ครบเครื่อง
ญ. อมตะ



ครบเครื่อง ญ.อมตะ 4 กันยายน 2564

วิศวะมหิดล โชว์หุ่นยนต์ผ่าตัดช่วยแพทย์

เนื่องเพราะงานนิทรรศการ AI และ Big Data กองทัพเรือ ประจำปี 2564 ผ่านระบบออนไลน์เสมือนจริง (virtual exhibition) โดยกรมการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศทหารเรือกองทัพเรือ ซึ่งมี “พลเรือเอกชาติชาย ศรีวรขาน” ผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธานเปิดงานเมื่อเร็ว ๆ นี้

ขณะที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย “รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์” คณบดีและผู้อำนวยการบริหาร ศูนย์เครือข่ายวิจัยประยุกต์ทางเทคโนโลยีหุ่นยนต์ และชีวการแพทย์ (BART LAB) แสดงผลงานหุ่นยนต์ AI ช่วยผ่าตัด นวัตกรรมฝีมือคนไทย เพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนเสริมสร้างความตื่นตัวการใช้นวัตกรรมของคนไทย และเผยแพร่องค์ความรู้การประยุกต์ใช้หุ่นยนต์และ AI ในการแพทย์และสุขภาพมากยิ่งขึ้น

“รศ.ดร.จักรกฤษณ์” กล่าวว่า สาขาวิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลก่อตั้งเป็นแห่งแรกของประเทศไทยและอาเซียน โดยนำองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์ผสมผสานแพทยศาสตร์มาตอบโจทย์แก้ปัญหา สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ ๆ มาเสริมประสิทธิภาพบุคลากรทางการแพทย์ในการทำงานบำบัดรักษาผู้ป่วยได้สะดวกและแม่นยำยิ่งขึ้น

“ทั้งนี้ วิศวกรชีวการแพทย์เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานทั่วโลกสูงมาก โดยจะต้องมีความรู้ในศาสตร์เทคโนโลยีวิศวกรรม และพื้นฐานทางการแพทย์ ปัจจุบัน BART LAB มีห้องแล็บผ่าตัดจำลอง และได้พัฒนาหุ่นยนต์ทางการแพทย์มาอย่างต่อเนื่อง (www.BARTLAB.org) เพื่อแก้ปัญหาของประเทศไทยซึ่งขาดแคลนแพทย์ที่มีความชำนาญสูง ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วย เช่น DoctoSight หุ่นยนต์ผู้ช่วยแพทย์อัจฉริยะ ระบบนำทางผ่าตัดมะเร็งเต้านมและหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ที่ทำงานร่วมกับศัลยแพทย์ได้”

“จุดเด่นของหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดจะสามารถทำงานได้ดีกว่ามนุษย์ในหลายด้าน เช่น ความแม่นยำสูงในพื้นที่ทำงานอันจำกัด ลดระยะเวลาการผ่าตัด และเพิ่มประสิทธิผล ลดความผิดพลาดจากความเหนื่อยล้า ทำงานได้ตลอด 24 ชม. โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดสำหรับการเปิดแผลเล็กนั้น”

“เพราะปกติการผ่าตัดประเภทนี้จะต้องใช้บุคลากรจำนวนมาก และมีความชำนาญในพื้นที่อันละเอียดอ่อนและจำกัด เมื่อมีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดจะช่วยแพทย์ให้การผ่าตัดได้รับความแม่นยำและมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น พร้อมลดภาระบุคลากรลงด้วย”

“รศ.ดร.จักรกฤษณ์” กล่าวต่อว่า หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Minimal Invasive Surgery : MIS) ที่นำมาแสดงสาธิตในงานนี้ คือ หุ่นยนต์ผ่าตัดแบบส่องกล้อง ซึ่งในการผ่าตัดจะเจาะรูเล็ก ๆ เพียง 1-2 ซม.บริเวณผิวหนังที่ต้องการจะผ่าตัด เพื่อสอดอุปกรณ์ผ่าตัดและกล้องขนาดเล็กเข้าไป หุ่นยนต์จะทำหน้าที่ช่วยถือจับอุปกรณ์การผ่าตัดอย่างมั่นคง โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ควบคุมการเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์ ซึ่งจะอิงอยู่กับจุดที่ผ่าตัดที่กำหนดไว้ไม่ให้เคลื่อนออกพ้นจากจุดที่ผ่าตัดเปิดแผลไว้ ช่วยป้องกันความเสียหายของเนื้อเยื่อ

