ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



ครบเครื่อง ญ.อมตะ 11 กันยายน 2564

นาซา เผยภาพหินตัวอย่างบนดาวอังคาร ที่บรรจุอยู่ในหลอดไทเทเนียม

วันที่ 7 กันยายน เฟชบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ หรือ สดร. โดย ธราดล ชูแก้ว เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. ได้โพสต์ความคืบหน้าเรื่อง การเก็บตัวอย่างหินบนดาวอังคาร ของสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์ โดยระบุว่า

ยืนยันแล้วว่าเก็บได้จริง! #เพอร์เซเวียแรนส์ เผยภาพหินตัวอย่างบนดาวอังคารที่บรรจุอยู่ในหลอดเก็บตัวอย่าง และภาพที่ปิดฝาหลอดเรียบร้อยแล้ว เพื่อเก็บรักษารอวันนำส่งกลับมายังโลก

กระบวนการเก็บตัวอย่างหินดาวอังคารของรถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์ครั้งนี้ ได้เริ่มขึ้น เมื่อวันพุธที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา เมื่ออุปกรณ์ขุดเจาะหินที่ปลายแขนกลของรถสำรวจขุดเจาะก้อนหินที่เรียกว่า “Rochette” ในเบื้องต้นทางทีมรถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์ยังไม่สามารถยืนยันการมีอยู่ของตัวอย่างหินภายในหลอดได้ แต่ล่าสุด ภาพชุดใหม่นี้ก็สามารถยืนยันการเก็บตัวอย่างหินได้สำเร็จ

ขณะนี้ ตัวอย่างหินถูกบรรจุในหลอดไทเทเนียมที่อยู่ในสภาพสุญญากาศ เพื่อรักษาคุณค่าทางวิทยาศาสตร์ให้ได้มากที่สุด และเตรียมพร้อมสำหรับภารกิจในอนาคตที่เรียกว่า Mars Sample Return ซึ่งเป็นภารกิจที่จะนำหลอดตัวอย่างหินดาวอังคารจากรถสำรวจกลับมายังโลก

เมื่อวันที่ 6 กันยายน เวลา 11:34 น. ตามเวลาประเทศไทย รถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์ได้ถ่ายโอนหมายเลขลำดับของหลอดตัวอย่างหมายเลข 266 พร้อมส่งหลอดตัวอย่างหินไปเก็บภายในรถสำรวจ เพื่อวัดและบันทึกภาพตัวอย่างหิน จากนั้นได้ปิดผนึกหลอดเก็บตัวอย่างให้แน่นหนา บันทึกภาพอีกครั้ง และเก็บไว้เพื่อรอส่งกลับมายังโลก ทั้งนี้ กล้องที่ใช้บันทึกภาพในกระบวนการนี้คือกล้อง CacheCam ที่ติดตั้งอยู่ภายในตัวรถสำรวจ หันหน้ากล้องไปที่ด้านบนของหลอดเก็บตัวอย่างเพื่อถ่ายภาพหลอดเก็บตัวอย่างโดยเฉพาะ

ภารกิจของรถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์ เป็นการศึกษาบริเวณหลุมอุกกาบาตเจเซโร (Jezero Crater) เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับธรณีวิทยาและความเป็นมาในสมัยดึกดำบรรพ์ของพื้นที่แห่งนี้ ตลอดจนการอธิบายลักษณะของภูมิอากาศในอดีต มีอุปกรณ์สำคัญที่ใช้ในการระบุชนิดของหิน และเก็บรวบรวมตัวอย่างหินบนพื้นผิวดาวอังคาร พร้อมกับการค้นหาสัญญาณบ่งชี้ถึงสิ่งมีชีวิตด้วยกล้องจุลทรรศน์

รถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์กำลังสำรวจพื้นที่ที่เรียกว่า “Artuby” ซึ่งเป็นแนวสันเขายาวกว่า 900 เมตร โดยจะใช้เวลาอีกหลายร้อยวันบนดาวอังคารบริเวณนี้ เพอร์เซเวียแรนส์จะเดินทางเป็นระยะทางราว 2.5 ถึง 5 กิโลเมตร และอาจเก็บตัวอย่างหินได้มากถึง 8 หลอดจากทั้งหมด 43 หลอด

หลังจากนั้น รถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์จะเดินทางขึ้นไปทางเหนือและทางตะวันตก เพื่อไปยังตำแหน่งต่อไปที่จะสำรวจ บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเก่าที่ขอบหลุมอุกกาบาตเจเซโร ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำดึกดำบรรพ์มาบรรจบกับทะเลสาบภายในหลุมอุกกาบาต พื้นที่ตรงนี้อาจอุดมไปด้วยแร่ธาตุดินเหนียว คาดว่าแร่ธาตุดังกล่าวจะสามารถรักษาร่องรอยของจุลชีพยุคโบราณและบ่งชี้ถึงกระบวนการทางชีววิทยาอีกด้วย


