ครบเครื่อง
ญ. อมตะ
ครบเครื่อง ญ.อมตะ

ธรรมชาติฟื้นตัวช่วยกันยกระดับท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืน

ยังจำกันได้มั้ย ช่วงที่เรา “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ระหว่างที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศร่วม 3 เดือน ทั้งภาครัฐและเอกชนให้ “WORK FROM HOME” ทำงานจากบ้าน ห้างสรรพสินค้าถูกปิด ร้านอาหารทำได้เพียงสั่งนำกลับไปทานที่บ้าน ร้านสะดวกซื้อที่เราเคยเข้า-ออกกันได้ตลอด 24 ชั่วโมง ถูกจำกัดเวลาปิด-เปิด

เกิดคำขวัญขึ้นมากระตุ้น เตือน กันมากมาย ตั้งแต่ “ล้างมือ กินร้อน ช้อนกลาง” พอโควิด-19 ระบาดหนักเข้าถึงกับต้องเปลี่ยนเป็น “ล้างมือ กินร้อน ช้อนตรู แยกกันเราอยู่ รวมหมู่เราป่วย”

แถมยังมีโพสต์แก้เซ็งระหว่างการกักตัวเรียกยอดไลค์ อาทิ “ไวรัสก็ระแวง แฟนก็ไม่มี” “พิเศษใส่ไข่ ใส่ใจต้องใส่ MASK” “ตรวจแล้วไม่มีไข้ แล้วก็ไม่มีใครด้วย” “โควิด-19 มันน่ากลัว อยากกักตัวที่ห้องเธอ” “อยู่บ้านเงียบ ๆ น้ำหนักขึ้นเพียบเลยนะครับ” เรียกเสียงฮา รอยยิ้มกันไป

ช่วงเวลาดังกล่าว กิจกรรมทุกอย่างแทบหยุดชะงัก คนหยุดเดินทางท่องเที่ยว แต่ก็มีสิ่งดี ๆ มาให้เห็นและชื่นใจ นั่นคือ “ธรรมชาติ” เองก็มีโอกาส WORK FROM HEART ซ่อมสร้างตัวเอง เพื่อเตรียมพร้อมต้อนรับการกลับมาของนักท่องเที่ยว

บ้านของสัตว์ ไม่ว่าบนบก ในน้ำ หรือในป่า กลับมาเป็นของพวกเขาอย่างภาคภูมิ ลองมาไล่เรียง ย้อนความจำกันอีกครั้งว่าในช่วงระหว่างนั้น สิ่งใดที่ออกมาสร้างรอยยิ้มที่มุมปากให้มนุษย์ที่หยุดอยู่บ้านมีความสุขขึ้นมา

วันที่ 26 มีนาคม 2563 ช่วงหัวค่ำจนถึงเที่ยงคืน ลูกเต่ามะเฟืองค่อยๆ ทยอยขึ้นมาจากหลุมที่แม่เต่ามะเฟืองเพาะฟักไว้ตามธรรมชาติ และเดินกลับลงสู่ทะเล ที่อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง จ.ภูเก็ต รวมเวลาจากนั้น 2 วัน มีลูกเต่าเดินลงสู่ทะเลไป 26 ตัว เจ้าหน้าที่อุทยานฯ แจ้งว่า รังนี้เป็นรังที่ 8 จากทั้งหมด 11 รัง ที่พบแม่เต่าขึ้นวางไข่ที่ชายหาดหน้าวิทยาลัยการอาชีพท้ายเหมือง

ต่อมาวันที่ 4 เมษายน 2563 อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ออกมาแจกความสดใสกับภาพกระชังเต่าตนุ ซึ่งแม่เต่าได้ขึ้นมาวางไข่บริเวณเกาะกุฎี ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 หลังจากลูกเต่าฟักออกมา ทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการอนุบาลลูกเต่าในบ่อ ก่อนปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ

ทางด้านอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ช่วงปราศจากนักท่องเที่ยว ในวันที่ 7 เมษายน 2563 ปรากฏภาพชีวิตสวยงามแสนอบอุ่นของครอบครัวค่างแว่นถิ่นใต้ ออกจากป่า อุ้มลูกน้อยฝาแฝดสีทองออกมาเดิน นั่ง นอนเล่นกลางสนามหญ้าหน้าศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอย่างสนุกสนาน