“ที่สำคัญ เมื่อต้องฆ่าเชื้อสามารถถอดอุปกรณ์ออกมาได้ หรือระหว่างการผ่าตัดต้องเปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องมือบ่อยครั้ง ไม่เป็นอุปสรรคในลักษณะของการขับเคลื่อน หุ่นยนต์จะขับเคลื่อนเข้ามาช่วยให้แพทย์ทำงานอย่างแม่นยำเพิ่มมากขึ้น โดยใช้ระบบขับเคลื่อนผ่านสายส่งกำลัง เป็นระบบที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้นมาเป็นพิเศษ จะมีตัวส่งกำลังระบบมอเตอร์สำหรับขับเคลื่อนหุ่นยนต์อยู่ด้านหลัง”

“นอกจากนี้ ในยุคเทคโนโลยีสื่อสารก้าวหน้า เรายังพัฒนาระบบผ่าตัดที่ควบคุมระยะไกล ทำให้ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถเชื่อมต่อกับหุ่นยนต์และทีมแพทย์ที่อยู่หน้างานกับผู้ป่วยได้แม้จะอยู่ในที่ห่างไกลกัน เช่น กรณีศัลยแพทย์อยู่ในกรุงเทพฯ แต่ผู้ป่วยอยู่ต่างจังหวัดต้องได้รับการผ่าตัดด่วน การมีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดที่หน้างานจะสามารถตัดสินใจและเรียนรู้การทำงานร่วมกันระหว่างแพทย์กับหุ่นยนต์ได้ใช้งานง่าย”

“ซึ่งถอดแบบจากผู้ที่มีประสบการณ์ความชำนาญสูง ช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานให้แพทย์ในการรักษาบำบัดผู้ป่วยได้แม่นยำรวดเร็ว สามารถเข้าถึงอวัยวะที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อนได้ในพื้นที่ทำงานอันจำกัด ผู้ป่วยได้รับการบำบัดรักษาที่มีคุณภาพยิ่งขึ้น แผลเล็กเสียเลือดน้อย เจ็บแผลน้อยฟื้นตัวเร็ว”

ทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้แพทย์สามารถรักษาผู้ป่วยคนอื่นมากขึ้น

เพราะปัจจุบันทีม BART LAB กำลังพัฒนาการเชื่อมต่อโดยยึดหลักความปลอดภัย และประสิทธิภาพการทำงานร่วมกันระหว่างแพทย์และหุ่นยนต์เป็นสำคัญ


หนุ่มรัสเซียตะลึง! พบฝูงหนู หางผูกปมสุดพิศวง ตำนานเตือนสัญญาณอาเพศ

ปรากฏการณ์หายากที่ไม่เคยเกิดขึ้นมานานหลายปีและยังคงเป็นปริศนาที่รอการไขคำตอบมาจนถึงปัจจุบันกับตำนานพญามุสิกสุดพิศวง สัญญาณเตือนลางร้าย

เหตุการณ์เกิดขึ้นที่สวนแตงโมแห่งเมืองสตาฟโรปอลในประเทศรัสเซีย โดยชายหนุ่มชื่อว่า อาลีบูลัต ราซูลอฟ พบฝูงหนูอยู่ในสภาพสุดพิศวงถูกจับมัดรวมกันอย่างแปลกประหลาด

ในคลิปวิดีโอแสดงภาพหนู 5 ตัวอยู่ในสภาพเปียกน้ำและหางของพวกมันผูกติดกับต้นไม้ ขณะที่พวกมันพยายามหนีไปคนละทิศละทาง ต่อมาอาลีบูลัตนำฝูงหนูวางบนพื้นสีขาว เพื่อแสดงให้เห็นว่าหางของพวกหนูผูกเป็นปมแน่น จากนั้นจึงพยายามแกะออกและปล่อยหนูสู่อิสระ

