การกินอาหารกับเพื่อนจะช่วยให้กินช้าลงได้ ฝึกทำจนเคยชินเป็นนิสัย พฤติกรรมการกินเร็วจะหมดไปในที่สุด

บทความโดย : รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.จิรภรณ์ อังวิทยาธร ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


เส้นวาสนาอยู่ตรงไหน หมายถึงอะไร ซินแสมาศ

ได้ยินมาตั้งแต่เด็กๆ ว่าเส้นวาสนา แล้วเส้นวาสนามันอยู่ไหน หลายคนสงสัยเรื่องนี้ อ.มาศ เคหาสน์ธรรม ซินแสฮวงจุ้ยระดับโลก บอกว่า

1. เส้นวาสนา ก็คือ เส้นที่หนาที่สุดในรูป เส้นที่ดีที่สุด คือ ยาวจากล่างขึ้นบน ไปชนนิ้วกลาง จะเป็นคนที่วาสนาสูง ร่ำรวย เป็นใหญ่เป็นโต เป็นบุคคลสำคัญในบ้านเมือง

ถ้าสั้นเท่าไร ระดับของวาสนาก็จะเท่านั้น ถ้าขาดตอน ก็จะต้องเปลี่ยนอาชีพ เปลี่ยนงาน ขาดช่วงไหน ดูตัวเลขที่เส้น จะบอกอายุ

เช่น ข้างเส้นวาสนา ตรงกลางฝ่ามือจะมีเลข 30 หมายถึงตอนอายุ 30

ถ้ามีเส้นขาด หรือเส้นตัดขวาง ก็แปลว่าอายุ 30 จะตกงาน งานมีปัญหาอุปสรรค คนที่ไม่มีเส้นวาสนา แปลว่าชาตินี้คงต้องใช้ความพยายาม เงินทองต้องหาด้วยน้ำพักน้ำแรง ไม่อาจรอวาสนา หรือลูกฟลุกได้

วิธีดูให้แม่นยำ ทำอย่างไร ให้แม่นยำ แนะนำให้ดูทั้ง 2 มือประกอบกัน อ.มาศ บอกว่า ผู้ชาย เส้นวาสนาฝั่งซ้าย หมายถึง ฟ้าลิขิต เส้นฝั่งขวาหมายถึง เราทำเอง เช่น ฝั่งซ้ายเส้นวาสนาสั้น ฝั่งขวาเส้นวาสนายาว แสดงว่า เราพัฒนาตัวเองได้เหนือกว่าฟ้าลิขิต

ผู้หญิงดูมือซ้ายขวาตรงข้ามกัน ซินแสชื่อดังบอกเรื่องนี้ด้วยว่า วิธีจำคือ เส้นวาสนาจุดที่ตัดกับเส้นสมองที่กลางฝ่ามือ คือตำแหน่งอายุ 35 ปีนะครับ จะได้ไล่อายุกันถูก ว่าเส้นขาดอายุเท่าไร จะเปลี่ยนแปลงเรื่องอาชีพการงานในช่วงนั้น

ใครที่เส้นวาสนาไม่สวย ก็ต้องมุ่งมั่นพัฒนาตัวเอง หาความรู้เพิ่ม เก่งขึ้น ก็จะหารายได้มากขึ้น พอเริ่มดีขึ้นแล้ว อยากเสริมขึ้นอีก ก็จัดฮวงจุ้ยกระตุ้นขยายพลัง

ที่มา : MasFengShui


“โคตรเพชร”

ท่านผู้อ่านโปรดแซ่บ!! เรียกเสียงฮือฮาตาแตกกระหึ่มโลก พระราชพิธีฉลองเสกสมรสของ “เจ้าหญิงฟัดซิลาห์ ลูบาบุล โบล เกียห์” พระราชธิดาองค์ที่ 9 ในสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งราชวงศ์บรูไน ยิ่งใหญ่ อลังการสมพระฐานะ