ขณะที่ในวันที่ 16 เมษายน 2563 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ได้อวดภาพเลียงผา 1 ใน 19 ชนิด สัตว์ป่าสงวนของประเทศไทย ออกมานอนทอดกาย รับสายลมแสงแดดอย่างสบายใจบริเวณผาเดียวดาย

และแล้วในช่วงเช้าวันที่ 17 เมษายน 2563 ก็ถึงเวลาที่ฝูงฉลามหูดำกว่า 20 ตัว โผล่เล่นน้ำหน้าหาดเกาะตาชัย บนพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน แสดงความเป็นเจ้าถิ่นแห่งท้องทะเลกันบ้าง บอกไว้ก่อนน้อง ๆ กลุ่มนี้มีนิสัยไม่ดุร้ายเมื่อเทียบกับปลาฉลามชนิดอื่น ๆ แต่ถ้าถึงเวลาโตเต็มที่จะมีขนาดถึง 2 เมตรทีเดียว

บนท้องทะเลของจังหวัดตรังก็ไม้แพ้กัน เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563 ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จังหวัดตรัง เผยภาพมุมสูงของฝูงพะยูนประมาณ 30 ตัว บริเวณแหลมจูโหย เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง

จากนั้นวันที่ 28 เมษายน 2563 ระหว่างการเดินทางบนท้องทะเลของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ได้พบฝูงโลมาปากขวดกว่า 50 ตัว ออกมาโชว์ว่ายเล่นน้ำอย่างร่าเริง และเข้ามาทักทายเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด และต้องบอกว่าท้องทะเลแถบนี้อุดมสมบูรณ์มาก ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2563 เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ได้ตื่นตา ตื่นใจ อีกครั้งเมื่อได้พบกับฝูงโลมาปากขวดประมาณ 100 ตัว แหวกว่ายอวดโฉมบริเวณใกล้เกาะบอน

ธรรมชาติในยามที่นักท่องเที่ยวถูกกักตัวอยู่บ้านอวดความสมบูรณ์ไม่ยอดหยุด ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2563 แม่เต่ามะเฟืองได้ขึ้นมาวางไข่บนหาดของเกาะภูเก็ตอีกครั้งใช้เวลาร่วม 2 ชั่วโมง ก่อนกลับลงสู่ท้องทะเล

เหล่านี้เป็นภาพจำ ทำให้เรา “คิดถึง” ธรรมชาติ “คิดถึง” แหล่งท่องเที่ยว มาถึงตอนนี้คนไทยเริ่มออกเดินทางท่องเที่ยวในประเทศได้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ออกแคมเปญ “คิด…แล้วไปให้ถึง” สร้างบรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง

แต่สิ่งหนึ่งที่ ททท.บอกไว้กับคนไทย เราได้ธรรมชาติที่ได้รับการฟื้นฟูกลับมาแล้ว ห้วงเวลานี้ คือโอกาสอันยิ่งใหญ่ที่จะใช้หัวใจ สมอง สองมือ ของเราช่วยกันยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไปสู่ความยั่งยืน และการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ เพื่อรักษาแหล่งท่องเที่ยวอันสวยงามให้คงอยู่คู่ประเทศไทยตลอดไป


"วัณโรคปอด" ร้ายกว่าที่คิด รู้จักอาการ ป้องกันได้

วัณโรคปอด เป็นโรคติดต่อที่คร่าชีวิตคนไทยจำนวนมาก และยังพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งหากไม่รู้ทันอาการวัณโรคปอด เสี่ยงในการติดต่อแพร่เชื้อ ถ้าเป็นแล้ว ไม่รีบพบแพทย์เพื่อรักษา อาจสายเกินไป

ข้อมูลจากรายการพบหมอรามา โดยผศ.นพ.ธีระศักดิ์ แก้วอมตวงศ์ สาขาวิชาโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤติ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุถึงอาการวัณโรคปอด สรุปได้ว่าผู้ป่วยจะมีไอเรื้อรังนานกว่า 3-8 สัปดาห์ บางคนไอเป็นเลือด ผอม น้ำหนักลด มีไข้ต่ำ เหงื่อออกตอนกลางคืน เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย

สำหรับการตรวจวินิจฉัยวัณโรค ทำได้โดยการหาเชื้อวัณโรคในเสมหะ แต่กรณีเชื้อยังน้อยจะวินิจฉัยไม่ได้ จึงต้องเพาะเชื้อ แต่ใช้เวลานาน 6 สัปดาห์ หรือตรวจหาดีเอ็นเอของเชื้อ

การรักษาวัณโรค รักษาให้หายด้วยการใช้ยา ที่สำคัญคือผู้ป่วยวัณโรคต้องกินยาให้ครบตามแพทย์สั่ง โดยการกินยาแบ่งเป็น 2 ช่วง คือช่วงแรก 2 เดือน เป็นช่วงป้องกันการแพร่เชื้อจากปอดไปส่วนอื่น ต่อมาต้องกินยาต่อเนื่อง เพื่อกำจัดเชื้อที่แฝงอยู่ในร่างกายให้หมดไป นานประมาณ 6-9 เดือน

การป้องกันการติดต่อวัณโรคปอด คือการหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีเชื้อวัณโรค หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องจัดสภาพแวดล้อมให้มีอากาศถ่ายเท แยกห้องนอนกับผู้ป่วยวัณโรค ใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน

ขณะเดียวกัน พญ.ผลิน กมลวัทน์ ผู้อำนวยการ สำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค เคยให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศ ที่มีปัญหารุนแรงในเรื่องวัณโรค มีผู้ป่วยเพิ่มสูง ทั้งผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา ผู้ป่วยวัณโรคเอชไอวี โดยองค์การอนามัยโลก สำรวจผู้ป่วยในประเทศไทยทุก 5 ปี พบคนไทยป่วยเป็นวัณโรครายใหม่เพิ่มขึ้นปีละ 1.2 แสนคน

ทั้งนี้ วัณโรคที่เกิดขึ้นเป็นวัณโรคเกิดขึ้นที่ในปอดร้อยละ 85 ติดต่อทางการหายใจ เมื่อผู้ป่วยวัณโรคพูด ไอ หรือจาม เชื้อลอยออกในอากาศ ส่วนที่เหลือเป็นวัณโรคนอกปอด ที่แพร่กระจายเชื้อไปยังส่วนอื่น ตั้งแต่เส้นผม ผิวหนัง กระดูก เยื่อหุ้มปอด ต่อมน้ำเหลือง กระดูกสันหลัง ข้อต่อ ช่องท้อง ระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบสืบพันธุ์ ระบบประสาท และโพรงจมูก โดยเฉพาะพบมากที่กระดูก ดังนั้นหากมีความเสี่ยง และมีอาการที่เข้าข่ายจึงควรรีบไปพบแพทย์


“กระดังงาสงขลา

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cananga odorata Hook.f. et Th. Var. fruticosa (Craib) J.Sincl. วงศ์ : ANNONACEAE

ชื่ออื่น : กระดังงาสาขา (กรุงเทพฯ) กระดังงาเบา (ใต้) กระดังงอ (ยะลา)

กระดังงาสงขลา เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 1-3 เมตร แตกกิ่งมาก ใบหนาเป็นทรงพุ่มแน่น ออกดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นกระจุกที่บริเวณปลายกิ่ง กลีบดอกมีสีเหลือง กลีบเรียวยาวบิดเป็นเกลียวและอ่อนนิ่ม มีกลีบดอก 15-24 กลีบ เรียงตัวหลายชั้น ชั้นละ 3 กลีบ กลีบยาว 5-9 เซนติเมตร ดอกอ่อนจะมีสีเขียว เมื่อเริ่มบานจึงเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ดอกมีกลิ่นหอมแรง ออกดอกได้ตลอดทั้งปี

นิยมปลูกเป็นไม้ประดับโชว์ทรงพุ่มสวยงาม ดอกมีกลิ่นหอม และดอกยังนิยมนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอกระเหย กระดังงาสงขลาขยายพันธุ์ได้ง่ายด้วยการตอนกิ่ง กิ่งตอนออกรากง่าย ชอบดินที่มีความชุ่มชื้นสูง และชอบแสงแดดจัด”