อาลีบูลัตกล่าวว่า “ผมเชื่อว่าหนูถูกมัดโดยแม่ของพวกมันที่ต้องการป้องกันไม่ให้พวกมันตกลงไปในน้ำ”

เนื่องจากหลักฐานบันทึกเกี่ยวกับตำนานพญามุสิกมีน้อยมากและสาเหตุที่แท้จริงของการผูกหางเป็นปมยังคงเป็นปริศนาที่แม้แต่วิทยาศาสตร์ก็ยังไขคำตอบไม่ได้

ซึ่งปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศเยอรมันตั้งแต่ปี 1564 โดยจำนวนหนูที่หางถูกมัดรวมกันนั้นมากที่สุดคือ 24 ตัว หลังจากเหตุการณ์พญามุสิกเกิดขึ้นไม่นาน ยุโรปก็ถูกภัยจากโรคระบาด

ตามพิพิธภัณฑสถานบางแห่งมีซากของพญามุสิกเก็บรักษาไว้ ไม่ว่าจะพิพิธภัณฑ์โอทาโก พิพิธภัณฑ์สัตววิทยามหาวิทยาลัยตาร์ตู พิพิธภัณฑ์มอริเชียนัม และพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ในประเทศเยอรมัน ซึ่งสังเกตได้ว่าหนูส่วนใหญ่มักมีสีดำ

เอ็มมา เบิร์นส์ ภัณฑารักษ์ด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติแห่งพิพิธภัณฑ์โอทาโกกล่าวกับทางเว็บไซต์แอตลาส ออบสคูราว่า “ในทางทฤษฎีการเกิดปรากฏการณ์ราชาหนูสามารถเป็นเรื่องธรรมชาติได้” พร้อมกล่าวเสริมว่า “ตามธรรมชาติหนูบางตัวมักจะเกี่ยวหางกันและอาจส่งผลให้เกิดการผูกปม ทั้งยังสามารถพบเห็นได้ในกลุ่มกระรอกอีกด้วย”

อย่างไรก็ตาม แมทธิว คอมบ์ส นักศึกษาปริญญาเอกที่กำลังศึกษาเรื่องหนูที่มหาวิทยาลัยฟอร์ดแฮม กล่าวว่า “พญามุสิกอาจเป็นแค่ตำนาน แต่หลาย ๆ คนยังคิดว่าเป็นเรื่องปลอม”

ขอบคุณที่มาจาก The Sun


จุฬาฯผลิตหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อ “น้องไฟฉาย” โดยใช้รังสี UV-C

ศ.นพ.สมรัตน์ จารุลักษณานันท์ ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า คณะแพทยศาสตร์ ร่วมมือกับ รศ.ดร.อนงค์นาฏ สมหวังธนโรจน์ รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ และ รศ.ดร.โปรดปราน บุณยพุกกณะ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวฯ จุฬาฯ คิดค้นอุปกรณ์ฆ่าเชื้อโรค เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์

โดยเฉพาะเชื้อโควิด-19 โดยมี รศ.ดร.บุญรัตน์ โล่ห์วงศ์วัฒน ภาควิชาวิศวกรรมโลหะการ และ ดร.เจนยุกต์ โล่วัชรินทร์ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกันพัฒนานวัตกรรม “น้องไฟฉาย” โดยใช้รังสี UV-C อยู่ในช่วงความยาวคลื่น 200-280 นาโนเมตร ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงมากในการฆ่าเชื้อ ทั้งแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา โดยความเข้มข้นของแสง มีหน่วยวัดเป็นจูล/ตารางเซนติเมตร

ซึ่งงานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่าปริมาณความเข้มข้นของแสง UV-C ที่ประมาณ 1.2 จูล/ตารางเซนติเมตร หรือ 1,200 มิลลิจูล/ตารางเซนติเมตร เป็นอย่างน้อยสามารถฆ่าเชื้อโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้เวลาประมาณ 10 นาทีต่อ 1 จุด

ดร.เจนยุกต์กล่าวว่า ผู้สนใจสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา หรือต้องการหุ่นยนต์ “น้องไฟฉาย” ไปใช้ในโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนาม ติดต่อ โทร. 0-2256-4000 ต่อ 81513.