ภูเขาไฟ เปรียบเสมือนวาล์วนิรภัยภูมิอากาศโลก

มีงานวิจัยที่ก่อเกิดข้อสงสัยมานานเกี่ยวกับแนวคิดที่ว่า ความเสถียรของสภาพอากาศของโลกในช่วงหลายสิบถึงหลายร้อยล้านปีนั้น สะท้อนให้เห็นถึงความสมดุลระหว่างสภาพดิน ฟ้า อากาศของพื้นทะเลและโครงสร้างภายในของทวีป ทว่าเมื่อเร็วๆนี้ ทีมวิจัยนำโดยผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีเคมีแห่งมหาวิทยาลัยเซาแธมป์ตัน ในอังกฤษ ก็ได้ไขความกระจ่างเรื่องดังกล่าว

การคลี่คลายความซับซ้อนในเรื่องนี้ ทีมวิจัยจึงได้สร้างสิ่งที่เรียกว่า “เอิร์ธ เน็ตเวิร์ก” (Earth Network) ซึ่งรวมเอาอัลกอริธึมการเรียนรู้ด้วยเครื่องและการสร้างแผ่นเปลือกโลกขึ้นใหม่ สิ่งนี้ทำให้ทีมสามารถระบุปฏิสัมพันธ์ที่โดดเด่นภายในระบบการทำงานของโลกและวิธีทั้งหมดพัฒนาไปตามกาลเวลา ทีมวิจัยพบว่าเทือกเขาที่มีภูเขาไฟมีบทบาทที่น่าสนใจ

โดยเฉพาะเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุดของความรุนแรงด้านสภาพดิน ฟ้า อากาศ ในช่วง 400 ล้านปีที่ผ่านมา ปัจจุบันประกอบด้วยกลุ่มภูเขาไฟในเทือกเขาแอนดีสในอเมริกาใต้ และภูเขาไฟแคสเคดในสหรัฐอเมริกา ภูเขาไฟเหล่านี้มีลักษณะของการสึกกร่อนสูงและเร็วที่สุดในโลก เนื่องจากหินภูเขาไฟแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยและมีปฏิกิริยาทางเคมีทำให้ผุพังอย่างรวดเร็วและไหลลงสู่มหาสมุทร

ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า ในด้านหนึ่งภูเขาไฟเหล่านี้จะปั๊มคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปจำนวนมาก จนทำให้เพิ่มระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ ในทางกลับกัน ภูเขาไฟก็จะช่วยขจัดคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านกระบวนการทางธรรมชาติอันเนื่องจากสภาพดิน ฟ้า อากาศและสิ่งมีชีวิตเช่นกัน.


สุดล้ำ! จีนส่ง "หุ่นยนต์กระเบนปีศาจ" ทดสอบว่ายน้ำลึกกว่า 1,000 เมตร

คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคตะวันตกเฉียงเหนือ (NPU) ในนครซีอัน เมืองเอกของมณฑลส่านซีทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ประสบความสำเร็จในการทดสอบหุ่นยนต์ชีวประดิษฐ์รูปร่างคล้ายปลากระเบนราหูหรือปลากระเบนปีศาจ (devilfish) ที่ว่ายและดำน้ำลึกด้วยวิธีกระพือปีกราวกับนก บริเวณหมู่เกาะซีซาในทะเลจีนใต้

โดยหุ่นยนต์อ่อนนุ่ม (soft robot) รุ่นต้นแบบ มีน้ำหนัก 470 กิโลกรัม สามารถดำน้ำลึกสูงสุด 1,025 เมตร ถูกสร้างโดยจำลองรูปร่างและการเคลื่อนไหวของปลากระเบนราหู หนึ่งในนักว่ายน้ำทรงประสิทธิภาพที่สุดในธรรมชาติ

หุ่นยนต์ดังกล่าวเคยถูกนำไปใช้สังเกตการณ์สภาพแวดล้อมมหาสมุทรและดำเนินการสำรวจเรือดำน้ำในแนวปะการังที่สำคัญในหมู่เกาะซีชาแล้ว

เครดิตคลิปและข้อมูลจาก สำนักข่าวซินหัว


นักวิทยาศาสตร์พบ “บางคน” เกิดภูมิคุ้มกันพิสดาร ยับยั้งโควิด-19 ได้ทุกสายพันธุ์

รายงานข่าวจากเว็บบล็อก เอ็นพีอาร์ เมื่อวันที่ 7 กันยายนนี้ เปิดเผยว่า ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีงานศึกษาวิจัยหลายชิ้นที่ค้นพบตรงกันว่า มีคนจำนวนหนึ่ง เกิดภูมิคุ้มกันพิเศษขึ้นมาสูงมาก ทั้งยังเป็นภูมิคุ้มกันที่มีความสามารถในการยับยั้งการระบาดของโควิด-19 ได้ครอบคลุมกว้างขวางมากเป็นพิเศษ จนทำให้เชื่อว่ามีความสามารถในการยับยั้งเชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ทั้งหมดเท่าที่มีการระบาดอยู่บนโลกในเวลานี้ได้

