ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



ครบเครื่อง ญ.อมตะ 4 ธันวาคม 2564

จับตา ดาวเคราะห์น้อย ระดับ 'บิ๊ก วัน' ใหญ่เท่าหอไอเฟล จะพุ่งผ่านโลก

นาซาจับตา ดาวเคราะห์น้อย ใหญ่โตเท่าหอไอเฟล จะพุ่งตัดวงโคจร ผ่านโลกในระยะใกล้ที่สุด 11 ธันวาคม ด้วยความเร็ว 2.3 หมื่นกิโลเมตรต่อ ชม.

เมื่อ 30 พ.ย. 64 เว็บไซต์ timesnownews รายงาน องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) หรือนาซา เผย มีดาวเคราะห์น้อย ที่ถูกตั้งชื่อว่า 'T4660 Nereus' กำลังเคลื่อนที่มุ่งหน้ามายังโลก และจะพุ่งตัดผ่านวงโคจรโลกในระยะใกล้ที่สุดในวันที่ 11 ธันวาคม ที่จะถึงนี้

ดาวเคราะห์น้อย T4660 Nereus ถูกจัดให้เป็น ดาวเคราะห์น้อยในระดับมีศักยภาพที่อันตราย มีรูปทรงเหมือนไข่

มีความยาวถึง 330 เมตร จัดเป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดใหญ่กว่า 90% ของดาวเคราะห์น้อยที่นาซารู้จักทั้งหมด จึงทำให้ดาวเคราะห์น้อย จัดให้เป็นหนึ่งในดาวเคราะห์น้อยระดับ 'เดอะ บิ๊ก วัน'

ตามทะเบียนของนาซาเกี่ยวกับเศษซากในอวกาศทั้งหมด ระบุว่า ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้อาจเข้ามาใกล้โลกของเรา แต่ก็ไม่เข้ามาใกล้มากจนก่อให้เกิดความกังวล

'ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ มีขนาดความยาว 330 เมตร เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 14,700 ไมล์ต่อชั่วโมง (ราว 23,520 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) แต่ไม่เป็นภัยคุกคามต่อโลก' ตามรายงานของนาซา

เดชะบุญ ที่ดาวเคราะห์น้อยไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อโลกของเรา และจะเคลื่อนที่ใกล้โลกมากที่สุด ด้วยระยะห่าง 3.9 ล้านกิโลเมตร หรือประมาณ 10 เท่าของระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์

ข้อมูลของนาซา ดาวเคราะห์น้อย T4660 Nereus โคจรรอบดวงอาทิตย์ทุก 664 วัน และจะไม่เคลื่อนที่ตัดผ่านโลกในระยะใกล้ จนถึงวันที่ 2 มีนาคม 2031 ที่จะเข้าใกล้โลกมากที่สุดอีกครั้ง

ดาวเคราะห์น้อย T4660 Nereus ไม่ใช่ดาวเคราะห์น้อยดวงใหม่ที่เพิ่งพบ เพราะนักดาราศาสตร์ชาวอเมริกัน อีเลียนอร์ เอฟ.เฮลิน ได้พบดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ครั้งแรกในปี 1982 จากนั้น ดาวเคราะห์น้อย T4660 Nereus ได้ถูกจัดให้เป็นดาวเคราะห์น้อยกลุ่มอะพอลโล ซึ่งเป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีเส้นทางโคจรตัดกับวงโคจรโลกในขณะที่มันโคจรรอบดวงอาทิตย์


นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะใหม่ 366 ดวง

คำว่า “ดาวเคราะห์นอกระบบ” ถูกใช้เพื่ออธิบายดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะของเรา การระบุดาวเคราะห์ใหม่หลายร้อยดวงถือเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญ การศึกษาดาวเคราะห์ใหม่ๆเหล่านี้จะช่วยให้นักดาราศาสตร์เข้าใจได้ดีขึ้นว่าดาวเคราะห์ก่อตัวขึ้นและโคจรรอบดาวฤกษ์แม่นั้นมีวิวัฒนาการมาอย่างไร อีกทั้งอาจให้ข้อมูลเชิงลึกใหม่ว่าระบบสุริยะของเราผิดปกติมากน้อยแค่ไหน