โดยเฉพาะ “เครื่อง (โคตร) เพชร” ทรงไม่ทำให้กองเชียร์ผิดหวัง แค่ 2 เซต เพชร, มรกต บึ้มๆ ทั้งมงกุฎ, สร้อยคอ, แหวน, ต่างหู, ประหลํ่า, กำไล ฯลฯ นับรวมๆ เหมาๆกันไปก็หลายพันล้านบาท แต่ที่ขอกระซิบให้ “โฟกัส” ก็คือ “เข็มกลัดรูปหัวใจ” ของ “เสด็จแม่” มาเรียม อับดุล อาซิซ ค่ะ..คุณขา

แว่วว่าซื้อจาก “ร้านเพชรเจ้าดังของเมืองไทย”--แต่จะ “เจ้าไหน”..ทายซิ?? คิกๆ.


ฮือฮา! จีนวิจัยพบสารใน'มะกรูด'ออกฤทธิ์ต้านโควิดในเซลล์มนุษย์-สัตว์

5 ก.ค.65 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ผลการศึกษาจากคณะนักวิจัยของสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่น สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน พบส่วนประกอบของพืชตระกูลส้มอย่างมะกรูด มีฤทธิ์ยับยั้งการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ก่อโรคโควิด-19 ในระดับเซลล์และสัตว์

วารสารแอนติไวรัล รีเสิร์ช (Antiviral Research) อ้างอิงหลักฐานการทดลองระบุว่าเบอร์กามอตติน (Bergamottin) ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพตามธรรมชาติของมะกรูด อาจมีศักยภาพยับยั้งเชื้อไวรัสฯ ในเซลล์มนุษย์และในหนูแฮมสเตอร์ซีเรียสีทอง โดยสามารถสกัดกั้นการติดเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์ปกติ (wild-type) รวมถึงสายพันธุ์อัลฟาและเบตาที่กลายพันธุ์ใหม่

ส่วนประกอบของมะกรูดชนิดนี้แทรกแซงวัฏจักรชีวิตของเชื้อไวรัสฯ หลายขั้นด้วยการปิดกั้นเชื้อเข้าสู่เซลล์เจ้าบ้าน โดยจะขัดขวางการหลอมรวมระหว่างเยื่อหุ้มเซลล์กับโปรตีนหนาม และลดการสังเคราะห์อาร์เอ็นเอของเชื้อไวรัสฯ

การทดสอบในสัตว์ทดลองพบว่าการป้อนเบอร์กามอตตินให้แฮมสเตอร์ซีเรียสีทองผ่านทางปาก ปริมาณ 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และ 75 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ลดจำนวนเชื้อไวรัสฯ ในกระดูกจมูกและเนื้อเยื่อปอดของหนู ขณะความเสียหายของปอดและภาวะน้ำหนักตัวลดลงที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสดังกล่าวมีแนวโน้มดีขึ้นหลังการรักษา

อนึ่ง มะกรูดเป็นผลไม้มีกลิ่นหอมขนาดเท่าผลส้ม มีสีเหลืองหรือเขียวคล้ายมะนาว โดยการศึกษาก่อนหน้านี้เผยว่าเบอร์กามอตตินในมะกรูดถูกนำไปใช้รักษาก้อนเนื้อร้ายหลายชนิด อาทิ มะเร็งกระเพาะอาหาร ทั้งในการทดลองในหลอดทดลองและสิ่งมีชีวิต

ผลการศึกษาเสริมว่าเบอร์กามอตตินมีศักยภาพการใช้งานทางคลินิกที่หลากหลายสำหรับต่อสู้กับโรคโควิด-19 และอาจนำไปใช้ร่วมกับยาอื่นๆ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพต้านเชื้อไวรัสฯ ด้วย