หนึ่งในงานวิจัยดังกล่าวคือรายงานวิจัยของ พอล บีนิแอสซ์ นักไวรัสวิทยาจากมหา วิทยาลัยร็อคกีเฟลเลอร์ สหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์เผยแพร่งานวิจัย ไบโออาร์ซีฟ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ที่ทำวิจัยในกลุ่มตัวอย่างจำเพาะ 14 คน พบว่า แอนติบอดี ในร่างกายของคนทั้ง 14 คน มีความสามารถสูงมาก สามารถยับยั้งการขยายตัวของไวรัสก่อโรคโควิด-19 ที่กลายพันธุ์ (แวเรียนท์) ได้มากถึง 6 แวเรียนท์ในการทดลองในห้องทดลอง ยิ่งไปกว่านั้น ยั้งมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัสอื่นๆ ที่ใกล้ชิดกับ ซาร์ส-โควี-2 ที่ก่อโรคโควิด-19 ทั้งที่เป็นเชื้อโคโรนาที่พบในค้างคาว 1 ตัว, เชื้อที่พบในแพงโกลิน (ลิ่น หรือนิ่ม) อีก 2 ตัว

บีนิแอสซ์ ยังตั้งข้อสงสัยไว้อีกด้วยว่า ภูมิคุ้มกันที่พบในกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาครั้งนี้ อาจสามารถป้องกันเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ ที่ยังไม่แพร่ในคนแต่อาจเกิดการแพร่ระบาดในคนในอนาคตได้อีกด้วย

กลุ่มตัวอย่างที่นำมาศึกษาวิจัยนั้น มีลักษณะจำเพาะร่วมกันคือ เป็นผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ในปี 2020 แล้ว ได้รับวัคซีนประเภท เอ็มอาร์เอ็นเอ ในปีนี้ ทำให้ในร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่นักวิชาการเรียกแตกต่างกันออกไปว่าเป็น “ไฮบริด อิมมูนิตี” บ้าง หรือเป็น “ซุปเปอร์ฮิวแมน อิมมูนิตี” บ้างก็มี

ธีโอโดรา แฮทซีโอนนู นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยร็อคกีเฟลเลอร์ที่ร่วมอยู่ในการวิจัยครั้งนี้ เปิดเผยว่า คนที่เคยติดเชื้อมาเมื่อปีที่แล้ว แล้วได้รับวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอในปีนี้ ร่างกายมีการตอบสนองต่อวัคซีนอย่าง “อัศจรรย์” มาก เพราะนอกจากจะเกิดภูมิคุ้มกันในปริมาณสูงมากแล้ว ยังมีความยืดหยุ่นสูงมากด้วยเช่นกัน ทำให้สามารถป้องกันหรือยับยั้งได้ แม้แต่ไวรัสซาร์ส-โควี-1 ที่ก่อให้เกิดโรคซาร์ส และเป็นโคโรนาไวรัสตัวแรกที่ระบาดในคนเมื่อราว 20 ปีก่อน ทั้งๆ ที่ไวรัสซาร์ส และไวรัสโควิด มีความต่างกันอยู่อย่างมาก

ทีมวิจัยยังทดลองยิ่งไปกว่านั้น โดยทดลองกับ เชื้อซาร์ส-โควี-2 ที่ผ่านการปรับแต่งทางพันธุกรรมอย่างจงใจเพื่อให้มีฤทธิ์ต้านทานแอนติบอดีในร่างกายได้สูงเป็นพิเศษ ด้วยการทำให้กลายพันธุ์ในจุดสำคัญถึง 20 ตำแหน่ง เพื่อไม่ให้แอนติบอดีในร่างกายเข้ามาจับเกาะแล้วทำลายตัวมันได้ ทำให้เชื้อกลายพันธุ์ที่ทำขึ้นนี้สามารถแพร่แม้แต่ในตัวคนที่ได้รับวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอมาแล้ว หรือแม้แต่ในคนที่ผ่านการติดเชื้อมาแล้วได้ แต่ปรากฏว่า แอนติบอดีลูกผสม ที่เกิดขึ้นในคนที่ติดเชื้อแล้วมาได้รับวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ กลับแข็งแรงถึงขนาดสามารถยับยั้งเชื้อสังเคราะห์นี้ได้