29 พ.ย. 2564: ล่าสุดนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส หรือยูซีแอลเอ ในสหรัฐอเมริกา รายงานการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบใหม่ 366 ดวง จากการใช้อัลกอริธึมตรวจจับดาวเคราะห์ใหม่ที่วิเคราะห์ชุดข้อมูลทั้งหมดจากข้อมูลในภารกิจ K2 ของกล้อง โทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ที่ยุติการทำงานไปแล้ว ซึ่งอัลกอริธึมนี้พัฒนาโดยผู้เชี่ยวชาญจากยูซีแอลเอ สิ่งที่น่าสนใจของการค้นพบนี้นั่นคือ ระบบดาวเคราะห์ที่ประกอบด้วยดาวฤกษ์ 1 ดวง และดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์อย่างน้อย 2 ดวง แต่ละดวงมีขนาดประมาณดาวเสาร์และตำแหน่งอยู่ใกล้กันอย่างน่าแปลกใจ

นอกจากดาวเคราะห์ใหม่ 366 ดวงแล้ว นักดาราศาสตร์ยังยืนยันดาวเคราะห์อีก 381 ดวงที่เคยระบุไว้ก่อนหน้านี้ และนี่จะเป็นก้าวสำคัญในการช่วยให้นักดาราศาสตร์เข้าใจว่าดาวประเภทใดมีแนวโน้มที่จะมีดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ได้มากที่สุด และบ่งบอกถึงโครงสร้างที่จำเป็นต่อการก่อตัวดาวเคราะห์ได้เป็นผลสำเร็จ.


สร้างระบบแผนที่ในร่ม 3 มิติในแบบกระเป๋าเป้สะพายหลัง

อาคารสาธารณะขนาดใหญ่หลายแห่งอาจซับซ้อนจนไม่อาจระบุด้วยแผนที่ได้อย่างแม่นยำ และความจำเป็นของการทำแผนที่ในกรณีฉุกเฉินนั้นเห็นได้ชัดเมื่อโลกเผชิญกับการระบาดของโรคโควิด-19 เรื่องนี้สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการทำแผนที่ในร่ม 3 มิติ นักวิจัยมองว่าแผนที่ดิจิทัลของพื้นที่ภายในอาคารจะช่วยให้มั่นใจได้ถึงการเว้นระยะห่างทางสังคม ช่วยในการเดินทางเสมือนจริง รวมถึงการตัดสินใจด้านอสังหาริมทรัพย์โดยไม่จำเป็นต้องปรากฏตัวพบกันจริง

ล่าสุดนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยตเว็นเตอในเนเธอร์แลนด์ ได้พัฒนาระบบแผนที่ในร่มแบบ 3 มิติที่สวมใส่ได้คล้ายกระเป๋าเป้สะพายหลัง เรียกว่า ITC-Backpack สามารถทำแผนที่ภายในอาคารที่ซับซ้อนและมีรายละเอียดสูงได้ในเวลาเพียงไม่กี่นาที ระบบของ ITC-Backpack จะสแกนตรวจจับด้วยแสงแบบ 2 มิติพร้อมกับแนวขอบเขต ด้วยการใช้เทคโนโลยีไลดาร์ (LiDAR) ที่ใช้แสงเพื่อตรวจจับและคาดคะเนระยะทางของวัตถุ โดยติดตั้งเป็นจำนวน 3 เครื่อง และติดตั้งหน่วยตรวจวัดการเคลื่อนไหวภายใน (Inertial Mea surement Unit) ซึ่ง ITC-backpack จะใช้อัลกอริธึมการแปลและกระบวนการระบุตําแหน่งในการสร้างแผนที่ขึ้นมา

ทั้งนี้ ระบบแผนที่แบบสะพายเป็นกระเป๋าเป้ได้นำไปทดสอบกับสภาพแวดล้อมสาธารณะในร่มหลายแห่งที่มีความซับซ้อนหลายระดับ เช่น ในอาคาร Institute of Geodesy and Photogram metry ที่มหาวิทยาลัยบราวน์ชไวก์ในเยอรมนี รวมถึงอาคารหลายหลังที่มหาวิทยาลัยตเว็นเตอเอง.