3 สิ่งที่ควรทำหลังตื่นนอน เพื่อให้หลับง่ายในตอนกลางคืน

วิจัยชี้ เข้านอน-ตื่นนอนเร็วขึ้น 1 ชม. ลด "ซึมเศร้า" ได้

หากเราใช้เวลาในช่วงเช้ากับการรีบเร่งออกจากบ้าน ร่างกายจะเพลียตลอดทั้งวัน ควรตื่นเร็วขึ้นหนึ่งชั่วโมงหรืออย่างช้าที่สุด 30 นาที และใช้เวลาให้มากขึ้นในช่วงเช้า หากเราสามารถใช้เวลาในช่วงเช้าอย่างช้าๆ ระบบประสาทอัตโนมัติก็จะสลับการทำงานได้อย่างราบรื่น โดยมีสิ่งที่แนะนำคือ

ลุกขึ้นจากที่นอนช้าๆ

แม้ว่าจะลืมตาแล้วแต่ร่างกายก็ยังหลับอยู่ครึ่งหนึ่ง หากลุกขึ้นมาทันที มันจะกระตุ้นระบบซิมพาเทติกเร็วเกินไป ดังนั้นจึงแนะนำให้ลองยืดเหยียดแบบง่ายๆ หรือพยายามออกกำลังกายง่ายๆ เบาๆ ในท่านอนสักหนึ่งหรือสองนาทีก่อนจะลุกขึ้น การทำแบบนี้จะเป็นการปรับการหายใจอย่างเป็นธรรมชาติ และระบบประสาทอัตโนมัติจะค่อยๆ เปลี่ยนจากโหมดหลับเป็นโหมดตื่น

อาบแสงแดดยามเช้า

เปิดประตูออกไปนอกบ้านแล้วอาบแสงแดดยามเช้า มองทิวทัศน์ภายนอกและสูดหายใจเข้าลึกๆ ช้าๆ เพื่อส่งอากาศบริสุทธิ์ไปยังเซลล์ทั่วร่างกาย การทำแบบนี้ช่วยทำให้สมองหลั่งเซโรโทนิน ซึ่งเป็น “ฮอร์โมนแห่งความสุข” ช่วยเพิ่มความรู้สึกมีความสุขและกระตุ้นให้พร้อมสำหรับชีวิตในวันนี้ ช่วยเพิ่มความต้านทานต่อความเครียด ทั้งยังมีผลในการปรับสมดุลของระบบประสาทอัตโนมัติ

ยิ่งไปกว่านั้น หากเซโรโทนินหลั่งออกมาได้ดีในตอนเช้าและยิ่งได้ใช้เวลาทั้งวันไปกับความรู้สึกที่มีความสุข เมลาโทนินหรือที่เรียกว่า “ฮอร์โมนการนอนหลับ” ก็จะหลั่งออกมาในปริมาณมากและช่วยให้นอนหลับสนิทได้ในตอนกลางคืน นอกจากนี้การดื่มน้ำ 1 แก้วรวดเดียวจนหมดในตอนเช้ายังช่วยสามารถกระตุ้นลำไส้ได้อีกด้วย

ฟังดนตรี

แนะนำให้เปิดเพลงฟังไปด้วยในระหว่างที่เตรียมตัวออกจากบ้าน ดนตรีช่วยให้ช่วงเวลาตอนเช้ามีความพิเศษ แต่จะแนะนำเป็นพลงที่เราไม่รู้ความหมายของเนื้อร้อง ไม่อย่างนั้นเราจะไปจดจ่อกับมัน เสียงเพลงสามารถเปลี่ยนบรรยากาศตอนเช้าและสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี ทำให้อารมณ์ดี พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับวันใหม่

ผู้เขียนเองก็เป็นคนหนึ่งที่นอนหลับยาก กว่าจะหลับก็ดึกดื่น สงสัยต้องทำตามคำแนะนำของศาสตราจารย์บ้างแล้ว เพื่อนๆ คนไหนที่มีปัญหาเรื่องการนอนเหมือนกัน ลองมาแชร์วิธีแก้ไขของตัวเองกันได้เลย

ขอขอบคุณ

ข้อมูล :news.yahoo

ภาพ :iStock