ฉลามหัวค้อน-กระเบนปีศาจ เตรียม เทียบท่า ขึ้นทะเบียนสัตว์คุ้มครอง

วันที่ 1 กันยายน เฟชบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ของ ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า ฉลามหัวค้อน และกระเบนปิศาจ กำลังจะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองเร็วๆนี้ หลังจากผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ร่วมกันผลักดัน โดย ผศ.ธรณ์ ระบุว่า

วันสืบ วันแห่งการอนุรักษ์ มีข่าวดีมาบอกเพื่อนธรณ์ ฉลามหัวค้อนและกระเบนปีศาจกำลังจะเป็นสัตว์คุ้มครองแล้วครับ

แม้ยังไม่ประกาศเป็นกฎหมาย แต่ตอนนี้อยู่ในระหว่างการร่างในขั้นตอนท้ายๆ อีกไม่นานคงได้เห็นแน่

สัตว์ทะเลตามร่างนี้มี 5 ชนิด ฉลามหัวค้อน 4 ชนิด กระเบนปีศาจ 1 ชนิด (คล้ายๆ แมนต้าแต่ตัวเล็กกว่า)

ขั้นตอนในการผลักดัน ใช้เวลา 5 ปีกว่าจะมาถึงจุดนี้ ถ้าเอาถึงขั้นเป็นกฎหมายคงสัก 6 ปี

ผมนำไทม์ไลน์แบบเป็นข่าวมาให้ดู ตั้งแต่ปี 59 ที่เริ่มต้นจนเป็นข่าว ต่อเนื่องถึงปี 61 ที่กรมทะเลร่วมกับคณะวิชาการเห็นชอบในการนำเสนอ

จากนั้นเรื่องก็หายไปตามกาลเวลา จนมาเป็นข่าวดังอีกทีเมื่อกลางปี ลูกฉลามหัวค้อนถูกขายอยู่กลางตลาด

สุดท้าย ท่านรมต.วราวุธ ประกาศว่าจะผลักดันให้ได้ หลังจากนั้นอีกเดือนเศษ คณะกรรมการสงวนคุ้มครองก็เห็นชอบ

จึงอยากบอกเพื่อนธรณ์ไว้ การผลักดันสัตว์ทะเล โดยเฉพาะ “ปลา” ให้ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย เป็นเรื่องที่เหนื่อยมาก

ในเรื่องข้อมูลวิชาการ ตรงนั้นค่อนข้างชัด จะเทียบเคียงกับสถานภาพระดับโลก IUCN ก็เห็นว่า ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งยวด/ใกล้สูญพันธุ์ เกือบทั้งนั้น (ดูภาพประกอบนะครับ CR/EN)

แต่ปลาอาจถูกจับมาโดยบังเอิญ ติดอวนติดเบ็ดมาเอง ทำให้บางครั้งมีมุมมองว่าไม่ตั้งใจ มันไม่เหมือนสัตว์ป่าที่ตั้งใจไปล่า

ปลายังเป็นเหมือนอาหาร เหมือนสัตว์เศรษฐกิจ มาแต่ไหนแต่ไร

จะให้ปลาเป็นเหมือนเสือกระทิงช้าง มันเป็นเรื่องยากมากในความเข้าใจ

ปลาทะเลตัวแรกที่ได้รับการคุ้มครองคือฉลามวาฬ ปี 2540 ห้ามล่าตามกม.ประมง (ท่านรมต.ปองพล อดิเรกสาร)

หลังจากนั้นต้องรออีกนานมาก จนมาระลอกสอง สัตว์สงวนทั้งสี่ และคุ้มครองปลาโรนิน/แมนต้า (ท่านรมต. ดาว์พงษ์ ท่านรมต.สุรศักดิ์ และท่านปลัดเกษมสันต์)

จนมาถึงวันนี้ ฉลามหัวค้อน/กระเบนปีศาจ ถึงได้เป็นระลอกสาม (ท่านรมต.วราวุธ)

24 ปี 3 ระลอก มีปลาทะเลคุ้มครองทั้งหมด 16 ชนิด

(ฉลามวาฬ แมนต้า/ปีศาจ 6 ชนิด ฉลามหัวค้อน 4 ชนิด โรนิน 1 ชนิด กระเบนเจ้าพระยา 1 ชนิด ฉนาก 3 ชนิด)