(ภาพประกอบ Credit : University of Twente)


'อย.สหรัฐฯ'อนุมัติใช้ยา'โมลนูพิราเวียร์' รักษาผู้ป่วยโควิด-19

1 ธ.ค.64 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า คณะกรรมการที่ปรึกษาของ สำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ (Food and Drug Administration - FDA) จัดการประชุมหารือเรื่องการอนุมัติใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ ของบริษัทเมอร์ค แอนด์ โค ในการรักษาโรคโควิด-19 เป็นกรณีฉุกเฉิน

โดยที่ประชุมลงมติ 13 ต่อ 10 เสียง รับรองว่ายาโมลนูพิราเวียร์ มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์เป็นยาที่มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยในการรักษาโรคโควิด-19 สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง รวมไปถึงกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูงอย่างผู้ป่วยโรคอ้วน หอบหืด และผู้สูงอายุ

การรับประทานยารักษาโควิดของบริษัทเมอร์ค 1 คอร์ส ประกอบด้วยยาโมลนูพิราเวียร์ ขนาด 200 มิลลิกรัม จำนวน 40 เม็ด โดยผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 4 เม็ด เป็นเวลา 5 วันด้วยกัน

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ไม่สนับสนุนการใช้ยาตัวนี้กับสตรีมีครรภ์ โดยเรียกร้องให้เอฟดีเอ เพิ่มคำเตือนพิเศษขึ้นมา หรือแนะนำให้มีการตรวจตั้งครรภ์สำหรับสตรีก่อนใช้ยา

อย่างไรก็ดี กรรมการหลายคนของทีมที่ปรึกษา FDA ระบุว่า การลงมติครั้งนี้เป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบระมัดระวังเกี่ยวกับความเสี่ยงและประโยชน์จากยาโมลนูพิราเวียร์ นอกจากนี้ กรรมการหลายคนยังได้แนะนำให้มีการทบทวนการใช้ยาเป็นกรณีฉุกเฉิน หรืออาจถึงขั้นถอนการอนุมัติการใช้ยา หากพบว่าในวันข้างหน้ามีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าในการรักษา

เมื่อวันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา เมอร์คได้เปิดเผยข้อมูลใหม่พบว่า ยาโมลนูพิราเวียร์ลดความเสี่ยงของผู้ป่วยโควิด-19 ในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้เพียง 30% เท่านั้น จากเดิมที่เคยระบุว่าสามารถลดความเสี่ยงดังกล่าวได้ 50%


ไขข้อสงสัย ทำไม "ยุงกัด" เรา แต่ถึงไม่กัดคนที่มาด้วยกันกับเรา

คนสงสัยกันไหมว่าทำไมถึงมีแต่เราที่โดนยุงกัด ทั้งๆ ที่เรานั่งอยู่ด้วยกันตั้งหลายคน แต่ทำไมมีแต่เราที่ต้องมานั่งคันแขนและขา นั่นเป็นเพราะยุงชอบกัดเพียงบางคนเท่านั้น

จากการทดลอง พบว่า

คนเลือดกรุ๊ป O

คนเลือดกรุ๊ป โอ (O) จะดึงดูดยุงมากว่ากรุ๊ปอื่น ๆ

คนที่ออกกำลังกาย

นอกจากจเหงื่อแล้ว คาร์บอนไดออกไซด์ที่มาจากการหายใจออกถี่ ๆ ต่างเป็นสิ่งที่เรียกยุงได้เหมือนกัน

คนดื่มเบียร์

ด้วยปริมาณเอทานอลที่ขับออกทางเหงื่อ ทำให้เราตัวร้อนขึ้น ยุงก็สามารถตรวจพบเราจากกลิ่น และ ความร้อนได้มากขึ้น

คนท้อง

คนท้องจากมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามาก ทำให้ดึงดูดยุงได้มากกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่า

คนอ้วน

ปกติแล้วคนอ้วนมักจะมีเหงื่อและร่างกายอุ่นกว่าคนปกติ ทำให้ยุงสนใจได้มากกว่า

คนที่ใส่เสื้อสีเข้ม

หากใส่เสื้อผ้ามืดๆ เข้ม ๆ หรือเสื้อผ้าลายขวางที่มีสีเข้มกับสีอ่อนตัดกันอย่างชัดเจน จะถูกยุงกัดมากกว่าคนใส่เสื้อผ้าสีสว่าง


แนวทางป้องกันไม่ให้ "ยุงกัด" เช่น

• เปิดพัดลม เมื่อยุงโดนลมแรง ๆ ก็จะอ่อนแรงและบินหนีไปเอง

• ใช้ยากันยุง ไม่ว่าจะเป็นแบบฉีด พ่น ทา จุดควัน ปล่อยคลื่นรบกวน หรือไอระเหย

• เลือกสวมเสื้อผ้าสีสว่าง ๆ โดยเฉพาะในเวลากลางคืนที่คาดว่าต้องไปสถานที่ยุงชุม

• อาบน้ำให้ร่างกายสะอาด ปราศจากเหงื่อ และความร้อนสะสมที่ผิวหนัง