แฮทซีโอนนูยอมรับว่า ผลการศึกษานี้ ยังไม่สามารถตอบคำถามอื่นๆ ได้ อาทิ ภูมิคุ้มกันแบบเดียวกันจะเกิดขึ้นหรือไม่ในกรณีที่ได้รับวัคซีนก่อนแล้วถึงมาติดเชื้อ? หรือ คนที่ไม่เคยติดเชื้อ แต่ได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 จะมีวิวัฒนาการของภูมิคุ้มกันแบบเดียวกันขึ้นหรือไม่? นอกจากนั้น ทีมวิจัยยังไม่สามารถศึกษาวิจัยแบบเดียวกันนี้ในกลุ่มตัวอย่างที่กว้างขวางมากขึ้น ใหญ่ขึ้นได้ ทำให้ไม่สามารถแน่ใจว่า ภูมิคุ้มกันพิเศษนี้เกิดขึ้นจำเพาะกลุ่มนี้ หรือมีแนวโน้มที่จะเป็นวิวัฒนาการทั่วไปของภูมิคุ้มกันของคนเราในการต่อสู้กับโควิด-19

อย่างไรก็ตาม บีนิแอสซ์ เชื่อว่า ผลการศึกษาวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า เมื่อเวลาผ่านไป ภูมิคุ้มกันในร่างกายคนเราจะวิวัฒนาการให้แข็งแรงมากขึ้น ครอบคลุมเชื้อได้มากขึ้น จนในที่สุดก็จะเหนือกว่า ไวรัสก่อโรคโควิด แล้วทำให้ โควิด-19 กลายเป็นโรคระบาดธรรมดาๆ เหมือนกับไข้หวัดใหญ่ไปในที่สุด


นักบินอิตาลี "บินลอดอุโมงค์" ครั้งแรก บันทึกสถิติโลกกินเนสส์

สร้างปรากฏการณ์ใหม่ นักบินอิตาลีทำในสิ่งที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน "บินลอดอุโมงค์" ได้อย่างน่าทึ่ง บันทึกสถิติโลกกินเนสส์

หลังใช้เวลาเตรียมการนานกว่า 1 ปี กับทีมงาน Red Bull 40 ชีวิต ดาริโอ กอสตา นักบินผาดโผนชาวอิตาลีวัย 41 ปี ประสบความสำเร็จในการขับ Zivko Edge 540 เครื่องบินแข่งที่ดัดแปลงมาเพื่อการนี้ บินเหนือพื้นถนนลอดใต้อุโมงค์กาทัลกา หรือที่เรียกชื่อ T1 กับ T2 บนทางหลวงมาร์มาราเหนือ ชานนครอิสตันบูล ประเทศตุรกี

เที่ยวบินของกอสตาออกตัวเมื่อเวลา 6.43 น. วันที่ 4 กันยายน เพื่ออาศัยแสงอาทิตย์ยามเช้าเพิ่มการมองเห็น ใช้เวลา 43.44 วินาทีในการบินเป็นระยะทางทั้งหมด 2.26 กม. โดยราว 1.7 กม. เป็นระยะทางในอุโมงค์สองตอน ใช้ความเร็วเฉลี่ย 245 กม./ชม. ทำการบินเหนือพื้น 70 ซม. - 90 ซม. ปลายปีกสองข้างห่างจากผนังอุโมงค์ราว 3 เมตร

ความซับซ้อนในการทำการบินอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงความลาดเอียงและรูปทรงของอุโมงค์ และยากที่สุดจุดหนึ่งคือ ช่วงรอยต่อระหว่างอุโมงค์สองแห่งความยาว 360 เมตร เมื่อเครื่องบินเจอกับ crosswinds หรือลมพัดขวางทางวิ่ง ขณะคอสตาต้องบังคับเครื่องบินให้นิ่งเพื่อเข้าสู่อุโมงค์ช่วงที่สอง

กอสตา กล่าวว่า เขาไม่เคยบินในอุโมงค์มาก่อนในชีวิต และไม่มีใครเคยทำมาก่อน จึงเป็นคำถามใหญ่ว่า ทุกอย่างจะเป็นไปตามคาดหรือไม่ เมื่อทำสำเร็จ เขาโล่งใจและมีความสุขมาก เป็นอีกความฝันที่กลายเป็นจริง

งานนี้คือการสร้างสถิติโลกถึง 5 รายการ แต่ที่ได้รับการบันทึกกินเนสส์ เวิล์ด เรคคอร์ด อย่างเป็นทางการ คือการบินลอดอุโมงค์เป็นระยะทางยาวที่สุดในโลก (1,730 เมตร) อีก 4 รายการ คือการบินลอดอุโมงค์ครั้งแรก เที่ยวบินภายใต้สิ่งขีดขวางยาวที่สุด เครื่องบินลำแรกที่บินลอดอุโมงค์สองแห่ง และเครื่องบินลำแรกที่ทะยานขึ้นจากอุโมงค์