แต่ปลาฉนาก 3 ชนิดสูญพันธุ์จากไทยไปหมดแล้ว ที่เหลือจริงแค่ 13 ชนิด

ที่ค้างอยู่คือฉลามเสือดาว และหากนับตามข่าวที่ผู้บริหารกรมทะเลเคยบอกไว้ คือกระเบนนกและฉลามหัวบาตร

แต่ระลอกสี่ไม่ง่ายแน่นอน บอกไว้ก่อนเลย

ยังไม่ต้องพูดถึงปลาโรนัน เพื่อนธรณ์ส่งภาพที่โดนจับโดนขายที่นั่นที่นี่ให้ผมแทบทุกวัน ก็คงได้แต่ตอบไปว่า

หากให้เล่าเรื่องราวใน 24 ปีของการทำเรื่องนี้ คงเขียนหนังสือหนาๆ ได้สักเล่ม

ซึ่งคงมีคนอ่านไม่มาก จึงไม่เขียน (ช่วงนี้ต้องเร่งทำงานเก็บเงินหลังเกษียณฮะ )

อย่างไรก็ตาม เรื่องดีๆ ในวันสืบทอดเจตนา คงทำให้เพื่อนธรณ์ยิ้มได้บ้าง

มันไม่มีอะไรง่ายเลยสำหรับงานอนุรักษ์

แต่การเดินตามรอยเส้นทางที่คนรุ่นก่อนแผ้วถางไว้ การตามร่องรอยของผู้ที่เคยเดินนำเมื่อหลายสิบปีก่อน

เผชิญกับความท้าทาย ก้าวให้ข้ามอุปสรรค ใช้ความรู้ความสามารถที่มี ใช้ประสบการณ์ให้เป็นประโยชน์

เหนืออื่นใด คือความอดทนที่จะไม่ยอมถอย ความมุ่งมั่นที่จะไม่ยอมละสายตาจากความหวัง

ทั้งหมดนั้น “สนุก” และทำให้บางคนรู้ว่าเขา/เธอเกิดมาเพื่ออะไร ?

พึมพำไว้ “สักวันเถอะ สักวัน”

นั่นคือถ้อยคำศักดิ์สิทธิ์ของนักอนุรักษ์

และ “สักวัน” จะนำพาเราไปสู่ “วันนั้น” ครับ


4 สัญญาณอันตราย “ความดันโลหิตสูง” พร้อมวิธีลดความดันที่ได้ผล

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสม ช่วยลดความเสี่ยง ห่างไกลโรคความดันโลหิตสูงได้

โรคความดันโลหิตสูง อันตรายเงียบ

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคความดันโลหิตสูง ได้ชื่อว่าเป็นเพชฌฆาตแห่งความเงียบ เนื่องจากส่วนใหญ่มักไม่มีอาการหรืออาการแสดงให้เห็น แต่มักตรวจพบโดยบังเอิญ

สัญญาณอันตราย “ความดันโลหิตสูง”

ในกรณีที่มีความดันโลหิตสูงมากผู้ป่วยอาจจะมีอาการที่แสดงให้เห็นได้ ดังนี้

1. ปวด หรือมึนศีรษะ บริเวณท้ายทอย

2. วิงเวียนศีรษะ

3. แน่นหน้าอก

4. คลื่นไส้ อาเจียน

อันตรายของความดันโลหิตสูง หากไม่รีบรักษา

ผู้มีความดันโลหิตสูงเรื้อรังที่ไม่สามารถควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติเป็นระยะเวลานานอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่ออวัยวะสำคัญ เช่น

• กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว

• หลอดเลือดแดงแข็ง

• จอประสาทตาเสื่อม

• ไตเสื่อม

• โรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายอย่างยิ่ง

• เสี่ยงต่อการเกิดอัมพาต

• โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

• ไตวาย

• โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบตัน

• หัวใจล้มเหลว

หากมีภาวะความดันโลหิตสูงนานๆ ไม่ได้รับการรักษาอย่างสม่ำเสมอและถูกต้องเหมาะสม หัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้น กล้ามเนื้อของหัวใจจะหนาขึ้น หัวใจจะโตขึ้น อาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดห้องบนเต้นพริ้ว (Atrial Fibrillation) หรือเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ ดังนั้น เราควรให้ความสำคัญกับการเกิดภาวะความดันโลหิตสูง การป้องกันและการรักษา เพื่อที่จะสามารถชะลอการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ

ความดันโลหิตเท่าไร จึงเรียกได้ว่าความดันโลหิตสูง

นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคความดันโลหิตสูง เป็นภาวะโรคที่ตรวจพบว่าค่าความดันโลหิตอยู่ในระดับที่สูงกว่าปกติ คือ มีค่าความดันตัวบน (systolic: ค่าความดันเลือดในขณะที่หลอดเลือดหัวใจบีบตัว) สูงกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท และความดันตัวล่าง (diastolic : ค่าความดันเลือดในขณะที่หลอดเลือดหัวใจคลายตัว) สูงกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท

ปัจจัยเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิตสูงมักจะพบร่วมกับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ของกลุ่มอาการผิดปกติทางเมตาบอลิซึม เช่น

• ไขมันในเลือดสูงหรือระดับน้ำตาลในเลือดสูง

• ขาดการออกกำลังกาย

• โรคอ้วน

• มีภาวะเครียดเรื้อรัง

• ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

• สูบบุหรี่

• รับประทานอาหารที่มีรสเค็มจัดเป็นประจำ

นอกจากนี้ โรคความดันโลหิตสูงอาจมีสาเหตุมาจากภาวะไตวาย เนื้องอกของต่อมหมวกไต โรคของต่อมไทรอยด์หรือต่อมพาราไทรอยด์ โรคทางเดินหายใจถูกอุดกลั้นขณะนอนหลับหรือการใช้ฮอร์โมนบางชนิด

วิธีรักษาโรคความดันโลหิตสูง

ในการรักษาผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงควรมีการประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และผลกระทบต่ออวัยวะต่างๆที่เป็นผลมาจากความดันโลหิตสูงเป็นระยะเวลานาน เช่น กล้ามเนื้อหัวใจหนา ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ไตเสื่อมหรือมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ และจอประสาทตาเสื่อมจากความดันโลหิตสูง

ดังนั้น เพื่อป้องกันการเกิดโรคความดันโลหิตสูงเราควรดูแลตนเอง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การใช้ชีวิตให้เหมาะสม โดยการใส่ใจ 3 อ. คือ

1. อ.อาหาร กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพหรือ DASH Diet (Dietary Approaches to Stop Hypertension Diet) คือ ลดการบริโภคอาหารที่มีเกลือโซเดียม ไขมันอิ่มตัว ไขมันรวมและคอเรสเตอรอลลง และเพิ่มการรับประทานที่มีใยอาหาร โปรตีน แคลเซียม แร่ธาตุต่างๆอย่างโปแตสเซียมและแมกนีเซียม ได้แก่ ผัก ถั่ว ผลไม้ ธัญพืชที่ไม่ผ่านกระบวนการขัดสี (Whole Grains) ปลา ไขมันไม่อิ่มตัว และลดการบริโภคเนื้อแดง งดการรับประทานน้ำหวานและน้ำอัดลม

2. อ.ออกกำลังกาย ลดเวลานั่ง เพิ่มเวลายืน ยืดเวลาเดิน ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ให้หัวใจ ปอด ระบบหมุนเวียนโลหิตแข็งแรง ควบคุมน้ำหนักตัว และควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 3-5 ครั้ง/สัปดาห์

3. อ.อารมณ์ ทำอารมณ์ให้แจ่มใส ไม่เครียด

นอกจากนี้ ควรงดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ฉะนั้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หันมาใส่ใจสุขภาพ รู้จักออกกำลังกายให้เหมาะสม และรู้จักเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดีเป็นหนทางสู่การมีสุขภาพดี ย่อมช่วยให้ตัวเราห่างไกลจากโรคความดันโลหิตสูงได้เช่นกัน

ขอขอบคุณ

ข้อมูล :กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคทรวงอก

ภาพ :iStock